Posted: 17 Jan 2019 01:33 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-17 16:33


ประธานอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ สปสช. ผ่าแนวทางการทำงานเพื่อยกระดับบริการ ระบุหัวใจสำคัญคือนโยบายต้องชัดเจน ให้ความสำคัญกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งส่วนกลางและพื้นที่ ใช้ข้อเท็จจริงพูดคุย วิเคราะห์และส่งกลับข้อมูลสู่ผู้บริหารเพื่อแก้ปัญหา

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ สปสช.

16 ม.ค.2562 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะอนุกรรมการกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ“Outside in : inside out : เสียงลูกค้ากับคุณภาพบริการ” ภายในงานสัมมนาเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 3-4 ธันวาคม 2561 ตอนหนึ่งว่า การควบคุมคุณภาพมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ปรารถนาของทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ โดยความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีความสุข กล่าวคือทั้ง 2 ฝ่ายอาจจะมีสิ่งที่ตัวเองได้และสูญเสียไปบ้าง แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความสมดุล

“หลักการสำคัญคือผู้ให้บริการมีความสุข ผู้รับบริการได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ และกองทุนก็ต้องอยู่ได้” นพ.สุพรรณ กล่าว

สำหรับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการกำกับคุณภาพฯ สปสช. คือ 1. นโยบายต้องชัดเจน 2. กลไกการมีส่วนร่วมต้องเข้มแข็ง 3. พูดคุยกันด้วยข้อมูลข้อเท็จจริง ส่วนตัวในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ก็จะดูว่าการให้บริการมีคุณภาพหรือไม่ ประชาชนมั่นใจต่อการรับบริการหรือไม่ โดยกลไกการพัฒนาหลังจากนี้คือการสร้างความเข้าใจที่ดีระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ ที่สำคัญคือกองทุนต้องอยู่ได้ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด


นพ.สุพรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากเหนือจากความชัดเจนของนโยบายแล้ว การกำกับคุณภาพและมาตรฐานบริการนั้นจำเป็นต้องมีกลไกการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง โดยปัจจุบันประเทศไทยมีกลไกที่เรียกว่ากรรมการ 7x7 และกรรมการ 5x5 ที่ทำงานสอดประสานกันทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ ขณะเดียวกันก็มีการนำระบบมาตรฐานจากสภาวิชาชีพ และกองทุนต่างๆ มาใช้ควบคู่กันไปด้วย

ในส่วนของข้อมูลข้อเท็จจริง เป็นสิ่งสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาความไม่มั่นใจที่นำไปสู่ข้อถกเถียงต่างๆ ดังนั้นข้อมูลที่นำมาใช้ต้องเชื่อถือได้ เช่น มาจากสายด่วน สปสช. 1330 มาจากหน่วยรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) หรือมาจากศูนย์ประสานงานภาคประชาชนในเขตต่างๆ โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลกัน แล้ววิเคราะห์ต่อไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น มีจุดอ่อนที่ส่วนกลาง ที่ระดับเขต หรือที่หน่วยบริการ

“เมื่อวิเคราะห์ได้แล้วเราก็จะมีการป้อนข้อมูลกลับไปยังคณะกรรมการทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ สะท้อนข้อมูลไปทั้งหน่วยบริหารและหน่วยบริการเพื่อพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ดีขึ้น แต่เป็นแค่การสะท้อนข้อมูลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในลักษณะทำข้อเสนอเพื่อแก้ไข ไม่ใช่การสั่งการ เพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของ สปสช.ที่จะไปสั่งการใคร ทั้งหมดคือสิ่งที่เราดำเนินการอยู่ในขณะนี้” นพ.สุพรรณ กล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวถึงแนวทางในการกำกับการงานในพื้นที่ว่า ในคณะกรรมการควบคุมฯ ส่วนกลาง ได้กำหนดค่านิยมที่จะสร้างให้เกิดขึ้นร่วมกันคือ “SAAPDE” หรือแนวทางการกำกับคุณภาพมาตรฐานในระดับพื้นที่ ได้แก่ S: Share vision วิสัยทัศน์ร่วมกัน, A: Agility ความรวดเร็ว, A: Accountability, P: Participation การมีส่วนร่วม, D: Diversity ความหลากหลาย และ E: Equilibrium ดุลยภาพ ซึ่งทั้งหมดคือภาระรับผิดชอบและพร้อมรับผิดทั้งเรื่องของการกำหนดแนวทางการทำงานต่างๆ ให้มีความรวดเร็ว การรับผิดและรับชอบร่วมกัน การมีส่วนร่วมระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การสนับสนุนงานของ สปสช. รวมไปถึงการรับฟังความคิดที่แตกต่างซึ่งกันและกัน

“เราจะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งต้องชนะ ฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคงอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ได้ ดังนั้นแนวทางการทำงานเรื่อง “แซ่บดี” นั้น เราอยากจะให้เกิดขึ้นทั้งส่วนกลางและส่วนพื้นที่” นพ.สุพรรณ กล่าว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.