Posted: 23 Jan 2019 10:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-24 01:24


หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.) รายงาน

สระบุรีร่วมกับ สกว.จัดสถานการณ์จำลอง คืนทางเท้าให้เมืองสระบุรี ครั้งที่ 1 ใช้ชื่อ สระบุรี มอ มอ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน รวมถึงคนเดินถนน ขานรับ เตรียมเดินหน้ายกระดับสตรีทฟู้ดต่อเนื่อง เพื่อให้เกิด WALK MORE , LEARN MORE, PLAY MORE, TALK MORE, CREATE MORE, SHOP MORE, LIVE MOREและ MANY MORE ในอนาคต

23 ม.ค.2562 จากการจัดกิจกรรมสร้างสถานการณ์จำลอง ตามโครงการวิจัยการศึกษากลไกเชิงพื้นที่ โดยการวางแผนและออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ณ บริเวณถนนสุดบรรทัด จังหวัดสระบุรี นพดล ธรรมวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สระบุรีพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า สังคมที่เข้มแข็งเกิดจากการที่คนในสังคมพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนและเกิดการแก้ไขปัญหา ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สระบุรีพัฒนาเมืองได้เข้าไปหารือกับ ภาควิชาการเพราะเชื่อว่าไอเดียในการพัฒนาเมืองจะเกิดการยอมรับและมีทิศทางที่ชัดเจนจะต้องใช้งานวิจัยหรืองานวิชาการเข้ามาช่วยตัดสินใจ โชคดีที่ได้เจอกับ สกว และอาจารย์ฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมผังเมืองไทย ที่ ช่วยดึงอาจารย์ และนักวิชาการมาจากหลายมหาวิทยาลัย เพื่อมาช่วยกันคิดเรื่องการพัฒนาเมืองสระบุรี

“งานวันนี้เกิดขึ้นเพราะท่านนักวิชาการทั้งหลายที่มาช่วยเราคิดว่าสิ่งที่รณรงค์ให้คนสระบุรีเข้ามามีส่วนร่วมต้องทำอย่างไร อันดับแรกคือการทำให้ประชาชน เข้าถึง เข้าใจ แต่เอาเบสิกที่สุดว่าวันนี้คนเดินถนน เดินแล้วไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่ต้องเดินลงไปถนน เหล่านี้คือสวัสดิภาพที่ใกล้ตัวเขาที่สุด ซึ่ง วันนี้เป็นสถานการณ์จำลอง ทางม้าลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวสละบุรี คือลายวัวซึ่งไม่เหมือนทางม้าลายที่ไหนในโลก เรามีพื้นที่ที่เรียกว่า Technical Urbanism เสาลายวัวและตกแต่งสีสันทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักว่าถ้าหากเรามีทางเดินที่ร่มรื่นปลอดภัย ก็จะเป็นประโยชน์ ส่วนทางเท้าที่ดีก็เป็นความคาดหวังที่เราจะพัฒนาร้านค้าสตรีทฟู้ดให้ดีขึ้นในอนาคต”

เกียรติศักดิ์ ตรงศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า สภาพทางกายภาพของพื้นที่ในเขตเมืองของสระบุรี เป็นชุมชนที่หนาแน่น มีการวางผังเมืองที่ไม่เป็นปัจจุบัน ประกอบกับการเติบโตของเมืองที่โตแบบรวดเร็ว ทำให้เกิดการแออัดวันนี้เป็นวันหนึ่งที่เราจะเริ่มทำโครงการนำร่องที่จะพัฒนาทางกายภาพถนนให้สวยงาม เกิดความสะดวกสบายของผู้ใช้ถนน จะเป็นโมเดลของจังหวัด และจะเริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากการบูรนาการของทุกภาคส่วน ในการกำหนดกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม สะอาดสวยงามเป็นแหล่งที่ผู้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมาใช้บริการกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น

มนุชญ์ วัฒนโกเมร รองประธานคณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินคนที่ 1 กล่าวว่า ในฐานะที่ตนได้รับมอบหมายให้มาดูเรื่องปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาเมือง ในรูปแบบของสมาร์ทซิตี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกฎหมายหรือภาคส่วนของราชการเพื่อเสนอไปยังกรรมาธิการฯและรัฐบาล ตนมองว่า ประชาชนทุกคนจะต้องตระหนักด้วยถึงความเจริญที่กำลังลุกคืบว่า มันจะมาพร้อมกับปัญหาเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องในตัวเมือง การขนส่งที่ล่าช้าเสียเวลาการเดินทาง หมอกควัน ฝุ่นละออง ผู้เข้ามาหาประโยชน์โดยไม่ชอบ ที่ท่านกำลังจะได้รับ มันเป็นทั้งประโยชน์และโทษตามมา และการพัฒนาเมองจะต้องแยกให้ออก ระหว่าง การเป็นเมืองอัจฉริยะ กับรัฐบาลดิจิตอล การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิติมุ่งแก้ไขปัญหาของคนที่อยู่ในเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย การเดินทาง การประกอบธุรกิจ การพัฒนาเมืองต้องเน้นตรงนั้นเป็นหลัก

“ผมมองว่าสระบุรี ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขององค์กรภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคประชาชน การเสวนาในวันนี้เป็นการนำความรู้มาสร้างความตื่นตระหนักให้กับประชาชน แต่ต่อไปเขาจะเริ่มรับรู้ว่าเรากำลังมาสุมหัวคุยกันเรื่องพัฒนาเมืองไม่ใช่ทำครั้งเดียวสำเร็จ แต่จะต้องทำเป็นสิบๆ ครั้งถึงจะสำเร็จ เพราะการแก้ไขปัญหาอย่างมีระบบจะต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน” มนุชญ์ กล่าว

ด้าน ภาณุพงศ์ ทิพยเศวต นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี กล่าวว่า โครงการที่ดีคือโครงการที่ได้รับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในฐานะหน่วยงานกับกำดูแลพื้นที่เขตเมืองสระบุรี ยินดีทำงานร่วมกับทุกฝ่าย

ขณะที่ ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. กล่าวถึงเหตุผลที่เลือกพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อดำเนินโครงการ วิจัย การศึกษากลไกเชิงพื้นที่ โดยการวางแผนและออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาด เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ว่าสระบุรีเป็นชัยภูมิใหม่ของประเทศหลังจากที่รัฐบาลประกาศดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่านสระบุรีไปยังโคราช ทำอีกทั้งจังหวัดสระบุรียังมีบริษัทพัฒนาเมืองสระบุรีซึ่งเกิดขึ้นจากคนที่มีความรักต่อจังหวัดจริงๆ

“หากพวกเราทำสำเร็จ ก็จะเกิดอะไรดีๆ อีกมากมายขึ้นในจังหวัดสระบุรี สระบุรีจะเป็นเมืองน่าอยู่มาก สระบุรีไม่ได้มีแค่นี้ยังมีอีกเยอะ เพียงแต่ที่ผ่านมาสภาพเมืองมันไม่เอื้อให้เราคุยกันเลย แต่อย่างไรก็ตามหากเราทำไม่สำเร็จ ผมเชื่อว่าก็จะเกิดคนที่รักเมืองสระบุรีอีกมากมายที่ลุกขึ้นมาทำต่ออย่างแน่นอน” ผศ.ดร.ปุ่น กล่าว

สุชัย เลยะกุล ขนส่งจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า สถานีขนส่งจังหวัดสระบุรี มีการจัดเก็บค่าบริการสูงที่สุดของประเทศ (ไม่นับรวมกรุงเทพฯ) มีผู้ใช้บริการสะสมแต่ละวันไม่น้อยกว่า 2 พันคนต่อวัน ในขณะที่สภาพรถยังเป็นแบบเดิมเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่เพื่อรองรับนโยบายรถไฟความเร็วสูง กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้ตนทำการศึกษาพื้นที่รัศมี 100 เมตรรอบๆ จุดที่จะเป็นสถานีรถไฟความเร็วสูง เพื่อวางแผนการเดินทางให้กับประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการจากจุดรอบนอกเข้ามายังตัวสถานี อย่างไรก็ตามขณะนี้ตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ โดยใช้เทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นเข้ามาเป็นเครื่องมือ โดยตั้งสมมติฐานว่าเป็นไปได้หรือไม่หาก มีข้อมูลให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเห็นเส้นทาง และตำแหน่งของรถโดยสารสาธารณะทุกคน ที่กำลังวิ่งและรถที่กำลังมาถึงตำแหน่งที่เรารอรถ เพื่อวางแผนการเดินทาง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของผู้ใช้รถสาธารณะ โดยคาดว่าอย่างน้อยในปี 2562 นี้จะมีคำตอบบางอย่างให้กับสังคม ซึ่งสามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ได้อย่างแน่นอน
ข่าว
เศรษฐกิจ
สังคม
คุณภาพชีวิต
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
สมาคมผังเมืองไทย
คืนทางเท้า
สระบุรี
การเดิน
สตรีทฟู้ด

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.