Posted: 24 Jan 2019 08:02 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-24 23:02


สนช. ผ่านกฎหมายท้องถิ่น 3 ฉบับรวด กำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้ คสช. พิจารณาว่าจะจัดเลือกตั้งที่ใดก่อนหลัง ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขตยังไม่มีการเลือกตั้งจนกว่าจะเเก้ไขระเบียบ กทม. พรเพชร เผย สนช. อยู่ทำงานต่อไป หยุดก่อนเลือกตั้ง 1 สัปดาห์

24 ม.ค. 2562 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นประธานการประชุมพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น วาระ 2 และ3 ที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมี 144 มาตรา มีการแก้ไข 46 มาตรา

ตวง อันทะไชย สนช. ตั้งข้อสังเกตในมาตร 49 ที่กรรมาธิการเพิ่ม เรื่องลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งการเพิ่มคำว่า สื่อมวลชนใด ๆ เป็นการจำกัดอาชีพของสื่อมวลชนและเป็นคำที่กว้างเกินไป หากบัญญัติแบบไม่มีที่มาที่ไปถือว่าขัดสิทธิการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและขัดรัฐธรรมนูญ หมวดสิทธิเสรีภาพมาตรา 45 จึงเกรงว่า ร่างกฎหมายนี้จะขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่ไปละเมิดสิทธิประชาชน จึงขอให้พิจารณาทบทวน

พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ประธานกรรมาธิการฯ ยืนยันว่าเป็นการกำหนดให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นเจ้าของ หรือมีอาชีพเป็นสื่อมวลชนใช้ประโยชน์ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง และไม่ล่วงละเมิดรัฐธรรมนูญในหมวดหน้าที่พลเมือง รวมทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 40 ไม่ได้จำกัดอาชีพไว้ ที่สำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในที่สุดที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าววาระ 3 ด้วยคะแนน 162 เสียงต่อ 1 เสียง งดออกเสียง4 เสียง ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร วาระ 2-3 ซึ่งมีทั้งสิ้น 24 มาตรา มีการแก้ไข 8 มาตรา มีสาระสำคัญคือ การเพิ่มเติมจำนวนสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กำหนดพื้นที่ใดมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.5 แสนคน มี ส.ก. ได้ 1 คน หากพื้นที่ใดมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เกิน 1.5 แสนคนไปอีก 7.5 หมื่นคน ให้มี ส.ก. ได้อีก 1 คน การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. อยู่ในตำแหน่งในคราวละ 4 ปี จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ หากดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นเวลา 4 ปี นับจากวันพ้นตำแหน่ง การห้ามใช้งบประมาณเพื่อฝึกอบรมดูงานต่างประเทศของข้าราชการการเมือง ประธานสภา กทม. รองประธานสภา กทม. สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายว่า จำเป็นต้องจำกัดเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคราวละ 4 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีมิได้ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากเว้นระยะเวลาไว้เกิน 4 ปี อาจทำให้มีนอมินีเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนได้ และทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ไม่ยึดหลักคุณธรรม เจ้าหน้าที่วิ่งเต้นประจบสอพลอรับใช้ผู้มีอำนาจ และเกิดการเสพติดอำนาจ ที่สำคัญทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง

นรนิติ เศรษฐบุตร กรรมาธิการ ยืนยันว่า ร่างของกรรมาธิการเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น วาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีความแน่นอน แต่วาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความแน่นอนอยู่แล้ว หากเข้ามาดำรงตำแหน่งก็ไม่สามารถปลดออกได้ จึงถือว่าไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้

หลังอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมให้ความเห็นชอบตามที่กรรมาธิการเสนอในวาระ 2 และ 3 ด้วยมติเอกฉันท์ 142 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา (ฉบับที่....) ด้วยเสียงเห็นชอบ 143 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะส่งให้คณะรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

สำหรับร่างกฎหมายเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ในบทเฉพาะกาล กำหนดให้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกหลังจากร่าง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ กำหนดให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบต่อการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแจ้งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้คำสั่ง คสช.7 ฉบับสิ้นผลบังคับใช้ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร นั้น มีบทบังคับห้ามให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเขต จนกว่าจะปรับปรุงระเบียบ กทม. ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปแล้วเสร็จ

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า พรเพชร แถลงถึงกรณีที่ กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ว่า หลังจากนี้ สนช.จะพยายามเร่งรัดการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาวาระ 2-3 ประมาณ 100 ฉบับ ให้เสร็จมากที่สุดด้วยความรอบคอบ ตั้งเป้าว่า 1 สัปดาห์จะพิจารณาให้เสร็จ 10-15 ฉบับ แม้ตามไทม์ไลน์แล้ว สนช.จะทำงานได้ถึงก่อนวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก แต่ สนช.คำนึงถึงมารยาทและความเหมาะสม ดังนั้นจะหยุดพิจารณากฎหมายทุกฉบับหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ยกเว้นจะมีเร่งด่วนสำคัญจริงๆ เช่น สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องเร่งลงนาม เรื่องร้ายแรงที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด หรือเรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญจริงๆ ส่วนการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ยังค้างอยู่ใน สนช.นั้น ในขั้นตอนการคัดเลือกของกรรมการสรรหา ที่ไม่เกี่ยวกับ สนช.คงดำเนินการต่อไป แต่เมื่อเรื่องมาถึง สนช.แล้ว คงต้องรอให้สภาฯ ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.