(สวมกุญแจมือ) ฮาคิม อัล อาไรบี (ที่มา: Facebook/Banrasdr Photo)

Posted: 25 Jan 2019 03:07 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-25 18:07


องค์กรสิทธิ-อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียร้องฟีฟ่าคว่ำบาตรรัฐบาล-สมาคมฟุตบอลบาห์เรนและไทย กรณีขังฮาคีม อัล อาไรบี แข้งบาห์เรนที่ผู้ลี้ภัยอยู่ออสเตรเลียแต่ถูกจับในไทยขณะมาเที่ยว ขอแฟนบอลไทยช่วยกันเรียกร้องให้มีการส่งตัวเขากลับไปยังแดนจิงโจ้ ด้านฟีฟ่าส่งจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอนัดประชุมเพื่อเก็บข้อมูลและความคืบหน้าเรื่องนี้ เน้นย้ำไทยปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

25 ม.ค. 2562 องค์กรสิทธิ-กีฬานานาชาติแสดงความกดดันมากขึ้นต่อกรณีที่ไทยคุมขังฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนขณะเดินทางมาเที่ยวกับภรรยาที่ประเทศไทยเมื่อ 27 พ.ย. 2561 ทั้งที่ฮาคีมได้รับการรับรองและคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยโดยรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว โดยศาลอาญาได้ฝากขังฮาคีมเป็นเวลา 60 วันนับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 ปัจจุบันนับวันฝากขังได้ 45 วัน หากรวมเวลาที่ถูกขังตั้งแต่วันที่เดินทางถึงไทยก็นับได้ 60 วัน

ฮาคีมได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากออสเตรเลีย สามารถอาศัยในออสเตรเลียได้ไม่จำกัดเวลา หลังเขาหลบหนีการถูกทางการบาห์เรนจับกุม ทรมานและถูกตั้งข้อหาลับหลังเพราะสมาชิกในครอบครัวเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล เขาถูกจับที่ไทยเพราะมีหมายแดงขององค์การตำรวจนานาชาติหรือ INTERPOL แต่ปัจจุบันหมายดังกล่าวถูกถอนแล้วตามระเบียบเรื่องการไม่ออกหมายต่อผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะแล้ว

ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของฮาคีมให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันฮาคีมถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จะครบกำหนดฝากขัง 60 ในวันที่ 8 ก.พ. นี้ หากครบ 60 วันแล้วไม่มีการส่งเอกสารผู้ร้ายข้ามแดนจากบาห์เรนมา ศาลก็จะผลักดันกลับประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ อัยการยังสามารถขอขยายการควบคุมตัวได้อีก 30 วัน ในระหว่างนี้ หากบาห์เรนส่งเอกสารผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำคำคัดค้านในชั้นศาล

สำหรับภรรยาของฮาคีม ปัจจุบันได้กลับไปยังออสเตรเลียแล้ว
องค์กรสิทธิ-อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียร้องฟีฟ่าคว่ำบาตรบาห์เรน-ไทย ขอแฟนบอลยืนหยัดเพื่อแข้งบาห์เรน


วันนี้ (25 ม.ค.) มีการแถลงข่าวในกรณีฮาคีมที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ผู้ร่วมแถลงข่าวได้แก่ฟิล โรเบิร์ตสัน รักษาการแทนผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ และเคร็ก ฟอสเตอร์ อดีตกัปตันทีมฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

เคร็กกล่าวว่า ฮาคีมเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองสถานะ และคุ้มครองโดยรัฐบาลออสเตรเลียแล้ว ซึ่งการับรองดังกล่าวต้องผ่านขั้นตอนมากมายซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และรัฐบาลออสเตรเลียก็เห็นด้วยว่าฮาคีมสมควรได้รับการคุ้มครองจากการถูกทรมานซ้ำไปซ้ำมาหากต้องกลับไปยังประเทศต้นทาง จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยเคารพในอำนาจอธิปไตยของออสเตรเลียด้วยการคุ้มครองแข้งชาวบาห์เรนคนนี้และให้เขาเดินทางกลับออสเตรเลีย

เคร็กกล่าวเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้มีการรณรงค์ให้ปล่อยตัวฮาคีมจากหลายที่รอบโลก ทั้งจากอดีตนักฟุตบอลระดับโลกอย่างรอบบี้ ฟาวเลอร์ และผู้รักษาประตูหญิงทีมชาติสหรัฐฯ โฮป โซโล ไปจนถึงสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า - FIFA) ที่ส่งจดหมายถึงประยุทธ์เพื่อขอส่งตัวแทน FIFA เข้าพบเพื่อหารือกับรัฐบาลไทยในกรณีฮาคีม แสดงถึงความหนักหนาสาหัสของสถานการณ์ที่กระทบต่อชื่อเสียงวงการกีฬาไทย เนื่องจากเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคดีความในศาล แต่เป็นเรื่องการส่งคนกลับไปเผชิญอันตราย (Refoulement) ที่ผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ไทยให้สัตยาบันไว้

อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียยังระบุว่า FIFA มีนโยบายใหม่ที่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล และนโยบายเหล่านั้นต่างก็มีผลให้สมาคมฟุตบอลในระดับนานาชาติอย่างสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และระดับประเทศอย่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ปฏิบัติตามด้วย ซึ่งฮาคีมก็เป็นหนึ่งในผู้เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลเพราะเขาเป็นนักฟุตบอลอยู่

เคร็กเรียกร้องให้ FIFA ประสานกับผู้เกี่ยวข้องกับฮาคีมทั้งหมด โดยเฉพาะการทำให้ชีค ซัลมาน อัล คาลิฟา ประธาน AFC คนปัจจุบันผู้เป็นสมาชิกราชวงศ์บาห์เรนและหนึ่งในบุคคลที่ฮาคีมวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีการเมืองในวงการฟุตบอล ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลบาห์เรนไม่ให้มีการส่งตัวฮาคีมกลับ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของประธาน AFC

อดีตนักฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลียยังขอให้ทั้ง FIFA และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เดินหน้าหามาตรการคว่ำบาตรทางกีฬาที่ทำได้ต่อทั้งสมาคมฟุตบอลไทยและบาห์เรนในการเป็นสมาชิกและเข้าร่วมกีฬาฟุตบอลในระดับโลกเพราะการคุมขังผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีความจำเป็น และในกรณีที่หากบาห์เรนจะขอให้ทางการไทยส่งเอกสารขอตัวฮาคีมกลับบาห์เรน เขาเรียกร้องให้ FIFA เป็นผู้ร่วมสังเกตการณ์อิสระในทุกการประชุมที่เกี่ยวข้องกับฮาคีม

“นี่คือข้อความของผมถึงประชาคมฟุตบอลในเมืองไทย ฮาคีมเป็นนักฟุตบอล ชายหนุ่มผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เจอภรรยาเขามาเกินหนึ่งเดือนแล้ว เขาพูดกับผมตอนอยู่ในเรือนจำว่า เขาถูกพรากสองสิ่งที่เขารักไป นั่นคือภรรยาและฟุตบอล เขาเล่นฟุตบอลในเรือนจำ และทีมแชมป์ในการแข่งขันของเรือนจำก็รู้แล้วว่าเขาเป็นนักฟุตบอลระดับสากล แต่เขาก็ถามว่า แล้วทำไมฉันต้องมาเล่นฟุตบอลในคุก”

“ฉันรักฟุตบอลมาก ฉันอยากจะสัมผัสลูกฟุตบอล เป็นเรื่องดีที่ได้เล่นฟุตบอล แต่ทำไมฉันได้มาเล่นอยู่หลังลูกกรง ฉันควรได้กลับไปที่ (สโมสร) ปาสโกเวล ในเมืองที่ออสเตรเลีย ฉันควรจะได้เล่นกับเพื่อนร่วมทีม” เคร็กถ่ายทอดคำบอกเล่าจากฮาคีม

อดีตกัปตันทีมชาติออสเตรเลียยังเน้นย้ำให้แฟนบอลชาวไทยร่วมสนับสนุนให้มีฮาคีมได้กลับไปยังออสเตรเลีย

“ความอยุติธรรมนี้ต้องจบลง นี่คือมนุษย์ นี่คือนักฟุตบอล และสำหรับชาวไทยที่รักในฟุตบอล คุณต้องสนับสนุนผู้เล่นคนนี้ เดี๋ยวนี้ คุณไม่สามารถบอกว่าคุณเป็นคอบอล คุณไม่สามารถบอกว่าคุณรักในเกมฟุตบอลหากเรายังไม่ยืนหยัดเพื่อปกป้องนักฟุตบอลผู้บริสุทธิ์ จิตวิญญาณของกีฬาฟุตบอลกำลังถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายในกรณีนี้”

“ถ้าเราเป็นประเทศพี่น้องในกีฬาฟุตบอล เหตุใดผู้เล่นที่ได้รับการคุ้มครองจากประเทศของเรา และได้รับการเคารพจากชุมชนของพวกเรากลับต้องไปนั่งอยู่ในเรือนจำ มันเกิดขึ้นแบบนี้ไม่ได้ ฟุตบอลดีกว่านี้ได้ ฟุตบอลยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ และคุณค่าของกีฬาฟุตบอลก็กำชับให้คุณช่วยเหลือฮาคีม และควรยืนหยัดเพื่อเขาในตอนนี้ เขาต้องการการสนับสนุนจากพวกคุณ”

“มันไม่ใช่เรื่องของทีมทั้งทีม มันเกี่ยวกับคนหนึ่งคน แต่ถ้าชีวิตหนึ่งไม่สำคัญพอ เราก็ต้องมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของเรา และต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตวิญญาณของฟุตบอลด้วย” เคร็กกล่าว

ฟิลกล่าวว่า การที่ไทยดำเนินการกับฮาคีมทั้งการควบคุมตัวและสั่งฝากขัง เป็นการทรยศต่อคำพูดของประยุทธ์ที่พูดในเวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติว่าไทยเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน เขาตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยสอดคล้องกับที่พูดไว้กับเวทีนานาชาติ ภายใต้รัฐบาล คสช. มีประวัติส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายยังหลายประเทศปลายทาง เช่น กัมพูชา ลาว จีน เวียดนาม

ต่อการให้สัมภาษณ์ของนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย ในรายการวิทยุช่อง ABC เมื่อวานนี้ (24 ม.ค.) ที่บอกว่ากรณีฮาคีมดำเนินตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนเนื่องจากเขาถูกหมายแดงจากองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศหรือ INTERPOL ทนายความของฮาคีมสามารถให้เหตุผลเรื่องการจะถูกทรมานหากส่งตัวฮาคีมกลับบาห์เรน ซึ่งเธอคิดว่าศาลจะตัดสินเข้าข้างฮาคีม ฟิลตอบโต้ว่าหมายแดงของ INTERPOL เป็นโมฆะไปแล้วจากสถานะผู้ลี้ภัยของฮาคีมที่รับรองโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ในประเทศที่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ หากพวกเขาพบว่าฮาคีมได้รับการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว เขาจะส่งฮาคีมกลับขึ้นเครื่องให้กลับไปที่ออสเตรเลียแทน การทรมานเป็นเรื่องปกติในเรือนจำบาห์เรน การส่งฮาคีมกลับไปด้วยข้อหาที่ศาลบาห์เรนทำหน้าที่เป็นตรายางประทับรับรองคดี ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติในอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมานฯ ที่ไทยให้สัตยาบัน

รักษาการ ผอ.ภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ตั้งข้อสงสัยว่า ไทยกับบาห์เรนเล่นเกมการเมือง ตั้งแต่จับตัวฮาคีมวันแรก เพราะฟิลได้รับข้อมูลว่า ในตอนแรกที่ฮาคีมถูกควบคุมตัวด้วยหมายแดง เมื่อเครื่องบินถึงเกท เขาเจอตำรวจไทยที่รู้ว่าเขาและภรรยานั่งเบาะไหน โดยตำรวจไทยมีสำเนาพาสปอร์ตของฮาคีมขณะที่เขาอายุ 16 ปี สิ่งเหล่านั้นไปอยู่ในมือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อย่างไร

ฟิลเรียกร้องให้ประชาคมโลกผลักดันประเด็นฮาคีมให้มากขึ้น ออสเตรเลียสามารถเริ่มได้ด้วยการรณรงค์เพื่อกดดันรัฐบาลไทยและบาห์เรนให้ปล่อยตัวแข้งบาห์เรน สถานทูตออสเตรเลียในกรุงเทพฯ อาจเป็นผู้เริ่มต้นการรณรงค์ดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ ฟิลกล่าวกับผู้สื่อข่าวประชาไทเพิ่มเติมว่าองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติมีแผนรณรงค์ต่อ โดยได้ประสานไปสโมสรฟุตบอลชื่อดังหลายสโมสรแล้ว
FIFA ออกจดหมายถึงประยุทธ์ ขอประชุมกับผู้แทนเพื่อเก็บข้อมูล ย้ำ ส่งฮาคีมกลับออสเตรเลีย

เมื่อ 23 ม.ค. FIFA ออกจดหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศไทย วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เนื้อความจดหมายแสดงความกังวลต่อการคุมขังฮาคีมเพื่อรอกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากบาห์เรนดำเนินการมา FIFA เน้นย้ำให้ไทยดำเนินการส่งตัวฮาคีมกลับออสเตรเลีย

“พวกเรา(FIFA) เชื่อว่ามาตรการนี้(ส่งฮาคีมกลับออสเตรเลีย) จะทำให้เกิดความยุติธรรม ทั้งต่อการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศของรัฐไทย และต่อคุณค่าของมนุษย์และมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ซึ่งพวกเรารู้ว่าประเทศและรัฐบาลของคุณให้ความสำคัญ”

FIFA ยังขอเข้าพบกับตัวแทนระดับสูงจากรัฐบาลเพื่อประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ของฮาคีม เพื่อเก็บข้อมูลและสถานะของกระบวนการต่างๆ โดยทาง FIFA จะส่งตัวแทนจาก FIFA และสหพันธ์วิชาชีพนักฟุตบอนานาชาติหรือฟิฟโปร (FIFPro)

FIFA ออกนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2560 ว่าจะเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากลทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการสร้างความปลอดภัยให้กับคนที่เกี่ยวข้องกับ FIFA หลายมุมเช่น เสรีภาพการเดินทาง ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ตามข้อบัญญัติทางวินัย FIFA ที่บังคับใช้กับสมาคมฟุตบอล สโมรสร ผู้เล่น เจ้าหน้าที่และผู้ชม มีระบุเอาไว้ว่า นิติบุคคลสามารถถูกคว่ำบาตรได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

  • แบนการย้ายผู้เล่น
  • แข่งขันแบบไม่มีผู้เข้าชม
  • แข่งขันในพื้นที่กลาง
  • แบนการเล่นในสนามหนึ่งๆ
  • ให้ผลการแข่งขันเป็นโมฆะ
  • ไล่ออกจากสนาม
  • ปรับแพ้
  • ตัดแต้ม
  • ปรับให้ตกชั้น

การทูตระหว่างไทยกับออสเตรเลียกลายเป็นที่จับจ้องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากกรณีของฮาคีม และในเวลาต่อมายังมีกรณีของราฮาฟ โมฮาเหม็ด แอล-คูนูน 18 ปี หญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ที่หลบหนีออกไปยังออสเตรเลียโดยอ้างว่าเธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง แต่เธอถูกจับกุมขณะรอเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อ 5 ม.ค. 2562 เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่กระแสการเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือเธออย่างการติดแฮชแท็ก #Saverahaf ทั้งนี้ ในกรณีของฮาคีมก็มีการติดแฮชแท็ก #SaveHakeem บนโลกโซเชียลเช่นกัน

ปัจจุบัน ราฮาฟได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังใช้ชีวิตอยู่ในแคนาดา
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.