Posted: 20 Jan 2019 04:51 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2019-01-20 19:51


ธรรมชาติ กรีอักษร รายงาน

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง ชี้ปัจจัยการเมืองส่งผลการศึกษาการใช้กฎหมายทำได้จำกัด พร้อมเล่าประเด็นเมื่อสถาบันกษัตริย์เจอกับรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขณะที่ กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ ระบุพฤษภา 35 ส่งผลต่อปัจจุบันมากกว่าที่คิด ตั้งแต่บทบาทหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน การสร้างวาทกรรมว่าด้วย ‘นักเลือกตั้ง’ การถวายพระราชอำนาจ จนกระทั่งพันธมิตรฯ เคลื่อนไหว

รายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือ 'นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง' เพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550’ เขียนโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้งนี้ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ ‘ข้อ (ไม่) ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’ โดยมีวิทยากรนอกจาก สมชาย แล้ว ยังมี วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ โดยรายงานเสวนาชิ้นนี้จะนำเสนอส่วนของ เข็มทองและกิตติศักดิ์ ดังนี้



เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง : เพราะปัจจัยการเมือง การศึกษาการใช้กฎหมายทำได้จำกัด

สำหรับเหตุที่หัวข้อเสวนาที่ว่า ‘ข้อไม่ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’ ถูกละเลยนั้น เข็มทอง กล่าวว่า เป็นเพราะปกติแล้วเวลาที่เรียนกฎหมายมหาชน ในช่วงแรกจะศึกษาในเชิงบรรทัดฐาน (normative) ส่วนครึ่งหลังเป็นการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญในเชิงพรรณนา แบบแผนที่เกิดขึ้นคือกฎหมายเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก แต่องคาพยพของสถาบันพระมหากษัตริย์แทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย เราจึงต้องรีบศึกษากฎหมายใหม่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นคือกฎหมายหมวดพระมหากษัตริย์เป็นส่วนที่มีการใช้น้อยมาก คนเรียนกฎหมายจึงให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมากกว่า อาจจะเป็นเพราะเหตุผลนี้ คนจึงไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับหัวข้อนี้กันมากนัก เพราะฉะนั้นคุณสมชายจึงอาจจะเหงาหน่อยเวลาที่พูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อนี้

เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำถามที่สำคัญก็คือเราเข้าใจหรือไม่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ในปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งพยายามศึกษาสถาบันพระมหากษัตริย์ของต่างประเทศ เพื่อช่วยให้เข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยให้ดีขึ้น ซึ่งตนเห็นว่ายังไม่ครบถ้วน เพราะบางอย่างเป็นความเป็นไทยล้วนๆ คิดว่าส่วนใหญ่แล้ว นักกฎหมายมหาชนในประเทศไทยศึกษาโดยเน้นเรื่องทางเทคนิค ซึ่งนำมาจากตะวันตก เช่น ทฤษฎี Divine Right (ทฤษฎีเทวสิทธิ์) แต่ทฤษฎีเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่บริบทของไทยเท่าไหร่ หรือจะดูที่จักรพรรดิญี่ปุ่นที่เป็นบุตรของดวงอาทิตย์ ซึ่งต่อมาคนเลิกเชื่อความคิดแบบนี้ไปเพราะญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เอามาใช้กับประเทศไทยไม่ได้อีก คำถามคือ แล้วมันมีอะไรอยู่ อีกวิธีหนึ่งคือการศึกษาทางประวัติศาสตร์เป็นการเปรียบเทียบบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาต่างๆ การเปรียบเทียบสถาบันกษัตริย์ในช่วงก่อนปฏิวัติ 2475 ก็อาจช่วยให้เห็นความต่างได้บ้าง
อัคคัญญสูตร จักรพรรดิตฤณสูตร และพระโพธิสัตว์

เข็มทอง กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดเวลาพูดถึงพระมหากษัตริย์เราคงไปดูที่แนวคิดเทวราชาหรือฮินดูไม่ได้ เวลาพูดถึงธรรมราชาเราต้องดูสามสิ่งที่ซ้อนกันอยู่ซึ่งมันเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย อย่างแรกคือเรื่องอัคคัญญสูตร ในโลกคนทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น จึงต้องแต่งตั้งคนมาเพื่อจัดการปัญหา โดยยอมจ่ายทรัพยากรให้ส่วนหนึ่ง บางคนเสนอถึงขั้นว่าอันนี้เป็นสัญญาประชาคมของไทย ตัวอย่างที่สำคัญคืออเนกนิกรสโมสรสมมติ

อีกเรื่องหนึ่งคือ จักรพรรดิตฤณสูตร หมายถึงกงล้อพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่หมุนเวียนไปทั่วภพ กษัตริย์เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องพิชิตด้วยธรรม หมายถึงต้องปฏิบัติธรรม แต่หากดูพระเจ้าอโศกมหาราชก็ใช้กำลังแก้ปัญหาเลยไม่ใช่การปฏิบัติธรรมขอแค่เป็นกำลังของฝ่ายธรรมะก็พอแล้ว ฉะนั้นการเป็นกษัตริย์จึงไม่ได้มาจากวรรณะแต่ตามพระไตรปิฎกแล้วมาจากการทำดี

อย่างที่สามคือเรื่องการเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งมาจากตัวบุคคลของพระมหากษัตริย์เองตั้งแต่เกิด กษัตริย์เป็นพระโพธิสัตว์ที่จะกลายเป็นพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ในอนาคต การไปดูคำปรารภที่ศักดิ์สิทธิ์ยาวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นสำนึกเช่นนี้อยู่ การทำลักษณะนี้กับรัฐธรรมนูญทำให้รัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์เพิ่มขึ้นได้ หากดูเอกสารจะเจออภินิหารต่าง ๆ เช่น เวลากษัตริย์เดินทางฟ้าจะเปิดและเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ อะไรอย่างนี้เป็นต้น

เมื่อสถาบันกษัตริย์เจอกับรัฐธรรมนูญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากเกิด 2475 และรัฐธรรมนูญขึ้นแล้ว สถาบันกษัตริย์เจอกับรัฐธรรมนูญแล้วกลายเป็นอะไรนั้น เข็มทอง กล่าวว่า แง่มุมที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือบทบาทแนวคิดสถาบันพระกษัตริย์บางส่วนถูกถ่ายทอดมาสู่รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นใหม่ กล่าวคือ การเป็นพุทธมามกะ ซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้พูด อีกประเด็นที่สำคัญก็คือการอภัยโทษ ตนเห็นว่าการดูอย่างที่อาจารย์สมชายดูอยู่ช่วยทำให้เห็นพลวัต แต่กระนั้นตนเห็นว่าการศึกษานี้ยังเป็นเพียงครึ่งเดียวของทั้งหมด อีกครึ่งหนึ่งของการศึกษารัฐธรรมนูญนอกเหนือจากการร่างคือเรื่องการใช้ ซึ่งสาเหตุที่เราศึกษาไม่ได้เพราะว่าก่อนที่รัฐธรรมนูญจะได้ใช้ก็ต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกแล้ว ขึ้นโครงเสร็จเนื้อหนังยังไม่ทันได้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาไม่ทันไรก็ต้องเปลี่ยนโครงอีกแล้ว เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือเรื่องการวีโต้ซึ่งทำให้เห็นเป็นความรู้ขึ้นมาได้แล้ว แต่น่าเสียดายคือหลายประเด็นมันตกไปตามต่อไม่ได้เพราะว่าสถานการณ์คับขันส่งผลให้เปลี่ยนกฎหมายก่อนได้ใช้ ที่น่าเสียดายอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องการสืบราชสมบัติเพราะว่าร่างและเถียงกันมาแทบตาย แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ใช้เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช.

ทฤษฎีใหญ่อันหนึ่งที่อยู่ในวงการนิติศาสตร์ก็คือทฤษฎีของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งทำให้เห็นความต่อเนื่องของพัฒนาการของกฎหมาย คิดว่าอาจารย์สมชายคงเป็นคนที่สองที่พยายามหาคำอธิบายเพื่อชี้ให้เห็นพลวัตของกฎหมายในภาพรวมเช่นนี้ ซึ่งตนคิดว่ายังไม่มีคนพยายามศึกษามากนัก สิ่งที่ตนต้องการชี้ให้เห็นก็คือเราเผชิญข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจหัวข้อนี้ได้อย่างแท้จริง พอสถานการณ์การเมืองภายนอกบีบเข้ามา หลักกฎหมายเลยไม่นิ่ง การศึกษาเลยเป็นเรื่องยาก


กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ
กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ : พฤษภา 35 ส่งผลต่อปัจจุบันมากกว่าที่คิด

ประเด็นที่ว่าการปฏิรูปการเมืองไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ช่วงหลังพฤษภา 2535 มากกว่าที่เราคิดนั้น กิตติศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ตนจะมาพูดถึงเรื่องพระราชอำนาจในการปฏิรูปการเมืองในช่วง พ.ศ. 2535 ทำไมตนถึงอยากพูดเรื่องนี้ เป็นเพราะช่วงการเมือง 10 ปีที่ผ่านมาน่าจะมีความต่อเนื่องทางความคิดบางอย่างอยู่ และอยากชี้ให้เห็นว่าประเด็นเรื่องพระราชอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองมากกว่าที่เราคิด

“ประเด็นที่ผมจะมาพูดวันนี้ เป็นเรื่องที่ผมเคยทำวิทยานิพนธ์ไว้ ตอนปริญญาโท ประวัติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ก็ได้มาพูดเกี่ยวกับพระราชอำนาจในช่วงที่มีการปฏิรูปการเมือง พ.ศ. 2535 - 2540 แล้วผมก็พยายามจะโยงประเด็นให้เข้ากับหนังสือของอาจารย์สมชาย ด้วยพื้นภูมิของผมไม่ใช่นักนิติศาสตร์ แต่ว่าทำงานทางด้านนิติศาสตร์ ฉะนั้น มุมมองวิธีการเล่าเรื่องก็อาจจะมีต่างบ้าง ทีนี้ ทำไมผมถึงอยากพูดเรื่องนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟังก็คือ ช่วยให้เข้าใจการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะการเมืองมวลชนสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2548 ว่ามันน่าจะมีความต่อเนื่องทางความคิดบางประการ ในช่วงหลังพฤษภา 35 รวมถึงกลุ่มคนด้วย นอกจากนี้แล้ว ผมอยากจะชวนคิด เช่น รัฐธรรมนูญ 40 ที่ได้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในความหมายที่ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชน สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็นต่อไปนี้ก็คือว่าในด้านหนึ่งแล้ว วาทกรรมพระราชอำนาจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้เข้ามาช่วงชิงการปฏิรูปมากกว่าที่เราคิด”

กิตติศักดิ์ กล่าวว่า พฤษภา 35 มีบทบาทสำคัญสามอย่างก็คือมีการเรียกร้องให้นายกต้องมาจาก ส.ส. ต้องมาจากการเลือกตั้ง กองทัพได้หมดบทบาทลงไป และบทบาทที่โดดเด่นของสถาบันกษัตริย์ เรื่องหนึ่งที่กิตติศักดิ์เล่าให้ฟังคือตอนประท้วง รสช. และในช่วงต้นเดือนพฤษภา พ.ศ. 2535 หลังจากที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มีฎีกาของ 42 นักวิชาการ นำโดยประเวศ วะสี ส่งไปยังราชเลขาธิการ ในข้อความกล่าวว่า “พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ที่จะให้คำแนะนำและตักเตือนรัฐบาลได้ ตามประเพณีของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทางออกที่เป็นไปได้ประการหนึ่งคือการพระราชทานข้อแนะนำให้นายกรัฐมนตรียุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่” คำที่ว่านี้ถือว่าค่อนข้างแรงหากมองจากมุมปัจจุบัน ซึ่งก็มีขบวนการต่าง ๆ ออกมาสนับสนุน แต่ส่วนที่สำคัญคือกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น

“หลังจากมีการส่งฎีกาไปแล้ว ได้มีการส่งฎีกาดังกล่าวไปยังพรรคการเมืองต่าง ๆ แทนที่จะถูกส่งให้กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก แล้วมันมีผลอะไร มันมีผลทำให้กระบวนการชุมนุมประท้วงคราวนั้น ย้ายประเด็นไปอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์” กิตติศักดิ์ กล่าว แรงกดดันเช่นนี้ส่งผลให้พรรครัฐบาลและฝ่ายค้านต้องออกมาตอบเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยส่งความเห็นไปที่สำนักราชเลขาธิการ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้มีการยุบสภาเกิดขึ้น แต่รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จนสถานการณ์คลี่คลาย และนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
บทบาทหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันและฎีกาสภากระจก

กิตติศักดิ์ ชี้ให้เห็นภาพ 5 ปีหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งเรียกว่าเป็นช่วงการปฏิรูปการเมือง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน หลัง พ.ศ. 2535 โดดเด่นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีภาพลักษณ์สมัยใหม่ และมีการพูดถึงการเมืองและเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น สนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน และได้เครดิตจากการต้าน รสช. ซึ่งตอนนั้นมติชนเชียร์ รสช. ส่งผลทำให้นักวิชาการเขียนคอลัมน์ลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการเยอะมาก คนที่เขียนลงบ่อยและมีบทบาทมากก็คือคุณคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งเป็นบรรณาธิการข่าวการเมือง และได้รับอิทธิพลจากอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จึงช่วยให้เห็นพลวัตของการปฏิรูปการเมืองอย่างมาก

หนึ่งในหมุดหมายที่สำคัญในตอนนั้น แต่คนสมัยนี้อาจจะไม่รู้จัก คือ เรื่องการฎีกาสภากระจก ซึ่งเป็นฎีกาที่ขอพระราชทานสมัชชาแห่งชาติ ไม่กี่เดือนหลังจากเหตุการณ์พฤษภา 35 แนวคิดดังกล่าวเสนอโดยอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ขณะที่สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ. 2516 เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมัชชาแห่งชาติหรือสภากระจกเป็นสภาที่สามซึ่งขอพระราชทานมา โดยแยกออกมาจาก ส.ส. และ ส.ว. มีหน้าที่เพื่อช่วยเสริมการปฏิบัติงานของรัฐสภา เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยในระยะเวลาที่ระบอบนี้ยังไม่มีความชอบธรรมที่เด็ดขาดสมบูรณ์


วาทกรรมว่าด้วย ‘นักเลือกตั้ง’

อย่างไรก็ตาม กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า ฎีกาฉบับนี้แพ้ยับเยิน หมายความว่าคนยังเชื่อใน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ความศรัทธาต่อ ส.ส. เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากปี พ.ศ. 2536 เริ่มมีการประดิษฐ์คำว่า “นักเลือกตั้ง” ขึ้น เริ่มจากจำกัดอยู่เฉพาะในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ใน พ.ศ. 2537 ฉลาด วรฉัตร อดข้าวประท้วงเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการยังมาจาก ส.ส. อยู่ จนกระทั่งคำว่า “นักเลือกตั้ง” เริ่มแพร่กระจายไปในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ใน พ.ศ. 2538 พัฒนาการเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าคุณคำนูณมีแนวคิดพยายามกัน ส.ส. ออกจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต้องการอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาแทน แนวคิดสภากระจกเช่นนี้จึงเริ่มกลับเข้ามาใหม่

ต่อมาอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ แถลงข่าวเสนอร่าง รธน. เพื่อแก้ไข ม. 211 ให้มีคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิโดยให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งอดีตนายกฯ ไม่เกิน 3 คนและมาจากผู้เชี่ยวชาญนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ 10-15 คน.หมอประเวศ วะสี นำไอเดียของอมรมาเสนอต่อ โดยขอให้มีการเปิดช่องให้กับนายกรัฐมนตรีคนนอก และ “สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและยับยั้งการกระทำของรัฐบาลและสภาทั้งสอง ที่เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต่อมาอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอให้ “ขอคืนพระราชอำนาจ” เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือของการรัฐประหาร จากนั้น คำนูณ สิทธิสมาน อ่านหนังสือดังกล่าวของอาจารย์บวรศักดิ์ และเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว การขอคืนพระราชอำนาจกลายเป็นแนวคิดที่แพร่กระจายระดับหนึ่งในช่วงการประท้วงปี พ.ศ. 2548
การถวายพระราชอำนาจ และพันธมิตรฯ

“ประมาณ ปี พ.ศ. 2537 อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ออกหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งผมว่านักนิติศาสตร์ต้องอ่าน ชื่อ the constitutionalist ขออนุญาตไม่พูดรายละเอียด หลังจากออกหนังสือเล่มนี้ได้ไม่นานก็แถลงข่าวเพื่อเสนอทางออกต่าง ๆ มากมาย เพื่อแก้ไขมาตรา 211 อย่างที่ผมพูดไป ให้มีคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ซึ่งมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง อดีตนายกฯ ไม่เกิน 3 คน และมาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ 10-15 คน นอกจากนี้แล้ว อาจารย์อมร ยังพูดอีกว่า ผมคิดว่าโควทนี้สำคัญแล้วก็สะท้อนตัวตนของอาจารย์อมรพอสมควร สิ่งที่เราขาดก็คือผู้นำทางการเมือง การที่ท่านชัยอนันต์เคยเสนอว่าถวายฎีกาแล้วมีนักวิชาการหลายท่านออกมาโต้แย้งนั้น ร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ใช่การถวายฎีกา แต่เป็นเรื่องของคนไทยที่จะต้องขอพระราชทานจากท่าน (ในหลวง) ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” กิตติศักดิ์ กล่าว

“มันสะท้อนอะไร ผมคิดว่าตรงนี้ทำความเข้าใจในปี 2548 ได้ยังไง จำได้ไหม ตอนปี 2548 ที่พันธมิตร ชูประเด็นเรื่องถวายพระราชอำนาจ นั่นก็คือการขอพระราชทานผู้นำการปฏิรูปการเมืองแก้มาตรา 313 คล้าย ๆ แบบนี้ แต่สิ่งที่ต่างกันคืออะไร คือ ผมคิดว่าบุคลิกของอาจารย์อมรเป็นคนใจเย็น แล้วก็คือยอมทำ process อย่างนี้อย่างเดียว ไม่เอาถวายฎีกา ไม่เอาอะไร แต่ขอพระราชทานผู้นำ โดยผ่านกระบวนการรัฐธรรมนูญ ดังนั้นพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวกระบวนการมวลชนใช่ไหม ใจเย็นไม่ได้ คือทำได้สักแป๊บนึง ตอนนั้นก็คือต่อต้านทักษิณใช่ไหม นำข้อเสนอของอาจารย์อมรชูในเวทีการประท้วง ทำได้สักแป๊บเดียว ไม่ได้ แฉลบไป ก็คือ ถวายฎีการ้องทุกข์โดยอาจารย์ชัยอนันท์เป็นคนเขียน หลังจากนั้นก็คือมาตรา 7 เรื่องขอนายกพระราชทานใช่ไหม ซึ่งตอนนั้นอาจารย์อมรเขาไม่ได้เห็นด้วยหรอก แกก็ยืนยันข้อเสนอของแกไป”

“หลังจากนั้น อีกประมาณเกือบ 1 ปี หมอประเวศ วะสีก็ออกเล่มนี้มา ก็เสนอกรอบความคิดในการปฏิรูปการเมือง ซี่งผมคิดว่าก็นำไอเดียของอมรนี่แหละมาใช้ แต่ว่าทำให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างค่อนข้างสูง เพราะอะไร ผมคิดว่าประเด็นนึงก็คือหมอประเวศมีเครดิต ประเด็นที่สองก็คือช่วงประเด็นปฏิรูป เป็นแพ็กเกจเลยเยอะแยะมากมาย ทำให้คนยอมรับได้ แต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า มันมีข้อเสนอบางประเด็นที่เรียกว่าต่อต้านประชาธิปไตยมาก ๆ เลย แต่ว่าคนตอนนั้นก็ยอมรับกัน ประการหนึ่งก็คือเปิดช่องให้คนนอก หรือผู้ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพิ่งเรียกร้องนายกต้องมาจากการเลือกตั้งมาหยก ๆ ไม่กี่ปีผ่านมา เป็นอย่างนี้แล้ว ประการที่สองก็คือมีสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล และสภาทั้งสอง หมายถึง ส.ส. และ ส.ว. หน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือเป็นสภาที่สามารถลงมติด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ยับยั้งการกระทำใด ๆ ของรัฐบาลและสภาทั้งสองที่กระทบต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ได้ คือผมมาอ่านตรงนี้แล้วคิดว่าคุ้น ๆ ไหม นี่อาจจะเป็น “นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง”

“ต่อมา ผมคิดว่างานของอาจารย์บวรศักดิ์ เรื่องนี้เด็กนิติศาสตร์ก็ต้องอ่าน กฎหมายมหาชนเล่ม 2 ซึ่งผมคิดว่าโควทนี้ตรงที่ผมขีดเส้นใต้เป็นไอเดียสำคัญ คือ เสนอว่าการทำให้อำนาจก่อตั้งองค์กรปกครองทางการเมืองสูงสุดกลับคืนเป็นของพระมหากษัตริย์และประชาชน ออกในปี พ.ศ. 2537-2538 คือถ้าเราเข้าใจบริบทตอนนั้น ก็จะเข้าใจว่าหลาย ๆ ความคิดของนักนิติศาสตร์ก็ตกผลึกในช่วงนั้น สำคัญอย่างไรที่ผมบอก คือ คำขวัญถวายพระราชอำนาจนั่นเอง พอคุณคำนูณได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็บังเกิดประกายความคิด (คำของคุณคำนูณเอง) จนสรุปในเชิงทฤษฎีไว้ว่า ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 คืนอำนาจสูงสุดทางการเมืองในการก่อตั้งองค์กรให้มีรัฐธรรมนูญให้กลับคืนสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน ด้านหนึ่งคือการถวายคืนพระราชอำนาจ ให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติฉบับใหม่ อีกด้านหนึ่งก็คือประชามติ คือคุณคำนูณก็ขยันในการเขียนเรื่องนี้มาก เป็นเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจในปี พ.ศ. 2538-2539 และเทิร์มนี้ก็ถูกใช้โดยคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์คนอื่น ๆ ด้วย และผมว่าก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญด้วยที่ในปี 2548 มีการชูคำขวัญนี้”

กิตติศักดิ์ ได้สรุปและตั้งข้อสังเกตบางประการ ว่า ในช่วงปี 35-40 เราจะเห็นได้ว่ามีการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอให้ใช้ประเด็นพระราชอำนาจมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่างรัฐธรรมนูญ อันต่อมาคือมีการประดิษฐ์คำขวัญ และวิพากษ์นักการเมืองและการเลือกตั้ง (คำว่านักเลือกตั้ง) แต่ตนจะบอกว่า อันนี้ยังไม่ใช่ต่อต้านการเลือกตั้ง ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราอาจจะบอกได้ว่าอันนี้เป็นหน่ออ่อน เป็นเงาลาง ๆ ที่จะเห็นถึงปัจจุบันแล้วว่าพัฒนาขึ้นมาอย่างไร รวมถึงถวายคืนพระราชอำนาจ ซึ่งสัมพันธ์กับการกีดกันให้นักการเมืองอยู่นอกวงการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2535 และ 2540 นับเป็นสองฉบับ งานที่สำคัญของทางนิติศาสตร์ก็ตกผลึกในช่วงการปฏิรูปการเมืองนี้ เกี่ยวข้องกับประเด็นพระราชอำนาจและรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยสำคัญ สุดท้ายคือตนคิดว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องพระราชอำนาจนี้ยังอยู่ในขอบข่ายปัญญาชนนักวิชาการอยู่ ซึ่งต่างกับปี พ.ศ 2548 เป็นต้นมา ขบวนการมวลชน พ.ศ. 2548-2549 เป็นต้นมา ที่ประเด็นนี้แพร่กระจายในระดับมวลชนแล้ว อันนี้คือความแตกต่าง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.