ภาพจากเพจ Banrasdr Photo

Posted: 24 Jan 2019 12:40 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-25 03:40


ศาลไม่อนุญาตถอนฎีกา ชวนนท์-เทพไท-ศิริโชค ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการสายล่อฟ้า หมิ่น 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ปมโฟร์ซีซั่นส์ ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุกคนละ 1ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

24 ม.ค.2562 ช่วงสายวันนี้ (24 ม.ค.62) ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.630/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต, เทพไท เสนพงศ์ และศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 332

ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ปรับคนละ 50,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี และให้ทำลายดีวีดีการบันทึกรายการ พร้อมโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 5 ฉบับ จำเลยทั้งสามยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องด้วย ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกาไม่รอการลงโทษพวกจำเลย อย่างไรก็ตาม ต่อมาฝ่ายจำเลยทั้งสามได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกแสดงความสำนึกผิดและขออภัยต่อโจทก์ร่วม และทนายความของโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาต่อศาลแล้วเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2561 ซึ่งเดิมศาลได้นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาว่าจะอนุญาตให้ถอนฎีกาหรือไม่ในวันที่ 20 พ.ย. 2561 แต่ได้มีการเลื่อนมาเป็นนัดฟังคำสั่งในวันนี้ (24 ม.ค.)

โดยในวันนี้จำเลยทั้งสามเดินทางมาศาล เมื่อถึงเวลานัด ศาลได้อ่านคำสั่งคดีกรณีถอนฎีกา โดยระหว่างพิจารณาโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ไม่ประสงค์ดำเนินคดีต่อจำเลยทั้งสามต่อไป ส่วนฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา โดยศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้ทำคำพิพากษาเรียบร้อยแล้ว และส่งให้ศาลชั้นต้นอ่าน กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ถอนฎีกา จึงมีคำสั่งไม่อนุญาตถอนฎีกา ให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาต่อไป

ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาโดยทันที ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

ชวนนท์-ศิริโชค-เทพไท ขออภัยยิ่งลักษณ์เรื่อง ว.5 โฟร์ซีซันส์
ติชมด้วยความสุจริต อุทธรณ์ยืนยกฟ้องชวนนท์ หมิ่นฯยิ่งลักษณ์ ปมโฟร์ซีซั่น
ศาลยกฟ้องชวนนท์หมิ่นยิ่งลักษณ์ เพราะปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

สำหรับคำวินิยฉัยของศาลฎีกานั้น ผู้จัดการออนไลน์ รายงานโดยละเอียดไว้ด้วยว่า ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2555 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ ยิ่งลักษณ์ โจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไม่ได้เข้าร่วมประชุมสภาฯ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้จัดรายการสายล่อฟ้า เมื่อวันที่ 10, 15 ก.พ. 2555 โดยเป็นบทสนทนาสอดรับกันทั้งสามคนในเชิงตั้งคำถามว่า โจทก์ร่วมหนีการประชุมสภาฯ เดินทางไปยังโรงแรมโฟร์ซีซั่น ในลักษณะ ว.5 หมายถึงเป็นความลับ รวมทั้งยังมีข้อความที่พูดเช่น “ปูเอาอยู่” “ปู ว.5” “น้ำเข้าน้ำออก” รวมทั้งการนำภาพประกอบเป็นป้ายข้อความแขวนลูกบิดประตูเช่น “No Disturb” “เอาอยู่” ซึ่งขณะจัดรายการได้เชิญชวนผู้ชมส่งข้อความให้ทายว่าไปทำภารกิจอะไร แล้วจะให้รางวัล

จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าตนเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกฯ การทำหน้าที่ของนายกฯ ต้องโปร่งใส ที่โจทก์ร่วมต้องเข้าประชุมสภาฯ แต่กลับไปทำภารกิจลับ ว.5 จำเลยจึงตั้งข้อสงสัยเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชี้แจง ที่บอกว่า “ปูเอาอยู่” เป็นฉายาของโจทก์ร่วมที่ประชาชนและสื่อมวลชนเรียกตั้งแต่ช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่โจทก์ร่วมเคยพูดว่า “เอาอยู่” ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมประพฤติผิดทางเพศ ส่วนภาพป้ายแขวนลูกบิดประตูก็ไม่ได้แสดงสถานที่ยืนยันว่าเป็นที่ใด บุคคลใด ขณะที่โจทก์ร่วมได้นำสืบว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการพูดที่สื่อถึงการกระทำลับๆ ล่อๆ ทำให้บุคคลทั่วไปฟังและจินตนาการไปในทางเพศ โดยได้นำดีวีดีบันทึกรายการรวมทั้งคำถอดเทปบทสนทนาในวันที่ 10 ก.พ. จำนวน 30 หน้า และ 15 ก.พ. จำนวน 47 หน้า มาเป็นหลักฐาน โจทก์ร่วมชี้แจงว่าในวันดังกล่าวได้เดินทางไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสอบถามแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ชั้น 7 โรงแรมโฟร์ซีซั่น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามกระทำผิดหรือไม่ ศาลพิจารณาบริบทของคำพูด ท่าทางทั้งหมดที่เชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ตอนหนึ่งตอนใด การที่จำเลยทั้งสามตั้งคำถามต่อโจทก์ร่วมให้ชี้แจงเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมในฐานะฝ่ายค้าน แต่หาใช่ทำได้ตามอำเภอใจโดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย เพราะการตรวจสอบต้องทำภายใต้กรอบกฎหมายกำหนด แต่ที่โจทก์ร่วมปกปิดการปฏิบัติภารกิจเป็นความลับ สร้างความระแวงสงสัยเรื่องเพศหรือไม่ โดยไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ จำเลยจึงมีสิทธินำข้อสงสัยมาตรวจสอบโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายกฯ เกี่ยวกับจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม อย่างไรก็ตาม การใช้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสามประกอบภาพป้าย ย่อมทำให้วิญญูชนเข้าใจไปในทางว่าโจทก์ร่วมซึ่งมีสามีและบุตรอยู่แล้ว ประพฤติมิชอบเรื่องชู้สาว หนีประชุมสภาฯ ไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลอื่น ทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่ใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดตาม มาตรา 328 ประกอบ 83 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนลงโทษจำเลยทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยดังกล่าว



ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ และ Banrasdr Photo

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.