Posted: 20 Jan 2019 08:54 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-21 11:54
สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ออกแถลงการณ์คัดค้านกฎห้ามนักศึกษาใช้รถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัย ชี้การขับขี่เป็นสิทธิอันชอบธรรม เผยรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ นักศึกษาหลายคนต้องเดินเท้าทางไกลเพื่อไปเรียน รถหยุดวิ่งตอน 3 ทุ่ม ห่วงนักศึกษาเลิกเรียน ทำกิจกรรมดึกต้องเดินเท้ายามวิกาล
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อีกหนึ่งเรื่องราวที่ถูกพูดถึงกันในแวดวงมหาวิทยาลัย นอกจากการออกมาเรียกร้องให้มีการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน คือ เรื่องการสั่งห้ามนักศึกษาชั้นปี 1 ในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ใช้รถจักรยานยนต์ภายในมหาวิทยาลัย แม้ว่าการสั่งห้ามดังกล่าวจะมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 แต่เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อ สโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ลุกขึ้นประกาศแถลงการณ์คัดค้านกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ห้ามนักศึกษาใหม่ใช้รถจักรยานยนต์เพื่อลดอุบัติเหตุ
กฎบังคับห้ามนักศึกษาใหม่ใช้รถจักรยานยนต์ในมหาวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2561 โดยในประกาศได้เกริ่นถึงที่มาของการออกกฎว่า เนื่องจากจำนวนรถจักรยานยนต์ของนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลต่อการจราจร ปัญหาอุบัติเหตุ พื้นที่จอดรถ และความปลอดภัย พร้อมกันนั้นด้วยนโยบายที่มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว การผลักดันการประหยัดพลังงาน และการลดอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พ.ศ. 2535 ออกประกาศข้อบังคับดังที่กล่าวในข้างต้น โดยทางมหาวิทยาลัยจะจัดรถไฟฟ้าบริการแก่นักศึกษาเอง
“ผมอยู่ที่นี่สองปีมีงานศพทุกปี รถจักรยานยนต์ อุบัติเหตุ บาดเจ็บนี่ธรรมดา แต่ตายทุกปี เพราะฉะนั้นจะแก้ที่สาเหตุก็ต้องเลิกแล้วมอเตอร์ไซค์ ใช้มอเตอร์ไซค์กันอย่างนี้ไม่ได้ หมวกกันน๊อคก็ไม่ใส่เพราะไม่มีวินัย บอกก็ไม่ทำ แล้วพ่อแม่ก็มีแต่ร้องไห้”
ประโยคข้างต้นคือ คำชี้แจงเหตุผลที่จำเป็นต้องมีกฎข้อบังคับของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งพูดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2561 ในพิธีเปิดงาน สหเวชศาสตร์ วลัยลักษณ์ มหกรรมสุขภาพ ครั้งที่ 1 เขากล่าวต่อไปว่า กว่าที่จะมีการนำรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้รับส่งนักศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต้องการจัดระบบขนส่งภายในมหาวิทยาลัยให้ดีที่สุดจนเป็นมาตรฐานโลก เวลานี้ได้เริ่มต้นทำแล้ว ซึ่งการทำอะไรใหม่ๆ ย่อมต้องมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไขต่อไป
ก่อนหน้านี้มีนักศึกษาที่มีข้อห่วงกังวลว่า การจัดการระบบการขนส่งภายในมหาวิทยาลัยอาจจะไม่เพียงพอกับความต้องการของนักศึกษาที่มีจำนวนมาก สมบัติ ตอบโต้ประเด็นดังกล่าวโดยยกตัวอย่างถึงมหาวิทยาลัยแม้ฟ้าหลวง ซึ่งมีจำนวนรถไฟฟ้าเท่ากันกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือ 16 คัน และมีรถสำรอง 2 คัน ขณะที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีนักศึกษา 15,000 คน ส่วนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีนักศึกษา 7,000-8,000 คน สมบัติเน้นว่า ด้วยเงื่อนไขนี้จะพูดได้อย่างไรว่า รถไม่เพียงพอ พร้อมชี้ปัญหาว่าเกิดจากการที่นักศึกษาออกมาขึ้นรถในเวลาเดียวกันเอง สิ่งที่นักศึกษาควรทำคือการออกมาก่อนเวลา
แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อเท็จจริงแล้ว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แม้จะมีระบบการขนส่งและจำนวนรถไฟฟ้าที่เท่ากับมหาวิทลัยวลัยลักษณ์ แต่ก็ไม่ได้มีการออกกฎข้อบังคับห้ามไม่ให้นักศึกษาใช้รถจักรยานยนต์
ชีวิตนักศึกษาเหมือนเด็กมัธยม อิสระในการเดินทาง
ผ่านไปครึ่งปี จาก พ.ค. 2561 ถึง ม.ค. 2562 สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ยกเลิกประกาศห้ามไม่ให้นักศึกษานำรถจักรยานยนต์มาใช้ในมหาวิทยาลัย” โดยมีเนื้อหาแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบของทางมหาวิทยาลัยที่ห้ามนักศึกษานำรถจักรยานยนต์มาใช้ในมหาวิทยาลัย โดยทางสโมสรเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการดำเนินชีวิตของนักศึกษา เป็นข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องต่อ การทำกิจวัตร กิจกรรม และการเดินทางไปเรียนของนักศึกษา
แม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการจัดรถไฟฟ้ารับส่ง ประกาศของสโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ก็ได้แย้งว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นคือพื้นที่ของมหาวิทยาลัยนั้นกว้างขวาง และจากการสัมภาษณ์นักศึกษาปีหนึ่งก็ได้ทราบว่ารถไฟฟ้าเองก็ไม่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด
“ถ้าเราเป็นทีมงานในกิจกรรมต่างๆ ในมหาลัย รถไฟฟ้าไปไม่ถึงในหลายเส้นทาง ป้ายรถบางป้าย รถไฟฟ้าก็ไม่เคยไปจอด หรือนานๆ จะมาสักคันซึ่งส่วนมากจะเป็นตึกวิชาการที่รถมาน้อยและค่อนข้างช้าเสียเวลารอนาน” เอ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปีที่ 1
นอกจากจะเป็นปัญหาในการทำกิจกรรม นักศึกษาปีหนึ่งรายนี้ยังกล่าวต่อไปถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิตว่า การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัย การไปเรียน หรืออกไปเที่ยว ควรจะเป็นเรื่องที่อิสระสำหรับทุกคน แต่ตอนนี้เวลาต้องการจะออกไปไหนแต่ละครั้ง ก็ต้องพึ่งรถไฟฟ้าของมหาวิทยาลัย และรถก็ไม่สามารถไปได้ทุกที่ที่ต้องการ โดยภาพรวมแล้วเขาเห็นว่า ชีวิตในรั้ววลัยลักษณ์ ไม่แตกต่างจากชีวิตของเด็กมัธยม
เขาได้ขยายความถึงข้อจำกัดของรถไฟฟ้าว่า รถไฟฟ้าจะให้บริการจนถึงสามทุ่ม ซึ่งหากมีธุระจำเป็นต้องจัดการกลางดึกก็เป็นเรื่องลำบากในการเดินทาง และส่งผลกระทบต่อนักศึกษาบางสำนักวิชาที่เลิกเรียนดึกหรือนักศึกษาบางรายที่พักอยู่หอพักนอกมหาวิทยาลัย อีกข้อจำกัดของระบบรถไฟฟ้าคือ การที่จำนวนรถไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา
“มารยาทของคนขับรถ อันนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งครับที่ไม่พูดคงไม่ได้ บางทีเห็นนักศึกษาก็ละเลยที่จะไม่รับทำเป็นไม่เห็นบ้าง มีการพูดจาไม่เหมาะสมกับนักศึกษาบางครั้ง” เอ (นามสมมติ) นักศึกษาชั้นปี 1
เอ เห็นว่า มหาวิทยาลัยไม่ควรออกกฎห้ามนักศึกษาใช้รถจักรยานยนต์ การสร้างระบบขนส่งภายในหากสามารถทำได้ดีจริง นักศึกษาก็จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ขนส่งของมหาวิทยาลัยเอง และรถไฟฟ้าควรจะเป็นเพียงแค่ทางเลือกในการเดินทางเท่านั้น นักศึกษาควรเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเดินด้วยวิธีใด
สภาพปัญหาการเดินทางของนักศึกษาถูกสะท้อนออกมาเรื่อยๆ ในโซเชียลมีเดีย ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชีว่า Anwar Maman ได้อัพโหลดรูปภาพสามภาพพร้อมคำบรรยายว่า “FUNNY TRIP จากหัวตะพานไปยังตึกสถาปัตย์” ซึ่งเป็นภาพของนักศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังเดินบนถนนในยามวิกาล มีเพียงแสงสว่างส่องทางจากไฟข้างถนน นอกจากกรณีการเดินตอนกลางคืน แม้ในตอนกลางวันซึ่งเป็นช่วงเวลาให้บริการก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อจำกัดของรถไฟฟ้า
วันที่ 14 ม.ค. 2562 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชีว่า น้ำฝนได้อัพโหลดรูปภาพ 1 ภาพพร้อมคำบรรยายว่า “ห้าม นศ.ปี1 ใช้รถจักรยานยนต์ รถไฟฟ้ามอไม่เพียงพอ บางครั้งเวลาเร่งรีบมีสองทางเลือกคือ เดิน กับวิ่ง เดินริมถนน พื้นที่มอโคตรกว้าง แถมถนนในมอบางเส้นไม่มีหลังคาก็ต้องเดินตากแดด นศ.ปี1 น่าสงสารมากๆ” โดยในภาพเป็นกลุ่มนักศึกษากำลังเดินริมถนนในช่วงกลางวัน
สโมสรนักศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือองค์กรนักศึกษาองค์กรแรกที่ลุกขึ้นมาคัดค้านกฎใหม่ของมหาวิทยาลัยอย่างเป็นรูปธรรม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านี้ไม่มีนักศึกษาที่เดือดร้อน ตัวแทนสโมสรฯ ระบุว่า นักศึกษาหลายคนได้รับความเดือดร้อน แต่ไม่มีใครกล้าที่จะออกมาต่อต้านอย่างจริงจัง ทางสโมสรจึงขึ้นมาเป็นแกนนำเพื่อแก้ปัญหา โดยวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของมหาวิทยาลัยว่า เป็นการบ่อนทำลายสิทธิขั้นพื้นฐานของนักศึกษา การขับขี่ยานพาหนะเป็นสิทธิที่ชอบธรรม ส่วนรถไฟฟ้าก็ควรเป็นทางเลือกอีกช่องทางหนึ่งเท่านั้น แต่หลังจากได้ออกแถลงการณ์ไปไม่นาน ฝ่ายกิจการนักศึกษาติดต่อสอบถามถึงกระบวนการการเคลื่อนไหว ซึ่งทางสโมสรมองว่าการสอบถามเช่นนี้อาจเป็นการทำให้นักศึกษารู้สึกกลัว และไม่กล้ารวมตัวประท้วงกฎระเบียบนี้
“การรณรงค์มหาวิทยาลัยสีเขียว เราเข้าใจในเจตจำนงของฝ่ายผู้บริหารแต่ว่าเราไม่พอใจในการกระทำ เพราะว่าอุดมคติของผู้บริหารค่อนข้างสูง แต่หลักความเป็นจริงแล้วทำไม่ได้ การเดินทางในมหาวิทยาลัยหรือระหว่างอาคาร ถ้าไม่ใช้รถจักรยานยนต์มันเดือดร้อนจริงๆ ดึกๆ แล้วผู้บริหารไม่ได้นั่งรถไฟฟ้ากับเราหรอก ท่านรู้แต่โครงสร้างภายนอกแต่ไม่รู้โครงสร้างภายในว่าอันตรายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่อุบัติเหตุจากจักรยานยนต์เท่านั้น ถ้านักศึกษายังเดินยามค่ำคืน ถ้าเกิดอะไรขึ้นจะทำอย่างไร ถ้าท่านจะยืนยันนโยบายอย่างนี้ เราไม่ยอม” ตัวแทนสโมสรกล่าวถึงผลกระทบของกฎระเบียบดังกล่าว
ส่วนเรื่องการที่นักศึกษาแสดงความคิดเห็นต่อการห้ามใช้รถจักรยานยนต์ในเขตมหาวิทยาลัย ทางสโมสรได้ให้ข้อมูลว่า นักศึกษาที่แสดงความคิดเห็นจะถูกทางส่วนกิจการนักศึกษาเรียกไปพบ อย่างไรก็ตามทางสโมสรยังไม่ถูกเรียกไปพบแต่อย่างใด
ข่าว
สิทธิมนุษยชน
คุณภาพชีวิต
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
สโมสรนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
ห้ามใช้รถจักรยานยต์
แสดงความคิดเห็น