Posted: 12 Mar 2018 01:18 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ซาร่า โคลบี สัมภาษณ์และเรียบเรียง

ในวันที่ได้รับการยอมรับเป็นสตรีเพศตามกฎหมาย 'อั้ม เนโกะ' เล่ามุมมอง ประสบการณ์ชีวิตในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ระบุ ฝรั่งก็เหยียดและคุกคามคนข้ามเพศ การสมยอมจะไม่นำไปสู่การปลดพันธนาการด้านอัตลักษณ์ที่ผูกอยู่กับค่านิยมรักต่างเพศ การทำให้หญิงเอเชียเป็นวัตถุทางเพศ รวมถึงบรรทัดฐานเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

เมื่อ 7 มี.ค. ก่อนวันสตรีสากลหนึ่งวัน เป็นวันสำคัญของศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ ‘อั้ม เนโกะ’ หลังจากอาศัยอยู่ที่ปารีสในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองเป็นเวลา 4 ปี วันนี้เป็นวันที่การเปลี่ยนเพศของอั้มผ่านการยอมรับตามกฎหมาย วันที่เธอมีคำนำหน้าชื่อว่า “มาดาม” (นาง/นางสาว) การรับรู้ทางกฎหมายไม่เกี่ยวประสบการณ์ความเป็นหญิงสำหรับอั้ม เธอเห็นว่าตัวเองเป็นผู้หญิงมาตลอดชีวิตและเชื่อมั่นใน "สิทธิการกำหนดใจตนเอง " ด้านอัตลักษณ์ทางเพศ โดยประเทศฝรั่งเศสมีกฎหมายว่าด้วยการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ต่างจากประเทศไทยที่บุคคลข้ามเพศไม่สามารถเปลี่ยนเพศสภาพได้

อั้มทำกิจกรรมแสดงการไม่ต่อต้านรัฐบาลไทยหลายครั้งๆ จากนั้นจึงหลบหนีออกจากประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2557 หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้เธอเข้ารายงานตัว เธอรู้ตัวว่าถ้าเธอไม่หนี เธอจะถูกคุมขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเรือนจำชาย ที่ๆ เธอจะตกอยู่ในอันตรายจากการข่มขืนและความรุนแรงต่างๆ ในฐานะที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศ

อั้มเป็นนักกิจกรรมแนวสุดขั้วมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ที่เธอโพสต์ท่าถ่ายรูปที่ล่อแหลมกับรูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ต้องสงสัยว่าการทำกิจกรรมของเธอทำให้บางคนโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นที่จดจำของผู้คนได้แก่การรณรงค์ต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2556 เธอลาออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะคณะแห่งหนึ่งบังคับให้เธอสวมเครื่องแบบนักศึกษาชาย อันเป็นการแสดงความไม่ยอมรับอัตลักษณ์ลักษณ์ทางเพศของเธอ เธอถูกบังคับให้ลาออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยเช่นกันเมื่อเธอพยายามชักธงดำแทนที่ธงชาติไทยที่อาคารโดมในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการประท้วงนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีในขณะนั้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นอธิการบดีที่สนับสนุนขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย


โปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านเครื่องแบบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2556

ต่อคำถามถึงสาเหตุที่อั้มสร้างความตะลึงในสังคมและสื่อไทยอยู่เสมอๆ อั้มคิดว่าเป็นเพราะ "ผู้ชายไม่คาดหวังว่าผู้หญิงข้ามเพศจะมีบทบาททางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองมิใช่สิ่งที่สังคมต้องการจากผู้หญิงข้ามเพศ"

แล้วสังคมต้องการอะไร? อั้มตอบว่า "ต้องการให้ผู้หญิงข้ามเพศที่ 'ดี'” "ต้องสวย เฮฮาและเป็นคนไร้สาระ" อั้มยอมรับว่าเธอเคยทำตัวตามแนวคิดเช่นว่าจริงๆ ก่อนที่จะมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว โดยเชื่อว่าคนอื่นจะชอบเธอถ้าเธอทำตัวน่ารักและเป็นผู้หญิงพอ ด้วยความที่อั้มมีสรีระ หน้าตาตรงกับเพศสภาพและเป็นสาวสวย เธอจึงสามารถหลีกพ้นจากการเลือกปฏิบัติที่เพื่อนข้ามเพศคนอื่นๆ ที่มีหน้าตาหรือสรีระไม่สวยพอกับผู้หญิงทั่วๆ ไปต้องเผชิญ "คนที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของเพศต้นแบบต้องเผชิญกับความรุนแรงและการกลั่นแกล้ง อั้มยังโชคดีกว่าคนอื่นๆ แต่อั้มจะไม่ลืมเขาหรือใช้ประโยชน์จากการรักษาที่อั้มได้ [... ] หญิงข้ามเพศไม่ควรจะต้องแต่งหน้าจนสวยสมบูรณ์แบบเพื่อให้สังคมยอมรับ"

การมีสรีระหน้าตาตรงกับเพศสภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ) ไม่ได้เป็นประโยชน์กับอั้มเสมอไป เธอเล่าประสบการณ์การเดทที่ผ่านมาในปารีสว่าเคยเจอผู้ชายที่แสดงอาการขยะแขยงเมื่อเธอเปิดเผยกับคู่เดทว่าเธอเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เธอกล่าวว่า ผู้ชายบางคนแสดงท่าที "รังเกียจ" เมื่อทราบถึงเพศวิถีของเธอ ทั้งยังกล่าวหาว่าเธอโกหกและปกปิดความจริง เธออธิบายว่าผู้ชายรู้สึกเจ็บช้ำที่เธอดูไม่เหมือนผู้หญิงข้ามเพศอย่างชัดเจน "ผู้ชายพวกนั้นไม่อยากเชื่อว่าตัวเองจะอยากนัดเดทกับผู้หญิงข้ามเพศ" อั้มกล่าว

อั้มเชื่อว่าผู้ชายมีปฏิกริยารุนแรงเพราะเธอเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นชายที่ "เปราะบาง" และเพศวิถีแบบรักต่างเพศ อั้มเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมักแสดงอาการรุนแรงเมื่อรู้ว่าผู้หญิงที่เขารู้สึกดึงดูดทางเพศเป็นผู้หญิงข้ามเพศว่าเป็นเพราะ "ผู้ชายพวกนั้นต้องการรักษาระยะห่าง เพื่อปกป้องตัวเองจากสิ่งที่อยู่ภายในตัวเขาเอง ซึ่งดึงดูดให้เขาพึงใจผู้หญิงข้ามเพศ"

อั้มเล่าว่า ถ้าผู้ชายพวกนั้นไม่ได้แสดงออกด้วยการโต้ตอบอย่างรุนแรงก็จะพยายามหยอกล้อเธอ "ผู้ชายพวกนี้พยายามพิสูจน์ความเป็นชายของตัวเองให้ตัวเองพอใจโดยการล้ออั้มและคนข้ามเพศอื่นๆ เพื่อต้องการแสดงว่าเขาเป็นผู้ชายสมชาย เป็นผู้ชายตามสรีระ จะคบค้าสมาคมกับผู้ชายเท่านั้น เขาก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบผู้ชาย"

เรื่องที่น่าแปลกใจคือ บ่อยครั้งคำพูดที่เหยียดหยามคนข้ามเพศอย่างที่สุดกลับมาจากสมาชิกแวดวงนักกิจกรรม อั้มบอกว่าการเคลื่อนไหวในประเทศไทยไม่ได้ "ก้าวหน้า" ขนาดนั้น "นักเคลื่อนไหวไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และวาทกรรมก็ล้วนแล้วแต่ออกมาจากปากของผู้ชาย"

โชคดีที่แฟนหนุ่มชาวตะวันตกคนปัจจุบันของอั้มที่เธอคบหามาสองปียอมรับอดีตที่เธอเล่าให้ฟังมากขึ้น เมื่ออั้มบอกแฟนว่าอั้มผ่านการเปลี่ยนเพศ แฟนก็ "รู้สึกแปลกใจนิดหน่อย" แต่ในที่สุด เขาตัดสินใจได้ความรู้สึกของเขาที่มีต่ออั้มสำคัญกว่าการที่อั้มเป็นผู้หญิงข้ามเพศมาก แม้ว่าอั้มและแฟนจะไม่เห็นฟ้องต้องกันทุกเรื่อง อั้มเล่าว่าแฟนไม่ได้เห็นด้วยกับจุดยืนทางการเมืองของอั้ม และเขาไม่ได้เป็นซ้ายสุดขั้วเช่นเธอ "เขาทนไม่ได้ถ้าอั้มพูดเรื่องคอมมิวนิสต์" อั้มกล่าวกลั้วเสียงหัวเราะ โดยอั้มได้ศึกษาทฤษฎีการเมืองมากขึ้นตั้งแต่มาอยู่ที่ปารีสและศึกษาสาขาสังคมวิทยาที่ Université Paris Diderot

อั้มมักตอบคำถามส่วนตัวที่ฉันถามด้วยคำตอบตามหลักการและตอบแบบกว้างๆ ฉันคิดว่าอั้มทำแบบนี้เพราะต้องการปกป้องตัวเอง อั้มถูกสื่อมวลชนไทยปีกขวาโจมตีอย่างรุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2557 หนังสือพิมพ์เอเอสทีวีได้ตีพิมพ์บทความที่รบกวนจิตใจอย่างยิ่งว่า ถ้าหากอั้มต้องโทษจำคุกเธอจะถูกนักโทษชายในคุกรุมโทรม หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ บรรยากาศความเป็นปรปักษ์ต่อการต่อต้านเพิ่มสูงขึ้น แม้กระทั่งคณะกรรมาธิการผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ก็ประณามอั้ม และย้ำว่า UNHCR ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เธอได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศส แต่อั้มก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อลดแรงโจมตี เธอยังคงแสดงความคิดเห็นอย่างสุดขั้วเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ ต่อสาธารณะผ่านทางเฟซบุ๊คไลฟ์เสมอ พล.ต.นพ. เหรียญทอง แน่นหนา กลุ่มศาลเตี้ยที่มีจุดยืนแบบอัลตร้ารอยัลลิสต์ โพสต์ที่อยู่ของผู้ที่เขาเชื่อว่าเป็นคนที่ให้ที่พักอาศัยกับอั้มในปารีสที่หน้าเฟซบุ๊คของตนเอง พร้อมเรียกร้องแกมคุกคามให้ชาวไทยที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสไปตามที่อยู่นั้นเพื่อระบุว่าอั้มอาศัยอยู่ที่ที่อยู่นั้นจริงหรือไม่


อั้มร่วมการรณรงค์สนับสนุนประชาธิปไตยที่กรุงปารีส

เป็นเรื่องยากฉันที่จะเชื่อว่า อั้มที่มีภาพลักษณ์ที่แข็งกร้าวและยั่วยุในพื้นที่สาธารณะ จะเป็นคนเดียวกันกับผู้หญิงท่าทางเป็นมิตร ให้สัมภาษณ์กับฉันด้วยเสียงเบาๆ ฉันคิดว่านี่คือการปกป้องตัวเองของอั้มโดยการสร้างภาพลักษณ์นักกิจกรรมที่ปกปิดความเปราะบางหรือความยากลำบากที่เธอเผชิญอยู่และเลือกที่จะมองโลกในแง่ดี ฉันถามว่า อั้มรู้สึกอย่างไรในช่วงระยะเวลาสี่เดือนช่วง พ.ศ. 2557 ที่เธออยู่ในสถานะไม่รู้อนาคตแน่นอนว่าจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศสหรือต้องกลับไปประเทศไทยแล้วติดคุก อั้มตอบว่าเครียดมากแต่ก็ทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น

นอกจากจะต้องรับมือกับการข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงและการประณามหยามเหยียดต่างๆ ที่ได้รับในฐานะผู้หญิงข้ามเพศแล้ว เธอยังต้องเผชิญกับการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย อั้มเล่าว่า เวลาใช้การขนส่งสาธารณะ มีผู้ชายเอาตัวมาเบียดเธอพร้อมกระซิบวาจาที่เป็นการละเมิดทางเพศในพื้นที่สาธารณะ การคุกคามทางเพศในฝรั่งเศสรุนแรงมากขึ้นกว่าในประเทศไทย โดยอั้มเชื่อมโยงการคุกคามทางเพศจากชายตะวันตกว่าเป็นผลมาจากลัทธิคลั่งไคล้ไหลหลงผู้หญิงเอเชีย อั้มเชื่อว่าเราจำเป็นต้อง "ต่อสู้กับความคิดโหลๆ ที่นำเสนอผู้หญิงเอเชียทางเพศ เช่น ผู้หญิงเอเชียต้องการเซ็กส์ตลอดเวลา หรือผู้หญิงเอเชียไร้เดียงสา มีนิสัยอ่อนน้อมยอมตาม"

อั้มเล่าว่ากระเทยเผชิญแรงกดดันมหาศาลในการทำตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมกระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทย "ถ้าสตรีข้ามเพศที่เข้าร่วมการชุมนุมกับเสื้อเหลืองประพฤติตนตามคุณค่าหลักที่ประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จะได้รับการยอมรับและยกย่อง" อั้มเชื่อว่าคนข้ามเพศที่ได้รับความความเคารพนับถือมากที่สุดในประเทศไทยเป็นคนที่หัวอ่อนมากที่สุด ก็คือ "คนที่ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBT ต้องเคารพ (สภาพสังคมแบบเดิม - status quo) และไม่ควรทำอะไรที่สุดโต่งเกินไป"

ต่อคำถามเรื่องการจำกัดความอัตลักษณ์ของอั้ม อั้มยังยืนยันว่าชาวตะวันตกพยายามกำหนดบทบาทเธอเป็น "เลดี้บอย" โดยไม่ตระหนักว่าการจัดประเภทดังกล่าวเป็นการลดทอนเพียงใด "ชาวตะวันตกคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เป็นคำที่คนตะวันตกยัดเยียดให้พวกเรา เลดี้บอยส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิง"

อั้มอธิบายว่า คำว่าเลดี้บอยเป็นคำที่ "เหยียด" การปักป้ายว่าใครเป็นเลดี้บอยเป็นการกำจัดเสรีภาพในการกำหนดใจตนเอง เพราะคนอื่นๆ คิดเอาเองว่าเลดี้บอยนิยามตัวเองว่าเป็นเลดี้บอย โดยที่ไม่ใส่ใจถามว่าเจ้าตัวคิดเช่นนั้นหรือไม่ เธอเล่าว่าคนตะวันตกคิดว่าเลดี้บอยไทยเป็นคน "ตลก" การเยาะเย้ยเช่นนี้ถือเป็นการตีตรา เธอเชื่อว่าส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการที่ผู้หญิงไทยหลายคนยอมรับการเยาะเย้ยทั้งในประเทศไทยและประเทศตะวันตกเพื่อเอาตัวรอด แต่เธอไม่เชื่อว่ามันคือเส้นทางสู่การปลดปล่อย หากชุมชนคนข้ามเพศไทยยังคงศิโรราบต่อคนที่ครอบงำและกดขี่ข่มเหง คนข้ามเพศก็จะยังคงถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่เกิดจนตาย และจะตายไปโดยไร้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรี เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า เราไม่สามารถรอวันที่ผู้กดขี่จะให้สิทธิพวกเรา คนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีมุมมองทางการเมืองแบบดั้งเดิมหรือหัวอนุรักษ์นิยมเองต้องหยุดสนับสนุนกองทัพและระบอบกษัตริย์ และเริ่มสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย


อั้มได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนขององค์กรด้านความหลากหลายทางเพศไปเข้าร่วมงานประชุม เนื่องจากเธอสามารถสื่อสารได้หลายภาษา

อั้มเคยเป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่เป็นนิจ เธอมักพูดถึงความผูกโยงใกล้ชิดระหว่างการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยกับการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศสภาพ อั้มบอกว่าประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้ง นักการเมืองและรัฐประหาร ประชาธิปไตยคือการเป็นปากเป็นเสียงให้ประสบการณ์ของผู้ถูกกดขี่จากสังคมและโครงสร้างทางสังคมมาโดยตลอด

‘อั้ม เนโกะ’ คือหลักฐานที่ยังมีชีวิตที่สะท้อนว่าเรื่องส่วนตัวกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน ชีวิตของเธอเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหว เมื่อไม่กี่ปีก่อนอั้มเป็นแค่นักศึกษาธรรมดา ตอนนี้เธอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่โอกาสกลับบ้านเกิดยังริบหรี่จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นเลยในอีกหลายชั่วอายุคน เมื่อถามอั้มว่า เคยคิดที่จะละทิ้งการเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตตามปกติหรือไม่ อั้มตอบว่า "อั้มอาจไม่จำเป็นต้องพูดถึงประชาธิปไตย แต่อั้มต้องแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของตัวอั้มและของชีวิตอั้ม ประชาธิปไตยสามารถเปลี่ยนชีวิตอั้มและชีวิตของคนจำนวนมากที่ทุกข์ทนได้"

เผยแพร่ครั้งแรกที่ Prachatai English, Thai trans political refugee Aum Neko and her fight to become a woman

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.