กำลังเป็นเรื่องราวที่ถูกแชรต่ออย่างมากในโลกออนไลน์ หลังจากที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลรายจ่ายของภาครัฐการศึกษาและการรักษาพยาบาล และแสดงกราฟวิเคราะห์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยระบุผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว Decharut Sukkumnoed ว่า


ผมรู้สึกปวดใจทุกครั้ง เวลาฟัง “คนที่มีอันจะกิน” โดยเฉพาะ “ข้าราชการ” บอก (หรือหวัง) ให้คนจนพึ่งตนเอง โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงว่า “ตนเองนั้นพึ่งรัฐบาล” อยู่เท่าไร

ข้อมูลจากสภาพัฒน์ ปี 2559 ชี้ให้เห็นว่า คนในกลุ่มครัวเรือน 40% ที่มีรายได้ดีที่สุดของประเทศ (พูดแบบภาษาสถิติว่า quintile ที่ 4 และ 5) ได้รับประโยชน์จากรัฐบาลในการศึกษามากกว่าคนอีก 60% ที่จนกว่าตนมาก โดยเฉพาะในระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษา (รูปแรก โดยดูตามอายุในแกนนอน) ซึ่งเป็นระดับการศึกษา ที่คนกลุ่มที่มีรายได้น้อยเข้าถึงได้น้อยมาก ส่วนกลุ่มคนจนได้รับประโยชน์จากรัฐบาลมากกว่าในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น เพราะคนรวยส่วนหนึ่งพาลูกหลานเข้าโรงเรียนเอกชนหรือนานาชาติ ยิ่งถ้าเป็นค่ารักษาพยาบาล เราจะเห็นได้เลยว่า คนในกลุ่ม 20% ที่รวยที่สุด หรือ quintile ที่ 5 ได้รับประโยชน์จากค่ารักษาพยาบาลจากรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการข้าราชการ และสามารถเข้ารับการรักษาในโรคที่มีความซับซ้อนในการรักษาได้ (โดยเฉพาะในช่วงปลายของชีวิต รูปที่ 2) ในขณะที่คนที่มาจากครัวเรือนที่จน โดยเฉพาะ 20% ที่จนที่สุด ใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค และอาจไม่สามารถไปรักษาพยาบาลในโรคที่ซับซ้อนได้ (เช่น ปัญหาการเดินทาง การดูแลผู้ป่วย เพราะหมอส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่) แม้ว่าจะมีสิทธิ์รักษาก็ตาม

ข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ นี้ ชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐ ที่คนที่มาจากครอบครัวที่รวยกว่า กลับได้รับประโยชน์มากกว่า และทำให้ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นไปอีก น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ รวมถึงคนรวยส่วนหนึ่ง ไม่เคยทราบข้อมูลนี้ว่า ชีวิตที่ดีของตนพึ่งพาคนอื่นๆ (โดยผ่านกลไกรัฐ) อยู่มากเพียงใด ภายใต้ความไม่รู้อันนี้ การกล่าวคำว่า “ให้คนจนพึ่งพาตนเอง” นอกเหนือจากความหวังดีแล้ว ก็อาจเป็นไปเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากความเหลื่อมล้ำและความไม่ชอบธรรมดังกล่าว ซึ่งจะมีผลให้คนรวยสามารถรักษาระบบที่เป็นอยู่ และสถานภาพความได้เปรียบของตนไว้ได้ แบบ “เนียนๆ”

ประเทศไทย กลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกไปแล้ว …ตามข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 ที่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคม มีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงมากว่า ถ้านับในด้านความมั่งคั่ง(Wealth)แล้ว ไทยแลนด์แดนสารขัณฑ์ที่ได้อันดับ 3 ในการสำรวจเมื่อสองปีที่แล้ว สามารถแซงทั้งรัสเซีย ทั้งอินเดีย ฉลุยขึ้นป้ายอันดับ 1 ได้อย่างค่อนข้างห่างด้วยซ้ำ

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว (2016) คนไทย 1% มีทรัพย์สินรวม 58.0% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ มาปีนี้(2018) 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% รวยขึ้นอื้อเลยครับ …แซงรัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือแค่ 57.1% ตกไปเป็นที่ 2 ขณะที่ตุรกีมาแรงทั้งๆ ที่เศรษฐกิจห่วยแตกแต่คนรวยกลับเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้เป็น 54.1% แซงอินเดียที่ตกไปเป็นที่ 4 จาก 58.4% เหลือแค่เพียง 51.5%

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.