Posted: 01 Jun 2017 03:40 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ภัทรพร ภู่ทอง นักวิจัยโครงการบันทึก 6 ตุลา นำเสนอหัวข้อ ‘ไปไม่ถึงเดือนตุลา’ กล่าวถึงข้อมูลและเรื่องราวของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ยังไม่ได้ถูกเล่า และการทำงานผ่าน ‘โครงการบันทึก 6 ตุลา’ ที่เป็นหนึ่งในการต่อสู้กับความพยายามอีกด้านที่ต้องการให้ผู้คนลืมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนา เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า? เสวนาวิชาการเนื่องในวันพิพิธภัณฑ์สากล จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย และ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา ชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ธนาวิ โชติประดิษฐ์: 2475 ประวัติศาสตร์บาดใจ | เรื่องที่พิพิธภัณฑ์(อาจ)ไม่ได้เล่า #1

ภัทรพร เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง “โครงการบันทึก 6 ตุลา” ว่าเริ่มทำงานตั้งแต่เมื่อปี 2559 ในวาระครบรอบ ‘40 ปี 6 ตุลาคม 2519’ สาเหตุที่ทำให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการ ความรู้ ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ในสังคมยังมีข้อจำกัดหลายประการ และที่สำคัญที่สุดคือ เหตุการณ์นี้ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์ โครงการบันทึก 6 ตุลา ได้ทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ ทำให้เอื้อต่อการค้นคว้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งก็ยังมีความพยายามที่จะค้นหาข้อมูลและเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์มารวบรวมไว้ในหอจดหมายเหตุออนไลน์ เธอกล่าวด้วยว่า การทำโครงการบันทึก 6 ตุลา ขึ้นมาเป็นการต่อสู้กับความพยายามอีกด้านที่ต้องการให้ทุกคนลืมเหตุการณ์ 6 ตุลา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2559 แต่การทำงานเพื่อค้นคว้า และรวบรวบข้อมูลนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่วาระครบรอบ 20 ปี 6 ตุลา แล้ว โดยในเวลานั้นมีการตั้งคณะกรรมการสืบค้นความจริงขึ้นมาหนึ่งชุด และได้เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์พยานผู้เห็นเหตุการณ์ 62 ราย โดยเป็นความพยายามที่จะต่อสู้กับแนวคิดที่ว่านักศึกษาประชาชนเป็นฝ่ายที่กระทำความผิด โดยความพยายามดังกล่าวสุดท้ายได้ข้อมูลต่างๆ ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ 2 เล่มคือ ‘อาชญากรรมรัฐ’ ตีพิมพ์ใน และ ‘กรีดแผล กลัดหนอง กรองความจริง 6 ตุลา’

ส่วนกิจกรรมหลักภายในปีนี้ เธอระบุว่า จะมีการรวบข้อเอกสาร ภาพ หรือฟุตเทจต่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา โดยพยายามที่จะทำการลงทะเบียนให้ข้อมูลต่างๆ กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ง่ายสำหรับผู้ที่มีความสนใจ โดยในเดือนกรกฎาคม จะมีการเปิดตัวเว็บไซต์ต่อไป

สำหรับคำถามที่ว่า เพราะอะไร 6 ตุลา จึงไม่เคยถูกพูดถึงในพิพิธภัณฑ์นั้น เธอเห็นว่า คำตอบก็น่าจะเป็นเรื่องที่ชัดเจนอยู่เหตุการณ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดบ้างอย่างที่ทำให้ไม่สามารถพูดได้เท่าที่ควร และนอกจากจะไม่มีการพูดถึงในพิพิธภัณฑ์แล้ว การรับรู้ของสังคมที่มีต่อเรื่องดังกล่าวก็ยังอยู่มีอยู่น้อยเช่นกัน ด้วยเหตุที่ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

“แต่คำถามคือ ในการพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์และผู้คนหายไปไหน เรารู้อะไรเกี่ยวกับผู้คนที่เกี่ยวข้อง ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับ 6 ตุลาบ้าง เราคิดว่าแม้แต่ตัวเราเองที่ทำงานวิจัยข้อมูล เราคิดว่าเหมือนกับเรามีส่วนที่ทำให้เหตุการณ์ หรือผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องหายจากความทรงจำ และหายไปจากการรับรู้ไม่น้อยเลยทีเดียว”ภัทรพร กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า ข้อมูลที่ได้จากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยได้มีการหยิกยกออกมาพูถึงเท่าไหร่นัก รวมทั้งผู้คนอยู่ในเหตุการณ์แต่ยังไม่เคยได้บอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่สาธารณะ สำหรับเรื่องราวของเหตุการณ์ส่วนใหญ่จะมีการรับรู้กันเป็นอย่างดีในหมู่ผู้ที่สนใจว่า เกิดอะไรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บริเวณสนามหลวงยังเป็นเรื่องราวที่ถูกรับรู้อยู่น้อย เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เธอกล่าวต่อไปว่า ระหว่างทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูล ได้มีผู้ส่งรูปเหตุการณ์ต่างๆ มาให้โดยทีมทำงานพยายามที่จะลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาใดบ้าง โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจากการยิงปืนเข้าไปในธรรมศาสตร์ในช่วงเช้ามืด และทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน แต่จากการทำข้อมูลทำให้ทราบว่ามีการเข้าไปทำร้ายนักศึกษาในหลายจุดซึ่งเป็นข้อมูลที่มากไปกว่าที่เคยรับรู้กันมากก่อน และจากการลำดับเหตุการณ์จากภาพถ่าย และตัวผู้ถ่ายภาพเอง ทำให้รู้อีกอย่างหนึ่งว่าหลังจากที่มีการเข้าควบคุมพื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แล้ว โดยมีการจับกุมนักศึกษาจำนวนมาก แต่เหตุการณ์แขวนคอที่สนามหลวงยังไม่จบ รวมทั้งพบว่ามีการนำศพที่ถูกนำขึ้นรถของมูลนิธิร่วมกตัญญู กลับลงมาเผา โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่ห้ามปรามได้ อีกทั้งเมื่อมีการกลับไปขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิในภายหลังระหว่างที่มีความพยายามรวบรวมข้อมูลของผู้เสียชีวิตในวันนั้น กลับพบว่าหลังจากที่มีการย้ายที่ตั้งของมูลนิธิ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องก็หายไปด้วย

“เราพบว่ามันเป็นความล่มเหลวของหอจดหมายเหตุ หรือพิพิธภัณฑ์หลายที่ ซึ่งไม่ได้พยายามที่จะทำงานเชิงรุกกับคนในสังคม หรือคนที่อยู่ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เขาเห็นว่า หากเขามีข้อมูลบางอย่าง หรือมีเอกสารบางอย่าง เขาจะสามารถนำไปมอบให้กับที่ไหน แต่เมื่อไม่รู้ข้อมูลที่เขามีอยู่ เอกสาร ภาพถ่ายที่เขามีอยู่ก็หายไป หรือไม่ก็ทิ้งไปเหมือนเพียงขยะ”ภัทรพร กล่าว

เธอเล่าต่อไปถึง การได้ไปพบกับหมอที่ทำงานชันสูตรศพ ซึ่งเป็นหมอที่โรงพยาบาลศิริราช โดยในเวลานั้นได้มีการขอให้เจ้าหน้าที่นิติเวชทำสำเนาภาพถ่ายของผู้เสียชีวิต เพื่อเก็บไว้ ซึ่งเธอเห็นว่าเอกสารชุดดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ต่อไปสำหรับการทำข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ หรือดำเนินการต่อไปในกระบวนการยุติธรรม

“แต่เราได้ถามคุณหมอว่า ทำไมจึงเก็บเอกสารชุดนี้ไว้ถึง 40 ปี ทำไมไม่เอาไปให้หนังสือหรือวารสาร หรือเอาไปให้กับนักวิชาการที่กำลังทำเรื่องนี้อยู่ คุณหมอก็ตอบสั้นๆ ว่า ก็ไม่มีใครมาถามนี่ อันนี้มันก็สะท้อนกลับไปถึงกรณีของเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเหมือนกันว่า เราควรจะคิดถึงเรื่องการเก็บข้อมูล การหาข้อมูลเอกสารมากขึ้นด้วยหรือเปล่า”ภัทรพร กล่าว

เธอกล่าวต่อไปว่า ระหว่างเก็บข้อมูลก็ได้มีการติดต่อกับหลายครอบครัว และได้พบกับทั้งคำขอบคุณ และการตำหนิจากครอบครัว ซึ่งมีคนหลายคนถามว่าเวลาที่เราโทรไปคุยกับครอบครัวทำไมจึงไม่มีการอัดเทปเอาไว้ เพราะเสียงของครอบครัวก็เป็นเสียงของประวัติศาสตร์ ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไร คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นกรณีหนึ่งมีการโทรไปหาครอบครัว และได้รับการตอบกลับมาว่า ไม่ต้องโทรมาแล้วนะ อย่ามาเซ้าซี้ เรื่องมันจบไปแล้ว คุณไม่รู้หรอกว่าเราเจออะไรมาบ้าง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.