Posted: 21 Jun 2017 11:17 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

รายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีไทยพีบีเอสซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ (เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) ระบุ ซื้อได้ ไม่ส่อผิดธรรมภิบาลแม้คณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนทุกขั้นต้อนตามกฎหมาย ระเบียบ ชี้ ยังไม่ปรากฏหลักฐานบ่งชี้ว่ามีผู้ได้ผลประโยชน์เพราะซื้อขายตามราคาใกล้เคียงกับรายอื่นในเวลาเดียวกัน


21 มิ.ย. 2560 สืบเนื่องจากกรณีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ลงทุนซื้อหุ้นของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคประชาชนและสังคมเกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจในเรื่องความเป็นกลาง แม้ทางผู้อำนวยการองค์การฯ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ จะออกมาชี้แจงว่าเป็นการดำเนินงานที่ถูกต้อง แต่ก็รับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนและเครือข่ายที่ร่วมทำงานมากับไทยพีบีเอสด้วยการลาออกเมื่อ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ทางคณะกรรมการนโยบายได้มีคำสั่งองค์การฯ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขึ้นมา ได้ปฏิบัติงานโดยอาศัยเอกสารที่ทีมเลขานุการจัดหาให้ ประกอบด้วย พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 พ.ร.บ. ระเบียบองค์การฯ ว่าด้วยการเงิน การบัญชี และการงบประมาณ พ.ศ. 2558 รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบเกี่ยวกับการลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และเชิญผู้เกี่ยวข้อง 3 รายมาให้ข้อมูลประกอบการพิจารณา

เมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) เว็บไซต์ไทยพีบีเอส ได้เผยแพร่เอกสาร “รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ)” โดยคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ (อ่านเอกสารตัวเต็ม)

ในส่วนสรุปความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ระบุไว้ ดังนี้


พิจารณาจาก พ.ร.บ. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า ส.ส.ท. สามารถซื้อหุ้นกู้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ได้ แม้ว่าการดำเนินการของคณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกียวข้องกำหนดไว้

นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฎหลักฐานที่จะชี้ให้เห็นได้ว่า การซื้อหุ้นกู้ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องจากราคาซื้อ-ขาย เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับรายอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน

กรณีที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้ถึงการกระทำที่ผิดหลักธรรมาภิบาล ในบทบาทหน้าที่ของสื่อสาธารณะ ทั้นี้โดยอ้างอิงกับ ข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พ.ศ. 2551 และข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพเกี่ยวกับการผลิตและการเผยแพร่รายการ พ.ศ. 2552 การซื้อหุ้นกู้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับข้อบังคับองค์การฯ ว่าด้วยจริยธรรมดังกล่าว

ในส่วนข้อเสนอแก่คณะกรรมการนโยบาย มีใจความว่า


ให้ดำเนินการติดตามเรื่อง ข้อหารือเกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ของ ส.ส.ท. จากกระทรวงการคลัง เพื่อนำมากำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป

หาก ส.ส.ท. จะพิจารณาจำหน่ายหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) ควรพิจารณาถึงผลกำไรขาดทุนที่จะเกิดขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจ


แก้ไขแนวทางการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน

ในส่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟนั้น ระบุว่า มีการเสนอขออนุมัติซื้อหุ้นกู้ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ผ่านธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนเงิน 193,615,453.80 บาท (หุ้นกู้มีราคาตามมูลค่า 180,000,000 บาท + ส่วนต่างการลงทุนเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นอันตราตลาด ณ ขณะนั้น 13,615,453.80 บาท) อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในหุ้นกู้ร้อยละ 4.90 ต่อปี้ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ ส.ส.ท. ได้รับ ร้อยละ 3.06 ต่อปี วันครบกำหนดอายุหุ้นกู้ 2 ส.ค. 2564

ตามรายงาน มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ใจความว่า เมื่อ 12 ม.ค. 2560 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เสนอข้อมูลหุ้นกู้ 2 บริษัท ตามคำขอของภิญญาพัชญ์ หงส์พิมลมาศ เจ้าหน้าที่การเงิน ส.ส.ท. เมื่อเดือน ธ.ค. 2559 โดยเสนอหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) รุ่นที่ CPF218B อันดับเครดิต A+ อัตราผลตอบแทนร้อยละ 3.06 ต่อปี อายุหุ้นกู้คงเหลือ 4.53 ปี และ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTS) รุ่นที่ BTSC19NA อันดับเครดิต A อัตราผลตอบแทนร้อยละ 2.46 ต่อปี อายุหุ้นกู้ประมาณ 3 ปี จากนั้น ภิญญาพัชญ์ ได้นำข้อมูลหุ้นกู้ 2 บริษัทไปปรึกษากับอัจฉรา สุทธิศิริกุล ที่ปรึกษาด้านการเงินการคลัง และได้ข้อสรุปที่จะลงทุนในหุ้นกู้ CPF218B

ที่มา: ไทยพีบีเอส, รายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการซื้อตราสารหนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.