Posted: 16 Jan 2019 08:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-16 23:52
สุรพศ ทวีศักดิ์
ปัญหาของเผด็จการคือ กลัวเสรีภาพและประชาธิปไตย ปัญหาของพุทธไทยที่เป็นศาสนาแบบรัฐ (state religion) คือ กลัวหลักการโลกวิสัย (secularism) หรือหลักการแยกศาสนาจากรัฐ ซึ่งสาระสำคัญเป็นเรื่องของการนำหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยมาใช้ปฏิบัติกับความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ ความไม่เชื่อของประชาชนทุกคน
วิธีคิดแบบเผด็จการกับวิธีคิดแบบพุทธไทยเหมือนกัน หรือสอดคล้องกันหลายอย่าง เช่น เวลามีคนวิจารณ์เผด็จการ หรือวิจารณ์ปัญหาต่างๆ ที่เผด็จการการสร้างขึ้น (ดังเพลง “ประเทศกูมี” นำเสนอ เป็นต้น) เผด็จการก็จะโต้ว่า คนเหล่านั้นไม่รักชาติ ดูถูกชาติ ชังชาติ ตกลง “เผด็จการเท่ากับชาติ” ตั้งแต่เมื่อไรกัน
เช่นเดียวกันเวลาใครวิจารณ์พุทธไทย ซึ่งเป็นพุทธที่ผูกกับรัฐ ก็จะถูกล่าวหาว่าเกลียดพุทธศาสนา ถูกถามว่ามีเจตนาทำลายพุทธศาสนาหรือไม่ ตกลง “พุทธไทย” เท่ากับกับ “พุทธศาสนา” หรือพุทธศาสนาคือพุทธแบบไทยเท่านั้นตั้งแต่เมื่อไรกัน
ขณะเดียวกัน เวลาที่ประชาชนเสนอข้อเรียกร้องอะไรก็ตาม ที่ต่างจากหรือขัดแย้งกับความเห็นของเผด็จการ ก็จะถูกกล่าวหาว่า สร้างความแตกแยก เช่นกรณี “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” เรียกร้องให้จัดเลือกตั้ง คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ก็ถูกกล่าวหาว่าก่อความวุ่นวาย มุ่งสร้างความแตกแยก
ทั้งๆ ที่เมื่อว่าโดยความถูกต้องชอบธรรมตามหลักการแล้ว การเลือกตั้งคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะในเมื่อประชาชนจำนวนมากมีความคิดเห็นต่างกันในทางการเมือง ทางออกที่ดีที่สุดก็คือต้องสร้าง “ระบบที่เป็นธรรม” ให้ทุกฝ่ายได้เสนอความเห็น แนวทาง นโยบายแก้ปัญหาผ่านการลงมติหรือการออกเสียงภายใต้ “กติกาที่เสรีและเป็นธรรม” แบบ “1 คน 1 เสียง” เท่าเทียมกัน
หลังเลือกตั้งหากจะมีการปฏิรูปหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดๆ ที่จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ก็ต้องต่อสู้ ต่อรองกัน หรือมีส่วนร่วมเท่าเทียมกันภายใต้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้น ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง จึงเป็นข้อเรียกร้องที่มุ่งสร้างประชาธิปไตยและมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีอย่างที่สังคมอารยะเขาทำกัน
แต่การทำรัฐประหารปล้นอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชน การโกหกซ้ำซากและเลื่อนเลือกตั้งซ้ำซาก การเขียนรัฐธรรมนูญ และวางระบบการเลือกตั้งที่ไม่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากลต่างหาก ที่ต้องถูกตั้งคำถามว่า สร้างความแตกแยกและทำลายความมั่นคงของประชาธิปไตย หลัง 2475 หากไม่มีรัฐประหารซ้ำซากป่านนี้ประเทศไทยอาจเป็นรัฐสวัสดิการไปแล้ว
ทำนองเดียวกัน เวลาที่ใครเสนอให้แยกศาสนาจากรัฐ เพื่อให้รัฐเป็นกลางทางศาสนา เพื่อที่รัฐจะทำหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาได้จริง โดยรัฐไม่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนาใดๆ ให้องค์กรพุทธไทยและทุกศาสนาเป็นเอกชน มีเสรีภาพในการเผยแผ่ศาสนาเท่าเทียมกัน โดยศาสนากับรัฐ-การเมืองไม่ก้าวก่ายแทรกแซงกัน ก็จะมีผู้ปกป้องพุทธไทยออกมากล่าวหาว่าสร้างความแตกแยก
ทั้งๆ ที่ถ้าแยกศาสนาจากรัฐ จะทำให้พุทธไทย ศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนาอยู่ภายใต้กติกาที่ฟรีและแฟร์เท่าเทียมกัน คณะสงฆ์และองค์กรศาสนาอื่นๆ จะเข้ามาแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์จากการอุปถัมภ์ของรัฐไม่ได้ เพราะรัฐไม่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ซึ่งย่อมเป็นธรรมต่อคนไม่มีศาสนาด้วย ที่จะไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐเอาไปใช้อุปถัมภ์ศาสนาแบบที่ทำกันมาแต่อดีตจนปัจจุบัน
ดังนั้นการแยกศาสนาจากรัฐ คือการปลดปล่อยศาสนาจากการตกเป็นเครื่องมือรับใช้อุดมการณ์รัฐและสร้างความชอบธรรมแก่สถานะและอำนาจของชนชั้นปกครอง ทำให้ศาสนิกมีเสรีภาพในการศึกษาตีความคำสอนและมีการเผยแผ่ที่คล่องตัว ปรับตัวสอดคล้องกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยได้ดีขึ้น และปรับตัวตอบสนองต่อปัญหาชีวิตหรือทุกข์ของปัจเจกบุคคลในบริบทโลกสมัยใหม่ได้ดีขึ้น การแยกศาสนาจากรัฐจึงไม่ใช่เรื่องของการสร้างความแตกแยกแต่อย่างใด
แท้จริงแล้วการไม่แยกศาสนาจากรัฐต่างหาก ที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนา กลุ่มทางศาสนากลุ่มต่างๆ และความขัดแย้งระหว่างศาสนา เพราะรัฐกลายเป็นเวทีแย่งอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างนิกาย หรือกลุ่มต่างๆ หรือระหว่างศาสนาที่ต่างก็เรียกร้องให้รัฐออกกฎหมาย ให้งบประมาณ ให้ความอุปถัมภ์คุ้มครอง หรืออำนวยความสะดวกอื่นๆ แก่การเผยแผ่ศาสนาของพวกตน ซึ่งการแก่งแย่งหรือข้อเรียกร้องทางศาสนาต่อรัฐทำนองที่กล่าวมา ล้วนแต่ขัดกับหลักการโลกวิสัย หรือหลักการแยกศาสนาจากรัฐทั้งนั้น
แปลว่าความขัดแย้งระหว่างนิกายศาสนา กลุ่มทางศาสนาต่างๆ และ/หรือความขัดแย้งต่างศาสนามักเกิดจากการไม่แยกศาสนาจากรัฐ จึงทำให้รัฐกลายเป็นเวทีของความขัดแย้ง และทำให้ศาสนาไม่สามารถแยกจากการเมืองได้จริง เพราะสถาบันศาสนาถูกกำหนดให้ทำหน้าที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐและสถานะ อำนาจของชนชั้นปกครอง
พูดอีกอย่าง การแยกศาสนาจากรัฐ ก็คือการเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาไปในทางที่ศาสนาอยู่ภายใต้การควบคุมของกติกาประชาธิปไตย ศาสนาจะไม่ถูกใช้ในทางการเมืองให้เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนได้อีก เหมือนกันถ้าปฏิรูปกองทัพให้อยู่ภายใต้การควบคุมตามกติกาประชาธิปไตย กองทัพก็จะเป็นกลไกของรัฐบาลประชาธิปไตยได้จริง มีกระบวนการควบคุมตรวจสอบแบบประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วเขาทำกัน เผด็จการทหารก็จะสูญพันธุ์ไป
แต่ภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐและระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธไทยปัจจุบัน ได้ทำให้ “อำนาจปืน” กับ “อำนาจศีลธรรม” ประสานสอดคล้องกัน เนื่องจากอำนาจนำทางการเมือง (political hegemony) ที่เป็นจริงอยู่ในมือของกลุ่มคนที่ครอบครองอำนาจปืน ซึ่งเป็นอภิสิทธิชนส่วนน้อยกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มที่ครอบครองอำนาจนำทางศีลธรรม (moral hegemony) ที่ผลิตสร้างโดยพุทธศาสนาไทย อำนาจปืนไม่อาจอยู่ได้โดยลำพัง แต่อำนาจปืนอาศัยความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยไม่ได้ จึงต้องพึ่งความชอบธรรมจากการอิงธรรมของผู้ปกครอง หรือหลักศีลธรรมจากพุทธศาสนาไทย ดังประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวว่าตนเองใช้หลักธรรมปกครองประเทศเป็นต้น
ความคิดที่เหมือนกันอีกอย่างคือ เผด็จการที่ครอบครองอำนาจปืน พยายาม “แสดง” ให้ประชาชนเห็นว่า ประชาชนรัก ศรัทธา ยอมรับ สนับสนุนสถานะ อำนาจ และผลงานของพวกเขาด้วยการโชว์ “ยอดจำนวนคน” ที่สนับสนุน เช่นเราจะเห็นมากขึ้นว่าพวกเขาโชว์ยอดจำนวนประชาชนที่ (ถูกเกณฑ์) มาต้อนรับ มาร่วมงานอีเวนท์ที่พวกเขาจัดขึ้น มาร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี หรือโชว์ตัวเลขผลโพลต่างๆ เป็นต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนพวกเขา
แต่ตัวเลขที่เผด็จการไม่อยากนับ หรือหวาดกลัวมากที่จะนับ คือตัวเลขที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม พวกเขาจึงกลัวการเลือกตั้งและพยายามลดความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งด้วยวิธีการสารพัด ทั้งนี้เพราะเผด็จการชินกับการเอาชนะคู่แข่งและเอาเปรียบประชาชนทั่วไปมายาวนานบนสถานะ อำนาจ และวิถีทางที่พวกเขาได้เปรียบทุกประตู
ขณะที่บรรดาผู้ปกป้องพุทธศาสนาไทยก็มักอ้างเช่นกันว่า ในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนับถือพุทธศาสนา ก็สมควรบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ บางครั้งพวกเขาก็เสนอให้ลง “ประชามติ” แบบมัดมือชกว่า ควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติไทย” หรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับหลักการโลกวิสัยที่ถือว่ารัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา จะยกศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติไม่ได้ หรือเมื่อว่าตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว การลงมติที่ตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ต้องลงมติเกี่ยวกับเรื่องสากลที่เกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ลงมติเกี่ยวกับความเชื่อเฉพาะของคนที่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แม้จะเป็นคนส่วนมากก็ตาม
ไม่ทราบว่าวิธีคิดที่เหมือนกันดังกล่าวของเผด็จการกับพุทธศาสนาไทยเป็นเรื่องที่ใครลอกใคร หรือที่จริงก็ไม่มีใครลอกใคร แต่เป็นเนื้อเดียวกันมายาวนานแล้ว
หมายเหตุ: เผด็จการ หรือเผด็จการทหาร ไม่ได้หมายถึงทหารเป็นคนๆ แต่หมายถึงโครงสร้างหรือระบบ วัฒนธรรมทางอำนาจและวิธีคิด ทหารเป็นคนๆ อาจมีทั้งคนที่คิดแบบเผด็จการหรือไม่คิดแบบเผด็จการก็ได้ เช่นเดียวกัน “พุทธไทย” ก็ไม่ได้เหมารวมว่า พระทุกรูปมีวิธีคิดแบบเผด็จการ แต่หมายถึงระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่แยกศาสนาจากรัฐ เป็นระบบที่ผลิตและผลิตซ้ำวิธีคิดแบบเดียวกับเผด็จการตามที่กล่าวถึงในบทความนี้
แสดงความคิดเห็น