ภาพจากเฟสบุ๊ค Nok Labour


Posted: 18 Jan 2019 05:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-18 20:24


สหพันธ์แรงานขนส่งระหว่างประเทศ ร่วมกับ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงเรียกร้องให้การรถไฟยุติการดำเนินคดีและหักเงินผู้นำสหภาพ พร้อมทั้งคืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานทั้ง 7 คน

18 ม.ค.2562 วันนี้ สหพันธ์แรงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าว เรื่อง "ขอให้ยุติการดำเนินคดีและการหักเงินผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟแห่งประเทศไทย"

แถลงระบุว่า ตามที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ให้ทั้ง 7 คน จ่ายค่าเสียหายให้แก่การรถไฟฯ เป็นเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่ฟ้องจนถึงวันที่ชำระเสร็จ ซึ่งปัจจุบันเป็นเงินรวมประมาณ 24,000,000 บาท สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯในขณะนี้สร้างความตระหนกและกังวลต่อ ITF,สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (ITUC) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างมากและได้มีการส่งหนังสือแจ้งมายังรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนถึงวันที่มีการรับผู้นำสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานและยังเรียกร้องให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพแรงงานและคืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานคืนให้แก่ผู้นำทั้งหมด ซึ่งมาทราบภายหลังว่ารัฐไทยมีการดำเนินการในการหักเงินจากผู้นำแรงงานทั้ง 7 คนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวนยอดเงินตามคำพิพากษาจำนวนเงินสูงมสก และหักเงินชดใช้ต้องใช้เวลา 10 ปี ต้องส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาซึ่งบางคนขณะนี้ได้เกษียณอายุแล้วและต้องอายัดเงินยังชีพ (บำนาญ)หลังเกษียณมาชดใช้ค่าเสียหายทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ พบรักษาการผู้ว่าฯ รถไฟ ขอแก้ปัญหากรณีผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ

วันนี้ทาง สรส.และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยได้เดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และรองปลัดกระทรวงคมนาคมผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมทั้งรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าพบประธานคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย และยังมีคณะกรรมการที่ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวด้วย และเพื่อยืนยันในเจตนารมณ์ขององค์กรแรงงานในประเทศและต่างประเทศ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งรัฐบาล แก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน เพราะสิ่งที่สหภาพฯเรียกร้องคือความต้องการสร้างมาตรการความปลอดภัยแห่งสาธารณะของขบวนรถไฟมิใช่ผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม

โดยมีข้อเสนอดังนี้ 1. ยุติการดำเนินคดีแก้ผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 2.ให้ยุติการหักเงินชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด และ 3. ให้คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานทั้ง 7 คน ซึ่งขบวนการแรงงานทั้งสากล และขบวนการแรงงานไทยจะเร่งติดตาม เพื่อให้ยุติเรื่องทั้งหมดโดยเร็ว



คำพิพากษาดังกล่าว เกิดขึ้นเนื่องจาก สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยรณรงค์เรื่องความปลอดภัยเมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขบวนรถไฟตกราง เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2552 ที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนเป็นเหตุมีมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อวิเคราะห์จากสาเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของรถจักรที่ใช้ทำขบวน ซึ่งผลจากการการสอบสวนภายในที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเอง รวมทั้งคำพิพากษาของศาลอาญาจนเป็นเหตุให้พนักงานขับรถต้องติดคุก และต้องออกจากงาน เมื่อศาลอาญาเห็นว่านำรถจักรที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวน ซึ่งต่อมาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ฟ้องต่อศาลแพ่งและศาลก็มีคำพิพากษาให้พนักงานขับรถและการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้แก้ผู้ฟ้อง เนื่องจากนำรถจักรที่ไม่สมบูรณ์ออกไปทำขบวนจนเกิดเหตุร้ายแรง แม้กระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็มีข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งในส่วนของต่างประเทศ ITF, ITUC ได้นำเรื่องร้องเรียนต่อ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และผลการสรุปก็ออกมาในลักษณะที่เห็นว่าสภาพแรงงานรถไฟและผู้นำกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสหภาพแรงงาน และได้ส่งคำวินิจฉัยมายังรัฐบาลไทยเพื่อยุติและคืนสิทธิให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ จากผลที่สรุปออกมาชี้ให้เห็นถึงการกระทำของสหภาพแรงงานรถไฟและผู้นำสหภาพที่ได้กระทำการที่เป็นประโยชน์แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเอง รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่เป็นผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องต่อศาลแรงงานเพื่อขอเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟจำนวน 7 คน ในส่วนกลางและถูกเลิกจ้างไปในปี 2554 พร้อมกับให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินที่สูงมากรวมทั้งเลิกจ้างผู้นำสหภาพรถไฟที่หาดใหญ่อีก 6 คน และถูกเลิกจ้างไปตั้งแต่ปี 2552 จึงเป็นเหตุให้ขบวนการแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศร่วมกันรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยยุติการดำเนินคดีต่อผู้นำสหภาพรถไฟฯและให้รับทั้งหมดเข้าทำงานและให้คืนสิทธิประโยชน์ทั้งหมดในช่วงที่ถูกออกจากงานให้แก่ผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟ ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยก็รับผู้นำสหภาพแรงงานรถไฟทั้งหมดกลับเข้าทำงานในปี 2557 และได้จ่ายเงินและสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานคืนให้แก่ผู้นำ 6 คนที่สาขาหาดใหญ่ แต่ผู้นำส่วนกลาง 7 คนแม้จะได้กลับเข้าทำงานแต่ก็ยังไม่ได้รับคืนสิทธิประโยชน์ช่วงที่ออกจากงานโดยที่การรถไฟแห่งประเทศไทยอ้างว่ามีค่าเสียหายที่ทั้ง 7 คนต้องจ่ายให้กับการรถไฟฯ ก่อนที่จะมีคำพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ดังกล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.