Posted: 21 Jan 2019 12:13 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-22 03:13

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารหลักสูตรคณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปฏิเสธคำร้องของนิสิตข้ามเพศที่ขอแต่งเครื่องแบบหญิง และสั่งให้นิสิตแต่งเครื่องแบบชาย มิเช่นนั้นจะต้องโดนลงโทษอย่างรุนแรง มติดังกล่าวถือว่าขัดต่อข้อบังคับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอธิการมีคำสั่งให้พักการใช้คำสั่งดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการร้องเรียนว่านิสิตข้ามเพศต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติจาก อ.นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ ของคณะครุศาสตร์ จุฬา ฯ มาตลอด 35 ปี

จิรภัทร นิสิตข้ามเพศคณะครุศาสตร์ กล่าวว่าตนได้ยื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยไปเมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อขออนุญาติแต่งชุดนิสิตหญิงเข้าเรียนและเข้าสอบ และทำเช่นนั้นเรื่อยมาระหว่างที่ขอผลการขออนุญาต อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปีมานี้ เธอรายงานว่าอาจารย์ที่คณะมีคำสั่งให้เธอใส่ชุดนิสิตชาย และกล่าวว่าจะให้คณะพิจารณาคำร้องใหม่ จากนั้น คณะจึงแจ้งกับจิรภัทรว่าคำร้องของเธอไม่ได้รับอนุมัติ โดยเธอต้องใส่เครื่องแบบตามเพศกำเนิด หากเธอไม่ใส่เครื่องแบบชาย เธอจะต้องถูกหักคะแนนความประพฤติ และอาจส่งผลให้เธอเสียสถานะความเป็นนิสิตในที่สุด จิรภัทรให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวเช้าช่อง 3 ว่า เธอเผชิญกับการประทุษร้ายทางวาจาโดยครูบาอาจารย์ ซึ่งต่อว่าเธอว่าเป็นกระเทยก็เหมือนเป็นบ้า และกล่าวต่อไปว่า “ครุศาสตร์ที่ให้พวกกะเทยมาเรียนก็บุญแล้ว”

รายงานการประชุมของคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ถูกเผยแพร่ไปในสื่อสังคมออนไลน์ทันทีที่เรื่องราวของจิรภัทรได้รับความสนใจ ที่ประชุมคณะกรรมการ ฯ อ้างถึงข้อ 5 ของข้อบังคับจุฬาว่าด้วยเครื่องแบบ เครื่องหมาย และเครื่องแต่งกายของนิสิต พ.ศ. 2553 ระบุว่า “เครื่องแบบปกติ เครื่องแบบงานพระราชพิธีหรือรัฐพิธี และเครื่องแบบงานพิธีการให้ใช้กับนิสิตระดับปริญญาตรี” ซึ่งข้อระเบียบดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้แม้แต่น้อย มิพักต้องกล่าวว่าข้อบังคับ ฯ ดังกล่าวไม่ได้มีการพูดถึงนิสิตข้ามเพศเลย และจุฬาไม่เคยเขียนระเบียบในเรื่องนี้เอาไว้อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ในข้อ 15 วรรค 2 ระบุว่า “...ในกรณีที่ข้อบังคับนี้ไม่ได้ระบุไว้ ให้อธิการบดีมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด” ดังนั้น นิสิตข้ามเพศจึงสามารถยื่นคำร้องต่ออธิการบดีเพื่อขออนุมัติได้ และในช่วงหลายปีที่ผ่านมานิสิตข้ามเพศก็ยื่นคำร้องต่ออธิการเพื่อขอแต่งชุดหญิงเพื่อเข้าพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรมาโดยตลอด ดังนั้น คณะครุศาสตร์ไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ และถือว่าใช้อำนาจขัดต่อระเบียบดังกล่าว จิรภัทรยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา จนในวันที่ 16 มกราคม มหาวิทยาลัยจึงออกประกาศทางเว็บไซต์ว่าคณะกรรมการฯ มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬา ฯ ได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารคณะครุศาสตร์ไว้ก่อน ซึ่งมีผลให้นิสิตคนดังกล่าวสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้จนกว่าคณะกรรมการพิจารณาฯ จะมีมติเป็นอย่างอื่น

นาดา ไชยจิตต์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิ์คนข้ามเพศ และที่ปรึกษาทางกฎหมายของกลุ่ม Transpiration Power ให้สัมภาษณ์กับ MONO29 ว่า เธอและจิรภัทรจะขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการสืบสวน และผลักดันให้มหาวิทยาลัยเขียนข้อบังคับให้เป็นกิจจะลักษณะเพื่อยับยั้งไม่ให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม จิรภัทรไม่ใช่นิสิตข้ามเพศคนแรกที่เป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากข้อมูลของ Nisit Review กลุ่มเรียกร้องการปฏิรูปจุฬา ฯ พบว่าอาจารย์วิชาจิตวิทยาสำหรับครูท่านหนึ่งใช้ถ้อยคำเหยียดหยามนิสิตข้ามเพศมาตลอด 35 ปี ขณะเดียวกัน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้สร้างแคมเปญในเพจ Change.org โดยระบุว่าอาจารย์ที่พูดถ้อยคำดังกล่าวมีชื่อว่า ผศ.ดร.นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ และขอเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบจริยธรรมของอาจารย์คนดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2562 เวลา 14.54 น. ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ได้โพสข้อความในเฟสบุ๊คโดยระบุว่าตนและเพื่อน ๆ เข้ายื่นธง LGBT หนังสือสิทธิมนุษยชน และคำแถลงการณ์จาก Change.org ที่มีคนลงชื่อกว่า 5,000 คนแล้วให้กับ ผศ. ดร. นิรันดร์ แสงสวัสดิ์ แต่อาจารย์รีบไปสอนเลยไม่รับสิ่งที่พวกตนตั้งใจมอบให้ จึงตอบกับกลุ่มนักกิจกรรมว่า "มุมมองของพวกเรามันต่างกัน จะเป็นครูได้นี่ต้องมองอะไรมากกว่าที่สังคมมองอีกเยอะ"

กรณีของจิรภัทรสะท้อนปัญหาภาพรวมที่ LGBT ต้องเผชิญในสังคมไทย โดยปัจจุบันชุมชน LGBT ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมเป็นประจำทุกวัน เช่นที่เกิดขึ้นกับจิรภัทร แต่ประเทศไทยโฆษณากลับตนเองว่าเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับ LGBT ในปี พ.ศ. 2556 กรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดโครงการ “Go Thai, Go Free” ขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBT กรุงเทพได้รับฉายานามว่าเป็น “เมืองหลวงเกย์แห่งเอเชีย” และมีชื่อเสียงเกี่ยวกับชีวิตกลางคืนของคนรักเพศเดียวกัน ราชินีนางงามข้ามเพศ และการผ่าตัดแปลงเพศ อย่างไรก็ตาม ฉากม่านของการยอมรับกลุ่ม LGBT ดังกล่าวนับว่าผิวเผินอย่างมาก ประเทศไทยโฆษณาว่าตนเองเป็นแดนสวรรค์ แต่กลับไม่ให้ความคุ้มครองต่อประชากร LGBT ของตน การอภิปรายเกี่ยวกับเพศและเพศวิถียังคงเป็นข้อห้ามและการศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียนยังสามารถทำได้อย่างจำกัด มิพักต้องกล่าวว่ากลุ่ม LGBT นั้นต้องใช้ชีวิตภายใต้แรงกดดัน เพื่อไม่ให้นำความอับอายมาสู่ครอบครัว

ชุมชน LGBT เป็นสิ่งที่คนไทยทนยอมรับได้ตราบที่ยังอยู่ในขอบเขตทางสังคมบางอย่าง ในสื่อของไทย ตัวละคร “กระเทย” หรือผู้หญิงข้ามเพศ มักถูกมองว่าเป็นตัวตลก และแทบไม่ถูกมองว่ามีบทบาทอย่างอื่นเลย ส่วนตัวละครเกย์ก็มักจะถูกนำเสนอในเชิงลบหรือไม่ก็เป็นตัวละครที่ตื้นเขิน ในภาพยนตร์ LGBT ต่าง ๆ มักถูกห้ามฉาย เช่น เรื่อง Insects in the Backyard ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ เป็นต้น ทั้งที่มี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แต่กลุ่ม LGBT กลับได้รับได้รับการสนับสนุนทางกฎหมายเพียงน้อยนิด และแม้ว่าการรักคนเพศเดียวกันจะไม่ใช่อาชญากรรมในกฎหมายไทยอีกต่อไปแล้ว แต่กลุ่ม LGBT ในไทยก็ยังต้องเผชิญกับการกดขี่ในที่ทำงาน โรงเรียน และบ้านของตัวเอง

รายงานจำนวนหนึ่งระบุว่า LGBT ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือถูกไล่ออกจากงานหลังจากที่เปิดเผยเกี่ยวกับเพศวิถีของตัวเอง หรือไม่ก็ถูกตั้งคำถามอย่างไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศระหว่างสัมภาษณ์งาน นักเรียนนักศึกษา LGBT ต้องเผชิญกับการระราน (harassment) และรังแก (bullying) จากครู และเพื่อนร่วมชั้น เพราะเพศสภาพและอัตลักษณ์ทางเพศของตน รายงานของ USAID ได้อ้างอิงงานวิจัยของ UNESCO องค์กร Plan International และมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ. 2557 พบว่าหนึ่งส่วนสามของนักเรียน LGBT จำนวน 2,000 คนเคยถูกระราน และมีส่วนน้อยเท่านั้นที่รายงานว่าตนถูกรังแก เยาวชนข้ามเพศมักถูกทำร้ายและลงโทษโดยครอบครัวเพราะว่าเป็นคนข้ามเพศ

ภายใต้กฎหมายไทย บุคคลข้ามเพศยังไม่สามารถเปลี่ยนคำนำหน้าของตัวเองในเอกสารได้ แม้ว่าจะผ่าตัดแปลงเพศแล้วก็ตาม ส่วนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมให้นิสิตนักศึกษาได้รับสิทธิ์ในการแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง คู่รักเพศเพศเดียวกันยังไม่สามารถแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย และดังนั้นจึงไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนกับคู่รักต่างเพศ เช่น สิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกบุญธรรม สิทธิ์ในการลงนามของคู่ครองของตน สิทธิ์ในการเข้าถึงผลประโยชน์ทางสังคม สิทธิ์ในการตัดสินใจทางการแพทย์แทนคู่ครอง หรือสิทธิ์ในการได้รับวีซ่าแต่งงานในกรณีที่คู่ครองไม่มีสัญชาติไทย

ประเทศไทยกำลังอยู่ในกระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ถ้าหาก พ.ร.บ. ดังกล่าวผ่านสภา ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยอมรับสิทธิ์ของคนรักเพศเดียวกัน โดยนักกิจกรรมในประเทศกำลังพยายามทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมไทย แต่เนื่องจากไม่มีการดำเนินคดีอย่างโจ่งแจ้ง การคุ้มครองจึงยังไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน การเลือกปฏิบัติยังคงลอยนวลอยู่ภายใต้พื้นผิวของสังคมไทย ซึ่งอาจไม่ใช่แดนสวรรค์ที่ยอมรับ LGBT เหมือนอย่างที่ตนโฆษณา
ข่าว
การศึกษา
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
เพศ
เพศสภาพ
LGBT
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเลือกปฏิบัติ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.