เวทีถกประเด็นการศึกษากับการสร้างประชาธิปไตยและพลเมืองที่ดี ระบุ ออกแบบการศึกษาเท่ากับ ออกแบบสังคม/โลก แค่พลเมืองเชื่องๆ ยังไม่พอสร้างประชาธิปไตย วอนครูช่วยกันสร้างเด็กขี้สงสัย เปิด “รักชาติเชิงวิพากษ์” สิงคโปร์ทำได้ เด็กรักชาติแล้วยังคิดเป็น ประชาธิปไตยมีตื้นลึกหนาบาง ถ้าครูความรู้ยังตื้นเขินจะสร้างเด็กได้อย่างไร
24 มิ.ย. 2560 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ICIRD มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกลุ่ม Thai Civic Education จัดงานเสวนาสาธารณะหัวข้อ “ประชาธิปไตย การศึกษาและความเป็นพลเมือง” ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเชิญวิทยากรจากทั้งชาวไทยและต่างชาติมาร่วมพูดคุยในเรื่องการศึกษาด้านพลเมืองในหลายบริบท ประชาไทเปิดการรายงานเสวนาในช่วงเช้าว่าด้วยเรื่องการออกแบบการศึกษาให้สร้างพลเมืองที่ดี รูปแบบพลเมืองและครูที่รู้ประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งและตื้นเขิน รวมถึงเปิดแนวทางการศึกษาที่สอดแทรกอุดมการณ์ "รักชาติเชิงวิพากษ์" ในสิงคโปร์
ออกแบบการศึกษา = ออกแบบสังคม/โลก แค่พลเมืองเชื่องๆ ยังไม่พอสร้าง ปชต. วอนครูช่วยกันสร้างเด็กขี้สงสัย
โจแอล เวสท์ไฮเมอร์
เวทีแรกในหัวข้อ “ประชาธิปไตย การศึกษาและความเป็นพลเมือง ในวิกฤตการณ์โลก” นำเสนอโดยโจแอล เวสท์ไฮเมอร์ หัวหน้าทีมวิจัยด้านประชาธิปไตยและการศึกษา มหาวิทยาลัยออตตาวา ประเทศแคนาดา
โจแอลตั้งคำถามให้ผู้เข้าร่วมชวนขบคิดว่า อะไรคือความแตกต่างระหว่างโรงเรียนในรัฐระบอบเผด็จการกับโรงเรียนของรัฐในระบอบประชาธิปไตย “ความจริง” หรือชุดคุณค่าต่างๆ จะมีหลากหลาย มากน้อยต่างกันหรือไม่ หากเราเดินไปถามคนไทยตามท้องถนนว่า “โรงเรียนควรสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองดีหรือไม่” แน่นอนว่าคำตอบคือใช่ แต่ถ้าถามลึกลงไปอีกว่า “แล้วพลเมืองดีคืออะไร” คำตอบที่ได้คงแตกต่างออกไป บางคนอาจตอบว่าแค่เชื่อฟังพ่อแม่ ปฏิบัติตามกฎหมายก็พอ ในขณะที่บางคนอาจจะบอกว่าต้องออกไปต่อสู้กับความอยุติธรรม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระบุว่า มีการถกเถียงในเรื่องคอนเซปต์การสอนความเป็นพลเมืองดีในโรงเรียนสูงมาก ต่อคำถามที่ว่า ทำไมคนถึงต้องใส่ใจกับการสอนในโรงเรียนด้วย แค่เอาลูกหลานไปไว้ในโรงเรียนแล้วเขากลับบ้านแบบมีความสุขไม่พอหรือ ทว่า แท้ที่จริงแล้วการออกแบบพลเรือนศึกษาในโรงเรียน คือการออกแบบสังคมในแบบที่เราอยากจะให้เป็นด้วย ไม่เพียงแต่สังคมในชุมชน แต่ยังไปไกลได้ถึงการออกแบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในระดับโลกด้วย
ทว่า โรงเรียนในปัจจุบันมีความผูกพันกับระบบเศรษฐกิจ โรงเรียนกลายเป็นสถานฝึกวิชาชีพไปแล้ว แนวคิดเรื่องการเรียนเพื่อรู้ (learning for learning’s sake) ไม่มีแล้ว เราสูญเสียแนวคิดการศึกษาที่มุ่งอบรมผู้คนให้มีการศึกษาเพื่อขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยไป ระบบการจัดมาตรฐาน (Standardization) ทำให้โรงเรียนเลือกให้ความสำคัญกับบางวิชามากกว่าวิชาอื่นๆ โดยโจแอลระบุว่า โรงเรียนหันมาสนใจกับการให้การศึกษาให้เด็กมีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ และอ่านออกเขียนได้ บางโรงเรียนไม่ให้ความสนใจกับวิชาสังคมศึกษา
โจแอลกล่าวถึงพลเมืองมี 3 ประเภท ประกอบด้วย
- พลเมืองที่รับผิดชอบตนเอง คนกลุ่มนี้ปฏิบัติตามกฎหมาย รับผิดชอบตนเองดี โรงเรียนแทบทุกประเทศมุ่งผลิตพลเมืองประเภทนี้
- พลเมืองที่มีส่วนร่วม คนกลุ่มนี้รู้กลไกระบบการปกครอง ขั้นตอนการออกกฎหมาย รู้หน้าที่พลมเมืองว่าต้องทำอะไร หลายโรงเรียนมีการเสริมสร้างพลเมืองประเภทนี้ผ่านการเรียนรู้ผ่านการให้บริการ (Service-based learning) ที่สร้างหลักสูตรให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน
- พลเมืองที่ใส่ใจความยุติธรรม คนกลุ่มนี้คิดถึงเรื่องความยุติธรรม มุ่งหาสาเหตุปัญหาหรือสงสัยถึงกลไกการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รู้จักมองปัญหาจากหลายมุมมอง
โจแอลยกตัวอย่างเรื่องปัญหาคนไร้บ้าน โดยระบุว่า การแก้ปัญหาด้วยการบริจาคอาหาร ช่วยหางานให้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าปัญหานี้สามารถมองได้หลายมุมจากการตั้งคำถามเสียก่อนว่าสาเหตุของความหิวโหย ยากจนที่เกิดในสังคมหรือประเทศเราเกิดจากอะไร
นักวิจัยจากแคนาดากล่าวว่า ทุกประเทศอยากได้พลเมืองประเภทแรก เขาอยากให้ประชาชนเคารพกฎหมาย บริจาคเลือดเวลาที่รัฐต้องการ หรือให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้น แต่ว่าการสร้างพลเมืองดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยเลย โดยในประเทศประชาธิปไตยนั้น ประชาชนควรมีส่วนร่วมคิดเพื่อแก้ไขปัญหา ผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นให้ได้แง่มุมหลายหลาก การตัดสินใจแก้ไขปัญหาก็วางอยู่บนหลักการดังกล่าว การเลือกตั้งเพื่อเอาผู้แทนผลประโยชน์ของตนก็เป็นเรื่องที่อย่างน้อยต้องรู้ แต่ว่าเพียงสิ่งนั้นสิ่งเดียวเป็นประชาธิปไตยที่เบาบางมาก
การศึกษาในประเทศประชาธิปไตยก็เช่นกัน มีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างหลากหลายก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ หรือแก้ปัญหาใดๆ เพื่อให้นักเรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์ต่อไปในอนาคต โจแอลระบุว่า สิ่งที่จำเป็นจะต้องสอนคือ ความกล้าในการตั้งคำถามยากๆ กับโลกที่เขาอาศัยอยู่ แม้ในประเทศเผด็จการจะไม่ต้องการคนแบบนั้น แต่ในฐานะนักการศึกษาถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
นักวิจัยด้านการศึกษากล่าวว่า นักการศึกษาสามารถจุดประกายความคิดของนักเรียนด้วยคำถามหนึ่งที่อาจสร้างคำถามต่อไปอีกมากมาย
“อย่างน้อยคำถามแรงๆ ที่ครูจะลองถามนักเรียนได้ควรเป็นคำถามว่า “นักเรียนรู้ไหมว่าหนังสือเรียนของพวกเธอถูกคนเขียนขึ้นมา” ทำไมถึงว่ามันแรง เพราะคำถามดังกล่าวทำให้ฉุกคิดว่าหนังสือไม่ได้เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากเบื้องสูง จากหลักศิลาบัญญัติบนยอดเขา แต่ว่ามาจากมนุษย์ มันอาจทำให้นักเรียนถามต่อว่า แล้วเขาเป็นใคร ทำไมเลือกนำเสนอเรื่องต่างๆ มากน้อยไม่เท่ากัน”
โจแอลยังกล่าวว่า การสอนนั้นคือการเลือกเอาข้อเท็จจริงมาร้อยเรียงกัน และมันไม่มีวิธีการเล่าเรื่องราวข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์ แม้แต่บทเรียนประวัติศาสตร์ของสองประเทศก็ไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้สหรัฐฯ และแคนาดายังตกลงกันไม่ได้ว่าใครกันแน่เป็นผู้ชนะสงครามปี 1812 ที่ทั้งสองชาติสู้รบกัน โดยโจแอลปิดท้ายด้วยข้อคิดด้านแนวคิดของการศึกษาของแม็กซีน กรีน อาจารย์ของเขาผู้ล่วงลับว่า “วัตถุประสงค์ของการศึกษาคือช่วยผ่อนคลายผู้ที่มีปัญหาและสร้างปัญหาให้ความสบาย (The purpose of education is to comfort the troubled and to trouble the comfortable)” โดยขยายความว่า โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ที่นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็น หาเพื่อนฝูงและเรียนรู้อย่างปลอดภัย ในขณะเดียวกันก็ต้องเขย่าไม่ให้คนในสังคมประชาธิปไตยสบายจนเกินไป เพราะสังคมประชาธิปไตยต้องการให้ประชาชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น
เปิด “รักชาติเชิงวิพากษ์” สิงคโปร์ทำได้ เด็กรักชาติแล้วยังคิดเป็น
จากซ้ายไปขวา: เดวิด ซินเจอร์ โจแอล เวสท์ไฮเมอร์ บุน ยี จาสมิน ซีม และวัชรฤทัย บุญธินันท์
ในหัวข้อ “รักชาติแบบวิพากษ์: กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์” โดย ผศ.บุน ยี จาสมิน ซีม จากศูนย์การศึกษาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานหยาง ประเทศสิงคโปร์ กล่าวถึงรูปแบบการสอนที่ใส่ความรักชาติเข้าไปพร้อมๆ กับการเปิดช่องให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในสิงคโปร์
จาสมินกล่าวว่า มีการถกเถียงกันมาตลอดถึงการสอดแทรกอุดมการณ์รักชาติลงไปในการเรียนการสอน ฝ่ายที่สนับสนุนก็ยืนบนฐานที่ว่า การรักชาติจะทำให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของชาติและชุมชนร่วมกัน ทำให้คนพร้อมสร้างประโยชน์ให้ชาติและชุมชนได้มากมายหลายอย่าง แต่ฝ่ายที่คัดค้านก็ค้านว่า ความรักชาติผูกติดอยู่กับอารมณ์ ความรู้สึกซึ่งปัญหาคือจะสอนอย่างไร และการทำเช่นว่าในหลายประเทศ นำไปสู่การบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้รับใช้แนวคิดชาตินิยม และอารมณ์ความรู้สึกที่มาจากความรักชาติมักบดบังการเกิดขึ้นของพลเมืองที่ตัดสินใจบนฐานของความเป็นพลเมือง และตรรกะทางการเมือง
ผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์ระบุว่า หลายรัฐบาลทั่วโลกต้องการให้พลเมืองมีความรักชาติ เพราะพลเมืองเช่นว่ามีแนวโน้มทุ่มเทให้ชาติเกินกว่าบทบาทของพลเมืองที่มี ซึ่งถ้าการศึกษาถูกขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์รักชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็ควรจะต้องกลับมานั่งทบทวนกันว่าควรจะใช้อุดมการณ์รักชาติในการสอนในโรงเรียนอย่างไร
จาสมินกล่าวว่า การรักชาติแบบวิพากษ์คือการมีความสามารถที่จะคิดถึงการผูกโยงตัวเองเข้ากับชาติได้ในเชิงวิพากษ์ และแสดงความไม่พอใจเมื่อคุณค่าหลักต่างๆ ที่มีในขนบ ธรรมเนียมการเมืองถูกบ่อนทำลาย วิพากษ์วิจารณ์บรรทัดฐานที่มีอยู่แล้วในสังคม ท้าทาย เปิดโปงความไม่เท่าเทียมในระเบียบสังคมเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น นัยหนึ่งคือการขัดเกลาทางสังคมแบบประชาธิปไตยที่ต้องประกอบไปด้วยการปลูกฝัง และการต่อต้านการปลูกฝังควบคู่กันไป
จาสมินยังระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ผ่านการถูกยึดเป็นอาณานิคม ทั้งสภาพภูมิประเทศยังถูกขนาบด้วยมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นเกาะที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย ดังนั้นการเรียนการสอนจึงปลูกฝังให้นักเรียนเห็นถึงความเปราะบางของประเทศที่ตั้งอยู่บนความตึงเครียดจากปัจจัยหลายประการ โดยถือว่าหน้าที่ของความเป็นพลเมืองคือการทำประโยชน์ให้กับชาติ และรับผิดชอบตัวเองให้ได้เสียก่อน เรื่องสิทธิเป็นสิ่งที่ตามมาเพื่อคงไว้ซึ่งระเบียบและความสามัคคีในชาติ สิงคโปร์มีคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน 5 ประการ ได้แก่
- ชาติมาก่อนชุมชนและตนเอง
- ยึดสถาบันครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานของสังคม
- สนับสนุนชุมชน และเคารพสิทธิส่วนบุคคล
- มุ่งหาฉันทามติ ไม่ใช่ความขัดแย้ง
- ความสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติและศาสนา
- จาสมินยังพูดถึงหลักการศึกษาแห่งชาติ 6 ข้อ ดังนี้
- สิงคโปร์คือบ้านเกิดเมืองนอนของเรา
- เราต้องรักษาความสมานฉันท์แห่งศาสนาและเชื้อชาติ
- เราต้องเชิดชูระบบคุณธรรมและการต่อต้านคอร์รัปชัน
- สิงคโปร์ไม่ได้เป็นหนี้บุญคุณใคร เรารอดได้ด้วยตัวเอง
- พวกเราต้องปกห้องสิงค์โปร์
- พวกเราเชื่อมั่นในอนาคตของเรา ขับเคลื่อนชาติไปร่วมกัน
นักการศึกษาจากสิงคโปร์เล่าแนวทางการสอนวิชาสังคมศึกษาในสิงคโปร์ว่า สิงคโปร์มุ่งสร้างแนวคิดเชิงวิพากษ์และความคิดปลายเปิดที่มีพื้นที่ให้การตีความ และให้นักเรียนตกผลึกความคิดได้เอง หลักสูตรอิงอยู่กับคุณค่า 2 ประการได้แก่ “ความมีรากเหง้า (Being Rooted)” และ “มีความสากล (Being Global)” ต้องการให้นักเรียนเป็นคนสร้าง และรักษาสังคมที่เหนียวแน่น ความก้าวหน้าทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีทักษะทางความคิดสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยตนเอง มีอัตลักษณ์ร่วมแห่งชาติและมุมมองที่เป็นสากลไปพร้อมกัน และความเป็นพลเมืองที่พร้อมให้ความร่วมมือกับสังคมพหุเชื้อชาติและศาสนา
จาสมินระบุว่า การมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยความรักชาติเชิงวิพากษ์ ทำให้คนสิงคโปร์นึกถึงคนที่แต้มต่อในสังคมด้อยกว่าคนอื่นด้วยเพื่อร่วมพัฒนาให้สังคมดีขึ้นไปด้วยกัน พร้อมยังยกตัวอย่างวิธีการสอนในห้องเรียน ที่ครูเปิดวงอภิปรายโดยเล่นบทเป็นคนปลุกปั่นนักเรียนด้วยคำถามเชิงยั่วยุหลายประการ เพื่อทำให้ห้องเรียนมีความเคลื่อนไหว เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านการถาม-ตอบ เช่น ยกประเด็นการให้สิทธิผู้แต่งงานในด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายสนับสนุนให้คนมีลูก โดยมีคำถามในเรื่องความเหมาะสมของมาตรการ ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ นโยบายนี้จะทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสุดท้ายครูสรุปให้นักเรียนเห็นถึงความยากลำบากของรัฐบาลในการนำนโยบายมาปฏิบัติจริง
นักการศึกษาได้สรุปข้อสังเกตทั่วไปของแนวทางการสอนวิชาสังคมศึกษา เธอพบว่าหลักสูตรถูกกำหนดโดยรัฐ แต่ว่าออกแบบให้เป็นประชาธิปไตยและเน้นให้เกิดความสมานฉันท์ พยายามทำให้เห็นว่ามุมมองของรัฐบาลนั้นมีความเป็นเหตุเป็นผล มุ่งให้ผู้เรียนขับเคลื่อนกิจกรรมใดๆ ตามระบบมากกว่าจะให้มีการท้าทายระบบ ตัวครูอาจารย์ก็มีความยืดหยุ่นในการสอน แต่เน้นการวิพากษ์
หลังการนำเสนอของจาสมิน โจแอลกล่าวว่า เมื่อเรากล่าวถึงความเป็นชุมชนนั้นมีนัยถึงการหมายรวมคนกลุ่มหนึ่งและกีดกันคนอีกกลุ่มออกจากสังคม เพราะชุมชนนั้นถูกกำหนดด้วยเขตแดนว่าใครอยู่ใน และนอกชุมชน การปลูกฝังความรักชาตินั้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้คนในชาติมองคนอื่นด้อยกว่า หรือเป็นคนอื่นไกลไป
ในขณะที่เดวิดกล่าวว่า ความรักชาตินั้นเป็นชาตินิยมของคนโง่ การรักประเทศไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าตอนนี้พวกเราอาศัยอยู่ในสังคมโลก มนุษย์ควรจะรักกันและกันด้วยเช่นกัน
จาสมินให้ความเห็นว่า ความรักชาติเชิงวิพากษ์มุ่งหาความเป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นและพัฒนาโครงสร้างที่มีให้ดีขึ้น ถือเป็นมุมมองทางเลือกอีกทางที่ทำให้นักเรียนมีความคิดเชิงวิพากษ์ ซึ่งการนำไปใช้ต้องมองบริบทต่างๆ ให้ดี
ประชาธิปไตยมีตื้นลึกหนาบาง ถ้าครูยังตื้นเขินจะสร้างเด็กได้อย่างไร
(ยืน): เดวิด ซินเจอร์
ในหัวข้อ “พลเมืองเชิงวิพากษ์ สำหรับสังคมพหุวัฒนธรรม: กรณีศึกษาประเทศออสเตรเลีย” พูดโดยเดวิด ซินเจอร์ อาจารย์และนักวิจัยจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโมนาช ประเทศออสเตรเลีย
นักการศึกษาจากออสเตรเลียกล่าวถึงคุณสมบัติของครูในด้านประชาธิปไตย โดยจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ครูที่มีมุมมองประชาธิปไตยตื้นเขิน และครูที่มีมุมมองประชาธิปไตยลึกซึ้ง
ครูที่มีมุมมองประชาธิปไตยตื้นเขิน จะมุ่งอธิบายกลไกการเลือกตั้ง การเชื่อมโยงห้องเรียนกับสังคมไม่ได้ยึดถือเรื่องการตั้งคำถามเพื่อค้นหาปัญหาที่มี จัดการเรียนรู้เชิงให้บริการ (Service-learning) โดยไม่ยึดโยงอยู่กับหลักสูตรและประสบการณ์ทางการศึกษา และมองการเลือกข้างเป็นอคติ มองการรับอุดมการณ์ความคิดเป็นเรื่องการเมืองสกปรก และหลีกเลี่ยง หรือพยายามขจัดการถกเถียง
ส่วนครูที่มีมุมมองประชาธิปไตยลึกซึ้งจะรู้ว่าความรู้เป็นสิ่งที่ถูกประกอบสร้างขึ้น ปฏิเสธรูปแบบการสอนที่ครูคือคนเอาความรู้ไปใส่ให้เด็กเหมือนเอาเงินไปฝากธนาคาร พยายามกระตุ้นให้นักเรียนได้สัมผัสกับความเป็นจริง ปัญหาและกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่หลากหลายนอกเหนือไปจากสิ่งที่กระแสหลักนำเสนอ เชื่อมโยงการเรียนรู้เชิงให้บริการกับประสบการณ์การศึกษาและหลักสูตรอย่างลึกซึ้ง เข้าใจการเป็นกลางคือการเข้าข้างฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า และเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปราย เข้าใจว่าการขาดการถกเถียงเชิงวิพากษ์จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองเชิงรับที่อดทนต่อความอยุติธรรมและบ่มเพาะความเกลียดชังเอาไว้
- เดวิดกล่าวว่า พลเมืองในความคิดของตนมีอยู่ 4 ประเภท
- พลเมืองเชิงรับ คือพลเมืองที่ไม่สนใจอะไร
- พลเมืองที่ตื่นตัว คือพลเมืองที่เข้าใจหน้าที่ตนเองและมีส่วนร่วมกับชุมชน
- พลเมืองที่ใส่ใจความยุติธรรม คือพลเมืองที่กังวลกับความอยุติธรรมภายใต้โครงสร้างสังคมที่เป็น
เดวิดทำโครงการวิจัยชื่อ Global Doing Democracy ศึกษาจากกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการทั่วโลกเรื่องมุมมองของประชาธิปไตยและการศึกษาที่สร้างเสริมความเป็นประชาธิปไตย เดวิดยกตัวอย่างประเทศประชาธิปไตย 2 ประเทศได้แก่สหรัฐฯ และออสเตรเลีย โดยผลวิจัยพบว่า กลุ่มครูของสองประเทศนี้เชื่อมั่นว่าประเทศตนเองเป็นประชาธิปไตย แต่กลุ่มนักวิชาการมีความสงสัย และไม่เชื่อว่าประเทศตนเป็นประชาธิปไตย เพราะมองว่ายังมีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนในประเทศอยู่ เดวิดจึงตั้งคำถามว่า แท้จริงๆแล้วประชาธิปไตยประกอบจากอะไรบ้าง แล้วมีไว้สำหรับใครกันแน่ ทั้งที่ประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถแยกออกจากความยุติธรรมได้อยู่แล้ว
แสดงความคิดเห็น