Posted: 23 Jun 2017 02:36 AM PDT   (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

จับตานโยบายยุทธศาสตร์รุกลงใต้ของจีน หลังรัฐบาล คสช. ใช้ ม.44 เร่งรัดความการรถไฟความเร็วสูง และครม. มีมติเห็นชอบโครงการแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำ เมื่อปี 59 ภาคประชาชนหวั่นไทยเสีย มากกว่าได้ ขณะที่จีนมีอิทธิพลมากขึ้น แต่ไทยไร้อำนาจการต่อรอง

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๓๐/๒๕๖๐เรื่อง มาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา โดยเป็นการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบบางเรื่อง เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งสอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ Belt and Road /One Belt One Road (OBOR) หรือที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะเชื่อมจีนเข้ากับส่วนอื่นๆ ของเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ผ่านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล เพื่อกระตุ้นการค้าในภูมิภาคนี้ของโลก โดยไทยได้เข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ที่กรุงปักกิ่ง ภายใต้หัวข้อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและร่วมกันพัฒนาเส้นทางสายเศรษฐกิจเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ท่าทีของรัฐบาลไทยที่ตอบรับต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลจีนนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่ในเรื่องรถไฟความเร็วสูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยจีนต้องการขยายเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ในบริเวณแม่น้ำโขง และเช่นเดียวกันนั้นรัฐบาล คสช.ก็มีมติเห็นชอบในกรณีดังกล่าว


ที่มาภาพจาก: aseanthai.net

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 โดยประชาสังคมหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเป็นการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงตามพรมแดนไทย-ลาว บริเวณริมแม่น้ำโขง อำเภอ เชียงแสน จังหวัด เชียงราย ที่เป็นอุปสรรคในการเดินเรือ โดยรัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568, หลักการเบื้องต้นในการปรับปรุงร่องน้ำทางเดินเรือในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง

วันที่ 19 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา จีนได้ส่งเรือสำรวจภาคสนาม 6 ลำ มาสำรวจยังแม่น้ำโขง ในบริเวณพื้นที่อำเภอ เชียงแสน โดยมีเรือจาฟู้ 3, เรือ ฉีตง 9, เรือ เฉินไท้ 198 ซึ่งเรือทั้ง 3 ลำ เป็นเรือบรรทุกขนาดใหญ่ภายในบรรจุคนถึง 40 คน และเรือเล็กอีก 3 ลำ และในวันเดียวกันนั้นเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 คัดค้านการสำรวจระเบิดแก่งแม่น้ำโขงของเรือจีน เพราะเห็นว่าไทยไม่ได้ประโยชน์ เป็นการทำลายระบบนิเวศที่สำคัญของโลก และทรัพยากรข้ามพรมแดนที่ใช้ร่วมกันระหว่างประเทศ

ต่อมา วันที่ 26 เมษายน 2560 เรือสำรวจแม่น้ำโขงจากบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด จากประเทศจีน ยังคงปฏิบัติการสำรวจแม่น้ำโขงในเขตน่านน้ำไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดคณะสำรวจจากจีนได้นำเรือจาฟู่ 3 ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ระวางน้ำหนักกว่า 450 ตันและมีแท่นขุดเจาะชั้นดินและหินใต้ท้องน้ำแยกไปสำรวจตามเส้นทางสายท่าเรือ แม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 1 ภายในเขตเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน ไปทางสามเหลี่ยมทองคำชายแดนไทย-เมียนมา-สปป.ลาว ด้านกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านระบุว่าในปัจจุบันได้มีการนัดหมายกลุ่มชาว บ้านที่คัดค้านโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากเรือสำรวจจีนทำการสำรวจบริเวณคอนผีหลงอย่างชัดเจนก็จะนำเรือออกไป แสดงสัญลักษณ์คัดค้าน โดยจะมีการใช้ป้ายข้อความ สัญลักษณ์ ฯลฯ และไม่การกระทำรุนแรงใดๆ

วันที่ 28 เมษายน 2560 กลุ่มเครือข่ายธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเยาวชน อ.เชียงของ กลุ่ม North องศาเหนือ ฯลฯ ประมาณ 30 คน นำป้ายซึ่งมีข้อความคัดค้านการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ล่องเรือยาวจำนวน 3 ลำจากพื้นที่ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทวนกระแสแม่น้ำโขงขึ้นไปยังเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่า “คอนผีหลง” โดย เป็นป้ายข้อความที่เป็นทั้งภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาให้หยุดการระเบิดเกาะแก่ง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เพื่อแสดงพลังและสัญลักษณ์คัดค้านการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง

แผนในการปรับปรุงเส้นทางเดินเรือโดยการระเบิดเกาะแก่งบริเวณแม่น้ำโขงที่จีนต้องการครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลไทย ทั้งที่ในอดีตแผนการดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล ทักษิณ แต่ก็ต้องพับโครงการไปเนื่องจากมองว่าจะทำให้เกิดปัญหามากกว่าผลประโยชน์ที่ได้ และมีแนวโน้มจะทำให้เสียพื้นที่อธิปไตย แต่ในรัฐบาล คสช. ได้มีมติเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ต่อแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ปี 2558-2568

เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการจากสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ตั้งคำถามกับการเข้ามาของจีนครั้งนี้ว่า จีนมุ่งหวังที่จะระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาการเดินเรือพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยเกิดผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันทั้งไทย และลาว ซึ่งแน่นอนว่าการระเบิดเกาะแก่งครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศที่ซับซ้อน เนื่องจากมีการดำรงชีวิตของพันธุ์ปลากว่า 86 ชนิด การวางไข่ของนกบนสันดอนโดยรอบแม่โขง รวมไปถึงพืชชนิดต่างๆที่มีอยู่ในระบบนิเวศ เช่น ไก พืชที่ชาวบ้านนำมาแปรรูปเป็นอาหารและจำหน่าย การมุ่งหวังที่จะระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงของรัฐบาลจีนนั้น มีการนำเสนอข้อมูลที่อ้างว่าประเทศผู้ใช้แม่น้ำโขงร่วมกันจะได้รับประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นช่องทางในการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการเดินเรือนี้ โดยจีนยอมให้เงินทุนในการศึกษาและดำเนินการแก่ประเทศต่างๆในพื้นที่นี้ รวมถึงประโยชน์ที่อ้างว่าไทยจะได้รับจากการค้าชายแดนอำเภอเชียงแสน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไทยได้รับประโยชน์จากการค้าชายแดนในพื้นที่นี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ชายแดนอื่น

โดยรัฐบาลจีนเสนอว่าการระเบิดเกาะแก่งครั้งนี้จะสร้างประโยชน์แก่ทั้ง 4 ประเทศนั้นคือ จีน พม่า ไทย และลาว เพราะจะเป็นการเพิ่มเส้นทางขนส่งสินค้าและสามารถพัฒนาไปเป็นเขตเศรษฐกิจ โดยไทยสามารถส่งสินค้าไปขายในจีนได้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตอาจพัฒนาไปเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าสู่สิงคโปร์ และมาเลเซียได้ง่ายขึ้น ซึ่งในตอนนี้รัฐบาลไทยอยู่ในช่วงของการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ รอบแม่น้ำโขง ถึงกระนั้นขั้นตอนในการสำรวจและศึกษาทั้งหมดจีนต้องการเป็นผู้ประเมินเพียงผู้เดียว โดยไม่เชิญตัวแทนจากอีก 3 ประเทศไปมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเพราะจะต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกๆ ประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อแผนการนี้

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ แกนนำในการเคลื่อนไหวต่อต้านการเข้ามาในลุ่มแม่น้ำโขงของรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศกล่าวว่า รัฐบาล ต้องใส่ใจรายละเอียดต่างๆให้มาก ทุกๆขั้นตอน เพราะตอนนี้มันลัดขั้นตอน รัฐต้องตระหนักเรื่องนี้ เพราะว่าการดำเนินงานที่ผ่านมามันไม่ถูกต้อง

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แม่น้ำโขงนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างจุดร่วมกันของคนทั้งประเทศ เพราะคนที่อยู่ห่างจากแม่น้ำโขงก็คงไม่เข้าใจ แต่แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ใหญ่มีผลกับคนจำนวนมากในพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้ทุกคนได้รู้ว่าปัญหามันเป็นอย่างไร

“แม่น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญกับชีวิตมนุษย์ เมื่อมันถูกทำลายก็จะส่งผลกระทบมาก อย่างประเด็นเรื่องอำนาจอธิปไตยก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่เราไม่ได้เป็นคนคลั่งชาตินะ เพราะทุกประเทศก็มีอธิปไตย แต่เราจะปล่อยให้เกาะแก่งมันถูกทำลายก็ไม่ได้ โลกมนุษย์มันไร้พรหมแดน เราทุกคนอยู่ร่วมกันหมด แม่น้ำสายหนึ่งเราต้องใช้ร่วมกัน ไม่ใช่แบ่งแล้วกีดกัน เพราะมันส่งผลกระทบทั้งวิถีชีวิตของคนที่ใช้แม่น้ำโขง สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม แม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนา พัฒนาแล้วคนท้องถิ่นต้องอยู่ได้ สนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสเคยใช้ร่องน้ำลึกเป็นตัวชี้วัดในการแบ่งเขตแดน ไทย-ลาว ฉะนั้นหากดำเนินการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะส่งผลให้ร่องน้ำเปลี่ยน เกาะแก่งบริเวณพรมแดนหายไป และจะทำให้เขตแดนจะเปลี่ยนทันที และประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนเป็นบริเวณกว้าง โดยการอนุมัติโครงการดังกล่าวถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถละเมิดอธิปไตยของไทย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ฉะนั้นแล้วปัญหาเรื่องการเสียอำนาจอธิปไตยในดินแดนของประเทศ เป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องรับรู้และเป็นการบ่งบอกถึงจุดร่วมกันที่เราต้องตระหนักและมีส่วนร่วมในปัญหาด้วยกัน”

โดยนิวัฒน์อยากให้รัฐบาลและกลุ่มนายทุนตระหนักให้ดีว่า การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการพัฒนาเพื่อแบ่งปัน เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การพัฒนาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ให้มันสมดุลกันเพราะยังไงเราก็ต้องค้าขายกับต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรือขนส่งสินค้ามันใหญ่ 500-600 ตัน ก็ให้ลดขนาดเรือลง ลดกำไรของนายทุนลง คนอื่นจะได้อยู่ร่วมด้วยได้ อยากให้คำนึงถึงผู้อื่นด้วยเพราะโลกในอนาคตเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยตอนนี้กำลังทำงานเชิงวิชาการเกี่ยวกับมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์เพื่อใช้ยืนยันกับรัฐในการพูดคุยและนำเสนอผลกระทบ โดยอยากให้รัฐบาลตระหนักว่าเราได้ผลประโยชน์หรือไม่ในการระเบิดครั้งนี้ ทุกวันนี้การค้าทางบกเราก็มีแล้ว ทางเรือก็มีบ้างแล้ว ทำไมเรายังต้องทุบเกาะแก่งอีก

นิวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า “มนุษย์ไม่สามารถตัดกิเลสได้ เรื่องผลประโยชน์มันก็เป็นเรื่องที่เราเข้าใจ มันเป็นนโยบายของจีนเรื่องรุกลงใต้ เพราะฉะนั้นเราจะตั้งรับอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เราจะมีการตกลงยังไงไม่ให้เสียเปรียบ โดยที่สิ่งแวดล้อม และผู้คนต้องอยู่ได้ การพัฒนาที่คนอื่นได้เงิน แต่คนอีกพวกตายกันหมด มันไม่ใช่การพัฒนาที่ถูกต้อง แม่น้ำโขงมันเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ ทำอะไรไปมันมีผลกระทบกลับมามาก ต้องคำนึงถึงผู้อื่น อย่าคิดเป็นเงินเป็นทองมากนัก”

ทั้งกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูง และแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศต่างเป็นโครงการเกี่ยวกับการขนส่งซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ Belt and Road /One Belt One Road (OBOR) แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์รุกลงใต้ของจีนนั้นได้เข้ามาสู่ประเทศไทย และยังแผ่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งกรณีรถไฟความเร็วสูงในลาว การให้เงินช่วยเหลือในกัมพูชาพร้อมผลักดันรถไฟความเร็วสูง และการเซ็นสนธิสัญญาด้านกลาโหมฉบับสำคัญกับมาเลเซีย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การป้องกัน พลังงาน และรางรถไฟ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าอิทธิพลของจีนนั้นค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นในเอเชีย

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.