Posted: 23 Jun 2017 11:14 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

เปิดตำรา Garrison State แล้วหันมาดูการปกครองของไทยว่าเป็นรัฐทหารกี่ดีกรี สัมภาษณ์ภัควดีชี้นัย คสช. เข้าตำรารัฐทหารตั้งแต่พฤติกรรมยันการตั้งชื่อ เปิดทางลงรัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินา อินโดนีเซีย เรียกน้ำย่อย คสช. รูดม่านลาโรงการเมือง


ครบรอบวาระดิถี 85 ปีเปลี่ยนแปลงระบอบสู่ประชาธิปไตย ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งวนเวียนอยู่ในวงจรการเมืองไทยไม่สร่างซา จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนถึงกฎหมายการเลือกตั้ง ทำให้ชาวไทยเห็นว่า ไม่ช้าก็เร็ว รัฐบาล คสช. จะลาโรง และประเทศไทยจะกลับเข้าสู่เส้นทางของการเลือกตั้งอีกครั้ง

แต่ข้อสงสัยมีอยู่ว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชาวไทยอยู่ภายใต้การปกครองแบบไหนกันแน่ เราอยู่ภายใต้รัฐทหารหรือเปล่า เรามีละครที่ยกย่องตำรวจ ทหารเรื่องใหม่ออกมาฉายอีกแล้ว มีทหารไปฝึกอบรมนักเรียน ข้าราชการราวระเบียบวินัยกับทหารคือสิ่งเดียวกัน การใช้กลไกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนแบบไม่สนหลักนิติรัฐยิ่งทำให้สงสัยว่า ท่ามกลางแสงสีนีออน ทุ่งนาป่าเขาเขียว ไพร่ฟ้าหน้าใสแดนไทยอยู่ในรัฐทหารหรือไม่

ประชาไทชวนทำความเข้าใจเรื่องรัฐทหาร ความหมายของรัฐทหาร ดีกรีรัฐทหารที่ประเทศไทยเป็น และฉายภาพประวัติศาสตร์การลงจากอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ และวิธีปฏิรูปกองทัพที่คนอื่นเขาทำกันจากประเทศอาร์เจนตินาและอินโดนีเซีย เพื่อเรียกน้ำย่อยรอคอยการลงจากอำนาจของ คสช. (หากมี)
รัฐทหาร คืออะไร ไทยอยู่ตรงไหนในสมการ

งาน Garrison State ของ Harold Laswell ที่เขียนเมื่อปี 2484 เชื่อว่า โลกในอนาคตจะมีลักษณะการปกครองโดยทหาร หรือที่เรียกว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรง” ทหารที่เป็นชนชั้นปกครองจะพัฒนาทักษะด้านการจัดการในรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์เพื่อแสวงหาผลลัพธ์ในด้านการประชาสัมพันธ์

รัฐบาลทหารดำเนินการปกครองผ่านความรุนแรงและสร้างความกลัวจากภัยทั้งในและนอกประเทศ หรือที่ Laswell เรียกว่า “การปลูกฝังสภาวะภัยอันตรายในสังคม (Socialization of danger)” ทำให้ประชาชนต้องระมัดระวัง ไม่แสดงอาการต่อต้าน หรือละเมิดกฎหมายที่รัฐบาลทหารบัญญัติ

ในงานเขียนยังกล่าวถึงการใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือด้วยการกระจายอำนาจให้พรรคพวกตนเอง ให้ช่วยควบคุมสังคม รวมถึงใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นสัญลักษณ์ ให้ตนเองนำเสนอสิ่งใดๆ โดยอ้างว่าเป็นกระบอกเสียงของประชาชนทุกคน

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงนิยามของรัฐทหาร โดยภัควดีให้นิยามคำว่า “รัฐทหาร” เป็น 2 แบบ แบบที่หนึ่ง คือรัฐที่ทหารเข้ามายึดอำนาจและปกครองแทนพลเรือน และแบบที่สองคือรัฐนิยมลัทธิทหาร รัฐบาลจะเป็นทหารหรือพลเรือนก็ได้ การปกครองจะเป็นแบบมีการเลือกตั้งหรือเผด็จการก็ได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Militarism โดยภัควดีระบุว่า ไทยแลนด์อยู่ในจำพวกแรกโดยดูจากพฤติการณ์ตั้งแต่ยึดอำนาจ การกระจายพวกของตนเข้าปกครองในสถาบันต่างๆ แม้แต่การตั้งชื่อคณะรัฐประหาร ซึ่งพฤติการณ์ทั้งหลายไม่ได้ต่างไปจากรัฐบาลทหารที่เดินบนเส้นทางเดียวกันในหลายประเทศทั่วโลก

“ข้ออ้างที่กองทัพเข้ามายึดอำนาจนั้นแทบจะเหมือนกันทั่วโลก นั่นคือ ข้ออ้างว่านักการเมืองโกงกินกับข้ออ้างด้านความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของชาติ การปกครองของรัฐทหารก็คือการใช้กฎอัยการศึก ในประเทศไทยนั้น ถึงแม้ยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ แต่การมีอยู่ของ ม.44 มันก็คือกฎอัยการศึกในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง”

“รัฐทหารมักจะปกครองกันเป็นคณะ คำว่า Junta ในภาษาสเปนซึ่งกลายเป็นคำเรียกรัฐบาลทหารที่ใช้กันทั่วโลกนั้น ตามตัวอักษรแปลว่า “การประชุม” มีความหมายรวมไปถึง “คณะกรรมการ” “สภา” อะไรประมาณนี้ คณะทหารมักจะตั้งชื่อตัวเองสวยหรู เช่น “คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูประชาธิปไตยและรัฐ” ของประเทศมาลี “สภากอบกู้ประเทศ” ของกานา หรือ “National Reorganization Process” ในอาร์เจนตินา ซึ่งพอจะแปลได้ว่า “กระบวนการปฏิรูปแห่งชาติ” เป็นต้น ถ้าเราย้อนดูการรัฐประหารในประเทศไทยที่ผ่านมา คณะทหารที่ทำการยึดอำนาจก็จะตั้งชื่อประมาณนี้ทั้งนั้น ถ้ามองในแง่ของแรงจูงใจ วิธีปฏิบัติ ไปจนถึงการตั้งชื่อ รัฐบาลทหารไทยก็ไม่ต่างจากรัฐบาลทหารประเทศอื่นๆ” นักวิชาการอิสระกล่าว

ดีกรีรัฐทหารไทย กระจายอิทธิพลทั่วประเทศ ใช้ทั้งไม้แข็งไม้อ่อน ตั้งแต่ปืนยันละคร นักวิชาการชี้ อยู่ยาวเพราะอยากรื้อถอน + สานต่อระบอบทักษิณ

หากมองผ่านงานเขียนของ Laswell แล้วจะพบว่า 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล คสช. ได้สะท้อนภาพที่เข้าคุณค่าของการเป็นรัฐทหารเรื่อยมาตั้งแต่ยึดอำนาจใหม่ๆ ไม่ว่าจะในแง่ของการควบคุมพลเรือนผ่านอำนาจกฎหมาย การสอดใส่วัฒนธรรมทหารนิยมลงไปในสังคม รวมถึงการสถาปนาอิทธิพลทหารผ่านโครงสร้างการกระจายกำลังพลที่มีอยู่เดิมคู่ขนานไปพร้อมกับโครงสร้างการปกครองภาคพลเรือน

ในแง่การควบคุม เฝ้าดูพลเรือน มีการเรียกตัวบุคคลจำนวนมากเข้าค่ายเพื่อปรับทัศนคติ หรือถูกทหารไป “เยี่ยม” ที่บ้าน เมื่อเดือน ก.พ. 2559 เว็บไซต์ iLaw ได้จัดทำสถิติคนที่ถูกทหารเรียกเข้าค่ายทหารและไปเยี่ยมที่บ้านมีจำนวนอย่างน้อย 902 คน และสถิติมีแต่จะเพิ่มขึ้นหลังมีเหตุทหารเยี่ยมบ้าน เชิญนักกิจกรรม นักการเมืองเข้าค่ายทหารอีกในปี 2560 โดยผู้ที่ถูกเรียกตัวไปมักมีการให้เซ็นเอกสารเงื่อนไขการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขให้ระบุที่อยู่อาศัย ไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดในข้อ 1 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

(ดูเอกสาร)

สัดส่วนทหาร ข้าราชการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. และในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ นับเมื่อ 9 ก.พ. 2560 สนช.มีจำนวนสมาชิกครบ 250 คน เป็นทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%) ตำรวจ 12 คน (5%) ข้าราชการ 66 คน (26%) ภาคธุรกิจ 19 คน (8%) และอื่น ๆ 8 คน (3%) หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) ของสมาชิกทั้งหมด อัตราการโหวตเห็นชอบกฎหมายทุกฉบับของสนช. เกิน 90% ประกอบด้วยคนวัยเกษียณถึง 75% (มีอายุเฉลี่ย 64 ปี) และมีเพศชายคุมสภาสูงถึง 95% (ข้อมูลจาก iLaw อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) ด้านสัดส่วนทหารในคณะรัฐมนตรี กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า ครม. ชุดแรกของรัฐบาล คสช. มีการแต่งตั้งนายทหารให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงถึง 9 กระทรวง จากทั้งหมด 20 กระทรวง

อีกบทบาทของทหารที่สร้างข้อกังขาให้กับสังคมคือการได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้ซื้อยกตัวอย่างเช่น กรณีการอนุมัติซื้อเรือดำจากจีนในวงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนจัดซื้อ 3 ลำราคารวม 36,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติโดยลับ และได้ประกาศต่อเมื่อ ครม. อนุมัติไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการจัดซื้อรถถัง VT-4 และ วงเงินกว่า 2,000 ล้านบาท และจัดซื้อรถหุ้มเกราะ VN1 จำนวน 34 คันในวงเงิน 2,300 ล้านบาท สำนักข่าว บีบีซี ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 มา มีมติ ครม. ให้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จาก 3 เหล่าทัพ มีจำนวนกว่า 30,000 ล้านบาท

การซื้อขายจำนวนมากเกิดขึ้นภายใต้บริบทการเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงกลาโหมในทุกปีงบประมาณอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 15 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 จาก 2.525 ล้านล้านบาท เป็น 2.9 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2561 ความมั่งคั่งของกองทัพไทยภายใต้รัฐบาลทหาร เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับความพยายามในการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น การอนุมัติกฎหมายเพิ่มอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 8 บนเหตุผลว่ารัฐบาลมีรายจ่ายมากขึ้น และไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในขณะที่ภัควดีมองว่า นัยของการอยู่ยาวและกระจายอิทธิพลทหารเข้าสู่ทุกองคาพยพ สะท้อนความต้องการรื้อทำลายระบอบ และสานต่อระบอบทักษิณควบคู่กันไป โดยมุ่งทำลายความนิยมในตัวทักษิณและการสานต่อนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากร ปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่ง การที่รัฐบาลทหารอยู่นานนั้นเป็นเพราะว่าการรื้อถอนระบอบทักษิณจำเป็นต้องใช้เวลา พร้อมทั้งยังมีความจำเป็นต้องกดปราบแรงต้านจากประชาชนผ่านเครื่องมือกฎหมายเพื่อลดข้อครหา ท้ายที่สุดคือการแฝงฝังบทบาทของทหารลงไปในวัฒนธรรมและอณูต่างๆ ในสังคม

“ระบอบทักษิณนั้นมีหลายแง่มุม ระบอบทักษิณในฐานะนักการเมืองต้องคำนึงถึงประชาชนที่เป็นฐานเสียง ดังนั้นจึงเกิดนโยบายต่าง ๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทหารต้องการรื้อถอน ส่วนหนึ่งจากความต้องการทำลายความนิยมในตัวทักษิณ กับอีกส่วนหนึ่งเพราะกองทัพต้องการงบประมาณจำนวนมากมาขยายและสร้างความมั่นคงมั่งคั่งให้ตัวเอง รวมทั้งทัศนคติของทหารที่มองประชาชนเป็นเสมือนชาวอาณานิคมที่ต้องปกครอง ประชาชนเป็นแค่แหล่งเก็บภาษีและขูดรีดทรัพยากร ดังนั้น กองทัพจึงไม่จำเป็นต้องแยแสประชาชนแต่อย่างใด”


“ระบอบทักษิณยังมีอีกด้านคือด้านของการเป็นรัฐบาลนายทุนที่มาพร้อมกับนโยบายเสรีนิยมใหม่ ส่วนนี้คือส่วนที่กองทัพต้องการสานต่อ สิ่งใดที่ทักษิณทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับเปลี่ยนพื้นที่ในเมืองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ที่ดิน รัฐบาลทหารเข้ามาเพื่อสานต่อนโยบายเหล่านี้ไม่ให้ “เสียของ” เราจึงเห็นการจัดระเบียบทางเท้า การสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ฯลฯ นโยบายเสรีนิยมใหม่เหล่านี้ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ เพียงแต่เปลี่ยนหน้ากลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์ ถ้าระบอบทักษิณเป็นทุนนิยมเลือกตั้ง ระบอบทหารก็เป็นทุนนิยมถือปืน”

ภัควดี เห็นว่า การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกิดขึ้นนั้น มีประชาชนจำนวนมากมองว่าผู้ถูกละเมิดทำผิดกฎหมายเสียเอง โดยไม่ได้มองว่ากระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวอย่างไร ในส่วนของการสร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน กองทัพมีเครื่องมือทรมานอย่างถูกกฎหมายคือเรือนจำ ในขณะที่ประเทศเผด็จการอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น อาร์เจนตินา มีการตั้งค่ายกักกันลับขึ้นมาทรมานนักโทษการเมือง ซึ่งกลายเป็นหลักฐานย้อนไปเอาผิดรัฐบาลทหารในภายหลัง แต่รัฐบาลไทยสามารถใช้เรือนจำที่มีอยู่แล้วเป็นสถานทรมานอย่างถูกกฎหมายเพื่อทรมานนักโทษการเมือง รวมถึงนักโทษทั่วไป ทีละน้อย ช้าๆ นานๆ แม้แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศก็แทรกแซงการละเมิดนี้ได้ยาก ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีคำกล่าวในสื่อต่างประเทศว่ามีความ “strong as silk” เผด็จการไทยก็มีลักษณะแบบนี้ ฆ่าคนก็ฆ่าไม่มากจนเกินไป ทรมานคนก็ไม่รีบร้อนและไม่รุนแรงเกินไป มันเหมือนผ้าไหม เวลาเอามาห้อยคอก็ดูสวยงามลื่นละมุนดี แต่มันก็รัดคอคนจนตายได้เหมือนกัน

เธอยกตัวอย่างต่อไปว่า การที่รัฐบาลทหารมีวาระที่ต้องอยู่นานเช่นนี้ ทำให้มีความพยายามที่จะยัดเยียดและเผยแพร่วัฒนธรรมแบบลัทธินิยมทหารลงไปในทุกภาคส่วนของสังคมไทย ไม่ว่าการเข้าไปฝึกนักเรียนในโรงเรียนสาธิตฯ การอบรมข้าราชการใหม่ การออกทีวีทุกวันศุกร์ การช่วงชิงพื้นที่สื่อ แม้กระทั่งการเข้าไปก้าวก่ายสังคมส่วนวัฒนธรรมบันเทิงต่าง ๆ ทหารต้องการให้ตัวเองเข้าไปปรากฏกายและกำกับในทุกอณูของสังคมไทย


ภาพเจ้าหน้าที่ทหารฝึกอบรมเด็กนักเรียนประถมศึกษาโรงเรียนสาธิต มศว. ประสานมิตร (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ระดม 8 พระนาง เปิด 'ซีรีส์ภารกิจรัก' 4 เรื่อง 4 เหล่าทัพ ก.ค. นี้ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความรัก มิตรภาพ และ การเสียสละเพื่อประเทศชาติ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ความเป็นรัฐทหารยังสามารถพิจารณาได้ผ่านการกระจายกำลังทหารของกองกำลังหลักของชาติ ได้แก่ ทหารบกเพื่อวัตถุประสงค์การพิทักษ์ความมั่นคง อีกแง่หนึ่งอาจหมายถึงการขยายกำปั้นเหล็กเพื่อสถาปนาพื้นที่อิทธิพลอยู่ในที จากบทความ “ผ่ารัฐทหารบกใต้ร่มอำนาจจันทร์โอชา” ในบล็อกกาซีนของ ดุลยภาค ปรีชารัชช มีใจความเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

(อ่านบทความตัวเต็ม)

กองทัพบกทำการแบ่งเขตป้องกันบริหารออกเป็นสี่ระบบกองทัพภาค ได้แก่ กองทัพภาคที่หนึ่ง รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง กองทัพภาคที่สอง รับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสาน กองทัพภาคที่สาม รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ และ กองทัพภาคที่สี่ รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้

โดยในแต่ละกองทัพ จะมีแม่ทัพภาคเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด พร้อมถ่ายระดับการบริหารลงสู่มณฑลทหารบกและจังหวัดทหารบก ซึ่งถือเป็นการกำหนดวงดินแดนทางทหารที่ซ้อนทับและไล่ตีคู่ขนานไปกับเขตปกครองมหาดไทย โดย หน่วยดินแดนทั้งสองจะรับผิดชอบในเรื่องการระดมสรรพกำลัง การเรียกเกณฑ์พลเมืองสนับสนุนกิจการทหาร รวมถึงการดูแลอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับความมั่นคงและการส่งกำลังบำรุงทางทหาร โดยมณฑลทหารบกจะมีลักษณะเป็นการจัดกลุ่มจังหวัดเพื่อรวมศูนย์อำนาจคล้ายคลึงบางส่วนกับระบบมณฑลเทศาภิบาลในอดีต พร้อมมีจังหวัดทหารบกเป็นหน่วยระดมพลแยกย่อยที่ขึ้นตรงต่อมณฑลและกองทัพภาคอีกต่อหนึ่ง

ส่วนการจัดดินแดนในยามฉุกเฉินนั้น นวัตกรรมการบังคับบัญชาแบบกองทัพภาค ก็สามารถปรับสภาพให้ยืดหยุ่นพร้อมแปลงแบบแผนเข้าสู่การจัดดินแดนรูปแบบใหม่ เช่น หากเกิดสงครามจากข้าศึกภายนอก อาจแบ่งกองทัพภาค ออกเป็น "เขตหน้า” ซึ่งได้แก่พื้นที่แนวหน้าสุดที่ต้องส่งกองกำลังเข้าเผชิญกับศัตรู หรือ "เขตหลัง” ที่ถูกกันให้เป็นพื้นที่สนับสนุนการช่วยรบของทหารในแนวหน้า

ส่วนในกรณีที่เกิดความไม่สงบภายใน โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหรือการประท้วงทางการเมืองต่างๆ หน่วยทหารทั้งหมดในกองทัพภาคจะทำการเพิ่มพูนอำนาจให้อยู่เหนือองค์กรปกครองส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในสายมหาดไทย พร้อมดึงโยกให้หน่วยราชการเหล่านั้นก้าวเข้ามารับคำสั่งหรือรับคำชี้แนะจากแม่ทัพภาคโดยอาศัยโครงข่ายของมณฑลและจังหวัดทหารบกในการกุมอำนาจทางการปกครอง เช่น การเรียกผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้งหมดเข้ามาประชุมที่กองบัญชาการกองทัพภาคที่สาม พร้อมสั่งการให้หน่วยรบที่มีการตั้งค่ายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ แปลงสภาพจากกองกำลังป้องกันประเทศมาเป็นกองกำลังรักษาความสงบภายใน


แผนที่แสดงการจัดดินแดนโดยสังเขปของกองทัพบก โดยแสดงให้เห็นถึงระบบกองทัพภาคที่แบ่งแยกย่อยออกเป็น 1.หน่วยรบประจำภาค เช่น กองพลและกองกำลัง และ 2. โครงข่ายบังคับบัญชาในแบบมณฑลและจังหวัดทหารบก (ที่มา:blogazine/Dulyapak Preecharush)
ทางลงเผด็จการต่างประเทศ เปิดปูมปฏิรูปกองทัพ สู่หลักการพลเรือนคุมทหาร

ตัวแบบอินโดนีเซีย: ลดบทบาททหารด้านเศรษฐกิจ การเมือง หนุนทหารสายปฏิรูป

อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ใน “สัมภาษณ์ อรอนงค์ ทิพย์พิมล : สภาปฎิรูปอินโดฯ ตัวแบบการนำทหารกลับเข้ากรมกอง” ของประชาไทว่า ชาวอินโดนีเซียถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารโดยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตนานถึง 32 ปี ช่วงเวลาดังกล่าว กองทัพมีบทบาทและอำนาจสูงมาก การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการคอร์รัปชันในระดับที่สูงมาก เมื่อเวลานานไป ซูฮาร์โตผู้สังขารโรยราลงพร้อมกับอำนาจในมือ ผนวกกับพิษวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้ประชาชนที่ทนไม่ได้ต่างพากันออกมาขับไล่รัฐบาลทหารออกไป พร้อมผลักดันกระแสการปฏิรูปทหาร มีการแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญให้เกิดการปฏิรูปขึ้น

กระบวนการปฏิรูปนั้นเริ่มในกองทัพก่อนด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจ ในตอนนั้นมีทั้งกระแสจากสังคมให้ปฏิรูปทหาร และกระแสจากในฝ่ายทหารที่ต้องการปฏิรูปกองทัพเนื่องจากภาพลักษณ์เสียหายไปมาก ทำให้รัฐบาลหลังยุคซูฮาร์โตจัดตั้งคณะกรรมการผ่านมติที่ประชุม ส.ส. นำมาสู่การออกกฎหมายในสภาที่มีบทบาทในการปฏิรูปกองทัพ 3 ประการ ได้แก่ การแยกกองทัพกับตำรวจออกจากกัน ในปี 2543 และกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบบทบาทกองทัพกับตำรวจ และกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันประเทศและกฎหมายเกี่ยวกับกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย

ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีคนที่ 6 (หรือคนที่ 4 นับจากซูฮาร์โต) ได้มีแนวทางปฏิรูปกองทัพด้วยการเพิ่มอำนาจพลเรือนให้มีมากกว่าทหาร ภาณุวัฒน์ พันธุประเสริฐ กล่าวเอาไว้ใน “การปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซียให้เป็นประชาธิปไตยในยุคของประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน” (อ่านตัวเต็ม) ถึงแนวทางปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซีย โดยประสบความสำเร็จในด้านการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูงในกองทัพ ในตอนนั้น รัฐบาลยูโนโยโนได้ถอดถอนชื่อนายพลรยาคูดู นายทหารหัวอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พลเรือนควบคุมและปฏิรูปกองทัพ ออกจากโผผู้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และสั่งให้สรรหาตัวผู้บัญชาการทหารคนใหม่ขึ้นมาแทน นอกจากนั้นยังโยกย้ายนายทหารระดับรองที่มีแนวโน้มยอมรับการปฏิรูปมาแทนที่กลุ่มที่ต่อต้านด้วย มาตรการดังกล่าวทำให้รัฐบาลเดินหน้าเจรจาสันติภาพกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดอาเจะห์ได้ราบรื่นขึ้น และถือเป็นผลสำเร็จในการสถาปนาความสถานะของพลเรือนเหนือทหาร

อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียยังคงเผชิญข้อท้าทายอีกหลายประการบนเส้นทางปฏิรูปกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการบัญชาการของกองทัพที่กระจายหน่วยบัญชาการไปตามภูมิภาคจนคล้ายจะซ้อนทับรัฐของพลเรือนอีกทีหนึ่ง ผนวกกับอำนาจตัดสินใจแต่งตั้ง โยกย้ายนายทหารยังอยู่ในมือกองทัพ ส่งผลให้กองทัพมีพื้นที่สงวนในการดำเนินการของตนเองนอกเหนือหูตาพลเรือนอยู่ ทั้งปัญหาการขาดงบประมาณที่เพียงพอของกองทัพ ยังคงทำให้กองทัพอินโดนีเซียมีข้ออ้างในการคงเหลือช่องทางหารายได้ผ่านธุรกิจต่างๆ อยู่ ไม่ถ่ายโอนทรัพย์สินให้รัฐบาลตามกฎหมายถ่ายโอนธุรกิจที่ทหารเป็นเจ้าของสู่มือรัฐบาล

ตัวแบบอาร์เจนตินา: นิรโทษกรรมตัวเองก็ไม่รอดถ้าประชาชนเอาจริง พลเรือนปรับโครงสร้างกองทัพใหม่

จากบทความ “ความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน: กรณีศึกษาประเทศอาร์เจนตินา” (อ่านตัวเต็ม) ของภัควดี วีระภาสพงษ์ เล่าว่า ในช่วงปี 1976-1983 อาร์เจนตินาตกอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร ภายใต้ประธานาธิบดีที่เป็นทหารทั้งสิ้น 4 คน (ก่อนหน้านี้ก็มีการปกครองแบบพลเรือนและทหารสลับกันไป) ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ เพื่อให้ผู้นำเผด็จการเป็นผู้ต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่ให้แพร่กระจายไปตามทฤษฎีโดมิโน ทำให้รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินากวาดล้างกลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศ รวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งในที่นี้หมายรวมไปถึงคนที่มี “ความคิด” เป็นภัยต่อความมั่นคง มาตรการกวาดล้างดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า สงครามสกปรก (Dirty War)

การกวาดล้างดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ประชาชนถูกกองกำลังติดอาวุธบุกเข้าไปจับในบ้าน ถูกนำไปขังในคุกลับ ถูกบังคับให้หายสาบสูญ มีการทรมาน ศพถูกนำไปฝังในหลุมฝังศพหมู่จำนวนมาก มีรายงานว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกทิ้งลงทะเลทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนบางองค์กรประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตไว้ถึง 30,000 คน นอกจากนี้ ทารกของหญิงที่ถูกกักขังในค่ายกักกัน จะถูกนำไปยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวนายทหาร ซึ่งคาดว่ามีจำนวนทารกถูกกระทำในลักษณะนี้ถึง 500 คน

ระบอบเผด็จการอาร์เจนตินาล้มลงด้วยปัญหาเศรษฐกิจ การคอร์รัปชัน และแรงกดดันจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการตัดสินใจทำสงครามกับสหราชอาณาจักรเพื่อยึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งผลคืออาร์เจนตินาเป็นฝ่ายแพ้ ทำให้รัฐบาลทหารตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ก็ทำเช่นนั้นภายหลังออกฎีกานิรโทษกรรมตนเอง และทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกวาดล้างประชาชนในช่วงที่ตนมีอำนาจ

การปฏิรูปกองทัพริเริ่มในสมัยประธานาธิบดีราอูล อัลฟอนซิน หลังรัฐบาลทหารล่มสลาย มีใจความสำคัญ ดังนี้


  • จำกัดให้ทหารรับผิดชอบหน้าที่ป้องกันภัยภายนอกประเทศเท่านั้น ไม่ให้มีบทบาทในด้านความมั่นคงภายใน
  • ย้ายการทำงานด้านข่าวกรองและปราบจลาจลออกจากความรับผิดชอบของกองทัพ
  • ปรับระบบการศึกษาภายในวิทยาลัยของกองทัพ ให้นักศึกษาวิชาทหารได้ศึกษาวิชาของพลเรือน
  • กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ รมว. กลาโหมและเสนาธิการแต่ละเหล่าทัพเป็นพลเรือน
  • ลดจำนวนนายทหารระดับสูง
  • ลดงบประมาณป้องกันประเทศลงครึ่งหนึ่งเพื่อลดการใช้จ่ายของกองทัพ
  • ลดจำนวนการเกณฑ์ทหารลงเหลือ 1 ใน 3
  • ปลดนายทหารจำนวนมากออกจากตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ การกวาดล้างประชาชนจำนวนมาก ทำให้กระแสสังคมเรียกร้องการนำตัวทหารเจ้ากรรมมารับผิดชอบ ส่งผลให้มีการจัดตั้ง“คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อไต่สวนกรณีที่บุคคลถูกทำให้สาบสูญ” (National Commission on the Disappearance of Persons หรือชื่อย่อ CONADEP) หน่วยงานดังกล่าวจัดทำรายงานชุด Nunca Mas (Never Again) เกี่ยวกับรายชื่อเหยื่อความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยกองทัพและตำรวจ พร้อมทั้งข้อมูลแวดล้อมต่างๆ อย่างละเอียด ในปี 1985 มีการนำตัวนายทหาร 9 นายที่เคยอยู่ในรัฐบาลทหาร รวมถึงประธานาธิบดีวิเดลา ประธานาธิบดีวิโอลา และประธานาธิบดีกัลตีเอรีอยู่ในนั้น มาดำเนินคดี ทั้งหมดถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยหลายข้อหา ไม่ว่าจะเป็นข้อหาลักพาตัว ฆาตกรรม ทรมาน ฯลฯ การดำเนินคดีครั้งนี้ได้รับคำชมเชยมาก แต่ก็มีข้อวิจารณ์ว่าควรนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้หมด

แต่ความยุติธรรมในอาร์เจนตินายังคงพบกับอุปสรรคอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลพลเรือนในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังต้องประนีประนอมกับกองทัพ หรือความไม่ต่อเนื่องของแนวทางการทวงคืนความยุติธรรมให้ประชาชน ในกรณีนายทหารทั้ง 9 คนที่ได้รับการตัดสินจำคุกตลอดชีวิต กลับได้รับอภัยโทษหลังจากจำคุกได้ประมาณ 4 ปี หลังรัฐบาลใหม่ขึ้นมา จนเรื่อยมาถึงปี 1998 จึงได้มีการนำนายทหารหลายคนรวมถึงอดีตประธานาธิบดีวิเดลา และอดีตประธานาธิบดีบิจโนเน กลับมาพิพากษาลงโทษอีกครั้ง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.