Posted: 22 Jan 2019 05:44 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-22 20:44


ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาในเฟสบุ๊กได้มีการทำกิจกรรม 10 Year Challenge ซึ่งเกิดเป็นกระแสและได้รับความสนใจจากผู้ใช้เฟสบุ๊คจำนวนมาก โดยมีการอัพโหลดภาพของตนเองเมื่อ 10 ปีที่แล้วเทียบกับภาพของตนเองในปัจจุบัน บางคนเปลี่ยนแปลงไปมาก บางคนยังคงเดิม แต่หากเปลี่ยนจากการเปรียบเทียบรูปลักษณ์ หน้าตา มาเป็นการมองย้อนอดีตภายใต้บริบทที่เเวดล้อมกับการเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่าน พบว่า สิ่งที่เคยมีกลับไม่มีอยู่แล้ว บางสิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และบางสิ่ง หรือบางคนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม

หมุดคณะราษฎร – หมุดหน้าใส

หมุดคณะราษฎร มีลักษณะเป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่ที่พื้นบริเวณถนนลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งตรงกับบริเวณที่พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่หนึ่ง ซึ่งมีใจความถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบราชธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยมีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2479

หมุดคณะราษฎร ถูกฝังอยู่ที่เดิมมาตลอด จนกระทั่งวันที่ 14 เม.ย. 2560 มีข่าวว่าหมุดคณะราษฎรได้ถูกถอดออกไป และมีหมุดใหม่มาใส่แทนที่ โดยในหมุดดังกล่าวได้เขียนข้อความว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน” และ “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดีในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” สำหรับข้อความในวงขอบนอกที่เขียนว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง" ตรงกับข้อความในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5

ทั้งนี้ยังไม่มีใครทราบว่า ใครเป็นผู้ถอดหมุดคณะราษฎรออกไป อีกทั้งกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวซึ่งมีทั้งหมด 11 ตัว ได้ถูกถอดออกก่อนหน้านี้ เนื่องจากสำนักงานจราจรกรุงเทพฯ มีการปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรในวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา กล้องจึงถูกถอดออกไปทั้งหมด และในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนหมุดยังไม่ได้ดำเนินติดกล้องวงจรปิดไว้ที่เดิม

สวนสัตว์ดุสิตเปิดบริการ – สวนสัตว์ดุสิตปิดบริการ

สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นที่ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ในสมัยการปกครองของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (รัชสมัยของรัชกาลที่ 8) ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตให้ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสาธารณะ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน

ต่อมาในในวันที่ 7 ส.ค. 2561 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สวนสัตว์ดุสิต ได้ประกาศให้ทราบว่า จะดำเนินการปิดสวนสัตว์ดุสิต ภายสิ้นเดือน ส.ค. 2561 โดยจำย้ายสัตว์ไปยังสวนสัตว์ต่างๆ พร้อมกันนี้ยังระบุถึงพื้นที่ตั้งสวนสัตว์แห่งหใหม่ด้วยว่า ได้รับพระราชทานโฉนดที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 โดยเป็นโฉนดที่ดินบริเวณย่านคลอง 6 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี จำนวน 300 ไร่ เพื่อสร้างสวนสัตว์แห่งใหม่ จัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าสวนสัตว์ดุสิตเดิมถึง 3 เท่า ทำให้สัตว์มีพื้นที่ที่อยู่อย่างสบาย มีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

อนุสาวรีย์ปราบกบฎ – ไม่มีอนุสาวรีย์ปราบกบฎ

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช 2476 ตั้งอยู่กลางบริเวณวงเวียนหลักสี่ ย่านบางเขน กทม. หายไปจากจุดเดิมในวันที่ 28 ธ.ค.2561 จนขณะนี้ไม่ทราบว่าาไปอยู่ที่ไหน หรืออยู่ในสภาพใดแล้ว เพราะช่วงนั้น ผอ.สำนักการโยธา กทม. ก็ระบุว่า ไม่ได้นำไปไว้ที่ ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 3 ย่านหนองบอน ตามที่เป็นข่าวเดิม

อีกทั้งขณะทำการเคลื่อนย้ายกลางดึกคืนวันที่ 27 ต่อวันที่ 28 ม.ค.2561 นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารควบคุมสถานการณ์บริเวณดังกล่าว พร้อมการกักตัวประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวบางสำนักที่พยายามเข้าไปบันทึกเหตุการณ์การย้ายอนุสาวรีย์ฯ ด้วย ภาพที่เหลือเพียงฐานนี้ เผยแพร่โดย Weeranan Kanhar ในวันที่ 28 ธ.ค. 2561

และก่อนหน้าที่จะหายไป3 พ.ย.2559 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ได้สักการะและดำเนินการย้ายอนุสาวรีย์ฯดังกล่าว ไปไว้ทางทิศเหนือ 45 องศา ฝั่งถนนพหลโยธินขาออกมุ่งหน้าสะพานใหม่เพื่อไม่ให้กระทบโครงสร้างสถานีวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน แล้วครั้งหนึ่ง

รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกอภิสิทธิ์ – รายการคืนความสุขให้คนในชาติ

รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ เป็นรายการที่เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2552 - 1 พ.ค. 2554 รายการที่เป็นรายงานผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 10.00 น.

รายการเดินหน้าประเทศไทย : คืนความสุขให้คนในชาติ เป็นรายการที่เริ่มต้นเผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 30 พ.ค. 2557 หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 รายการเป็นรายงานความคืบหน้าด้านต่างๆ ในส่วนการทำงานของรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ ต่อมาหลังรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต รายการได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยออกอากาศทุกช่องโทรทัศน์ ในวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 20.15 น. เป็นต้นไป โดยช่วงแรกรายการใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 1 ชั่วโมง ต่อมาได้มีการปรับลดระยะเวลาในการออกอากาศเหลือ 20 นาที

รัฐธรรมนูญ 2550 – รัฐธรรมนูญ 2560

รัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จากนั้นได้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคัดเลือกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นหนึ่งคณะ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ได้มีการเปิดให้ประชาชนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

รัฐธรรมนูญ 2550 มีอายุเพียง 7 ปีเท่านั้น เพราะในวันที่ 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้มีการวางโรดแมปการร่างรัฐธรรมนูญต่อมา โดยมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดแรก แต่หลังจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จกลับไม่ได้รับความเห็นจาก สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตกไป เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2558

ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา โดยมี มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค. 2559 และถูกประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 2560 โดยก่อนที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ทรงมีรับสั่งให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ และหมวดพระมหากษัตริย์

ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา - ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์

ในปี 2552 ประเทศไทยมีผู้บัญชาการกองทัพบก คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2550 สิ้นสุดวาระในวันที่ 30 ก.ย. 2553 พล.อ.อนุพงษ์เป็นหนึ่งในกลุ่มนายทหารที่ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เวลานั้นเขามียศ พล.ท. เป็นแม่ทัพกองทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นกำลังหลักในการทำรัฐประหาร

ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้บัญชาการกองทัพบก คือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ปัจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย เขาเป็นลูกชายของพล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2534 เขาเคยตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า หากการเมืองไม่เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายก็จะไม่มีการทำรัฐประหาร

งบประมาณกระทรวงกลาโหม 

หากนับจากการรัฐประหารในปี 2549 เป็นต้นมาพบว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปี 2549 ได้งบ 85,936 ล้านบาท

ปี 2550 ได้งบ 115,024 ล้านบาท

ปี 2551 ได้งบ 143,519 ล้านบาท

ปี 2552 ได้งบ 170,157 ล้านบาท

ปี 2553 ได้งบ 154,032 ล้านบาท

ปี 2554 ได้งบ 168,501 ล้านบาท

ปี 2555 ได้งบ 168,667 ล้านบาท

ปี 2556 ได้งบ 180,491 ล้านบาท

ปี 2557 ได้งบ 184,737 ล้านบาท

ปี 2558 ได้งบ 193,066 ล้านบาท

ปี 2559 ได้งบ 206,461 ล้านบาท

ปี 2560 ได้งบ 213,544 ล้านบาท

ปี 2561 ได้งบ 222,437 ล้านบาท

ปี 2562 ได้งบ 227,671 ล้านบาท

ความต้องการทหารเกณฑ์ของไทย

ปี 2552 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 87,041 คน

ปี 2553 มีควาทต้องการทหารกองประจำการจำนวน 87,452คน

ปี 2554 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 97,280 คน

ปี 2555 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 103,555 คน

ปี 2556 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 94,480 คน

ปี 2557 มีควาทต้องการทหารกองประจำการจำนวน 100,865 คน

ปี 2558 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 99,373 คน

ปี 2559 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 101,307 คน

ปี 2560 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 103,097 คน

ปี 2561 มีความต้องการทหารกองประจำการจำนวน 104,734 คน

ป่าไม่แหว่ง – หมู่บ้านป่าแหว่ง

บ้านพักข้าราชการตุลาการ บริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เป็นเรื่องที่ถูกคัดค้านโดยภาคประชาชน เนื่องจากมีพื้นที่รุกเข้าไปในพื้นที่ซึ่งเป็นป่า แม้จะไม่ได้เป็นที่ในเขตป่าไม้ก็ตาม โดยมีการเรียกร้องให้ยุติโครงการดังกล่าว และให้ดำเนินการฟื้นฟูป่าให้กับกลับมาดังเดิม จนล่าสุด 15 ม.ค. 2562 ครม.ได้อนุมัติงบประมาณ 17.55 ล้านบาท เพื่อดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเร่งฟื้นฟู ปลูกต้นไม้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เพื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการเข้าฟื้นฟู และไม่ให้มีคนเข้าพักอาศัย เป็นไปตามข้อตกลงที่เสนอต่อคณะกรรมการฯ ดังนั้นจะมีการฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม ส่วนอาคารที่พักอาศัยที่เป็นตึก ซึ่งมีผู้คนเข้าไปอาศัยอยู่บ้างเพื่อคอยให้มีการปรับปรุงพื้นที่ที่ จ.เชียงรายให้แล้วเสร็จ บุคลากรเหล่านั้นจะได้ย้ายออกทั้งหมด ยืนยันว่าในส่วนบ้านพักจะไม่ให้ใครเข้าอาศัยเด็ดขาด


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากรองผู้บัญชาการทหารบก สู่นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ

ในการรัฐประหารปี 2549 พล.ต.ประยุทธ์ ได้รับคำสั่งแต่งตั้งโดยตรงจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ให้เลื่อนยศเป็น พล.ท. และดำรงตำแหน่งเป็น แม่ทัพภาคที่ 1 และในเวลานั้นเขาได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

ต่อมาในสมัยรัฐบาลสมัคร เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาธิการทหารบก และเลื่อนขึ้นมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 ถึง 30 ก.ย. 2553 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชากองทหารบก ต่อจากพล.อ.อนุพงษ์

เขาเป็นหนึ่งในนายทหารที่หน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการช่วงปี 2553 ชึ่งเวลานั้นมีการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เนื่องจากผู้ชุมนุมเห็นว่าการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของอภิสิทธิ์ นั้นไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชนที่ไปออกเสียงเลือกตั้ง หากแต่เป็นการเปลี่ยนฝั่งของนักการเมืองในรัฐสภา โดยมีข้อครหาว่า มีการพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร

ต่อมาในยุคของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีการแต่งตั้งโยกย้าย พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เขาจึงยังดำรงตำแหน่งนี้ต่อไป จนได้ก่อการรัฐประหารซึ่งนำโดยตัวเขาเองในวันที่ 22 พ.ค. 2557 และได้รับการออกเสียงเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากคณะรัฐประหาร


พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จาก รมต.กลาโหม สู่ รมต.กลาโหม ควบรองนายกฯ

ในการจัดตั้งรัฐบาลของอภิสิทธิ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2551 ถึง 9 ส.ค. 2554 ต่อมาหลังการรัฐประหารปี 2557 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้ต่อมาจะมีข้อครหาเรื่อง นาฬิกาหรู ในช่วงปลายปี 2560 แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้สั่งให้เขายุติการปฎิบัติหน้าที่ และต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ลงมติว่า เขาไม่มีความผิด กรณีแจ้งรายการทรัพย์สินไม่ครบถ้วน เนื่องจากเชื่อว่านาฬิกาหรูทั้งหมด พล.อ.ประวิตร ยืมมาจากเพื่อน และได้ส่งคืนทั้งหมดแล้ว
ข่าว
การเมือง
10 Year Challenge
หมุดคณะราษฎร
สวนสัตว์ดุสิต
รัฐธรรมนูญ
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
รายการคืนความสุขให้คนในชาติ
ผบ.ทบ.
งบประมาณกระทรวงกลาโหม
ความต้องการทหารเกณฑ์
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ประวิตร วงษ์สุวรรณ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.