Posted: 14 Jan 2019 09:09 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2019-01-15 12:09


สื่ออิสระฟิลิปปินส์ระบุปัญหาคดีสังหารจำนวนมากที่เกิดจาก "สงครามยาเสพติด" ของโรดริโก ดูเตอร์เต ไม่มีความคืบหน้า จากจำนวน 5,050 คดีมีคลี่คลายอยู่เพียง 327 คดีเท่านั้น ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ต้องรับมือเรื่องนี้แทนแต่ทางการก็ไม่ให้ความร่วมมือในการสืบสวน การประวิงเวลาคดีเหล่านี้ออกไปอาจกลายเป็นภัยย้อนสู่ดูเตอร์เตเอง จากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศเริ่มสนใจสืบสวนข้อหา "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ในฟิลิปปินส์

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้ริเริ่มนโยบายสงครามกับยาเสพติดในฟิลิปปินส์(ที่มาภาพ: Wikipedia)

เหตุการณ์คืนที่แมนนี (นามสมมุติ) ถูกสังหารยังคงกระจ่างชัดในความทรงจำของผู้เป็นแม่อย่างลิตา (นามสมมุติ) แม้เวลาจะผ่านมาแล้ว 1 ปี ร่างไร้ชีวิตของแมนนีทรุดลงที่พื้น เลือดที่ไหลนองทำให้พื้นคอนกรีตสีเทากลายเป็นสีเข้มขึ้น แมนนีถูกสังหารในช่วงเวลา 4 ทุ่มขณะที่เขากำลังรอรับผักไปขาย เขาถูกยิงในระยะเผาขนและเสียชีวิตทันที ผู้ต้องสงสัยที่ก่อเหตุสวมหมวกปกคลุมใบหน้าตัวเองทำให้ไม่มีใครรู้ว่าเป็นใคร อีกทั้งการก่อเหตุยังเกิดขึ้นในช่วงหลังอาทิตย์ตกดินในที่คนน้อยก็ยิ่งทำให้ยากต่อการระบุตัวผู้ต้องสงสัย

นี่คือหนึ่งในกรณีการสังหารนอกกระบวนการกฎหมายที่เกิดขึ้นด้วยข้ออ้างนโยบาย "สงครามยาเสพติด" ของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากราว 20,000 ราย โดยจำนวน 5,050 กรณีที่เป็นการเสียชีวิตจากปฏิบัติการของตำรวจโดยไม่มีกระบวนการไต่สวนทางอาญา มีอยู่ 1,099 กรณีที่เป็นการสังหารนอกปฏิบัติการของตำรวจและมีเพียง 327 กรณีเท่านั้นที่ได้รับการคลี่คลาย และเป็นการดำเนินคดีจากกระทรวงยุติธรรมเพียง 76 รายเท่านั้น

อุปสรรคในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ถูกสังหารเป็นปัญหาที่สื่อ Rappler ระบุในรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตที่มาจากนโยบายสงครามยาเสพติดของรัฐบาลดูเตอร์เต กรณีของลิตาที่ต้องการเรียกร้องผ่านกระบวนการยุติธรรมให้ลูกชายตัวเองก็มีอุปสรรคตรงที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ การสูญเสียลูกชายแบบไม่ได้รับความเป็นธรรมทำให้เธอรู้สึกเหมือนมีบาดแผลช้ำหนองที่ไม่ได้รับการเยียวยา

กรณีของแมนนีเป็นหนึ่งใน 1,099 กรณีการสังหารนอกปฏิบัติการของตำรวจ ถึงแม้กองบัญชาการตำรวจนครบาลของกรุงมะนิลาจะระบุว่ามี 327 คดีที่ไขได้แล้ว แต่ที่ว่า "ไขได้" ในความหมายของตำรวจฟิลิปปินส์คือมีการส่งฟ้องถึงศาลและมีผู้ต้องหาอย่างน้อยหนึ่งคนถูกจับกุม นอกจากนี้ บางส่วนที่ไม่ได้ระบุว่าไขได้แต่แค่ระบุว่าคดี "กระจ่าง" แล้ว หมายความว่าคดีอยู่ในกระบวนการศาล สามารถระบุตัวผู้ต้องหาได้อย่างน้อยหนึ่งราย ไม่ได้หมายความว่า “ปิดคดี” ได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าในการสังหารเหล่านี้มีถึงร้อยละ 70.2 กรณีที่ไม่มีการส่งฟ้องต่อศาลและไม่สามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยได้ ตัวเลขคดีที่ยังถูกเก็บมืดจากตำรวจมหาศาลขนาดนี้กลายเป็นภาระให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์ต้องมาจัดการแทน

โฆษกของตำรวจนครบาลฟิลิปปินส์กล่าวว่าสาเหตุที่คดีต่างๆ ดำเนินไปอย่างล่าช้าเพราะพนักงานสืบสวนต้องตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะมีการยื่นฟ้อง เธอยังกล่าวยอมรับว่าการสืบสวนเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะขาดพยานในคดีเหล่านี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่มีผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือมีผู้รู้เห็นแต่กลัวที่จะมาเป็นพยาน ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ในฟิลิปปินส์เพราะผู้ก่อเหตุมักจะสามารถติดตามตัวพยานได้โดยง่ายเพราะมีความเกี่ยวพันเป็นครอบครัวหรือเป็นเพื่อนกัน อีกปัจจัยหนึ่งคือการสืบสวนคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าคดีฆาตกรรมทั่วไปและอาจจะส่งผลต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ๆ ทำการสืบสวนด้วย

ด้านฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ได้วิพากษ์วิจารณ์ว่านโยบายสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เตทำให้กระบวนการยุติธรรมผันผวน ขาดการกำกับดูแล และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมทำงานสืบสวนสอบสวนในเรื่องเหล่านี้ นั่นทำให้องค์กรที่ชื่อศูนย์เพื่อกฎหมายนานาชาติหรือเรียกสั้นๆ ว่าเซนเตอร์ลอว์ (CenterLaw) ยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดว่านโยบายสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เตนั้นเป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญ

คริสตินา อันโตนิโอ นักกฎหมายจากเซนเตอร์ลอว์วิจารณ์ว่าการที่กระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ทำการสืบสวนใน 76 กรณี จากกรณีการเสียชีวิตทั้งหมด 5,050 รายจากตัวเลขรัฐบาล หรือ 20,000 ราย จากตัวเลขโดยรวมของกลุ่มสิทธิมนุษยชนนั้น ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากในระดับย่ำแย่ อันโตนิโอก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้ที่พนักงานอัยการกลัวที่จะท้าทายระบบเดิม เพราะการฟ้องร้องคดีการสังหารแบบนี้ไม่ใช่การดำเนินคดีกับตัวบุคคลแต่เป็นกับองค์กรรัฐ

การที่หน่วยงานบังคับกฎหมายไม่ทำงาน ทำให้ภาระนี้ตกมาอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของฟิลิปปินส์แทน ตอนนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์กำลังทำการสืบสวนคดี 1,500 คดี ทั้งจากกรณีการเสียชีวิตในช่วงปฏิบัติการของตำรวจและคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฟิลิปปินส์ ชิโต กาสกง ยอมรับว่าตัวเลขเท่านี้ยังคงไม่เพียงพอ

กาสกงบอกว่าในขณะที่รัฐบาลก่อนหน้านี้มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีปริมาณและความถี่มากถึงขนาดที่เห็นทุกวันนี้ การที่รัฐบาลสืบสวนเรื่องนี้น้อยมากถือเป็นเรื่องน่าตระหนกเพราะมันเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะการฆาตกรรมก็ถือว่าเป็นการฆาตกรรมไม่ว่าเหยื่อจะเป็นคนค้ายาหรือไม่ก็ตามก็ต้องมีการสืบสวนจากตำรวจในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะนั่นทำให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ทวงถามความจริงจะต้องเผชิญกับกำแพงกั้นหากร้องเรียนกับหน่วยงานตำรวจ

นอกจากนี้ฝ่ายตำรวจก็ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อองค์กรสิทธิมนุษยชนพยายามจะสืบสวนเรื่องนี้เอง เรื่องนี้มีข้อวิจารณ์ที่รัฐบาลดูเตอร์เตมีการหวงข้อมูล ไม่ยอมให้เอกสารข้อมูลต่างๆ เพื่อการสืบสวนแม้กระทั่งกับศาลสูงสุดของประเทศ ศาลสามารถเรียกขอเอกสารจากรัฐบาลได้ในที่สุดเมื่อเดือน เม.ย. 2561 แต่ก็ยังเป็นที่กังวลว่ารายงานของตำรวจเกี่ยวกับคดีเหล่านี้จะมีอยู่จริงหรือไม่หรือมีการระบุไว้หรือไม่ว่าจะการสังหารโดยที่รัฐเป็นฝ่ายสนับสนุนให้ทำ

ทั้งนี้รายงานของ The Rappler ก็ระบุว่าความล่าช้าในการแก้ไขคดีไม่ได้ส่งผลดีต่อรัฐบาลดูเตอร์เตเองแต่อย่างใด เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กำลังมีแผนการสอบสวนดูเตอร์เตในเรื่องอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หลังจากที่มีการส่งเรื่องถึง ICC รวม 52 ครั้ง

ฟาตู เบนซูดา อัยการสูงสุดของ ICC ก็บอกว่าถึงแม้เธอกำลังตรวจสอบสถานการณ์ในฟิลิปปินส์อยู๋ แต่เธอก็จะเลิกกระบวนการตรงนี้ถ้าหากรัฐบาลฟิลิปปินส์สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาสามารถทำให้มีการดำเนินคดีเหตุสังหารในประเทศตัวเองได้

เรียบเรียงจาก

Duterte gov't allows 'drug war' deaths to go unsolved, The Rappler, Jan. 14, 2019

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.