Posted: 15 Jan 2019 07:59 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-15 22:59


นักศึกษาและนักกิจกรรม 7 คนถูกฟ้องหลังทำกิจกรรมให้กำลังใจไผ่ ดาวดิน ด้านหน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2560 (แฟ้มภาพ)

15 ม.ค. 2562 ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น มีนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดี 7 นักศึกษาทำกิจกรรมหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นเพื่อให้กำลังใจจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ดาวดิน เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2560 โดยมีการอ่านแถลงการณ์ อ่านกวี ร้องเพลง “บทเพลงของสามัญชน” ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้กำลังใจผู้ที่ถูกคุมขังจากการต่อสู้ และวางดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งเป็นดอกกุหลาบสีขาวสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพลังนักศึกษา และความบริสุทธิ์ของไผ่ ซึ่งในเวลานั้นอยู่หว่างการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

จำเลยในคดีดังกล่าวประกอบด้วย อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ , พายุ บุญโสภณ , อาคม ศรีบุตตะ , จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ , ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ , ณรงค์ฤทธิ์ อุปจันทร์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’

โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2560 ศาลขอนแก่นได้พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 7 คนมีความผิดจริง แต่เห็นว่าจำเลยที่ 1-6 ยังเป็นนักศึกษาอยู่จึงให้รอกำหนดโทษ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 7 สิรวิชญ์ ศาลเห็นว่า ได้จบการศึกษาแล้ว และมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว จึงน่าจะมีความเข้าใจในกระบวนการของศาล จึงสั่งให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 500 บาท โทษจำคุกห้รอลงอาญา 2 ปี และสั่งจำเลยทุกคนถูกคุมความประพฤติเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีการรายงานตัวทั้งหมด 6 ครั้ง และให้ทำงานบริการสังคมรวมเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งยังสั่งห้ามคบค้าสมาคมหรือรวมตัวกันทำกิจกรรม หรือกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอีก

ต่อมานักศึกษาทั้งเจ็ดคนได้ยื่นอุทธรณ์เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น (อ่านคำอุทธรณ์ด้านล่าง)

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะกำหนดรับรองเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การพูด และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชนไว้ตามมาตรา 34 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ถูกกล่าวหาจะแสดงออกได้โดยไร้ขอบเขต หากแต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่บัญญัติมาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยซึ่งในกรณีนี้คือความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากการนำสืบประกอบกับภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่าย ในเวลาต่อเนื่องกัน หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดี ซึ่งนายจตุภัทร์ เป็นจำเลย ผู้ถูกกล่าวหาที่1-6 กับพวก ได้รวมตัวกันอ่านแถลงการณ์หน้าป้ายศาล โดยมีไม้ทำเป็นสัญลักษณ์คล้ายตาชั่ง อันหมายถึงศาลเอียงไปทางรองเท้าบู๊ทซึ่งหมายถึงทหาร ตั้งอยู่ข้างหน้า สื่อแสดงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า ศาลพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์อย่างไม่ยุติธรรม เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายทหาร ทำให้ศาลถูกลดทอนศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือ

ส่วนผู้ต้องหาที่ 7 (สิรวิชญ์) แม้จะไม่ได้ปรากฎว่าร่วมอ่านแถลงการณ์และร้องเพลงร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกกับพวก แต่ก่อนการพิจารณาคดีของนายจตุภัทร์ ผู้ต้องหาที่เจ็ดสวมหน้ากากใบหน้าของจตุภัทร์ และถ่ายรูปร่วมกับคนที่สวมหน้ากากใบหน้าเดียวกับที่ถือป้ายกระดาษที่มีข้อความว่า “FREE PAI” อยู่บริเวณหน้าศาลในขณะที่จตุภัทร์ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกดดันศาลเพื่อให้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ และผู้ต้องหาที่เจ็ดนำดอกกุหลาบสีขาวไปวางบนทางเท้าที่สัญลักษณ์คล้ายตาชั่งข้างต้นตั้งอยู่ อันเป็นการยอมรับต่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่หนึ่งถึงหกกับพวก แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่เจ็ดจะกระทำการดังกล่าวนอกศาล แต่เป็นการกระทำที่มีความเกี่ยวเนื่องกับคดีที่มีการดำเนินอยู่ในศาลโดยตรง ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มุ่งหมายให้มีผลต่อการดำเนินการพิจารณาของศาล การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงเป็นการประพฤติไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

“ให้รอการกำหนดโทษของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติไว้คนละ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติคนละ 6 ครั้ง ให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลาคนละ 24 ชั่วโมง ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบหาสมาคมหรือจัดทำกิจกรรมหรือรวมตัวกันในลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก”

นอกจากนี้คำพิพากษาในศาลอุทธรณ์ยังระบุอีกว่า เงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดเงื่อไขในการคุมประพฤตินั้นถูกต้องแล้วและไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้ถูกกล่าวหา

000000

คำอุทธรณ์ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายรวม 5 ประเด็น กล่าวคือ

1. ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่าที่ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า “คำเบิกความพยานผู้กล่าวหาที่ว่า มีการกล่าวปราศรัย ร้องเพลง แสดงท่าทางและนำอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงความไม่พอในการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดขอนแก่นอยู่บริเวณป้ายศาลอุทธรณ์ภาค 4” นั้น ศาลรับฟังคลาดเคลื่อนและยังไม่ครบถ้วน เนื่องจากในการเบิกความตอบทนายผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีพยานผู้กล่าวหาคนใด ยืนยันว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-6 กล่าวพาดพิงถึงศาลจังหวัดขอนแก่น หรือแสดงความไม่พอใจในการพิจารณาคดีของศาล นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 – 6 ยังเบิกความไว้ชัดเจนว่า อุปกรณ์ลักษณะคล้ายตราชั่งและรองเท้าบู๊ทจัดเตรียมไว้สำหรับกิจกรรมการเสวนาเรื่อง พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งออกโดยทหาร แต่เนื่องจากในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ทหารมีการตรวจค้นประชาชนที่เดินทางไปให้กำลังใจจตุภัทร์ ติดตาม ถ่ายภาพ ซึ่งกระทบต่อสิทธิของประชาชนมากเป็นพิเศษ จึงมีบุคคลนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาวางที่หน้าศาล จึงไม่ใช่การตระเตรียมมาเพื่อแสดงออกในการวิพากษ์วิจารณ์การพิจารณาคดีของศาลแต่อย่างใด

2. หลักความอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีหมายถึง การที่ผู้พิพากษามีอิสระเต็มที่ในการพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยผู้พิพากษาจะต้องวางตัวเป็นกลางปราศจากอคติ และผลประโยชน์ในคดีที่ตนพิจารณา ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มีบทบัญญัติที่เป็นหลักประกันอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี และป้องกันมิให้ผู้บริหารศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงการทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีขององค์คณะ ด้วยเหตุดังกล่าวการที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดนำมวลชนมากดดันศาลและแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาล ทำให้ศาลไม่มีอิสระในการพิจารณาคดี จึงคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง และการแสดงออกของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่ใช่การกดดันและไม่อาจจะไปแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของศาลได้ นอกจากนี้ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สงบเรียบร้อย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ มิใช่กำหนดไว้เพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา และมิใช่หลักเรื่องความเป็นอิสระของผู้พิพากษาแต่อย่างใด

3. ที่ศาลได้ชี้หลักกฎหมายว่า ประชาชนย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลได้ ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลชี้ว่า วิจารณ์โดยถืออคติ โดยไม่ศึกษาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนให้ถ่องแท้ และสรุปว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่สุจริต เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์สำนวนคดีของจตุภัทร์ แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่เข้ามาก้าวก่ายการจัดการทำงานดูแลพื้นที่ศาลยุติธรรม ซึ่งปกติแล้วเป็นเรื่องของศาลเอง นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลที่ว่า “พฤติการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นประจักษ์ และมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่าเพื่อต้องการกดดันการใช้ดุลพินิจศาล ด้วยการนำมวลชนมาลิดรอนดุลพินิจของผู้พิพากษาเพื่อให้เป็นไปตามที่พวกพ้องตนต้องการ” ก็เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน ผู้อำนวยการศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็เบิกความไว้ชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดปฏิบัติตามคำสั่งศาลและไม่ได้ก่อความวุ่นวายภายในบริเวณศาล

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตลอดมา โดยฉบับปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ใน มาตรา 34 ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน” และโดยที่ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติขึ้นรักษาความสงบเรียบร้อยของกระบวนการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่ใช่กฎหมายเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมหรือความมั่นคงของรัฐ อันที่จะทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกจำกัดได้ตามรัฐธรรมนูญ การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้ก็มิได้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือชื่อเสียงของผู้อื่น จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

4. ที่ศาลวินิจฉัยว่า “หากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 มีเจตนามุ่งวิพากษ์วิจารณ์การลิดรอนเสรีภาพของทหาร เหตุใดจึงมาทำบริเวณหน้าป้ายศาล พร้อมกับมีนักข่าวสื่อมวลชนเสนอข่าวและมีการบันทึกภาพ บ่งชี้ว่ามีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้า” เป็นการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน เนื่องจาก ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ได้แสดงความไม่ยำเกรงต่อสถานที่ แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลบอกให้กลุ่มผู้ถูกกล่าวหาไปให้ทำกิจกรรมนอกศาล ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 เข้าใจว่าบริเวณดังกล่าวสามารถแสดงออกได้เพราะอยู่นอกเขตศาล และย่อมมีความปลอดภัยกว่า ไปทำกิจกรรมบริเวณอื่น ซึ่งก็อาจจะถูกเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ระงับหรือจับกุมอีกก็เป็นได้ ที่มีนักข่าวมาทำข่าวก็เป็นเรื่องปกติทุกนัด ไม่ได้มีการนัดหมายมา ส่วนที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ร่วมถ่ายภาพมีข้อความว่า FREE PAI สื่อความหมายให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ เป็นการวินิจฉัยที่ขยายความให้เป็นผลร้ายกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 เกินกว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณา เพราะข้อความ FREE PAI เป็นข้อเรียกร้องไม่เพียงแต่ของผู้ถูกกล่าวที่ 7 เท่านั้น แต่เป็นข้อเรียกร้องของหลากหลายกลุ่มในสังคม ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 ก็เพียงแต่ได้ร่วมถ่ายภาพเท่านั้น ไม่ได้แสดงท่าทางที่จะการใช้กำลังข่มขู่ คุกคาม หรือไม่เคารพต่อศาลแต่อย่างใด ทั้งต่อมาปรากฏว่าคดีของนายจตุภัทร์ จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษ จนกระทั่งคดีสิ้นสุดไปแล้ว แสดงว่าพฤติการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่ศาลวินิจฉัย ดังนั้น การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงยังไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล

5. การที่ศาลกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดนั้น แม้ศาลจะมีความเข้าใจว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นนักศึกษามีอุดมการณ์ที่ดี จึงลงโทษในสถานเบา เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 6 เห็นว่าคำวินิจฉัยที่ว่าตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีนั้นผิดพลาดคลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดแสดงพฤติการณ์ไปนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกชักจูงหรือหลงเข้าใจ แต่เป็นผลจากการติดตามความเป็นไปของสังคม ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่าในภาวะเช่นนี้ควรจะต้องมีบทบาทในการทักท้วงคัดค้านความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในสังคม ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจึงได้มีการทำกิจกรรมเช่นนี้ต่อเนื่องมา บุคคลอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดก็เป็นเสรีภาพของบุคคลแต่ละคน ทั้งนี้ บุคคลทุกคนย่อมมีเสรีภาพที่แสดงออกถึงความคิดเห็นและความเชื่อของตนเองได้และความเห็นของบุคคลทุกคนย่อมได้รับความเคารพโดยเสมอภาคกัน

ตามคำแนะนำประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับวิธีการรอการกำหนดโทษ การรอการลงโทษ และการกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ พ.ศ. 2559 ข้อ 13 ในการป้องกันมิให้จำเลยไปกระทำความผิดซ้ำ ศาลพึงกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติโดยการให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไข ไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของจำเลยเกินสมควร โดยอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และตัวบุคคล หรือเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดเห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมหรือจัดกิจกรรมหรือรวมตัวกันอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ข้อ 13 เนื่องจากศาลมิได้กำหนดเวลา สถานที่ และตัวบุคคลให้ชัดเจน ทั้งการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดในคดีนี้ก็ไม่ใช่การก่อเหตุร้าย หรือก่อภยันตรายต่อผู้อื่นหรือสังคม อันจะเป็นเงื่อนไขให้ศาลสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคบค้าสมาคมหรือการประพฤติได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก และการประพฤติของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดจนเกินสมควรและกระทบต่อสาระสำคัญของการใช้เสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ด จนทำให้ไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ทั้งคำสั่งดังกล่าวยังมีความคลุมเคลือ ไม่ชัดแจ้ง ว่าลักษณะอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดคือลักษณะใด ซึ่งไม่ถูกต้องกับหลักกฎหมาย

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.