Posted: 11 Jan 2019 09:39 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-01-12 00:39


ศาลพม่ายกคำร้องอุทธรณ์ของสองนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเคยทำข่าวการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเหมาะสมแล้วที่จะลงโทษและเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นการจัดฉากจับกุมของฝ่ายตำรวจ ด้านทนายของจำเลยจะหารือกันเพื่อยื่นคำร้องต่อไปในระดับศาลฎีกา

ซ้ายไปขวา: วะลง และจ่อซออู (ที่มา: Free Wa Lone and Kyaw Saw Oo - Myanmar)

11 ม.ค. 2562 ศาลพม่าตัดสินยกคำร้องขออุทธรณ์ของวะลงและจ่อซออู สองนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเจ็ดปีจากการล้วงความลับทางราชการ โดยศาลให้เหตุผลว่าจำเลยมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะบอกว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์

“การตัดสินของวันนี้ยังไม่เป็นธรรมที่จะลงโทษวะลงและจ่อซออู พวกเขายังต้องอยู่ในคุกด้วยเหตุผลอย่างเดียวคือ ผู้มีอำนาจต้องการปิดบังความจริง” สตีเฟน เจ. แอดเลอร์ หัวหน้ากองบรรณาธิการรอยเตอร์กล่าว

“การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม และพม่าก็ยังคงจัดการกับประเด็นนี้อย่างผิดพลาดจวบจนตอนนี้ สื่อในพม่ายังไร้อิสระ ความรับผิดชอบต่อหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยของพม่ายังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย” สตีเฟนกล่าวต่อ

คริสเตียน ชมิดต์ ทูตจากสหภาพยุโรปในพม่าซึ่งอยู่นอกศาลในย่างกุ้งขณะที่มีการประกาศคำตัดสินกล่าวถึงคำตัดสินว่า “เป็นความล้มเหลวด้านความยุติธรรมและทำให้เรากังวลต่อความอิสระของระบบยุติธรรมในพม่า”

ด้านอองนาง ผู้พิพากษาศาลสูงเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะลงโทษนักข่าวทั้งสองด้วยโทษจำคุกเจ็ดปีสำหรับความผิดดังกล่าว

ในการยื่นอุทธรณ์เมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ทนายของนักข่าวทั้งสองได้แสดงหลักฐานที่ยืนยันการจัดฉากของตำรวจและความบริสุทธิ์ของจำเลย ส่วนจำเลยก็กล่าวว่าอัยการล้มเหลวในการที่จะยืนยันว่านักข่าวทั้งสองเก็บข้อมูลลับไว้ ส่งข้อมูลลับให้กับศัตรูของพม่า หรือมีแนวโน้มที่จะทำลายความมั่นคงของชาติอย่างที่คินคินซู เจ้าหน้าที่กฎหมายจากรัฐบาลกล่าวในการยื่นอุทธรณ์ครั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษากล่าวว่า ข้อที่ว่านักข่าวทั้งสองปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อนั้นฟังไม่ขึ้นและเป็นไปไม่ได้ที่ความผิดของทั้งสองจะเป็นเพียงเรื่องจัดฉาก

หลังการตัดสิน ทานซออ่อง ทนายฝ่ายจำเลยกล่าวว่าทีมของเขาจะหารือกันอีกเกี่ยวกับการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา “เราไม่พอใจอย่างยิ่งต่อคำตัดสินครั้งนี้” เขากล่าว

วะลงและจ่อซออูถูกคุมตัวในเรือนจำอินเส่ง กรุงย่างกุ้ง ตั้งแต่ที่ถูกจับตัวเมื่อธ.ค. 2560 จนเมื่อก.ค. ปีที่แล้วเขาถูกตั้งข้อหาละเมิดกฎหมายมาตรา 3 (1) ว่าด้วยความลับทางราชการ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม

ทั้งสองถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเมื่อกันยายนปีที่ โดยมีการอ้างว่าจำเลยมีเจตนาทำให้รัฐเสียผลประโยชน์เจตนาทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ ซึ่งการตัดสินครั้งนั้นก่อให้เกิดเป็นกระแสการตั้งคำถามต่อประชาธิปไตยในพม่าและกระแสการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการทูตและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน

นักข่าวทั้งสองเคยทำข่าวเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านอินดิน และถูกจับกุมตัวระหว่างหาข้อมูลทำข่าวเกี่ยวกับการสังหารชาวโรฮิงญา ทั้งสองให้การว่า ตำรวจได้ทำการจับกุมเขาหลังจากที่นัดมาทานข้าวและมอบซองปริศนาให้กับพวกเขา ซึ่งทางตำรวจอ้างเหตุขณะจับกุมว่าพวกเขามีเอกสารลับทางราชการไว้ในครอบครอง

เมื่อ 3 ก.ย. 2561 ศาลพม่าตัดสินลงโทษจำคุกทั้งสองเป็นเวลา 7 ปี ก่อเกิดเป็นกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลพม่าเพราะถือว่ารัฐบาลพยายามปิดกั้นข่าวสารการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่โดยกองกำลังของรัฐ ซึ่งการตัดสินลงโทษรอบแรกนั้นตรงกับช่วงที่สหประชาชาติเสนอข้อมูลที่ระบุว่าผู้นำทหารพม่าควรถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในกรณีโรฮิงญา
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.