Posted: 20 Jan 2019 12:55 AM PST
Submitted on Sun, 2019-01-20 15:55

จาตุรนต์ ฉายแสง

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังตกต่ำ ประชาชนทุกระดับรู้สึกถึงความเดือดร้อนทั่วกันหมด รัฐบาลกำลังเอาเงินที่มาจากภาษีของประชาชนไปแจกอย่างต่อเนื่องเพื่อหาเสียงมากกว่าจะแก้ปัญหาความยากจนไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นและระยะ พร้อมกันนั้นก็มีข่าวกองทัพกำลังจะซื้อรถถังจากจีนอีก 14 คันเป็นเงิน 2,300 ล้านบาท รวมทั้งหมด 5 ปีหลังรัฐประหารมานี้กองทัพไทยซื้ออาวุธจากจีนไปแล้วทั้งสิ้นรวมเกือบ 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมเรือดำน้ำอีก 2 ลำ ที่ใช้งบราว 27,000ล้านบาทในปี 2562 นี้

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้น่าสนใจว่าเกิดอะไรกับนโยบายการคลังและงบประมาณของประเทศในรอบหลายปีที่ผ่านมา

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อขาดดุลประจำปีเพิ่มอีกไม่ได้แล้วก็ใช้วิธีอนุมัติงบประมาณที่มีผลผูกพันไปในอนาคต จนถึงปีงบประมาณปัจจุบันมีการผูกพันงบประมาณไปในระยะ 5 ปีข้างหน้าถึง 1,178,275 ล้านบาท

เมื่อสัปดาห์ก่อนนี้เอง ครม.เพิ่งให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของปี 2562 ไปด้วยวงเงิน 3 ล้านล้านบาท


พิจารณาย้อนหลังไปหลายปีจะพบว่าหลังจากการรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมา ทำให้งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดดเด่นเป็นพิเศษ

ใน ปีงบประมาณ 2558-2562 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจดังนี้

1.งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สูงอยู่แล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งปี 2562 นี้ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 3%

2.งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการชะลอตัวหรือลดลงอย่างต่อเนื่องคือ -0.6% ในปี2560,-1.2%ในปี2561, และ -4%ในปี2562 ตามลำดับ

3.งบประมาณสำหรับรายจ่ายประจำ เงินเดือนและค่าจ้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2562 นี้มีสัดส่วนสูงเป็นประวัติการณ์คือ 35 %ของงบประมาณโดยรวม

4.มีการตั้งงบประมาณผูกพันสำหรับการซื้ออาวุธเป็นจำนวนมากราว 43,860 ล้านบาท มีการผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2561-2565และปีต่อๆไปรวม 1,229,937.1ล้านล้านบาทและพบว่ามีการกระจุกตัวใน 3 กระทรวงใหญ่

5.การใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐใน 5 ปีมานี้ทำให้เป็นหนี้สะสมราว 6.5 ล้านล้านบาท มีการประมาณว่าการสร้างภาระผูกพันไปข้างหน้านี้จะทำให้หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับ 42%ต่อGDPในปัจจุบัน จะเพิ่มเป็น 47.30%ในปี2564

นโยบายการคลังและงบประมาณในหลายปีมานี้มีลักษณะหลงทิศผิดทางและเป็นผลเสียทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การตั้งงบประมาณในปี 2562 และการใช้จ่ายงบประมาณในระยะหลังนี้ยิ่งมีลักษณะเป็นการทิ้งทวนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองจากฐานของรัฐบาลคือกองทัพกับข้าราชการและเพื่อการหาเสียงต่อประชาชนโดยตรงอีกด้วย


เมื่อพรรคไทยรักษาชาติเป็นรัฐบาล เราจะเปลี่ยนนโยบายการคลังและงบประมาณเสียใหม่ โดยจะลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลงให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการป้องกันประเทศและสภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ขยายโอกาสในภาคส่วนต่างๆ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นี่ไม่ใช่การที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองล้ำเส้นกองทัพ แต่เป็นภาระหน้าที่โดยชอบในระบอบประชาธิปไตย ที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไปในอารยประเทศ

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.