ภาพประกอบจาก แฟนเพจ ไข่แมว

Posted: 17 Mar 2018 06:48 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว  เว็บไซต์ประชาไท)

ธรณ์เทพ มณีเจริญ

ช่วงเวลานี้ ประชาชนจำนวนมากก็คงรู้สึกปลื้มปิติกับบรรยากาศทางการเมืองที่มีสัญญาณแห่งประชาธิปไตย อันเนื่องมาจากข่าวการยื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นที่ประชาชนจำนวนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างกลุ่มคนรุ่นใหม่ พวกเขาก็เริ่มมีความหวังมากขึ้นกับการร่วมพัฒนาประเทศชาติ หลังจากที่พวกเขารู้สึกหมดหวังมาเป็นเวลานานจากการที่รัฐบาลทหารชุดปัจจุบันปกครองประเทศไทย ซึ่งนโยบายหลายๆ อย่างของรัฐบาลชุดนี้อาจดูขัดกับหลักวิชาที่พวกเขาร่ำเรียนมา เมื่อมีการยื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองจำนวนมาก พวกเขาเหล่านี้จึงมีความหวังในการเลือกรัฐบาลผู้ปกครองของพวกเขาเอง อันเป็นรัฐบาลผู้ปกครองที่มีแหล่งที่มาจากการทำสัญญาประชาคมกับประชาชนในรัฐ โดยในบทความนี้มุ่งนำเสนอถึงข่าวของการยื่นขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตบางประการที่ผู้เขียนวิพากษ์เพื่อเป็นประโยชน์แก่กลุ่มพรรคอนาคตใหม่ หรือประชาชนที่อยากฝากความหวังของชาติไว้กับพวกเขาเหล่านี้


พินิจแนวทางนโยบายที่เป็นไปได้และวิพากษ์เรื่องพรรคอนาคตใหม่

สืบเนื่องจากยังไม่มีการชี้แจงนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ผู้เขียนจึงพินิจและนำเสนอถึงความเป็นไปได้ของนโยบายพรรคจากปัจจัยต่างๆ และตั้งข้อสังเกตในลักษณะดังต่อไปนี้

1.พรรคอนาคตใหม่นี้มีผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่โดดเด่นได้แก่ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณปิยบุตร แสงกนกกุล โดยทั้งสองท่านนั้นอยากนำเสนอแนวทางการเมืองลักษณะแบบใหม่ โดยเป็นการเมืองแห่งอนาคตที่คนรุ่นใหม่ร่วมกำหนด ต้องการเรียกความเชื่อมั่นต่อประชาธิปไตยในระบบรัฐสภากลับมาจากผู้ที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร โดยนี่นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของพรรคเลยทีเดียว ที่จะเปลี่ยนทัศนคติของประชาชนผู้ไม่เชื่อมั่นต่อระบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา สืบเนื่องจากจำเป็นต้องพยายามเปลี่ยนวัฒนธรรมพลเมือง (civic culture) ของพวกเขาเลยทีเดียว ที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะส่งผลต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของพวกเขาด้วย โดยผู้เขียนจะขอยกการนำเสนอแนวคิดจากงานของคุณทินพันธุ์ นาคะตะ ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย 6 แห่ง และตีพิมพ์ในปี 2514 และงานเขียนเรื่อง “ประชาธิปไตยไทย” ซึ่งพิมพ์ในปี 2545 ได้กล่าวถึงปัญหาประชาธิปไตยไทย ซึ่งพิจารณาผ่านวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนที่เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่โบราณ ดัง 9 ลักษณะ ต่อไปนี้

1.อำนาจนิยม คนไทยส่วนใหญ่ชอบการใช้อำนาจเผด็จการ เคารพเชื่อฟังและอ่อนน้อมต่อผู้มีอำนาจ

2.ระบบเจ้านายกับลูกน้อง

3.ยึดมั่นตัวบุคคลมากกว่าหลักการหรือระบบ

4.มีการจัดลำดับฐานะในคงามสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

5.ความเป็นอิสระนิยม

6.ยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิม

7.เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น

8.ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มองโลกแง่ร้าย และขาดความไว้วางใจผู้อื่น

9.ประนีประนอม หนีความขัดแย้ง[1]

ซึ่งการที่พรรคอนาคตใหม่จะสร้างการเมืองแบบใหม่ จะต้องรับโจทย์ยากในการเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับวัฒนธรรมกันเลยทีเดียว ซึ่งเมื่อพิจารณาสังเกตเพิ่มเติมจากรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรค[2] อาจมีนโยบายพรรคที่ไม่ตอบสนองถูกจุดเท่าที่ควร พรรคอาจควรพิจารณาการสรรหาผู้มีประสบการณ์ หรือศึกษาเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง สังคมวิทยา จิตวิทยาสังคม หรือด้านสหวิทยาการ มาร่วมเป็นฝ่ายพัฒนานโยบายพรรคในกรณีนี้อย่างเป็นรูปธรรม

2.ลักษณะของพรรคมีความเป็นไปได้ที่จะเน้นพลังของกลุ่มภาคประชาสังคม สังเกตจากรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้งพรรคที่มีประสบการณ์ลักษณะองกรค์พัฒนาเอกชน หรือที่เรียกว่าเอ็นจีโอ (NGOs) โดยเอ็นจีโอนี้เป็นกลุ่มองค์นอกระบบราชการ (Extra-Bureaucracy) แนวทางนโยบายหลักพรรคจึงอาจพยายามหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมกับระบบราชการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐไทยปัจจุบันกำลังถูกครอบงำด้วยระบบราชการในลักษณะอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) หากพรรคอนาคตใหม่ต้องการจะมีอำนาจในระบบการเมืองแบบใหม่ของพวกเขา ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความขัดแย้งกับระบบราชการในประการใดประการหนึ่ง ซึ่งนำมาสู่แนวทางนโยบายที่จะหาทางออกอย่างไรจึงจะเหมาะสมและเกิดผลดีต่อทั้งระบบการเมืองและระบบราชการ และแก้ปัญหาอำมาตยาธิปไตยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้าราชการทั้งหลายจะได้เป็นผู้รับใช้ประชาชนได้อย่างภาคภูมิ ไม่ใช่ผู้รับใช้นักอำนาจนิยมมากบารมีจอมปลอม โดยทั้งนี้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งที่ภาพลักษณ์ผู้ร่วมก่อตั้งอาจจะหลักเลี่ยงนโยบายที่กระทบกับระบบราชการ จึงเป็นสิ่งที่ควรต้องมีการคิดแก้ปัญหา โดยมีแนวทางที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งระบบการเมืองและระบบราชการเอง ที่เป็นไปได้ เช่น นโยบายการพัฒนาระบบข้าราชการ ในลักษณะการพัฒนาทักษะการฝึกอบรมข้าราชการเพื่อส่งเสริมสมรรถนะ (competency) มีนโยบายระบบแรงจูงใจข้าราชการในการรักษาบุคลากรผู้เป็น “คนดี คนเก่ง” ให้อยู่ทำงานในระบบ มีนโยบายที่ส่งเสริมระบบคุณธรรม (Merit System) อันส่งเสริมหลักความเสมอภาคในโอกาส หลักความสามารถ หลักความมั่นคงในอาชีพการงาน และหลักความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อพัฒนาข้าราชการให้มีความเป็นข้าราชการที่เป็นมืออาชีพ แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) นอกจากจะส่งผลดีต่อการบริหารในระบบการเมืองและในระบบราชการเอง ผลประโยชน์ที่สูงสุดก็เกิดแก่ประชาชน โดยทั้งนี้ ในทางกลับกัน ทางพรรคอนาคตใหม่เองก็จะต้องมีนโยบายเป็นหลักประกันว่าข้าราชการประจำจะไม่ถูกใช้อำนาจกดดันโดยข้าราชการการเมือง เช่นกัน

3.พิจารณาบริบทการหาฐานเสียง สืบเนื่องจากปัจจัยการรวมตัวของผู้ก่อตั้งพรรคในลักษณะเอ็นจีโอ ซึ่งมาด้วยประวัติแนวทางที่โดดเด่นของแต่ละคนแตกต่างกันไป เช่น การชูประเด็นผู้พิการ ซึ่งเป็นประเด็นที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในแวดวงการเมืองไทย แต่การชูประเด็นเหล่านี้ก็ สังเกตได้ว่ามีปัญหาในตัวเองเมื่อต้องการฐานเสียงจากประชาชนหมู่มาก เพราะกลุ่มประชาชนที่มีความเป็นไปได้ที่จะสนใจในนโยบายลักษณะนี้ส่วนมากจะเป็นชนชั้นกลางรุ่นใหม่ที่มีความเป็นวิชาการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ (จากปัจจัยการเข้าถึงการศึกษาได้สะดวกกว่า) เมื่อพิจารณาถึงประชาชนกลุ่มชนชั้นอื่น เช่น กลุ่มชนชั้นล่างที่หาเช้ากินค่ำ พวกเขาก็คงมีความสนใจมากกว่าว่าวันนี้จะได้ค่าจ้างต่อวันเท่าใด หรือสินค้าเกษตรของพวกชาวไร่จะสามารถขายได้ราคาเท่าใด กลุ่มแรงงานจะมีแนวทางปกป้องการละเมิดสิทธิแรงงานของพวกเขาหรือไม่อย่างไร มากกว่าโรงงานที่กลุ่มแรงงานทำงานอยู่มีอาคารที่ผ่านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (universal design) หรือไม่ ซึ่งการที่จะได้รับฐานเสียงจากชนชั้นล่างนั้น นโยบายควรจะต้องมีอะไรที่จับต้องได้ที่เป็นรูปธรรมซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะ (well-being) ของพวกเขาหมู่มากที่เห็นได้ชัดเจน (ซึ่งในบริบทนี้จะไม่กล่าวถึงประเด็นเชิงปรัชญาที่ว่า ทำไมภาษีที่มีส่วนร่วมมาจากประชาชนร่างกายปกติ จึงต้องถูกนำไปช่วยเหลือประชาชนผู้พิการ) นอกจากนี้ หากพรรคอนาคตใหม่คิดจะขยายฐานเสียงสู่มวลชนจำนวนมากในต่างจังหวัด โดยเฉพาะการมองจากบริบทคะแนนเสียงจากท้องถิ่น พิจารณาจากประวัติของบุคคลผู้ก่อตั้งพรรคแล้ว ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่จะสามารถประสานผลประโยชน์เชิงนโยบายของพรรคกับกลุ่ม “ผู้กว้างขวาง” ที่มีอำนาจนำทางความคิดของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งอยากพัฒนาท้องถิ่นของตน อันจะสามารถส่งอิทธิพลต่อคะแนนเสียงในท้องถิ่นได้

4.หากพิจารณาในบริบทของอุดมการณ์ แนวทางที่ทางพรรคเคยสนใจ และเปิดตัวมานำเสนอไปในลักษณะคุณค่า (value) ของกลุ่มเสรีนิยม และสังคมนิยม ซึ่งตอนนี้สังเกตได้ว่ายังขาดประเด็นการนำเสนอคุณค่าบางประการที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมให้ความสำคัญ เช่น ประเด็นความมั่นคง ซึ่งหากพิจารณาบริบทแล้ว ทางกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคก็ยังไม่ได้มีใครนำเสนอสาระสำคัญในเรื่องนี้ การมีจุดยืนแน่วแน่ในอุดมการณ์เป็นเรื่องที่น่าเคารพ แต่เมื่อต้องการเป็นรัฐ ในฐานะกลุ่มผู้ปกครองของประชาชน ก็จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนผู้มีอุดมการณ์แบบอื่นอันอยู่ภายใต้กฎหมายด้วย หากในอนาคต พรรคอนาคตใหม่จะสนใจนำเสนอนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่คุณค่าอนุรักษ์นิยมเพิ่มขึ้น ก็คงจะสร้างความพึงพอใจต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยม และพรรคคงได้รับฐานเสียงเพิ่มจากคนกลุ่มนี้เช่นกัน นี่ก็นับเป็นอีกแนวทางที่ทางพรรคอนาคตใหม่ควรพิจารณา


บทสรุป

ผู้เขียนมุ่งเสนอความเป็นไปได้ของนโยบายพรรค และตั้งข้อสังเกตต่างๆ ผ่านมุมมองภาพรวม โดยประการแรกนั้นนำเสนอการเมืองแบบใหม่ที่มุ่งให้ผู้สนับสนุนการรัฐประหารกลับมาเชื่อมั่นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ประการที่สองนั้นมีนโยบายพัฒนาระบบราชการที่มีระบบการเมืองช่วยขับเคลื่อน ประการที่สามนั้นมองเรื่องฐานเสียงพรรค พิจารณาความเป็นไปได้จากลักษณะกลุ่มผู้ก่อตั้งพรรคแนวเอ็นจีโอที่อาจนำเสนอนโยบายเฉพาะกลุ่มซึ่งไม่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานคนหมู่มาก และความเป็นไปได้น้อยในการประสานผลประโยชน์กับผู้กว้างขวางท้องถิ่นที่มีอำนาจนำทางความคิดของประชาชนในท้องถิ่น และมีความต้องการพัฒนาท้องถิ่นของตน อันจะสามารถส่งอิทธิพลต่อคะแนนเสียงในท้องถิ่นนั้นๆ ประการที่สี่ พิจารณาผ่านบริบทคุณค่าของอุดมการณ์ ที่นำเสนอว่าทางพรรคอนาคตใหม่ในภายภาคหน้าสมควรพิจารณาถึงคุณค่าอุดมการณ์อื่นๆ นอกแนวทางหลักของพรรค เช่น คุณค่าของกลุ่มอนุรักษ์นิยม เพื่อที่จะสร้างความพึงพอใจของพวกเขาที่มีต่อพรรคอนาคตใหม่ อันส่งผลต่อฐานเสียงที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ โดยทางพรรคอนาคตใหม่ หรือประชาชนที่อยากฝากความหวังของชาติไว้กับพวกเขาเหล่านี้ ก็สมควรลองนำไปคิดพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พรรคอนาคตใหม่ ที่สามารถนำพาประชาชนไปสู่อนาคตใหม่ของชาติ ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้สันทัดท่านหนึ่งและนักรัฐศาสตร์ท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์ให้ผู้เขียนแจ้งนามจริง) ที่ได้มีส่วนร่วมให้คำปรึกษาผู้เขียนในการเขียนบทความนี้





เชิงอรรถ

[1] นำเรื่องแนวคิดงานเขียนของมาจากคุณทินพันธุ์ นาคะตะ จากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย 6 แห่ง และตีพิมพ์ในปี 2514 และจากงานเขียนเรื่อง “ประชาธิปไตยไทย” ซึ่งพิมพ์ในปี 2545 มาจากเอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2400107 เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย เขียนโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกทีหนึ่ง

[2] อ้างอิงจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795665



เกี่ยวกับผู้เขียน: ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.