Posted: 17 Mar 2018 04:45 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว  เว็บไซต์ประชาไท)

สื่อไฟแนนเชียลไทม์รายงานถึงโรงแรมแห่งหนึ่งในอินเดียที่มีนโยบายการจ้างงานโดยเน้นผู้ที่ขาดโอกาสทางสังคม ทั้งคนพิการและคนในระดับล่างทางเศรษฐกิจและสังคมเช่นเด็กกำพร้าในสถานเลี้ยงเด็ก โดยย้ำว่ามันเป็นโมเดลธุรกิจที่ส่งผลดีต่อพวกเขา ไม่ใช่การทำการกุศลหรือ CSR

17 มี.ค. 2561 โรงแรมเลมอนทรี เป็นโรงแรมขนาดกลางที่มีสาขามากที่สุดในอินเดีย และในทุก 44 สาขาของโรงแรมแห่งนี้ก็มีนโยบายเน้นจ้างงานกลุ่มคนที่ขาดโอกาส พวกเขาจ้างงานคนพิการ 550 ตำแหน่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน รวมถึงคนพิการนั่งรถเข็น ผู้พิการแขนขา รวมแล้วเป็นร้อยละ 12 ของตำแหน่งงานทั้งหมด 4,600 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังมีการเน้นจ้างงานคนที่มีพื้นเพมาจากครอบครัวยากจนด้วย

ไฟแนนเชียงไทม์ยกตัวอย่างกรณีของสีมา ราวัต แม่ลูกสองจากครอบครัวชนชั้นแรงงานผู้ถูกกดดันจากสามีและแม่สามีให้ต้องหางานทำเพราะมีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงขึ้นรวมถึงค่าเล่าเรียนของลูกๆ ราวัตเป็นคนพิการทางการได้ยินมาแต่กำเนิด เคยเข้าโรงเรียนสำหรับคนพิการทางการได้ยินเมื่ออายุ 15 ปี เธอสื่อสารด้วยภาษามือซึ่งอาจจะทำให้มีความยากลำบากสำหรับผู้ไม่รู้ภาษานี้

ในช่วงแรกๆ ที่โรงแรมการดำเนินนโยบายจ้างงานคนพิการมีลูกจ้างรายอื่นๆ ต่อต้านนโยบายเช่นนี้เพราะกลัวว่าคนพิการจะทำงานไม่ได้และอาจจะเกิดปัญหาเป็นภาระแก่คนทำงานอื่นๆ แต่ทางผู้ก่อตั้งโรงแรม ปาตู เกสวานี และผู้บริหารอื่นๆ ก็จัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจว่าผู้พิการทางการได้ยินเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกับทีมได้โดยที่ความพิการไม่ได้เป็นภาระกับคนอื่นอย่างที่พวกเขาเข้าใจ

อาราธนา ลัล รองประธานด้านการริเริ่มเพื่อความยั่งยืนของเลมอนทรีกล่าวว่าสิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่เพื่อการกุศล และไม่ใช่นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (CSR) แต่เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจที่ปฏิบัติกันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของพวกเขาแล้ว

เรื่องนี้มาจากการริเริ่มของเกสวานีผู้ที่เปิดเผยว่าในตอนแรกเขารับคนพิการรุ่นใหม่เข้ามาทำงานโดยที่ไม่ได้คิดอะไรหรือมีวิสัยทัศน์อะไรเป็นพิเศษ แต่แค่รู้สึกว่าความสำเร็จทางธุรกิจของเขาทำให้เขารู้สึก "อยากขอบคุณ" ท่ามกลางความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคมอินเดีย

ในแง่การบริหารจัดการนั้น ทางโรงแรมจะมีการจัดอบรมการใช้ภาษามือ รวมถึงการอบรมการทำงานร่วมกับคนพิการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไม่เปลี่ยนแปลงกำหนดการแบบกระทันหันในนาทีสุดท้าย การวางแผนล่วงหน้า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พนักงานคนพิการทำงานได้อย่างลุล่วง จนกระทั่งคนทำงานของเลมอนทรีเริ่มชอบแนวคิดการทำงานร่วมกับคนพิการ

"ในฐานะชาวอินเดีย พวกเราคุ้นชินกับความทุกข์ พวกเราอยากจะทำอะไรสักอย่างแต่ก็รู้สึกไร้พลัง ดังนั้นเมื่อคุณได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เน้นในเรื่องนี้คุณก็จะเริ่มรู้สึกว่าคุณไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อผลกำไร แต่เพื่ออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่า เป็นหนทางเล็กๆ น้อยๆ ในการช่วยสร้างชาติ" เกสวานีกล่าว

นอกจากคนทำงานแล้ว แขกที่มากพักก็แสดงความประทับใจและวิจารณ์ในแง่บวกบนเว็บไซต์ท่องเที่ยวเกี่ยวกับนโยบายของโรงแรมนี้ การสื่อสารกับคนที่มาพักก็ไม่เป็นปัญหาเพราะคนพิการทางการได้ยินจะมีเข็มกลัดติดบอกและใช้ภาษาท่าทางในการสนทนา รวมถึงใช้วิธีให้แขกที่มากพักเขียนบอกได้ถ้าหากต้องการอะไรเพิ่มเติม

โมฮัมหมัด ดานิช คนหูหนวกอายุ 27 ปี จากเดลีทำงานในเลมอนทรีมาได้ 4 ปี แล้ว และในตอนนี้เขาได้ทำงานเป็นหัวหน้างานของแผนกอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรม เขาบอกว่าเขารู้สึกดีที่ได้ทำงานที่เลมอนทรีเพราะเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับทุกคนได้

ผู้จัดการระดับสูงของเลมอนทรีบอกว่าการจ้างคนพิการไม่ใช่แค่ต้องการทำให้เกิดปัจจัยแบบ "สร้างความรู้สึกดี" (feelgood factor) แต่มันเป็นการตัดสินใจทางธุรกิจที่สมเหตุสมผล เพราะกลุ่มคนพิการจะตั้งใจทำงานและสร้างผลผลิตมากเพราะรู้สึกว่ามีคนให้โอกาสพวกเขา

"ผมรู้สึกละอายใจอยู่นิดหน่อยที่จะหาเงินในประเทศนี้ ในประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้สูงมาก" เกสวานีกล่าว "ถ้าหากภาคเอกชนไม่เน้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม พวกเราในฐานะประเทศก็จะล้มเหลว"


เรียบเรียงจาก

Lemon Tree Hotels hires ‘opportunity-deprived’ people as a key part of its workforce, Financial Times, 16-03-2018
https://www.ft.com/content/4257b9bc-e4e0-11e7-a685-5634466a6915

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.