Posted: 18 Jan 2019 07:00 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-18 22:00
จำนง สรพิพัฒน์
ปีนี้เป็นปีแรกที่ชาว กทม. เจอแจ๊คพ็อต เจอฝุ่นพิษ PM 2.5 ปกคลุมไปทั่ว มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของชาวกรุงไปทั้งเมือง
PM 2.5 คืออะไร? PM หรือ Particulate Matter คืออนุภาคเขม่าขนาดเล็กมาก มีขนาดเพียง 2.5 ไมครอน เล็กขนาดที่ว่าสามารถผ่านเข้าสู่ปอดชั้นในและสู่ระบบเลือดไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ในที่สุด
ถามว่า PM 2.5 มาจากไหน? เกือบทั้งหมดมาจากกิจกรรมเผาไหม้ของมนุษย์ ในประเทศไทยเกินกว่าร้อยละ60 มาจากไอเสียของรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนอีกร้อยละ 40 มาจากไอเสียโรงงานอุตสาหกรรมและกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ความจริงมลพิษจากไอเสียรถยนต์ไม่ได้มีเพียง PM 2.5 ยังมีมลพิษอีกหลายอย่าง กล่าวคือ นอกจากไอเสียที่เป็นเขม่าขนาดเล็กมากหรือ PM ของเครื่องยนต์ดีเซลแล้ว ยังมีกำมะถันออกไซด์ (SOx) และไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ซึ่งเมื่อจับกับไอน้ำในอากาศจะเปลี่ยนสภาพเป็นกรด ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรงเมื่อสูดดมเข้าไป ในกรณีที่ในวันนั้นๆ มีระดับมลพิษสูงและเกิดหมอกร่วมด้วย ทำให้ SOx และ NOx จับกับหยดน้ำขนาดเล็กในอากาศ เกิดเป็นหยดน้ำกรดเรียกว่า SMOG
ส่วนไอเสียของเครื่องยนต์เบนซินที่เป็นปัญหา ได้แก่ สารระเหยง่าย VOC (Valentine Organic Compound) ที่เหลือตกค้างจากการเผาไหม้ Aldehyde สำหรับประเทศไทยแล้ว น้ำมันเบนซินที่มีส่วนผสมของเอทานอล ยังมีก๊าซโอโซนที่เป็นพิษอีกด้วย
ทำไมปัญหามลพิษทางอากาศจึงเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหน้าหนาวในบางวันเท่านั้น ที่เป็นดังนี้เพราะในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นจากประเทศจีนมีผลทำให้อากาศบนผิวพื้นดินของประเทศไทยตอนบนเย็นลง มีอุณหภูมิต่ำลง ขณะที่อากาศที่อยู่บนระดับสูงเกินกว่า 500 เมตรขึ้นไปกลับมีอุณหภูมิสูงกว่าอากาศบนพื้นดิน ทำให้มวลอากาศที่อยู่บนผิวดินไม่สามารถลอยขึ้นสูงได้ ส่งผลให้อากาศจากชั้นบนที่สะอาดกว่าไม่สามารถไหลเวียนเข้ามาแทนที่ได้ (เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าอากาศปิดหรือ Inversion Lapse Rate) การเจือจางมลพิษที่เกิดขึ้นบนพื้นดินจึงเกิดขึ้นน้อยกว่าปกติ เกิดเป็นกับดักทำให้เกิดการสะสมสารมลพิษเข้มข้นในระดับสูง จนเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์
จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? เนื่องจากสาเหตุหลักของมลพิษเหล่านี้เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ และปัญหาของตัวเชื้อเพลิงเองในเครื่องยนต์จากการจราจรขนส่ง ดังนั้น มาตรการแก้ปัญหาจึงต้องมุ่งที่การลดไอเสียจากรถยนต์บนท้องถนนเป็นสำคัญ ซึ่งมีหลายมาตรการทั้งที่เป็นวิธีการเฉพาะหน้าระยะสั้นและระยะยาว
มาตรการระยะสั้นและกลางหลักๆ ได้แก่
ก. การเข้มงวดในเรื่องของตรวจมาตรฐานเครื่องยนต์และควันดำ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล
ข. การลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนให้น้อยลง เช่น ในวันที่อากาศปิด กำหนดให้รถที่มีป้ายทะเบียนเลขคี่เลขคู่วิ่งได้เฉพาะวันที่เป็นวันคี่วันคู่ (มาตรการนี้ทำได้ยาก แต่อาจจำเป็นในกรณีวิกฤต เพราะได้ผลเร็ว)
ค. การเร่งรัดยกมาตรฐานของเชื้อเพลิงสะอาดให้สูงขึ้นกว่าเดิม เช่น กำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลมาตรฐานให้มีอัตราสูงขึ้น เช่น กำหนดให้เป็น B20 จากเดิมที่เป็น B7 โดยวิธีนี้จะช่วยให้ชาวสวนปาล์มมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ประชาชนได้รับสวัสดิภาพที่ดีขึ้น
ง. ส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น แทนการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้เร็วขึ้น
ส่วนมาตรการระยะยาวและถือว่ามีประสิทธิภาพที่สุดและดีที่สุด และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกคือ การใช้นโยบายการจราจรที่ยั่งยืน(Sustainable Transport) นโยบายนี้จะเน้นให้ผู้เดินทางหันมาใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Non-Motorized Mode) เช่น การขี่จักรยานและเดินเท้า ในกรณีที่เดินทางเป็นระยะทางสั้นๆ
เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร. จำนง สรพิพัฒน์ กรรมการสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติและสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย(ATRANS) อดีตประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แสดงความคิดเห็น