Posted: 14 Jan 2019 08:22 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2019-01-14 23:22


นิธิ เอียวศรีวงศ์

วันศุกร์เข้าเสาร์แทรกอีกวันหนึ่งของผมเกิดขึ้นเมื่อเลี้ยวขวาตรงสี่แยกไฟแดงแห่งหนึ่ง พร้อมรถเลี้ยวขวาอีกหลายคัน ผมได้ยินเสียงแก็กๆ เมื่อรถวิ่ง จึงจอดลงข้างทางเพื่อดูว่าผมไปเหยียบตะปูหรืออะไรมา แต่ไม่พบทั้งสี่ล้อ จึงรอให้รถคันอื่นวิ่งผ่านไปให้หมดเสียก่อน เพื่อจะลองใหม่ให้แน่ใจว่าเสียงดังว่านั้นมาจากรถผมแน่

ระหว่างนั้น ผมสังเกตเห็นรถตรวจการณ์คันหนึ่งซึ่งเลี้ยวขวามาเหมือนกัน จอดชิดขอบทางข้างหน้าผม เข้าใจในตอนนั้นว่าเขาคงมีธุระแถวนั้น แต่เมื่อผมออกรถวิ่งช้าๆ แซงหน้าเขาไปเพื่อฟังเสียงซึ่งทำให้แน่ใจว่าเป็นของรถผมเองแน่ จึงจอดเข้าข้างทางใหม่เพื่อดูว่าโดนอะไร แต่ก็ไม่พบ แต่เสียงบอกให้รู้ว่าน่าจะเป็นล้อหลังด้านซ้าย ผมสังเกตเห็นรถคันนั้นวิ่งช้าๆ ตามมาและเข้าจอดชิดไหล่ทางข้างหลังผมไปสัก 10 เมตรอีกนั่นแหละ

ผมออกรถใหม่พร้อมเปิดหน้าต่างทุกด้านเพื่อฟังให้ชัด กะว่าเมื่อได้ยินเสียงแล้วต้องกะให้สิ่งที่ตำยางรถผมหมุนขึ้นพ้นพื้นถนนเสียก่อน คราวนี้ประสบความสำเร็จ คือเห็นแผ่นเหล็กเสียบอยู่บนยางรถล้อหลังด้านซ้ายจริง หันกลับไปดูรอบตัวก็ได้เห็นรถคันดังกล่าวจอดอยู่ด้านหลังอีกเหมือนกัน

จึงแน่ใจแล้วว่าเขาคงวิ่งตามมาและจอดเพื่อให้ความช่วยเหลือ ผมเดินตรงเข้าหารถตรวจการณ์คันนั้น คนขับลงจากรถและบอกว่า ผมได้ยินเสียงก็รู้แล้วว่าคุณมีปัญหาแน่ จึงตามมา

เมื่อมาถึงรถผม เขาก็ชี้ให้ดูเหล็กแผ่นนั้นอีก แล้วเอื้อมมือเหมือนจะไปดึงมันออก ผมรีบห้ามไว้และบอกว่า หากดึงออกยางจะแฟบลงเลย ผมจะประคองมันไปร้านปะยาง เขาท้วงว่าหากขืนวิ่งไปพร้อมเหล็กแผ่นนั้นทิ่มยางอยู่ กว่าจะถึงร้านยางก็เสียจนปะไม่ได้แล้ว เขาถามผมว่ามียางอะไหล่หรือไม่ ผมบอกว่ามีแต่ไม่เคยสูบลมมาหลายปีแล้ว คงใช้ไม่ได้ เขาบอกให้ผมเอาออกมาดู เขายกล้ออะไหล่ทิ้งลงพื้นเพื่อดูอาการกระเด้งของมัน แล้วเขาก็บอกว่าพอใช้ได้ เปลี่ยนยางแล้วค่อยเอาไปร้าน

เราช่วยกันถอดล้อ ส่วนใหญ่เขาเป็นคนทำ แต่ติดน็อตอยู่ตัวหนึ่งที่แม้เขาขึ้นขย่มตรงปลายที่ถอดแล้ว มันก็ไม่ยอมคลาย ทั้งๆ ที่เขาตัวใหญ่มากทีเดียวเมื่อเทียบกับคนไทยทั่วไป แต่ในที่สุดเราก็หาอะไรมาต่อประแจให้ยาวขึ้นได้นิดหน่อย เขาขึ้นขย่มอีกทีน็อตจึงคลาย

ผมเอาแม่แรงขึ้นสอดใต้ท้องรถเพื่อยกขึ้น แต่ผมไม่รู้หรอกว่าเขาต้องเสียบตรงไหน เขาจึงไปดึงมันออกมาแล้วสอนว่าให้เสียบตรงไหนพร้อมทั้งคำอธิบายว่า รถเก๋งทุกคันจะมี “ปีก” ตรงนั้นสำหรับไว้รองแม่แรง ซึ่งจะทำให้รถไม่มีวันพลาดตกจากแม่แรงได้ อันอาจเป็นอันตรายต่อคนหรือหากกระแทกแรงนัก จานเบรกอาจบิ่น, เบี้ยว, หรือหัก ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่อีก

ระหว่างนั้นเขาบอกผมว่า เมื่อรถผมวิ่งแซงเขาไปนั้น เขาเห็นหน้าผมก็รู้แล้วว่าหน้าอย่างนี้ทำไม่เป็นหรอก ตัวเขามีนัดกับเพื่อนซึ่งพยายามโทร.เข้ามือถือเขามาหลายครั้งแล้ว แต่เขาไม่รับและป่านนี้คงสายไปแล้วที่จะไปพบ ผมได้แต่ขอบคุณเขาซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างที่ใจรู้สึก โดยไม่รู้จะพูดอะไรได้อีก

เขาจึงพูดว่า “นี่แหละครับคนไทย” ด้วยน้ำเสียงและหน้าตาที่ภาคภูมิใจยิ่ง

ในช่วงนั้นเอง คนไทยอีกคนหนึ่งก็เฉียดเข้ามาพิสูจน์คำพูดของเขา คนขายขนมถาดๆ น่ะครับ ขี่มอเตอร์ไซค์พ่วงข้างที่วางถาดขนมต่างๆ อยู่เต็มไปหมด เขาหันมองผมแล้วถามว่าช่วยไหม? ผมยิ้มด้วยอาการต้อนรับ เขานำรถเข้าจอดชิดไหล่ทางด้านหน้า แล้วลงมาอย่างขมีขมัน เป็นช่วงที่เราต้องหมุนแม่แรงขึ้นโดยปราศจากก้านเหล็ก เพราะไม่รู้ว่ามันซ่อนอยู่ที่ไหนในตัวรถ หรือบริษัทรถยนต์ได้ให้มาด้วยหรือไม่

คนขายขนมใช้ไขควงหมุนรถขึ้น และในที่สุดเราทั้งสามก็เปลี่ยนล้อยางอะไหล่ได้สำเร็จ โดยคนขายขนมออกแรงมากที่สุด เป็นอันว่าในวันโชคร้าย ผมกลับได้พบเทวดาถึงสององค์พร้อมกัน

คนไทยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนแปลกหน้าดังที่เทวดาซึ่งขับรถตรวจการณ์บอกผมจริงหรือไม่ ผมคิดว่าจริง คนไทยเอื้อเฟื้อแก่คนแปลกหน้าไม่ต่างจากคนในเกือบทุกวัฒนธรรมทั่วโลก แต่คนแปลกหน้าต้องเอ่ยปากขอ คนไทยก็มักพร้อมช่วยเกินกว่าผู้ขอคาดหวังด้วยซ้ำ ตรงกันข้าม ถ้าไม่เอ่ยปาก คนไทยมักไม่ถามหรือยื่นความช่วยเหลือให้ หากไม่นับเทวดาสององค์นี้แล้ว ผมยังไม่เคยได้รับความกรุณาอย่างนี้ในเมืองไทยมาก่อนเลยชั่วชีวิต

ในสหรัฐเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ผมไม่เคยเปิดกระโปรงหน้ารถโดยไม่ถูกถามว่า มีปัญหาหรือไม่ จะให้ช่วยอะไรไหม จึงดูเหมือนคนอเมริกัน (สมัยนั้น) มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่งกว่าคนไทย แต่เราคงชั่งตวงวัดจิตใจกันง่ายๆ อย่างนี้ไม่ได้ เพราะความเอื้อเฟื้อต่อคนแปลกหน้าของวัฒนธรรมต่างๆ ย่อมแสดงออกโดยมีเงื่อนไขบางอย่างกำกับอยู่ด้วยเสมอ

ผมคิดว่าสิ่งที่ขัดขวางคนไทยให้ไม่ถามหรือเสนอความช่วยเหลือแก่คนแปลกหน้า ก็เพราะเหตุสองอย่าง อย่างแรกคือสำนึกช่วงชั้น ซึ่งมีความรุนแรงมากในวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของวัฒนธรรมไทยปัจจุบัน การให้ความช่วยเหลือ (ในทุกรูปแบบ) ในวัฒนธรรมของชนชั้นสูงเป็นส่วนหนึ่งของ “การอุปถัมภ์” ดังนั้น จึงเป็นเรื่องระหว่างคนมีอำนาจไม่เท่ากัน

การยื่นความช่วยเหลือแก่คนแปลกหน้า อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการยื่นการอุปถัมภ์ ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่ผมประสบไม่นาน รถของเพื่อนคนหนึ่งยางแตกแบนติดพื้นเลย เพื่อนผู้หญิงคนนั้นดูไม่สะดุ้งสะเทือนอะไรเมื่อผมชี้ให้ดู เธอควักโทรศัพท์ขึ้นเรียกบริษัทอะไรไม่ทราบซึ่งเธอได้ซื้อบริการรายปีไว้ บอกให้ส่งช่างมาดูแลจัดการ สักครู่ก็มีรถช่างมาและจัดการให้จนเรียบร้อย โดยไม่ต้องรับการอุปถัมภ์จากใครเลย

เหตุฉะนั้น ความเดือดร้อนของคนแปลกหน้านั้น จึงอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนในช่วงชั้นที่มีอำนาจ และดูจะจุ้นจ้านเกินเหตุที่จะไปเสนอความช่วยเหลือ เพราะอย่างไรเสียเราก็ไม่อาจคาดเดาช่วงชั้นของคนแปลกหน้าได้

เหตุอย่างที่สองคือปัจเจกชนนิยมครับ สังคมไทยก็เหมือนสังคมสมัยใหม่ทั่วไป นั่นคือผู้คนหลุดออกจาก “กลุ่ม” ทางสังคมประเภทต่างๆ กลายเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้นตามลำดับ ในสังคมขนาดใหญ่ซึ่งประกอบด้วยปัจเจกบุคคลจำนวนมาก (ซึ่งแตกต่างอย่างลิบลับกับชุมชนหมู่บ้าน ซึ่งทุกคนรู้จักกันเกือบหมด) จะเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างไร ในสังคมอื่นหลายแห่งโดยเฉพาะสังคมตะวันตก ความรู้สึกเชื่อมโยงระหว่างกันเกิดขึ้นจากสำนึก “ภราดรภาพ” แต่ในสังคมไทยเราไม่ได้ปลูกฝังสำนึกนี้ เราใช้สำนึกอีกอย่างหนึ่งคือชักจูงให้ผู้คนมีสำนึกสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถาบันสูงสุดเบื้องบนคือ ชาติ, ศาสน์, กษัตริย์

เราต่างมีสำนึกผูกพันว่า “คนไทยด้วยกัน”, “ชาวพุทธด้วยกัน” และ “ลูกพ่อเดียวกัน” แต่เป็นสำนึกผูกพันแนวดิ่งมากกว่าแนวนอน

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เราไม่รู้จะสื่อสารสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าอย่างไร จนกว่าจะรู้สถานะของเขาเสียก่อน และเฉพาะในเงื่อนไขที่ต้องทำอะไรร่วมกันในนามของชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร เมื่อไรจึงเป็นธุระของเขา เมื่อไรเป็นธุระของเรา

ในสังคมที่ขาดภราดรภาพ เมื่อปัจเจกชนไม่สามารถดูแลช่วยเหลือกันเองได้มากพอ สำหรับการใช้ชีวิตท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ของโลกสมัยใหม่ ก็เท่ากับเปิดพื้นที่ให้ทุนนิยมแทรกเข้ามาในชีวิตได้แทบทุกขณะจิต เช่น ใช้รถยนต์ (หรือพาหนะอื่นที่ต้องใช้ล้อยาง) โอกาสยางแตกย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ปราศจากการดูแลช่วยเหลือกันอย่างที่ผมโชคดีได้ประสบมา คนจำนวนไม่น้อยที่อ่อนเยาว์ในเรื่องเครื่องยนต์กลไก ก็ต้องหาเงินมาเลี้ยงบริษัทซึ่งรับจ้างดูแลปัญหาแบบนี้ให้ คนใช้รถทุกคนไม่อยู่ในฐานะจะทำอย่างเพื่อนผมได้

แล้วเรา ซึ่งออกมาจากหมู่บ้านมานานแล้ว จะใช้ชีวิตกันต่อไปได้อย่างไร

การเข้าสู่ความทันสมัยของไทยเน้นความเป็นสมัยใหม่ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม ภราดรภาพจึงไม่มีที่ในวัฒนธรรมสมัยใหม่ของไทย 5 ปีที่แล้วนักวิชาการขึ้นประกาศต่อหน้าฝูงชนอย่างมั่นใจว่า คนไม่เท่ากัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ควรมีสิทธิ์ทางการเมืองเสมอเหมือนกัน

สำนึกภราดรภาพเกิดขึ้นไม่ได้โดยปราศจากสำนึกแห่งความเสมอภาค เพราะทุกคนเท่าเทียมกันต่างหาก จึงทำให้เราสามารถมองเห็นคนอื่นเป็นเพื่อนฝูงญาติมิตรที่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ภราดรภาพและเสมอภาพเป็นมากกว่าการเมือง แต่เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมสมัยใหม่เกิดความสงบสุขและเป็นมิตรต่อกัน ความเสมอภาคทางการเมืองเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำสุดเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดภราดรภาพ ปฏิเสธความเสมอภาคถึงขั้นนี้ ก็เตรียมตัวอยู่ในสังคมที่พร้อมจะห้ำหั่นกันเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม หรือมิฉะนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้ระบอบที่ไม่มีเสรีภาพอะไรเหลืออีกเลย

เมื่อสำเร็จเสร็จกิจเรียบร้อยแล้ว เราทั้งสามก็พร้อมจะแยกจากกัน ผมให้รู้สึกซาบซึ้งในความกรุณาของเทวดาทั้งสองอย่างยิ่ง ต่างสละเวลาของตนซึ่งตั้งใจจะเอาไปใช้เพื่อการอื่นและเป็นประโยชน์ต่อตนเองทั้งคู่ ผมอยากแสดงความขอบคุณแก่เทวดาทั้งสองให้สาแก่ใจตัวเอง แต่ทั้งคู่ต่างก็เดินแยกย้ายไปยังพาหนะของตน ผมวิ่งตามเทวดาที่ขับรถตรวจการณ์ไป และยกมือไหว้ด้วยความขอบคุณทั้งๆ ที่รู้ว่าท่านอายุน้อยกว่าผมแน่ แล้ววิ่งกลับมาหาเทวดาที่แปลงกายเป็นพ่อค้าขายขนม ทำอย่างเดียวกัน ซึ่งยังความตกใจให้แก่ท่านพอสมควร รวมทั้งทำอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจเป็นการกระทำที่เลวร้ายที่สุดก็ได้

ผมควักเงินอีกก้อนหนึ่งยัดใส่มือท่าน ซึ่งท่านก็ปัดป้องและบอกว่าไม่ต้องครับ แต่ผมก็ยัดลงกระเป๋าเสื้อของท่านจนได้

ในช่วงนั้นผมคิดว่าเวลาของเทวดาท่านนี้เป็นเงินเป็นทอง แทนที่จะได้ขายขนม กลับต้องมาช่วยเปลี่ยนล้อให้ผม นอกจากขอบคุณแล้ว ผมก็ควรชดเชยความเสียหายด้วย

แต่เมื่อต่างออกรถไปตามที่หมายของแต่ละคนแล้ว ผมก็นึกถามตัวเองว่า เพราะเทวดาอีกท่านหนึ่งอยู่ในสภาพที่แสดงสถานะต่ำกว่าใช่หรือไม่ ผมจึงไม่อนุญาตให้เขาช่วยเหลือผมด้วยน้ำใจอันประเสริฐ กลายเป็นการ “จ้าง” ให้เขาแสดงความเมตตากรุณา ภราดรภาพไม่ได้เป็นสมบัติของคนจนเท่ากับของคนรวยหรอกหรือ

เหตุใดผมจึงแสดงกิริยาหยาบคายได้ขนาดนั้น หรือคนที่เติบโตมาในสังคมไทยอย่างผม ถึงอย่างไรก็เห็นคนไม่เท่ากันในส่วนลึกของจิตไร้สำนึกทั้งนั้น ความเสมอภาคเป็นเพียงจุดยืน ไม่ใช่สำนึกจริง
จนบัดนี้ผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_161212

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.