Posted: 23 Jan 2019 05:51 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-23 20:51

สุรพศ ทวีศักดิ์

ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 จากฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยสถิติการเกิดเหตุไม่สงบรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2561 พบว่าเกิดเหตุ 20,163 ครั้ง ทำให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต 6,921 คน และบาดเจ็บ 13,511 คน [1]

ผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากความรุนแรงมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป มีทั้งชาวมุสสลิมและชาวพุทธ (ส่วนมากเป็นชาวมุสลิม) มีทั้งโต๊ะอีหม่ามและพระสงฆ์

ข้อมูลภาพรวมของพระสงฆ์จากสำนักข่าวอิศรา (22 พฤษภาคม 2555) ระบุว่า ชายแดนใต้มีพระ 4,322 รูป วัด-ที่พักสงฆ์ 825 แห่ง ตามผังข้างล่าง[2]


จากวิกฤตชายแดนใต้ปี 2547-2562 มีพระสงฆ์ถูกทำร้ายถึงมรณภาพ จำนวน 21 รูป บาดเจ็บ 27 รูป ล่าสุดคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา คนร้ายกราดยิงพระในวัดรัตนานุภาพ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส มรณภาพ 2 รูป บาดเจ็บ 2 รูป [3]

ที่ผ่านมา การดำเนินการของภาครัฐนอกเหนือจากจัดกำลังทหารรักษาความปลอดภัยขณะที่พระออกบิณฑบาตแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก เช่น มีการจัดโครงการ “พระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้”[4] โดยจัดพระสงฆ์อาสาสมัครไปปฏิบัติศาสนกิจในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นโครงการต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เริ่มต้นโครงการมีพระเข้าร่วมกว่า 80 รูป และมีการรายงานผลการปฏิบัติงานให้มหาเถรสมาคมทราบเป็นระยะ

นอกจากนี้ยังมีพระสงฆ์ในพื้นที่และต่างพื้นที่ร่วมกับตัวแทนกลุ่มชาวพุทธฆราวาส ผู้นำศาสนาอิสลาม และภาครัฐร่วมกันทำงานด้านสันติวิธีอีกด้วย รวมทั้งพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดีที่ถูกยิงมรณภาพตามที่เป็นข่าวในขณะนี้ก็อยู่ในกลุ่มพระสงฆ์ที่ทำงานด้านสันติวิธีด้วย

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อว่า “จะรับสมัครทหารที่สมัครใจบวชเพื่อส่งมากระจายอยู่ตามวัดต่างๆ ดังที่เคยปฏิบัติกันมา เพื่อสร้างความอุ่นใจและมั่นใจของพี่น้องประชาชน รวมไปถึงพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ”[5]

จากคำให้สัมภาษณ์นี้แสดงว่าเคยมีทหารบวชพระกระจายอยู่ตามวัดต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสนับสนุนโครงการ “พระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้” ดังกล่าวข้างต้น สอดคล้องกับงานวิจัยชื่อ “Buddhist Fury: Religion and Violence in Southern Thailand” (2011) ของ Michael Jerryson ที่ระบุว่ามีการจัดโครงการพระสงฆ์อาสาสมัครไปปฏิบัติศาสนกิจในภาคใต้ และมี “พระทหาร” (military monk) อยู่จริง ตอนแรกเขาคิดว่าเป็นเพียง “ข่าวลือ” แต่เมื่อเห็นด้วยตาเขาถึงเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงดังเขาเขียนตอนหนึ่งว่า

“ในเดือนธันวาคมปี 2006 ผมได้พบกับพระในวัดไทยภาคใต้ หลังจากผมสอนภาษาอังกฤษแก่สามเณรเสร็จแล้ว พระถามผมเกี่ยวกับงานวิจัย ในระหว่างสนทนากันพระได้เลิกจีวรสีเหลืองขึ้นเพื่อโชว์ปืนพก Smith & Wesson ของเขา ตรงหน้าผมคือพระทหาร – ส่วนหนึ่งของกลุ่มทหารลับที่ได้รับการฝึกเพื่อปกป้องอารามพุทธ โดยปฏิบัติการในฐานะเป็นพระที่บวชอย่างสมบูรณ์ ตกลงข่าวลือเป็นจริงทั้งหมด” [6]

Jerryson ต้องการอธิบายแก่ผู้อ่านชาวอเมริกันที่รับเอาพุทธศาสนาในแบบที่ตอบคำถามเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคลที่อาจสงสัยว่า ตัวคำสอนหรือ “ปรัชญา” ของพุทธศาสนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “สันติภาพและการไม่ใช้ความรุนแรง” จะเป็นไปได้อย่างไรที่ชาวพุทธจะใช้ความรุนแรงในการต่อต้านมุสลิม โดยเขาได้ชี้ให้เห็นว่า ตัวปรัชญาเกี่ยวกับความสงบทางจิตใจ ดูเหมือนจะ “ไม่รู้” (ignore) หรือไม่สนใจ ไม่เกี่ยวกับการปกป้องพุทธศาสนาของชาวพุทธที่ถือว่า “ชาติกับศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” เขายกตัวอย่างพระสงฆ์แกนนำกลุ่มชาวพุทธศรีลังกาและพม่าที่ออกมารณรงค์ให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามฝ่ายที่พวกเขาโจมตีว่าเป็นศัตรูของชาติและพุทธศาสนา ในไทยก็เคยมีพระบางรูปพูดปลุกเร้าว่า “ฆ่าพระ 1 เผามัสยิด 1” และมีกลุ่มชาวพุทธบางกลุ่มพยายามกระพือข่าวว่า มุสลิมมีแผนจะยึดประเทศไทยซึ่งจะทำให้พุทธศาสนาอยู่ไม่ได้ เป็นต้น

อันที่จริงปัญหาที่ Jerryson พูดถึง มันคือความจริงของ “ทุกศาสนา” ที่เมื่อถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้อง ผูกติดกับอำนาจรัฐ การเมือง และความขัดแย้ง เพื่อที่จะปกป้องศาสนา ชาติ และชาติพันธุ์ของคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนานั้นๆ บรรดาศาสนิกก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสอนเรื่องความรัก ความเมตตา การให้อภัย ความรุนแรงกลายเป็นความจำเป็นเสมอ ดังที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การล่าแม่มดในนามการปกป้องศาสนาที่บริสุทธิ์ สงครามระหว่างศาสนา ระหว่างนิกายศาสนา หรือระหว่างรัฐศาสนาต่างๆ ในอดีต รวมถึงสถานการณ์ความรุนแรงในนามศาสนาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในยุคปัจจุบัน

แน่นอนว่า ปัญหาชายแดนใต้ ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาโดยตรง แต่เป็นปัญหาการเมืองระหว่างรัฐกับฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐ แต่บังเอิญว่าศาสนาเป็นองคาพยพส่วนหนึ่งของรัฐ ดังนั้นจะบอกว่าศาสนาไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งเลยก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะโครงการ “พระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้” หรือกลุ่มชาวพุทธและมุสลิมที่ร่วมกันทำงานด้านสันติวิธีก็เป็นการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในบางมิติทั้งนั้น แม้จะด้วย “เจตนาดี” ก็ตาม ส่วนฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐก็น่าจะมีการใช้ศาสนาในแบบของพวกเขาเองเช่นกัน

ผมจึงไม่เห็นด้วยเลยกับคำประณามฝ่ายที่ก่อความรุนแรงว่าเป็น “พวกนอกศาสนา” เพราะอย่างน้อยมันไม่มีประวัติศาสตร์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรง สงคราม การก่อการร้ายในนามพวกนอกศาสนามากไปกว่าในนามศาสนาหลักๆ ของโลก

เมื่อศาสนาถูกนำเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองในมิติใดๆ จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอะไรที่เป็นความเชื่อทางศาสนามักเป็นเรื่องที่ยากจะคุยกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง หรือมักเลยเถิดไปสู่การสร้างความเกลียดชังขัดแย้งกันได้อย่างง่ายดาย แต่แก้ยากที่สุด

ปัญหาแรก คือความระแวงระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม เป็นเรื่องที่องค์กรบริหารระดับสูงของคณะสงฆ์และมุสลิมต้องสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนา อย่าให้กลุ่มใดๆ ฉวยโอกาสขยายความขัดแย้งระหว่างศาสนาให้มากขึ้นกว่าที่เป็นมา

แต่ปัญหาที่พระสงฆ์กลายเป็นเป้าเพราะถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่าเป็นตัวแทนอำนาจรัฐ เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและแก้ยากมาก เป็นเรื่องของภาครัฐที่ต้องสร้างความชัดเจนว่า ปัญหาภาคใต้แกนหลักอยู่ที่ปัญหาทางการเมืองที่ต้อง “แก้ด้วยการเมืองนำการทหาร” ไม่ใช่แก้ด้วย “การทหารนำการเมือง”

ศาสนาจำเป็นต้องถูกกันออกไปจากการที่รัฐหรือกลุ่มใดๆ จะนำมาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ยกเว้นการพูดคุยทำความเข้าใจในระดับชุมชนหรือภาคประชาชนต่างๆ ที่มุ่งรักษาวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนาที่เคยมีมานานก่อนจะเกิดความไม่สงบ

ส่วนการทหารนำการเมือง ไม่ว่าจะเรื่องแก้ปัญหาภาคใต้ และการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ มักนำไปสู่การสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้นและแก้ยากมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาด้วย “การทหารนำการเมือง” นิยมใช้ยุทธศาสตร์การทำสงครามด้วยกองกำลังและการปฏิบัติการจิตวิทยาที่มุ่งควบคุมและกำจัดฝ่ายตรงข้ามมากกว่า

แต่การแก้ปัญหาด้วย “การเมืองนำการทหาร” เป็นการแก้ปัญหาที่มุ่งสร้างพื้นที่เจรจาต่อรองเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน โดยจะใช้กำลังเฉพาะเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นด้านหลัก

อีกอย่าง การนำเสนอภาพของพระสงฆ์ในจังหวัดชายแดนใต้ทำนองเป็นผู้เสียสละเพื่อปกป้องศาสนาและประเทศชาติ อาจไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อความปลอดภัยของท่านเหล่านั้น

แท้จริงแล้วเราควรมองว่า พระสงฆ์ก็คือประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่จะถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนหรือกลไกของอำนาจรัฐ แต่ทุกคนในพื้นที่คือ “พลเมือง” ที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างเท่าเทียมกันตามแนวทางการเมืองนำการทหาร

แต่เมื่อพูดอย่างถึงที่สุดแล้ว การเมืองนำการทหาร ก็คงไม่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. คงต้องรอรัฐบาลประชาธิปไตยมารื้อแก้ทั้งปัญหาการเมืองชายแดนใต้และปัญหาการเมืองระดับชาติ



อ้างอิง
[1] ดู https://www.tnnthailand.com/content/12107https://www.tnnthailand.com/content/12107
[2] ดู https://www.isranews.org/content-page/67-south-slide/6806--4322-825-qq.html
[3]ดู https://www.isranews.org/south-news/stat-history/73068-blood-73068.html
[4]ดู https://www.voicetv.co.th/read/388992
[5] ดู https://www.matichon.co.th/education/news_1330076
[6] ดู https://aeon.co/essays/buddhism-can-be-as-violent-as-any-other-religion?fbclid=IwAR3nLbuDbwxateTrpKczXSIyiix6qEBUOjE5SRO_qtX0mF6I-a0DZfGxS9Mhttps://aeon.co/essays/buddhism-can-be-as-violent-as-any-other-religion?fbclid=IwAR3nLbuDbwxateTrpKczXSIyiix6qEBUOjE5SRO_qtX0mF6I-a0DZfGxS9M

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.