Posted: 12 Jun 2017 01:13 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

สมคิด ประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก พร้อมเตรียมเสนอหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 เร่งรัดสร้างรถไฟไทย-จีน



แฟ้มภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

12 มิ.ย. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม หวังลดปัญหาอุปสรรคการก่อสร้าง โดยเฉพาะแผนการสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอหัวหน้า คสช.ประกาศใช้มาตรา 44 ในวันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) เร่งรัดก่อสร้างหลังยืดเยื้อมานาน ประชุมร่วมกันมา 18 ครั้งแล้ว โดยยังคงมูลค่าก่อสร้าง แผนก่อสร้างเหมือนเดิม แต่หวังลดปัญหาอุปสรรคทุกขั้นตอนเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังหารือเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้สร้างรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อให้นักลงทุน ผู้โดยสารเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปผ่านสนามบินสุวรรณภูมิ ต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภาให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายประมูลให้ได้ภายในปีนี้ อีกทั้งเมื่อญี่ปุ่นแสดงความสนใจแผนลงทุน เพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเชื่อมต่อไปภาคตะวันออก เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้า จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาและหารือกับทางญี่ปุ่นให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นศึกษาแผนสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

เส้นทางดังกล่าวไม่อยากให้วัดเชิงเศรษฐกิจหรือรายได้จากจำนวนผู้โดยสารเพียงอย่างเดียว เพราะเครื่องวัดเชิงผลตอบแทนต่อสังคมและเศรษฐกิจรอบเส้นทางรถไฟจะเกิดขึ้นตามมาอย่างมาก ดังนั้นเส้นทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไปยังภาคตะวันออก นับเป็นส่วนหนึ่งในการเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก จึงมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมต้องหารือร่วมกันเพิ่ม โดยโครงการสร้างรถไฟเส้นทางต่าง ๆจากนี้ไปจะมีความคืบหน้ามากนับจากเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน

สำหรับปัญหาสายการบินนกแอร์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องศึกษาแนวทางให้ชัดเจนว่าต้องเลือกการเพิ่มทุน หรือมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เนื่องจากการบินไทยมีสายการบินไทยสไมล์ดูแลอยู่แล้ว หรือว่าต้องหาพาร์ทเนอร์ลงทุนเพิ่ม ขณะที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต้องเร่งแผนการขยายสนามบินให้ทันตามเป้าหมาย ส่วนกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เมื่อพัฒนาเส้นทางแล้วต้องการให้เชื่อมเส้นทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของนักท่องเที่ยวสู่ชุมชนเพิ่ม จึงมองว่าจากนี้ไปช่วง 1 ปีจะมีเงินทุนออกสู่ระบบจำนวนมากจากความคืบหน้าก่อสร้างหลายโครงการ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นับจากนี้แผนก่อสร้างรถไฟฟ้าและรถไฟทางคู่จะเริ่มทยอยเสนอ ครม.พิจารณา 9 เส้นทางในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ อาทิ เตรียมเสนอแผนสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางใหม่ คือ บ้านไผ่-มุกดาหาร- นครพนม และเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย -เชียงของ รวมทั้งรถไฟฟ้ากรุงเทพฯ-หัวหิน ลงทุนในรูปแบบ PPP ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าจากท่าเรือน้ำลึก จังหวัดกาญจนบุรีฯ-กรุงเทพฯ - ระยอง อาจต้องปรับเส้นทางลงด้านใต้ของกรุงเทพฯ เพื่อเบี่ยงไปยังเส้นทางผ่านจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อค่าใช้จ่ายเวนคืนน้อยกว่าผ่านกรุงเทพฯ รองรับการขนส่งสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก 12 ฟุต เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าไปยังภาคตะวันออก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.