ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ (แฟ้มภาพ)

Posted: 13 Jan 2019 03:42 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2019-01-13 18:42


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต คัดค้านการเปลี่ยน 'เอกสารสิทธิที่ดิน สปก.' เป็น 'โฉนดทองคำ' สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ชี้นโยบายนี้ยิ่งจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินรุนแรงยิ่งขึ้น ผิดหลักการของการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระยะยาว

13 ม.ค. 2562 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นคัดค้านการเปลี่ยน 'เอกสารสิทธิที่ดิน สปก.' เป็น 'โฉนดทองคำ' หรือสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ว่านโยบายดังกล่าวจะเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดินรุนแรงยิ่งขึ้น ผิดหลักการของการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร และสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระยะยาวทั้งมิติความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ มิติทางด้านเสถียรภาพและความสมดุล ที่ดินเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จะปล่อยให้ทุนนิยมเสรีหรือกลไกตลาดจัดสรรทรัพยากรอย่างเสรีโดยไม่บริหารจัดการหรือกำกับดูแลเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยรวมไม่ได้

แม้นการให้ สปก. ซึ่งเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรสามารถโอนกรรมสิทธิ์หรือซื้อขายได้อาจทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงและราคาอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ถึง 10-15 เท่าโดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ประชาชนและประเทศโดยรวมจะไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากจะก่อให้เกิดการเก็งกำไรที่ดิน สปก ในบางพื้นที่อย่างหนัก เกษตรกรจะสูญเสียสิทธิในการถือครองที่ดินและความสามารถในเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน การเปลี่ยน 'สปก. ที่ดินเพื่อการเกษตร' เป็นพื้นที่ในการสร้างโรงงาน สร้างโรงแรมรีสอร์ต สร้างบ้านจัดสรร สร้างตึกแถว สร้างศูนย์การค้า หรือเอาไปพัฒนาหากำไรอื่นๆเหมือนโฉนด อาจทำให้ผู้มีอำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบจากที่ดิน สปก. 35 ล้านไร่ จากนโยบายโฉนดทองคำได้ และจะทำให้อำนาจทุนขนาดใหญ่บวกอำนาจรัฐเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดจะสร้างความไม่เป็นธรรมอย่างใหญ่หลวง ที่ดินจำนวนหนึ่งอาจถูกปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าเพราะรัฐครอบครองโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือนายทุนถือครองเพื่อเก็งกำไร ในที่สุด ที่ดิน สปก. 35 ล้านไร่จะตกอยู่ในมือของกลุ่มทุน ขณะที่เกษตรกรจะไร้ที่ทำกินหรือต้องเช่าที่ดินอันเป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ต่างๆ หากต้องการเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนที่ดิน สปก. เป็น ที่ดินที่ใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือการเกษตรกรรมและต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ต้องมีคณะกรรมการกำกับดูแลและพิจารณาเป็นรายกรณีไม่ใช่เปิดกว้างโดยทั่วไปตามแบบนโยบายโฉนดทองคำ ปัญหา 'การตะครุบที่ดิน' (land grabbing) จะเพิ่มขึ้นจากกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในประเทศและต่างชาติโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลาย ระบบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนและแปลงที่ดิน สปก. ให้ซื้อขายได้เพื่อกิจการอื่นๆจะทำให้ปัญหาการตะครุบที่ดินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต การเพิ่มมูลค่าที่ดิน สปก. ควรทำให้ เอกสารสิทธิ สปก. สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันกับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปได้นอกเหนือจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรว่า ข้อแรก ต้องรักษาหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รวมทั้ง สนับสนุนการทำงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 81 ของกฎหมาย สปก. ความว่า "ให้รัฐพึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ และสิทธิในที่ดิน เพื่อประกอบเกษตรกรรมอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดิน และวิธีการอื่นๆ" ทั้งนี้ สปก. เป็นดอกผลของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 และแลกมาด้วยการต่อสู้เรียกร้องขององค์กรภาคประชาชนและขบวนการนิสิตนักศึกษา รวมทั้ง แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อของผู้นำชาวนา ผู้นำสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยถูกลอบสังหารหลายคนในช่วงปี 2518 ในระหว่างการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและกฎหมาย สปก.

ข้อสอง เสนอให้มีการจัดตั้ง “ธนาคารที่ดิน” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่กำลังจะสูญเสียที่ดินทำกิน หรืออยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องที่จะยึดทรัพย์ หรือ จัดสรรเงินทุนซื้อที่ดินมาแจกจ่ายให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินทำกิน ข้อสาม กำหนดการคุ้มครองที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดความสมดุล ข้อสี่ ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเพดานการถือครองที่ดินที่เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อการทำเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ขนาดใหญ่หรือเกษตรพันธะสัญญา ข้อห้า การปฏิรูประบบข้อมูลที่ดินทั้งหมดรวมทั้งที่ดินเพื่อการเกษตร

ทั้งนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับแรงงานรับจ้างทั่วไปและเกษตรกรรายย่อยปราศจากที่ดินทำกิน มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยและหนี้สินต่อครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้นอีกด้วยในภาวะทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เกษตรกรจำนวนไม่น้อยสูญเสียที่ดินหลักประกันเนื่องจากไม่สามารถชำระหนี้ได้

ดร.อนุสรณ์ ยังระบุว่าสภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากในการถือครองที่ดินได้ทำลายศักยภาพของภาคเกษตรกรรมของไทย คนไทยส่วนใหญ่ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดิน ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง การแทรกแซงโดยรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินภายใต้เจตจำนงสาธารณะเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและเสถียรภาพของสังคมไทย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.