ภาพจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @aorwiki

Posted: 28 Jan 2019 10:09 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-29 01:09


บริเวณด้านหน้ากระทรวง​เกษตร​และสหกรณ์ กลุ่มชาวบ้านจากเครือข่ายปกป้อง ดิน น้ำ ป่า จ.นครศรีธรรมราช-พัทลุงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของกรมชลประทาน ปักหลักชุมนุมนอนค้างเป็นวันที่ 4 แล้วนับตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2562 เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการทั้งสิ้น 4 โครงการคือ 1.เขื่อนวังหีบ 2.อ่างเก็บน้ำคลอง​สังข์ 3.​โครงการผันน้ำบรรเทาอุทกภัย จังหวัด​นครศรี​ธรรมราช​และ​ 4.โครงการประตูกั้นน้ำปากประ จังหวัดพัทลุง

เว็บไซต์สยามรัฐ รายงานสถานการณ์ในวันนี้ (28 ม.ค.) ว่านายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ร่วมเจรจากับเครือข่ายชาวบ้าน ภายหลังการเจรจาอธิบดีกรมชลประทานระบุว่า แกนนำและชาวบ้านยังยืนยันให้ยกเลิกโครงการทั้งหมดดังกล่าว แล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่โดยตั้งคณะทำงานร่วมกันในทุกโครงการ แต่ทางกรมยืนยันว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฏหมายทุกประการ เปิดเวทีประชาพิจารณ์ในพื้นที่ทุกโครงการรวมแล้วกว่า55 ครั้ง ไม่ได้เป็นการเพิ่งมาคิดทำและเร่งรัดเสนอ ครม.อย่างที่มีการกล่าวหา อย่างไรก็ดี กรมชลประทานพร้อมทบทวนในรายละเอียดของแต่ละโครงการที่เห็นไม่ตรงกัน เพื่อเป็นการทำงานคู่ขนานกันไปกับการเดินหน้าโครงการที่ครม. อนุมัติไปแล้ว เช่น การขุดคลองสามารถปรับรูปแบบขนาดคลองเพื่อลดผลกระทบได้ หรือปรับตำแหน่งการสร้างของเขื่อนได้

“แต่จากผลการประชุมวันนี้ทางแกนนำยังไม่พอใจ โดยยังยื่นคำขาดให้ยกเลิกทุกโครงการ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมยังมีเรื่องที่เห็นตรงกันคือ กรณีประตูน้ำกั้นน้ำปากประ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พัทลุง ที่นายสมใจ ละคำ ผู้ใหญบ้านได้ยื่นถวายฎีกาเพื่อขอให้แก้ปํญหาน้ำเค็มรุกพื้นที่เกษตร ในการหารือวันนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าในรอบ 50 ปีเกิด 1 ครั้งและไม่ต้องการโครงการนี้ จึงจะประสานให้นายสมใจทำหนังสือเพื่อขอถอนฏีกา ผู้ยื่นฎีกาก็ยินดีไปถอนเรื่อง”อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

ส่วนกรณีโครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการที่เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการแล้ว อธิบดีกรมชลประทานระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการออกแบบแต่อย่างใด กรมฯ เพียงต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่เพื่อสำรวจออกแบบการก่อสร้าง และพร้อมที่จะหารือร่วมกันและนำความเห็นของชาวบ้านมาปรับขยับแนวก่อสร้างเขื่อนได้

สำหรับโครงการคลองผันน้ำเมืองนครศรีธรรมราช ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณ 9,560 ล้านบาท (ปี61-63)อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องขุดขยายคลองเพื่อลดอุทกภัยตัวเมืองนครฯ เนื่องจากคลองเดิมมีปัญหาบุกรุกทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ โดยศักยภาพคลองเดิมระบายน้ำได้ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลเข้าเมืองเฉลี่ย700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ตัวเมืองประสบอุทกภัยบ่อยขึ้น ในเรื่องนี้แม้ว่าจะดำเนินการโครงการไปแล้ว แต่ในบางรายละเอียดพร้อมคุยทุกฝ่าย เพื่อหาจุดที่ทุกคนรับได้เช่นหากเห็นว่าคลองกว้างไป จะปรับขุดแนวลึกแทน

สำหรับโครงการเขื่อนคลองสังข์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเขื่อนขนาดกลาง งบไม่ถึง 1 พันล้านบาท ไม่ต้องเข้า ครม. ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นฝาย ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงต้องขยายโครงการให้รับน้ำได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อปี 2554 นายฉลอง เทพจินดา ถวายฏีกาขอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามทุกโครงการแม้ว่าเปิดโครงการแล้วก็สามารถมาเจรจาปรับโครงการได้ กรมชลฯพร้อมรับข้อเสนอจากชาวบ้าน
'พีมูฟ' แถลงหนุนเครือข่าย จี้ให้รัฐบาลทหารยุติโครงการ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานวันเดียวกันนี้ว่าขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า

ตามที่เครือข่ายปกป้องดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง ได้ชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนและคลองผันน้ำนั้น ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) อันเกิดขึ้นจากการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนา กฎหมาย และนโยบายของรัฐที่ผ่านมา อันประกอบด้วย เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน, เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด, สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ขอแถลงท่าที และข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1.ขอสนับสนุนการชุมนุมและข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้อง ดิน น้ำ ป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง อันเป็นการใช้สิทธิของชุมชนในการปกป้องมาตุภูมิแผ่นดินเกิดของบรรพบุรุษ ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของคนทั้งประเทศ และอนาคตของลูกหลาน ให้ประสบความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของคนในประเทศร่วมกันโดยเร็วที่สุด

2.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ยุติโครงการทั้งหมด ตามข้อเสนอของเครือข่ายฯ อย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ การพัฒนาใดๆ จะต้องมาจากประชาชนเท่านั้น

3.ขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่อว่าจะเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือสร้างความแตกแยกภายในชุมชน พร้อมต้องสร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ให้ได้รับการปกป้องตามเจตนารมณ์ และบทบัญญัติในกติกาสากล และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา
เครือข่ายนักวิชาการออกแถลงการณ์หนุนชาวบ้าน

ล่าสุด เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ก็ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุงเช่นกัน โดยระบุว่า

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ นักวิจัย ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ของภาคใต้ ได้ติดตามยุทธศาสตร์ นโยบาย แผน และโครงการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าการดำเนินโครงการในข้างต้นเป็นไปอย่างรวบรัดและเร่งรีบ โดยใช้ฐานคิดในการจัดการทรัพยากรและการบริหารจัดการน้ำแบบเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่คำนึงถึงความคุ้มค่า คุณค่า และประโยชน์สูงสุดที่มีต่อประชาชน รวมถึงการปฏิเสธทางเลือกใหม่ ๆ ที่เป็นไปได้ในการบริหารและจัดการทรัพยากรน้ำที่มุ่งตอบความต้องการของประชาชน มีความมั่นคงทางสังคม สร้างความยั่งยืนทางนิเวศ นอกจากนี้การดำเนินโครงการยังได้กีดกันประชาชนออกจาก “กระบวนการตัดสินใจ” โดยการแอบอ้าง บิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนเกิดความไขว้เขวสับสนมาโดยตลอด

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนภาคใต้ จึงขอสนับสนุนจุดยืนและข้อเรียกร้องเครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง และมีข้อเรียกร้องดังนี้
ให้ “ยุติการดำเนินโครงการ” ประตูกั้นน้ำคลองปากประ จ.พัทลุง โครงการอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว จังหวัดพัทลุง โครงการเขื่อนคลองสังข์ อ.ทุ่งใหญ่ โครงการเขื่อนวังหีบ อ.ทุ่งสง และโครงการคลองผันน้ำเมืองนคร จ.นครศรีธรรมราช และให้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนได้รับทราบ ได้แสดงความคิดเห็นและสามารถเสนอทางเลือกอันหลากหลายในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรเชิงระบบ ที่ตั้งอยู่บนฐานความยั่งยืนทางนิเวศ ภูมิปัญญา ภูมินิเวศ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรในระยะยาว
ให้ “ทบทวนการดำเนินโยบายและโครงการพัฒนาในภาคใต้” ที่อาจก่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ความสุขและความมั่นคงของชุมชน และให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
ข่าว
สังคม
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
สิ่งแวดล้อม
เครือข่ายปกป้องดินน้ำป่า นครศรีธรรมราช-พัทลุง
แถลงการณ์
การชุมนุม

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.