Posted: 27 Jan 2019 04:16 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2019-01-27 19:16


'กสม.' ส่งหนังสือถึง 'สนช.' เสนอความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... หนุนไม่ให้มีการสอบเข้าเรียนชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 1 เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กตามวัย

27 ม.ค.2562 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับหลักการเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.61 และขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเห็นว่า เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยซึ่งจะเจริญเติบโตเป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต ที่ประชุม กสม. จึงมีมติให้เสนอความเห็นต่อรัฐสภาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และตนได้ลงนามในหนังสือส่งความเห็นนี้แจ้งประธาน สนช. เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว

วัส กล่าวว่า กสม. เห็นว่าโดยทั่วไปร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับรองสิทธิในการอยู่รอดและการได้รับการพัฒนาไว้หลายประการ รวมทั้งแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาเด็กปฐมวัยขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้านการศึกษา (UN SDG4) โดยให้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายนี้ ซึ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้แก่เด็กวัยนี้แบบองค์รวม ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

“ตามแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัยของ UNESCO เด็กปฐมวัย (Early childhood) หมายถึง เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปี หรือนับแต่วัยทารก วัยเรียนระดับอนุบาล จนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 2 ดังนั้นการที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ (มาตรา 3) นิยาม “เด็กปฐมวัย” หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่าหกปีบริบูรณ์และให้หมายความรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา จึงน่าจะไม่สอดคล้องแนวคิดว่าด้วยการดูแลและให้การศึกษาแก่เด็กปฐมวัย” ประธาน กสม. ระบุ

วัส กล่าวอีกว่า การที่ร่าง พ.ร.บ.นี้ (มาตรา 14 (6) และ (7)) กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัยตามลำดับนั้น กสม. มีความเห็นว่า มาตรฐาน แนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ดังกล่าว ควรคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมในด้านต่าง ๆ ของเด็ก นอกจากนี้ ควรจัดให้มีหลักสูตรแกนกลางในการพัฒนาเด็กปฐมวัยและหลักสูตรสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย รวมทั้งให้มีการประเมินผลการนำไปใช้ด้วย ส่วนการขับเคลื่อนนโยบาย ติดตาม กำกับ ดูแลและประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กประถมวัยทั้งระบบ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กประถมวัยควรมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เป็นหน่วยงานประสานให้เกิดเอกภาพตามแผนงานและนโยบายที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว

“จากผลการศึกษาวิจัยเรื่องผลจากระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า การคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันจะส่งผลทางลบต่อพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา การเน้นให้เด็กเรียนรู้ด้วยการท่องจำและฝึกทักษะทางวิชาการ ทำให้สมองของเด็กวัยนี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับวัย ทั้งยังส่งผลต่อการสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวด้วย แม้ว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ (มาตรา 8) กำหนดว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย ร่าง พ.ร.บ.นี้ควรมีมาตรการหรือแนวปฏิบัติอื่นที่เป็นหลักประกันว่า สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและโรงเรียนระดับประถมศึกษาจะไม่ใช้การสอบแข่งขันในระหว่างที่เด็กอยู่ในสถานพัฒนาดังกล่าวหรือในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา” วัส กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.