Posted: 25 Jan 2019 10:41 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-01-26 13:41
ในการเลือกตั้งเดือน ก.พ. ที่จะถึงนี้จะเป็นบททดสอบประชาธิปไตยสำหรับไนจีเรีย จากการขับเคี่ยวกันของ 2 ผู้ที่มีบทบาททางการเมืองมายาวนาน แต่ก็มีประเด็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และประเด็นที่รัฐบาลปัจจุบันของไนจีเรียมีการกดขี่ปราบปรามคนที่เห็นต่างและลิดรอนเสรีภาพสื่ออย่างหนัก สิ่งเหล่านี้จะกระทบการเลือกตั้งของไนจีเรียหรือไม่
25 ม.ค. 2562 ไนจีเรียกำลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 16 ก.พ. ที่จะถึงนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ผู้คนต่างจับตามองในฐานะเครื่องพิสูจน์ความเข้มแข็งด้านบรรทัดฐานประชาธิปไตย ค่านิยม และความกลมเกลียวในประเทศ
การเลือกตั้งที่จะถึงนี้มีผู้แทนหลักๆ 5 รายจากผู้แทนที่สมัครเข้ามาทั้งหมด 73 ราย คนที่เป็นคู่ปรับกันรายใหญ่ๆ คือ มูฮัมมาดู บูฮารี ประธานาธิบดีที่กำลังดำรงตำแหน่งในปัจจุบันจากพรรคซ้ายกลางออลโปรเกรสซีฟ (APC) และฝ่ายค้าน อดีตรองประธานาธิบดี อะคิตู อะบูบาคาร์ จากพรรคพีเพิลเดโมเครติกซึ่งเป็นพรรคขวากลาง
นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครรายอื่นๆ ที่ถูกเรียกว่าเป็น "พลังที่สาม" เพราะพวกเขาไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองแต่ก็ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ สื่อโกลบอลวอยซ์นำเสนอประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งไนจีเรียไว้ดังนี้
ประเด็นแรก เรื่องการที่สองคู่แข่งหลักต่างก็เป็นคนที่มีประวัติการเมืองยาวนานในไนจีเรีย แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีอายุมากและน่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ การที่สุขภาพกลายมาเป็นประเด็นเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีประธานาธิบดีอูมารู มูซา ยาร์อะดัว ที่เสียชีวิตจากความเจ็บป่วยมาก่อนในปี 2553 และทำให้เกิดสูญญากาศทางอำนาจเพราะยาร์อะดัวไม่ได้มอบหมายแต่งตั้งรองประธานาธิบดี กูดลักค์ โจนาธาน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งต่อก่อนที่เขาจะไปรักษาตัวครั้งสุดท้าย อีกทั้งประธานาธิบดีปัจจุบันคือบูฮารีก็เดินทางไปรับการรักษาตัวที่สหราชอาณาจักร 10 ครั้งแล้วในช่วงการดำรงตำแหน่งปัจจุบัน
ขณะเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งนี้ของไนจีเรียก็มีผู้สมัครที่อายุต่ำกว่า 40 ปี อยู่ 10 ราย อย่างไรก็ตามผู้สมัครที่อายุไม่มากเหล่านี้อาจจะต้องเจออุปสรรคจากวัฒนธรรมทางการเมืองในไนจีเรียเองที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมายาวนาน สิ่งนี้ทำให้เกิดการปลูกฝังวัฒนธรรมแบบที่ผู้เล่นการเมืองที่สั่งสมทั้งทุนรอนและเครือข่ายมายาวนานมีความได้เปรียบ ซึ่งคู่แข่งหลักทั้งสองรายต่างก็มีฐานการเมืองที่เข้มแข็งทั้งสิ้น ขณะที่บูฮารีมีกลุ่มผู้ที่ให้การสนับสนุนเขาในทางตอนเหนือของประเทศ อะบูบาคาร์ก็ได้รับการยอมรับจากกลุ่มชนเผ่าต่างๆ และศาสนาต่างๆ ในไนจีเรีย ดูเหมือนว่าอายุของพวกเขาจะไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้การสนับสนุนและความภักดีต่อสองผู้สมัครรายหลักๆ นี้ลดลง
ประเด็นที่สอง เรื่องชาติพันธุ์และศาสนาในไนจีเรียซึ่งมีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการแตกหักและในขณะเดียวกันเรื่องนี้ก็กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการเมืองของไนจีเรีย จากข้อมูลการเลือกตั้งเมื่อปี 2558 พบว่าคู่แข่งในการเลือกตั้งรายหลักๆ ได้รับคะแนนเสียงตามสัดส่วนผู้แทนจากพื้นที่รัฐที่สนับสนุนพวกเขาอยู่ นอกจากนี้ยังมีการใช้ความรู้สึกของผู้คนในเรื่องเชื้อชาติมาเป็นตัวเรียกคะแนนเสียงเป็นเหตุให้มีวาทะสร้างความเกลียดชัง (เฮทสปีช) เกี่ยวกับเรื่องเชื้อชาติเพิ่มขึ้นสูงมากทั้งในและนอกอินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้ยังมีความกังวลในเรื่องกลุ่มก่อการร้ายโบโกฮาราม ซึ่งเคยทำให้อดีตประธานาธิบดี กูดลักค์ โจนาธาน เสียคะแนนเสียงเพราะไม่สามารถจัดการกับเหตุวางระเบิดของกลุ่มโบโกฮารามได้ และกรณีที่กลุ่มโบโกฮารามลักพาตัวนักเรียนหญิงในชิบอก จนทำให้เกิดการเรียกร้องจากทั่วโลกในนาม #BringBackOurGirls ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรมากพอในการจัดการกับปัญหานี้
โกลบอลวอยซ์ระบุว่าผู้สมัครคู่แข่งหลัก 2 ราย ต่างก็อาศัยพันธมิตรเชื้อชาติในการชนะคะแนนเสียง ขณะที่บูฮารีมีพื้นเพเป็นชาวมุสลิมฟูลานีทางตอนเหนือ เขาได้ให้เยมี โอสิบานโจ เป็นผู้สมัครรองประธานาธิบดีเพื่อเรียกคะแนนจากชาวคริสต์โยรุบาทางตะวัตตกเฉียงใต้ของประเทศ ส่วนอะบูบาคาร์ซึ่งเป็นชาวมุสลิมฟุลานีเช่นกันก็เลือกผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีเป็นชาวคริสต์อิกโบทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ จากการที่สองคู่แข่งหลักมีเชื้อชาติเดียวกับอาจจะทำให้การแข่งขันในครั้งนี้ไม่มีความตึงเครียดทางชาติพันธุ์มากเท่าในปี 2558 ที่โจนาธานซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์อิจอว์ ขับเคี่ยวกับบูฮารี
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น จากที่มีข้อกล่าวหาต่อรัฐบาลบูฮารีในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างใหญ่หลวง และในปี 2561 ที่ผ่านมาก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องขอให้ปล่อยตัวชาวเน็ตและนักข่าวที่ถูกจับกุม
หนึ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเหตุการณ์ที่ตำรวจไนจีเรียทำร้ายร่างกายนักข่าว โยมี โอโลโมเฟ และจับกุมเขาเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2559 ในช่วงวันปีใหม่ 2560 ก็มีนักข่าวแดเนียล อิลอมบาห์ กับน้องชายของเขาถูกจับกุมจากเนื้อข่าวที่เขาไม่ได้เป็นคนเขียน ในเดือน ส.ค. 2560 ก็มีคนค้าขายชื่อโจ ฟอร์เตโมเซ ชินัคเว ถูกจับกุมเพราะตั้งชื่อสุนัขของเขาว่า "บูฮารี"
ทั้งนี้ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องปล่อยตัวคนทำสื่อส่วนหนึ่ง เช่น #FreeJonesAbiri ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ปล่อยตัว โจนส์ อบีรี ผู้ตีพิมพ์สื่อวีคลีย์ซอร์สที่ถูกจับกุมจากหน่วยความมั่นคงของรัฐในปี 2559 ก่อนที่เขาจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2561 โดยต้องอยู่ในที่คุมขังถึงสองปี การเคลื่อนไหวอีกหนึ่งกรณีคือ #FreeSamuelOgundipe จากกรณีที่หน่วยยุทธการพิเศษของไนจีเรียจับกุมนักข่าว ซามูเอล โอกุนดิเป และคุมขังเขาเป็นเวลาสามวัน
นอกจากสื่อแล้วยังเคยมีการจับกุมนักกิจกรรมการเมืองและสมาชิกฝ่ายค้าน เดจิ อะเดยันจู เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2561 จากการประท้วงล่าสุด
ทั้งนี้บูฮารียังเป็นคนที่แสดงความไม่ชอบเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างโจ่งแจ้งเขาเคยกล่าวกับกลุ่มนักกฎหมายเมื่อปีที่แล้วว่า "หลักนิติธรรมจะต้องอยู่ภายใต้อำนาจการกำกับด้านความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ" แต่ขณะเดียวกันฝ่ายอะบูบาคาร์ก็เคยให้สัญญาว่าจะมีการบริหารประเทศใน "โครงสร้างที่มีความเปิดกว้างครอบคลุม" และคำนึงถึงความหลากหลายและทำให้เกิดบรรยากาศที่ "เป็นธรรม" และ "มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกคนภายใต้รัฐบาลที่โปร่งใส"
โกลบอลวอยซ์ระบุว่ามีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าประเด็นเหล่านี้จะคลี่คลายออกมาอย่างไรในช่วงเลือกตั้งและหลังจากนั้น
เรียบเรียงจาก
Old age, hate speech, press freedom: Critical issues in Nigeria's 2019 presidential elections, Global Voices, Jan. 24, 2019
ข่าว
การเมือง
ต่างประเทศ
การเลือกตั้ง
ไนจีเรีย
มูฮัมมาดู บูฮารี
อะคิตู อะบูบาคาร์
ซ้ายกลาง
ขวากลาง
การแบ่งแยกเชื้อชาติ
เสรีภาพสื่อ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การปราบปรามคนเห็นต่าง
แสดงความคิดเห็น