Posted: 23 Jan 2019 04:46 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-23 19:46
ชาญณรงค์ บุญหนุน
พลันที่ข่าวการยิงถล่มวัดรัตนานุภาพ เป็นเหตุให้พระครูประโชตรัตนานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอสุไงปาดี และพระลูกวัดมรณภาพ 2 รูป ความรู้สึกเศร้าและความโกรธก็เกิดขึ้นแก่หลายฝ่ายโดยเฉพาะในกลุ่มชาวพุทธและกลุ่มศาสนิกชนอื่น ๆ ที่ทำงานด้านสันติภาพร่วมกับพระครูประโชตรัตนานุรักษ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้น เป็นคำถามเชิงตัดพ้อต่อว่าผู้ก่อความรุนแรงอันไร้มนุษยธรรมครั้งนี้ก็คือ “ฆ่าพระทำไม” คำถามเช่นนี้ไม่เพียงก่อขึ้นในใจของผู้รู้จักพระครูฯ เป็นการส่วนตัว หากรวมถึงบรรดาชาวพุทธส่วนใหญ่ที่อยู่นอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย คนเหล่านี้มีทั้งรู้จักและไม่รู้จักท่านพระครูเป็นการส่วนตัว
จากสเตตัสในเฟสบุ๊คของพระหลายรูปที่เคยทำงานสานเสวนาระหว่างศาสนากับท่าน ทำให้เราทราบว่าพระครูประโชติรัตนานุรักษ์เป็นผู้นำสันติท่ามกลางความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการยืนหยัดอย่างมั่นคงที่จะต่อสู้ให้เกิดการประสานสามัคคีระหว่างชาวพุทธที่เป็นคนส่วนน้อยกับชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ ชนิดที่สถาบันการศึกษาคณะสงฆ์บางแห่งแม้กล่าวอ้างว่าตนเองมีหลักสูตรผลิตวิศกรสันติภาพระดับโลกก็ไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะพานิสิตเข้าไปคลุกคลีกับสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ คำถามที่ว่า “ฆ่าท่านทำไม” หรือ “ฆ่าพระทำไม” จึงเป็นคำถามที่ตั้งขึ้นบนฐานคติที่มองเห็นว่าพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เป็นพระเถระที่ดำรงอยู่ในเมตตาธรรม มีความเกื้อกูลต่อผู้คนต่างศาสนา ทั้งมีอาจาระดีงามสมกับที่เป็นพระสงฆ์เป็นผู้นำชุมชนชาวพุทธ
กล่าวให้ชัดก็คือ ชาวพุทธที่ได้รับทราบข่าวสะเทือนใจนี้ ต่างรู้สึกโกรธแค้นว่า “ในเมื่อท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่เป็นภัยต่อผู้ใด เหตุใดผู้ก่อการร้ายจึงลงมือสังหารท่านอย่างไม่ปราณี ปราศจากมนุษยธรรมเช่นนั้น” ความโกรธนี้ไม่ใช่สิ่งผิดหากแต่อาจถือว่าเป็นความชอบธรรมที่คนเหล่านั้นหรือใครก็ตามที่มีมโนธรรมจะโกรธต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ข้อที่ว่า พระสงฆ์เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนผู้ใดนี้ มักจะนำมากล่าวถึงเสมอเมื่อมีเหตุการณ์พระภิกษุในเขตพื้นที่ความขัดแย้งถูกลอบทำร้ายจนบาดเจ็บและเสียชีวิต (มรณภาพ) การถือว่าผู้บริสุทธิ์ไม่ควรถูกทำร้ายแม้ในช่วงเวลาสงครามเป็นกติกาที่สากลยอมรับ มโนธรรมชนิดนี้ดูจะไม่ได้เป็นอะไรที่เข้าใจยาก คนสามัญทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ แต่เหตุไฉนผู้ก่อการฯ (หากว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่ านี้เป็นคือการลงมือของผู้ก่อความไม่สงบหรือผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิมจริง) เหตุไฉนไม่ละเว้นผู้บริสุทธิ์โดยเฉพาะพระสงฆ์ ผู้เป็นศูนย์รวมทางจิตวิญญาณ ผู้นำความดีของสังคมเล่า
ในกรณีของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ วัดรัตนานุภาพ โดยส่วนจริยาวัตรส่วนตัวของท่าน พฤติกรรมที่ท่านแสดงออกต่อผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธหรือชาวมุสลิม รวมทั้งบทบาทด้านศาสนาและมนุษยธรรมที่ท่านพยายามสร้างมานั้น อาจกล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นพระดี ที่ไม่ควรได้รับการตอบแทนด้วยความโหดเหี้ยมเช่นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยว่าเราอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ในโลกนี้ มีผู้นำสันติจำนวนมากที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากการสานสันติและเสียชีวิตภายใต้ความรุนแรง ไล่เรียงมาตั้งแต่พระเยซู มหาตมา คานธี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นต้น
“ฆ่าพระทำไม” เป็นเสียงตัดพ้อต่อว่าด้วยความโกรธและความเศร้า ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่การเสียสติได้ด้วย ดังที่ปรากฏในคอมเมนต์ต่าง ๆ ที่มีการแชร์กันทั้งในเฟสบุ๊คและในไลน์ โลกของชาวพุทธเดือดขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ถูกทำร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า (แต่ชาวพุทธมักไม่รับรู้ว่ามีการทำร้ายชาวมุสลิมไม่น้อยไปกว่าชาวพุทธเช่นกัน) ข้อเรียกร้องให้ใช้ความเด็ดขาดถึงขั้นใช้ความรุนแรงทางทหารอย่างเต็มที่เกิดขึ้นในกลุ่มชาวพุทธ การเหมารวมว่าชาวมุสลิมทุกคนล้วนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบกับความเจ็บปวดครั้งนี้ก็มีให้เห็นไม่น้อยในคอมเมนต์ต่าง ๆ
แต่ดูเหมือนว่าชาวพุทธเองไม่ค่อยได้ต้องการคำตอบที่ว่า “ทำไม ผู้ก่อการร้ายจึงต้องฆ่าพระสงฆ์” มากนักเพราะมักมีข้อที่ยอมรับอยู่ในใจอยู่แล้วว่า มีกระบวนการมุสลิมที่จ้องล้มล้างพุทธศาสนาในประเทศไทย ทั้งหมดนั้นผู้นำมุสลิมตั้งแต่ระดับบนจนละดับล่างล้วนรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้น ไม่ควรจะมีสันติสำหรับผู้ก่อการร้ายหรือสำหรับชาวมุสลิม “ทำไม ฆ่าพระ” จึงมีคำตอบอยู่แล้วสำหรับชาวพุทธจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มชาวพุทธที่อยู่นอกพื้นที่ความเสี่ยง
โดยส่วนตัวของพระสงฆ์ หรือในแง่สัญลักษณ์ทางศาสนา ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ (เช่นเดียวกันกับชาวมุสลิมจำนวนมากก็เป็นผู้บริสุทธิ์เช่นเดียวกัน) ยิ่งพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ยิ่งไม่น่าจะมีข้อสงสัยใด ๆ เพราะแม้แต่ชาวมุสลิมจำนวนมากยังรู้สึกสะเทือนใจกับการกระทำอันโหดร้ายของผู้ก่อการฯ ครั้งนี้ แต่เมื่อมองเลยความเป็นปัจเจกบุคคลขึ้นไป มองเลยขอบเขตของศาสนธรรมหรือเลยขอบเขตุพุทธศาสนาอันเป็นอุดมคติที่พระสงฆ์ผูกพันด้วยจิตใจและวิถีชีวิตออกไปสู่บริบทการเมืองการปกครองและการดำรงอยู่ในสังคมไทยของสถาบันสงฆ์ ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่า “พระสงฆ์ไทย” เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในมุมมองของผู้ต่อต้านอำนาจรัฐไทย
เพื่อจะทำความเข้าใจให้ง่ายขึ้น เราอาจจะต้องไปหาหนังสือ “ข้ามฝั่งแค้น การเดินทางของความหวัง” ที่เขียนLaura Blumenfeld (ลอร่า บลูเมนเฟลด์) แปลโดยอนิตรา พวงสุวรรณ โมเซอร์ (สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีม, 2009) ซึ่งเป็นเรื่องราวการเดินทางของผู้หญิงคนหนึ่ง เริ่มต้นด้วยความอาฆาตและการพยายามแก้แค้น ผู้เขียนซึ่งตามล่าหาผู้ทำร้ายพ่อของเธอ เมื่อเธอไปเผชิญหน้ากับผู้ร้าย เธอถามเขาว่า ทำไม เขาจึงทำร้ายพ่อของเธอ ผู้ซึ่งไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ไม่เคยมีความแค้นใด ๆ ต่อกัน คนที่ทำร้ายพ่อของเธอให้คำตอบที่น่าสนใจยิ่งว่า “มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” แต่มันเป็นเรื่องของส่วนรวม (ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์)
คำตอบเกี่ยวกับทำร้ายพระสงฆ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผู้เขียนลองคิดไว้เมื่อนานมาแล้วก็พ้องกับคำตอบของสุรพศ ทวีศักดิ์ ที่โพสต์ไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ หากเรามองความรุนแรงภายใต้ความคิดเรื่อง รัฐกับศาสนา หรือศาสนากับการเมือง เราก็จะพบว่า ในสายตาของฝ่ายต่อต้านรัฐไทยนั้น พุทธศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐไทย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผู้ปกครองไทยเสมอมา และเป็นผู้ที่ได้เปรียบในทางสังคมการเมืองตลอดมา ปัญหาไม่ใช่แค่ว่า เพราะรัฐไทยไม่แยกรัฐออกจากศาสนา แต่ในแง่บทบาทของคณะสงฆ์ไทยเองก็ไม่เคยแยกตนเองออกจากผู้มีอำนาจรัฐ คณะสงฆ์กับรัฐบาล (หรือรัฐ) มองมุมเดียวกัน มีจุดยืนเดียวกันในทุกเรื่อง ทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ารัฐบาลจะทำถูกหรือผิด คณะสงฆ์ไม่เคยแยกตัวเองออกมาทำหน้าที่ให้คำชี้แนะที่ถูกต้องแก่รัฐ โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐไทยสร้างความเดือดร้อนแก่คนเล็กคนน้อย ไม่ว่าจะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนที่ชาวมุสลิมได้รับหรือชาวพุทธได้รับ พระสงฆ์ไทยไม่เคยแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับความอยุติธรรมที่รัฐก่อขึ้น ไม่เพียงแต่ไม่ทัดทาน (เนื่องจากไม่เคยมีความคิดที่จะมองให้ต่างออกไป) พระสงฆ์หรือสถาบันสงฆ์ยังกลายเป็นเครื่องมือหลักของรัฐในการรักษาอำนาจของตน รัฐเองก็แสดงออกเสมอมาและอย่างเปิดเผยว่า พระสงฆ์หรือพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ การทำร้ายพระสงฆ์คือการสร้างความไม่มั่นคงแก่รัฐ พระครูประโชตรัตนานุรักษ์ อาจบริสุทธิ์ผุดผ่องจนยากจะมีใครตั้งข้อสงสัยได้ แต่ในมุมมองของผู้ก่อการ ท่านในฐานะตัวแทนของพระสงฆ์ไทยก็คือส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ ที่ผู้ก่อการต่อต้านนั่นเอง
ยิ่งเมื่อพระครูประโชติรัตนานุรักษ์มีบทบาทในการประสานความสามัคคีของชาวพุทธและชาวมุสลิม นำความสงบสุขให้เกิดในพื้นที่มากเท่าใด ผู้ก่อการร้ายก็จะยิ่งรู้สึกท่านเป็นอันตรายต่อปฏิบัติการของพวกเขา เพราะนั่นเท่ากับว่า ข้อเรียกร้องให้มีการแบ่งแยกดินแดนหรืออะไรก็ตามจะไม่ประสบผลสำเร็จ หากความสามัคคีระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ได้รับการฟื้นคืนขึ้นมาเหมือนในอดีต ความสงบสันติเกิดขึ้น พระสงฆ์มีบทบาทสำคัญเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ความหวาดกลัวของผู้ต่อต้านอำนาจรัฐก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับ ผู้นำสันติทั้งหลายในโลก เมื่องานมีแนวโน้มว่าจะประสบผลสำเร็จ ก็มักจะได้รับการต่อต้านจากคนที่มีจุดยืนทางการเมืองแตกต่างออกไป ยิ่งในกรณีที่รัฐไทยเคยมีบทบาทก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่ผู้คนในดินแดนสามจังหวัด สร้างความอยุติธรรมแก่ชาวมุสลิม ปฏิบัติอย่างแตกต่างจากกรณีที่มีลักษณะคล้ายกัน ผู้ก่อการฯ ก็ยิ่งรู้สึกได้ถึงการเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างรัฐไทยกับพุทธศาสนา
มิตรสหายท่านหนึ่งกล่าวว่า "ยิ่งพระได้รับการคุ้มครองอย่างใกล้ชิดด้วยกำลังทหาร พระก็จะยิ่งเข้าใกล้ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น" ย่อมสะท้อนให้เห็นมุมมองที่ชาวพุทธอาจต้องนำมาพิจารณา ความใกล้ชิดระหว่างทหารกับพระสงฆ์ในพื้นที่ ความใกล้ชิดระหว่างรัฐไทยกับสถาบันพุทธศาสนาในฐานะศาสนาของคนส่วนใหญ่ เป็นภาพใหญ่ที่อาจทำให้ความบริสุทธิ์ผุดผ่องทางจิตวิญญาณหรือทางศาสนาที่เป็นเรื่องส่วนตัวถูกบดบัง
“นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของส่วนรวม” ในนิยายเชิงสารคดี “ข้ามฝั่งแค้น” อาจให้บทเรียนแก่เราได้ เราอาจเต็มไปด้วยความโกรธและความคลั่งแค้นที่คนของเราถูกทำร้ายอย่างโหดร้ายทารุณ ก่อนจะเรียกร้อง “ความรุนแรง” เพื่อตอบโต้ความรุนแรง ก็อยากให้ลองคิดกันมากขึ้น อย่างน้อยก็ควรตระหนักในจุดยืนของการเป็นพุทธศานิกชนที่จะยืนยันในสันติวิธี เช่นเดียวกับที่พระครูประโชติรัตนารักษ์ยืนหยัดมั่นคงแม้สิ้นชีวิต. . .
บทความ
การเมือง
วัฒนธรรม
สิทธิมนุษยชน
ชาญณรงค์ บุญหนุน
พระสงฆ์
พุทธศาสนา
วัดรัตนานุภาพ
การสังหารพระสงฆ์
แสดงความคิดเห็น