(ซ้าย) จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาระหว่างแถลงข่าว (ขวา) ภาพโพรไฟล์บัญชีทวิตเตอร์ของราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนูน

Posted: 12 Jan 2019 05:36 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2019-01-12 20:36


ราฮาฟ อัล-คูนูน สตรีชาวซาอุดิอาระเบีย ลี้ภัยไปประเทศที่ 3 สำเร็จโดยออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อไปแคนาดา ด้านนายกรัฐมนตรีแคนาดาย้ำความสำคัญสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรี ในขณะที่ไม่ใช่ทุกกรณีที่สตรีซาอุดิอาระเบียจะลี้ภัยจากระบบ "ชายผู้ปกครอง" สำเร็จ โดยเมื่อปีก่อนมีหญิงซาอุดิอาระเบียพยายามลี้ภัยไปออสเตรเลีย แต่ถูกกักตัวที่ฟิลิปปินส์ ถูกส่งตัวกลับและปัจจุบันยังไม่ทราบข่าวคราว

12 ม.ค. 62 ตั้งแต่เวลา 23.37 น. คืนวันวานนี้ (11 ม.ค.) ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนูน สตรีชาวซาอุดิอาระเบีย เดินทางออกจากประเทศไทย จากสนามบินสุวรรณภูมิก่อนไปต่อเครื่องที่สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้เพื่อลี้ภัยไปที่นครโตรอนโต ประเทศแคนาดาแล้ว ทั้งนี้สำนักข่าวไทยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่สำนักงานข้ามหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ติดตามไปด้วย 1 คน

หลังออกเดินทางไปแล้ว ต่อมาราฮาฟโพสต์ในทวิตเตอร์ เมื่อเวลา 04.46 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยโพสต์รูปส่วนมือของเธอบนเครื่องบิน ถือหนังสือเดินทางและเอกสารที่เกี่ยวข้อง และโพสต์ข้อความว่า #ประเทศที่ 3 #ฉันทำได้แล้ว

#3rd country
#i_did_it

ในรายงานของ ThaiPBS พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองว่า ระบุว่าการตัดสินใจไปประเทศแคนาดาดังกล่าว "เป็นความต้องการของราฮาฟ"


#BREAKING: PM Justin Trudeau confirms Canada has granted asylum to Saudi teen #Rahaf al-Qunun. She is currently en route to #Canada from Thailand and will arrive 11:15 AM ET.@THEBELAAZ#RahafSaved pic.twitter.com/lDRi9KMNFq

— BELAAZ (@THEBELAAZ) January 11, 2019


ตอนหนึ่งจัสติน ทรูโด แถลงข่าวต่อเรื่องนี้ว่า รัฐบาลแคนาดาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ทูตในประเทศไทยได้ทำงานกับภาคีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดย UNHCR ร้องขอมายังทางการแคนาดา และเราตอบรับให้ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลคูนูนได้รับสถานะผู้ลี้ภัย

"นี่เป็นสิ่งที่เรามีความยินดีที่จะทำ เพราะแคนาดาเป็นประเทศที่เข้าใจว่าการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน และการยืนหยัดเพื่อสิทธิสตรีในโลกใบนี้ มีความสำคัญอย่างไร และผมขอยืนยันตรงนี้เลยว่าพวกเราตอบรับกับคำขอของสหประชาชาติ"

"เราปรารถนาให้คุณอัลคูนูนพบเจอสิ่งที่ดีที่สุดในอนาคตของเธอที่แคนาดา" นายกรัฐมนตรีแคนาดากล่าว และระบุว่าเป็นเกียรติที่จะได้ต้อนรับเธอ

ก่อนหน้านี้ราฮาฟ เดินทางจากคูเวตมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 ม.ค. 2562 โดยอยู่ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่องบินไปออสเตรเลีย โดยราฮาฟระบุว่าหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตัวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัว ยึดหนังสือเดินทาง และไม่สามารถเดินทางต่อไปออสเตรเลียได้

ในเวลาต่อมาสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยปฏิเสธ โดยชี้แจงว่าทางการไทยกักตัวเนื่องจากอัล-คูนูนไม่สามารถแสดงเอกสารสำคัญที่สามารถตรวจสอบได้ และกรณีนี้ทางการซาอุดิอาระเบียไม่ได้ขอให้พากลับประเทศ และถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว

ทั้งนี้ภายใต้ระบบชายผู้ปกครอง (Male Guardianship) ของซาอุดิอาระเบีย ระบุว่าผู้หญิงทุกคนจะต้องมีผู้ปกครองที่เป็นเพศชายซึ่งเป็นได้ทั้งพ่อ พี่ชาย น้องชาย สามี หรือแม้แต่บุตรชาย เพศชายเหล่านี้จะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ แทนตัวผู้หญิง และผู้หญิงจำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองในการทำหนังสือเดินทาง เดินทางออกนอกประเทศ ไปศึกษานอกประเทศหรือแม้แต่การแต่งงาน

ราฮาฟนับเป็นกรณีการลี้ภัยที่ประสบความสำเร็จ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2560 ดินา อาลี ลาสลูม (Dina Ali Lasloom) หญิงชาวซาอุดิอาระเบีย ถูกเจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์กักตัวเอาไว้ที่สนามบินนานาชาตินินอย อากิโน ประเทศฟิลิปปินส์ขณะเดินทางไปยังออสเตรเลียเพื่อลี้ภัย อย่างไรก็ตาม ทว่าถูกครอบครัวของเธอนำตัวกลับไปซาอุดีอาระเบียจากท่าอากาศยานในกรุงมะนิลา โดยระหว่างรอเดินทางกลับดินาได้โพสต์คลิปและข้อความลงในทวิตเตอร์ โดยในเวลานั้นมีการใช้แฮชแท็ก #SaveDinaAli แต่อย่างไรก็ตามเธอก็ถูกส่งกลับซาอุดิอาระเบีย และไม่มีใครทราบข่าวคราวของเธออีกเลย (อ่านเพิ่ม [1], [2])

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.