Posted: 28 Mar 2018 06:49 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
องค์ประกอบหลักของการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หรือ ‘กฎหมายชุมนุมสาธารณะ' เกี่ยวข้องอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวข้องกับลักษณะหรือประเภทของ ‘กิจกรรม’ ตามมาตรา 3
[[1]] ที่กำหนดว่ากิจกรรมประเภทใดบ้างอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ที่ต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งหรือเจ้าพนักงานเสียก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้เกิดการชุมนุมได้ ส่วนลักษณะหรือประเภทของกิจกรรมใดที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ก็สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมก่อน เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับ ‘สถานที่’ ตามมาตรา 7
[[2]] ที่ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในสถานที่บางประเภท ส่วนการชุมนุมในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 7 ให้ถือว่าอยู่ในบังคับที่ต้องได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกตามกฎหมายฉบับนี้ โดยมีเงื่อนไขไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฎิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่สำหรับสถานที่บางประเภทตามมาตรา 8[
[3]] แต่ไม่ได้ห้ามการชุมนุมในสถานที่บางประเภทตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แต่อย่างใด
ดังนั้น ถ้าการชุมนุมใดไม่ใช่กิจกรรมและสถานที่ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 และมาตรา 7 ก็ควรได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ชุมนุมได้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ถูกยกเว้นให้ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ตามมาตรา 3 ยิ่งสามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้
ประเด็นสำคัญต่อเนื่องมา นั่นคือ เมื่อพิจารณาในแง่ของ ‘กิจกรรม’ และ ‘สถานที่’ อันเป็นองค์ประกอบหลักตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะพบว่าบทบัญญัติทุกตัวอักษรของกฎหมายฉบับนี้ไม่มีคำว่า ‘การเมือง’ หรือคำที่มีความหมาย/นัยยะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันแม้สักคำเดียว นั่นหมายความว่าอะไร ?
หมายความว่าไม่มีข้อห้าม ‘การชุมนุมการเมือง’ ในกฎหมายฉบับนี้ ทั้ง ‘การชุมนุมการเมือง’ และ ‘การชุมนุมไม่การเมือง’ ก็ล้วนถูกรับรองให้กระทำได้ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
แต่ทำไมตลอดเกือบสามปีนับตั้งแต่เริ่มประกาศใช้บังคับกฎหมายฉบับนี้ สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมการเมืองจึงหายไปจากกฎหมายฉบับนี้ ?
มีสองสาเหตุหลัก สาเหตุแรกมาจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่
3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ในข้อ 12 ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย” ด้วยคำสั่งนี้เองที่ขโมยการชุมนุมการเมืองไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยใช้ ‘จำนวน’ เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าการชุมนุมใดก็ตามที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายการชุมนุมการเมืองทั้งสิ้น ซึ่งเป็นดุลพินิจที่คับแคบและขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะเพราะไม่ได้คำนึงถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมมาประกอบในการใช้ดุลพินิจ
คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลพินิจและกำหนดนิยามตามอำเภอใจได้ ในเมื่อเป็นคำสั่งที่ไม่กำหนดนิยามของคำว่า ‘มั่วสุม’ ‘มั่วสุมทางการเมือง’ ’ชุมนุมทางการเมือง’ ไว้ และไม่บังคับให้เจ้าพนักงานใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึง ‘จำนวน’ และ ‘พฤติการณ์’ ประกอบกัน จึงมักพบกรณีห้ามไม่ให้มีการชุมนุมและฟ้องคดีต่าง ๆ อยู่เสมอว่าเจ้าพนักงานจะคำนึงถึง ‘จำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป’ เป็นเรื่องหลักในการพิจารณาว่าการชุมนุมใดเข้าข่ายขัดคำสั่งนี้หรือไม่ ส่วนจะมีพฤติการณ์มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ในขณะที่ยังหานิยาม หลักเกณ ฑ์ เงื่อนไขใด ๆ ที่ชี้ชัดไม่ได้ก็ไม่ต้องไปสนใจมัน สนใจเพียงแค่ว่าการชุมนุมใด ๆ ก็ตามที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปให้ถือว่าเป็นการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองไว้ก่อน
สาเหตุที่สองเกิดจากทัศนคติทางการเมืืองที่ไม่ถูกต้องในขบวนประชาชนด้วยกันเองที่มองว่ากฎหมายชุมนุมสาธารณะจะคุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ใครก็ตามที่ไม่แสดงท่าทีการชุมนุมการเมือง แต่จะไม่คุ้มครองและอำนวยความสะดวกให้ใครก็ตามที่ทำการชุมนุมการเมือง ซึ่งเป็นทัศนคติที่ทำให้เกิดการกีดกันและแบ่งแยกประชาชนส่วนอื่นออกจากตัวเองเพราะหวั่นเกรงว่าการชุมนุมไม่การเมืองของตนจะถูกเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมการเมืองไปด้วย และจะทำให้ถูกสั่งห้ามชุมนุมหรือฟ้องคดีด้วยเหตุที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและอำนวยความสะดวกตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะและคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ข้อเท็จจริงก็คือ ในสภาวะที่บ้านเมืองปกครองโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ได้สร้างภาวะครอบและเหลื่อมซ้อนระหว่างกฎหมายชุมนุมสาธารณะกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขึ้นมา ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ให้ความสำคัญในแง่ที่ว่าการชุมนุมใด ๆ เป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมือง หรือเป็นการชุมนุมที่เข้าข่าย องค์ประกอบ หรือนิยามของคำว่าการเมืองหรือไม่อย่างไร เพราะจะถูกเหมารวมว่าเป็นการชุมนุมการเมืองไปหมด เนื่องจากในภาวะดังกล่าวไม่ว่าการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมืองก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งสิ้นเพราะสร้างความสั่นคลอนให้แก่ความมั่นคง
เราควรทำอย่างไร ?ประการแรก เราไม่ควรมานั่งถกเถียงกันว่าการชุมนุมใดเป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมือง เพราะในแง่มุมที่สำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมการเมืองหรือไม่การเมืองในความหมายของใครหรือของอะไรก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งก็คือเป็นการสร้างพลังประชาชนทั้งคู่ ซึ่งเป็นสิ่งงดงามของสังคมที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตโดยมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐและทุนที่มีพฤติกรรมจ้องแต่จะเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดประชาชนตลอดเวลา หากประชาชนไม่สร้างกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลทั้งในทางการเมืองและไม่การเมืองให้เข้มแข็ง ดังนั้น เราควรยืนยันในหลักการว่า ไม่ว่าการชุมนุมการเมืองหรือการชุมนุมไม่การเมือง ประชาชนก็สามารถกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามระบบกฎหมายปกติ อย่างน้อยที่ใช้อ้างได้ในเวลานี้ก็คือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ซึ่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดต่อกฎหมายทั้งสอง
ประการที่สอง เราไม่ควรแยกการเมืองออกจากปัญหาชาวบ้าน การชุมนุมของประชาชนจะมีพลังต่อรอง กดดันและเรียกร้องหาความเป็นธรรมกับรัฐและทุนต้องชุมนุมไปให้ถึงการเมือง ต้องเอาปัญหาชาวบ้านไปชุมนุมเชื่อมโยงให้ถึงปัญหาทางการเมืองที่ผลิตโครงการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมมากดทับและก่อให้้เกิดผลกระทบอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
ประการที่่สาม ต้องเอาสิทธิเสรีภาพการชุมนุมการเมืองกลับคืนสู่กฎหมายปกติ อย่าปล่อยให้มันถูกแยกออกไปอยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
ประการที่สี่ ในกฎหมายชุมนุมสาธารณะถึงแม้จะไม่ถูกครอบและเหลื่อมซ้อนจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ก็มีปัญหามากในตัวของมันเอง เนื่องจากนิยามที่กว้างขวางของ ‘การชุมนุมสาธารณะ’ ถูกวางเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หยุมหยิมเพื่อลดทอนคุณค่าการชุมนุมสาธารณะลงไปด้วยการต้องแจ้งการชุมนุมก่อน หากไม่แจ้งก็มีความผิด พอแจ้งแล้วเจ้าพนักงานตอบมาโดยมีเงื่อนไขและหลักเกณฑ์หยุมหยิมในทางที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการชุมนุมก็เริ่มสร้างภาระยุ่งยากทันที เพราะมันเป็นเรื่องของภาษากฎหมายที่ต้องจ้างนักกฎหมายทำหนังสือโต้ตอบให้ ถ้าหากเจ้าพนักงานมีคำสั่งห้ามชุมนุมก็จะยุ่งยากมากยิ่งขึ้นเพราะต้องจ้างนักกฎหมายอุทธรณ์คำสั่ง สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างภาระยุ่งยากและค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนทั้งหลาย เพราะมีพื้นที่/กรณีปัญหามากมายที่ประชาชนไม่สามารถหานักกฎหมายมาช่วยเหลือได้ ตรงจุดนี้เองที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปโดยอัตโนมัติ ในแง่นี้ เราไม่ควรสยบยอมต่อกฎหมายฉบับนี้หากกฎหมายฉบับนี้ไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็ควรร่วมกันต่อสู้คัดค้านให้กฎหมายฉบับนี้ยกเลิกไปเสียหากสาระสำคัญ กระบวนการและขั้นตอน เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ถูกแก้ไข
ทำไมเราควรทำเช่นนั้น ? ก็เพราะว่่าเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งมักจะมีเสรีภาพในการพูดและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประกอบส่วนอยู่ด้วยทั้งก่อน ระหว่างและหลังการชุมนุมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตจิตใจเรา ต่อความเป็นมนุษย์ของเรา มันสำคัญมากเหมือนกับคำคมร่วมสมัยของผู้ที่เคารพนับถือท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ห้ามฉันพูด ฉันก็จะพิมพ์ ห้ามฉันพิมพ์ ฉันก็จะเขียน ห้ามฉันเขียน ฉันก็จะยังคิด หากห้ามฉันคิด ก็ต้องห้ามลมหายใจฉัน”[
[4]] นั่นแหละ เสรีภาพการชุมนุมไม่ต่างจากคำคมร่วมสมัยที่ยกขึ้นมานี้ “ห้ามไม่ให้ฉันชุมนุม ห้ามลมหายใจฉันดีกว่า”
เชิงอรรถ
[[1]] มาตรา 3 พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้
(1) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
(2) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
(3) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
(4) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
(5) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
(6) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึกและการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
[[2]] มาตรา 7 การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทำมิได้
การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น
ศาลตามวรรคสองหมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารและศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล
ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงจำนวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย
[[3]] มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
(1) สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
(2) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
(3) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
(4) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ
(5) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
[[4]] สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นคนกล่าวถ้อยคำนี้ขณะที่ถูกทหารควบคุมตัวอยู่ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวณชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี จากการที่เขาผูกผ้าสีแดงบริเวณป้ายแยกราชประสงค์ภายหลัง
เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 และ 19 พฤษภาคม 2553 ที่ประชาชนถูกฆ่าตายกลางท้องถนนในกรุงเทพฯกว่าร้อยศพ - ผู้เขียน