รอบปี พ.ศ.2561 ในวงการวิทยาศาสตร์มีเรื่องราวสิ่งใหม่เกิดขึ้นมากมายทั้งในแง่ดี แง่ร้าย บางเรื่องอาจมีผลต่อไปในอนาคตโลกอย่างไร 10 อันดับข่าววิทยาศาสตร์โลกและประเทศไทยที่น่าสนใจมีอะไรบ้าง นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวงการวิทยาศาสตร์ไทยและเทศ ได้คัดเลือกและอธิบายอย่างรวบรัดตามลำดับความสำคัญจาก 10 ไปถึง 1 ให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น


อันดับที่ 10 การจากไปของ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง


เมื่อ 14 มีนาคม 2561 สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง นักฟิสิกส์ นักจักรวาลวิทยา และนักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (Science Communication) ชื่อดังที่สุดแห่งยุค เสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี หลังจากป่วยด้วยโรคอะไมโอโทรฟิก แลเทอรัล สเกลอโรซิส (ALS) หรือเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม ซึ่งทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนทำให้ไม่สามารถเดินและพูดได้มานานหลายสิบปี ทั้งนี้ สตีเฟน ฮอว์กกิ้ง ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการอย่างยิ่ง มีผลงานสำคัญมากมาย อาทิ การแผ่รังสีฮอว์กิง หนังสือของ ศ.ฮอว์กกิ้ง ที่ได้รับการยอมรับหลายเล่ม เช่น A Brief History of Time (ประวัติย่อของเวลา) โดยเฉพาะผลงานทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำ


อันดับที่ 9 ดวงจันทร์เทียม ดวงอาทิตย์เทียมจากจีน


เมื่อ 10 ตุลาคม 2561 งานประชุมสัมมนาผู้ประกอบการและนวัตกรรม เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน โดยนายกสมาคมวิทยาศาสตร์พื้นที่ใหม่เทียนฝู เปิดเผยว่า วางแผนว่าในปี พ.ศ. 2563 จะส่งดวงจันทร์เทียมขึ้นสู่อวกาศในระดับความสูง 500 กิโลเมตร ซึ่งมีความสว่างกว่าดวงจันทร์จริง 8 เท่า ให้ฉายแสงสว่างมายังเมืองเฉิงตูในยามค่ำคืน แทนการใช้ไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าในระยะพื้นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-80 กิโลเมตร โดยหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อพื้นที่ 50 ตร.กม. แต่ก็เป็นประเด็นว่าจะทำได้จริงหรือไม่ ? เพราะอาจเกิดปัญหาต่อสภาพแวดล้อม อีกทั้งรัสเซียเคยส่งดวงจันทร์เทียมเมื่อปี 1999 แต่ล้มเหลว

นอกจากนี้เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2561 รายงานข่าวจากสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพเมืองเหอเฝย (Hefei Intitutes of Physical Sciences) เปิดเผยว่า ในการทดลองโครงการดวงอาทิตย์เทียม (Artificial Sun) จากนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชัน East (Experimental Advanced Superconducting Tokamak)

โดยสามารถสร้างให้อิเล็กตรอนมีอุณหภูมิสูงได้ถึง 100 ล้านองศาเซลเซียส (6 เท่าอุณหภูมิที่ใจกลางดวงอาทิตย์) อยู่ได้นาน 100 วินาทีได้เป็นครั้งแรก

ความสำคัญ : ความก้าวหน้าสำคัญสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญาพลังงานขาดแคลนของโลก


อันดับที่ 8 โลกร้อนกับการลดลงของประชากรแมลง 60 เท่า


กลางเดือนตุลาคม 2561 คณะนักวิทยาศาสตร์จาก สถาบันโพลีเทคนิคเรนส์ซเลียร์ (Rensselaer Polytechnic institute) ในเมืองทรอย รัฐนิวยอร์ก รายงานการลดลงของประชากรแมลงในเปอร์โตริโก (Puerto Rico) จากทศวรรษที่เจ็ดสิบ (ค.ศ.1976 ถึง ค.ศ.2013) พบการลดลงสูงสุดของประชากรแมลงบางสปีชีส์ถึง 60 เท่า สาเหตุใหญ่มาจากการร้อนขึ้นของบรรยากาศในป่าฝนของเปอร์โตริโก (Luquillo Rainforest) ซึ่งค่าเฉลี่ยสูงสุดของอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นคือ 2.0 องศาเซียลเซียส


ความสำคัญ : ผลกระทบจากโลกร้อนต่อระบบนิเวศของโลก


อันดับที่ 7 สุนัขดมกลิ่นหาคนติดเชื้อมาลาเรีย


28 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2561 จากการประชุมสัมมนาประจำปีของสมาคมเวชศาสตร์เขตร้อนและสุขอนามัยอเมริกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกา (The American Society of Tropical Medicine and HyGiene’s Annual meeting) คณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดูรัม (Durham University) ในประเทศอังกฤษ มีรายงานผลงานจากการร่วมมือกันของนักวิทยาศาตร์และสถาบันการวิจัยการแพทย์ในอังกฤษ และ แกมเบีย (แอฟริกา)

ทดสอบให้สุนัขพันธุ์สปริงเกอร์ สแปเนียล (ชื่อ Freya) ลาบราดอร์ (ชื่อ Lexi) และโกลเดน รีทรีฟเวอร์ (ชื่อ Sally) ให้ดมกลิ่นถุงเท้าไนล่อนเด็กชาวแอฟริกันในประเทศแกมเบีย จำนวน 175 คู่ ของผู้ที่เป็นโรคมาลาเรียแต่ไม่แสดงอาการ 30 ราย และอีก 145 รายไม่มีการติดเชื้อ ผลการทดสอบปรากฏว่าสุนัขดมกลิ่นถูกต้อง 70% ในเด็กติดเชื้อ และ 90% ในเด็กไม่ติดเชื้อ ซึ่งค่อนข้างน่าเชื่อถือได้

ความสำคัญ : มาลาเรีย โรคกำเนิด(ระบาด)ใหม่ เมื่อ 2 ปีก่อน (ปี 2016) ประชากรทั่วโลกตายเพราะ มาลาเรีย 445,000 คน ตั้งแต่ปี 2016 มา คนเกือบครึ่งโลกเสี่ยงต่อการติดเชื้อ


อันดับที่ 6 ยานญี่ปุ่นและของนาซาถึงดาวเคราะห์น้อยคุกคามโลก


เพื่อเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยกลับมาศึกษาที่โลก โดยองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น ได้ส่งยานอวกาศฮายาบูสะ ทู (Hayabusa 2) ออกจากโลก เมื่อธันวาคม พ.ศ.2557 เดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) เพื่อเก็บข้อมูลทางธรณีวิทยา และถ่ายภาพบนดาวเคราะห์น้อยกลับมาให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาได้สำเร็จในเดือน มิ.ย. 61 โดยจะเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อย 3 ครั้ง และปล่อยรถโรเวอร์เล็ก (ไม่มีล้อ) 4 คัน ลงสำรวจพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย

และเดือน ก.ย. 2559 องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกาหรือองค์การนาซา ได้ส่งยานอวกาศโอซิริสเร็กซ์ (OSIRIS–Rex) ซึ่งเป็นยานหุ่นยนต์ออกไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Asteroid Bennu) เพื่อเก็บตัวอย่างบนดาวเคราะห์น้อยกลับมายังโลกให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาวิจัย โดยถึงดาวเคราะห์น้อยเบนนู และโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยเบนนู 31 ธันวาคม 2561 จะใช้แขนหุ่นยนต์ลงแตะผิวเบนนูแล้วเก็บตัวอย่างไว้ในแคปซูล จากนั้นจะ เดินทางออกเบนนูในเดือน มีนาคม 2564 พร้อมตัวอย่าง กลับสู่โลกในเดือนกันยายน 2566

ความสำคัญ (ใหม่) : ปรากฏการณ์ยาร์กอปสกี้ (Yarkopsky Effect) ผลจากแสงอาทิตย์ต่อวิถีการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก


อันดับที่ 5 อนามัยโลกรับรองยาเอดส์ไทย


รายงานข่าวดีนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ที่โรงงานผลิตยารังสิต 1 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.โสภณ เมฆชน ประธานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองมาตรฐานสากล ยาเอฟฟาไวเรนส์ (Efavirenz) ขนาด 600 มิลลิกรัม ที่นักวิทยาศาสตร์ไทยใช้เวลานานกว่า 16 ปีในการพัฒนา ซึ่งไม่ใช่วัคซีนป้องกันและรักษาโรคเอดส์ ของ อภ. เป็นยารายการแรกของไทย และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลให้อยู่ในบัญชียา ของ WHO Prequalification Program (WHO PQ)

ความสำคัญ : ราคายาเอฟฟาไวเรนส์ลดลงจากมากกว่า 1 พันบาทต่อขวด เหลือเพียงประมาณ 180 บาทต่อขวด


อันดับที่ 4 หลุมดำจำนวนนับหมื่นที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก


วันที่ 5 เมษายน 2561 วารสาร Nature พิมพ์รายงานจากผลการศึกษาของคณะนักดาราศาสตร์จากจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียของสหรัฐฯ (Columbia University) ในนิวยอร์กชี้ว่า หลักฐานจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บสะสมไว้โดยกล้องโทรทรรศน์รังสีเอ็กซ์จันทรา (Chandra X-Ray Orservatory)

พบดาวคู่หลุมดำกับดาวฤกษ์มวลน้อย 12 คู่ ในระยะทางสามปีแสงจากหลุมดำยักษ์ Sagittarius มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 4 ล้านเท่า อยู่ที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก คาดว่าจะมีคู่หลุมดำ กับดาวฤกษ์มวลน้อยจาก 300 ถึง 500 คู่ และหลุมดำเดี่ยวขนาดเล็กประมาณ 10,000 หลุมดำ ในย่านบริเวณใกล้หลุมดำยักษ์

ความสำคัญ : สนับสนุนความคิดเก่า (มีหลุมดำมากที่ใจกลางกาแล็กซี่ทางช้างเผือก) และความสำคัญของดาราศาสตร์ความโน้มถ่วงจากการชนกันของหลุมดำ และอนาคตของกาแล็กซีทางช้างเผือกเกี่ยวกับหลุมดำยักษ์


อันดับที่ 3 นาฬิกาวันสิ้นโลก อีกสองนาทีถึงเที่ยงคืน



ข่าวใหญ่วันที่ 25 มกราคม 2561 คณะกรรมบริหารวิทยาศาสตร์และความมั่นคง (Board of Scaince and security) ของ Bulltin of the atomic scientasts (จดหมายข่าวของนักวิทยาศาสตร์อะตอม) ที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ปรับเวลา ‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ (Dooms Day Clock) เป็น 23.58 น. ขยับเข้าใกล้เที่ยงคืนเร็วขึ้น เร็วขึ้นกว่าปี 60 อีก 30 วินาที ถือเป็นการปรับเข็มนาฬิกาเข้าใกล้วันสิ้นโลกมากที่สุดในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่ปี 2496 จากภาวะการเริ่มต้นสงครามเย็น ของสหภาพอเมริกากับสหภาพโซเวียด

ซึ่งการปรับนาฬิกาวันสิ้นโลก เริ่มปีแรก ปี 2490 กำหนดเวลา 7 นาทีก่อนเที่ยงคืน แต่วิกฤติที่สุด ในปี พ.ศ. 2496 ปรับเวลาเป็น 2 นาทีก่อนเที่ยงคืน, ปี 2560 ปรับเวลาเป็น 2 เศษ 1 ส่วน 2 นาทีก่อนเที่ยงคืน

ความสำคัญ : เป็นเวลาเชิงสัญลักษณ์ บ่งชี้ความเสี่ยงของโลกต่อภาวะความหายนะ ถึงระดับวันสิ้นโลก จาก 3 ปัจจัยความเสี่ยงในปัจจุบัน คือ สงครามนิวเคลียร์ + Climate change + การคุกคามจาก Life sciences และ เทคโนโลยี


อันดับที่ 2 “เดนนี” ทายาทมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลกับโฮโมเซเปียนส์


เป็นข่าวเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 จากการตีพิมพ์รายงานในวารสาร Nature โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากสถาบันมานุษยวิทยา วิวัฒนาการมักซ์ พลังค์ (Max Planck institute for evolutionary Anthropology ) ในเยอรมนี โดยการวิเคราะห์พันธุกรรมว่า เดนนี (Denny) เด็กหญิงอายุ 13 ปี ซึ่งมีชีวิตเมื่อ 90,000 ปีก่อน มีมารดาเป็น มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Neanderthals) และบิดาเป็น Denisovan เป็นโฮโมเซเปียนส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

ความสำคัญ : เป็นหลักฐานแรกของการผสมข้ามสายพันธุ์ของมนุษย์ นีแอนเดอร์ทัลกับโฮโมเซเปียนส์


อันดับที่ 1 ดาวฤกษ์ดวงแรกๆ จากบิ๊กแบง



เป็นข่าวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 จากนักดาราศาสตร์ของ John Hopkins University ตีพิมพ์รายงานในวารสาร The Astronomical Journal การค้นพบดาวฤกษ์ J1808-514 ในกลุ่มดาวแท่นบูชา (ARA) อยู่ห่างจากโลก 1,950 ปีแสง มีอายุประมาณ 13,500 ล้านปี เปรียบเทียบกับอายุของจักรวาลจากบิ๊กแบง เมื่อประมาณ 13,700 ล้านปี

ความสำคัญ : อาจเป็นดาวฤกษ์ดวงแรกๆ ของจักรวาล เพราะประกอบด้วยธาตุที่เบาแทบทั้งหมด มีธาตุหนักที่เป็นโลหะน้อยมาก ข้อมูลใหม่มีผลต่ออายุของกาแล็กซีทางช้างเผือก

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวงการวิทยาศาสตร์ไทยและเทศ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่



หรือช่องทาง Facebook :

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.