ภาพหมู่ของตัวแทนภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน รวมทั้งแรงงานที่ร่วมการแถลงข่าว


Posted: 18 Mar 2018 09:29 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

ตัวแทนรัฐ ประชาสังคม สมาคมประมง เปิดสหภาพลูกเรือไทย ข้ามชาติ มุ่งสร้างการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ เยียวยาแรงงาน ปูทางจัดตั้งสหภาพแรงงานประมง ซีพีเอฟจับมือเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน สร้างสายด่วนฮอทไลน์ให้แรงงานไทย ข้ามชาติซีพีเอฟติดต่อ ร้องเรียน เปิดพื้นที่มีส่วนร่วมของแรงงาน

18 มี.ค. 2561 ที่สำนักงานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) จ.สมุทรสาคร มีการแถลงข่าว เปิดตัวแนวทางการจัดตั้งชมรม/กลุ่ม กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ และสายด่วน Labour Voices

เวทีแถลงข่าวประกอบด้วยสมพงษ์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิ LPN ผศ.ธนพร ศรียากูล คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และคณะ สมัคร ทัพธานี ตัวแทนจากเครือข่ายทางสังคมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ในประเทศไทย (Myanmar Migrants Network to Promote Rights in Thailand - MMT) และคณะ วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้ตรวจการกรมประมง และ ผศ.นฤมล ทับจุมพล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานแถลงข่าวได้รับความสนใจจากแรงงานไทยและเมียนมาร์จำนวนกว่า 50 คน รวมทั้งสื่อมวลชนหลายสำนัก


(กลาง) สมพงษ์ ร่วมกับตัวแทนจาก MMT และซีพีเอฟ ในการแถลงข่าวการจัดตั้งสหภาพและ Labour Voices

เอกสารแถลงข่าวระบุว่า กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติมีวัตถุประสงค์ดังนี้


ให้แรงงานลูกเรือประมงไทย ข้ามชาติ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับการช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความ และการคุ้มครองสวัสดิภาพ ได้รับการบริการที่ดีจากรัฐในการเยียวยา ฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการส่งเสริมการมีงานทำ
เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มลูกเรือประมงให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ และสื่อสารสู่สาธารณะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
เพื่อสามารถจัดตั้ง “สหภาพแรงงานลูกเรือประมง” ในอนาคต หรือจัดตั้งเป็น “สมาคมลูกเรือประมงไทย” และรวมถึงการรณรงค์เชิงนโยบายต่อรัฐในการบริหารจัดการทีดี การปกป้องคุ้มครองที่ดีต่อลูกเรือประมงในและนอกน่านน้ำไทย

นอกจากนั้นยังมีการแถลงว่า ซีพีเอฟร่วมมือกับ LPN เพื่อส่งเสริมให้แรงงานใช้ประโยชน์จาก Labour Voices by LPN ซึ่งเป็นบริการฮอทไลน์เพื่อให้แรงงานทั้งไทยและต่างชาติของซีพีเอฟ ได้ร้องเรียนเรื่องความเสี่ยงด้านแรงงานหรือแสดงความคิดเห็นทั้งทางบวกและลบ โดย LPN จะเป็นคนกลางในการรับฟังความเห็น ข้อเสนอแนะและข้อร้องเรียนจากพนักงานซีพีเอฟ

ช่องทางติดต่อ Labour Voices by LPN ของพนักงานซีพีเอฟ สามารถติดต่อได้ดังนี้: สำนักงาน (034 434 726, 086 163 1390, 084 121 1609) คนไทย (092 321 1516, 093 657 2130) คนพม่า (099 146 6960, 095 774 8689) คนกัมพูชา (087 742 8213, 095 768 8689) โดยได้เริ่มให้บริการตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2560 แล้ว

สมพงษ์กล่าวว่า Labour Voices เป็นพื้นที่เปิดให้พนักงานระดับแรงงานของซีพีเอฟทั้งไทยและต่างชาติ สะดวกใจและเปิดใจพูดคุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกัน ขณะที่เป็นอิสระจากบริษัทที่เป็นนายจ้าง ผู้บังคับบัญชา และเรื่องที่งานพูดทั้งหมดจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ซีพีเอฟได้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป (อียู) หนึ่งในลูกค้าคือเครือเทสโก้ ซึ่งมีข้อบังคับให้บริษัทร่วมมือกับภาคประชาสังคมในเรื่องสวัสดิภาพของแรงงาน


เวทีแถลงข่าวที่สอง (ซ้ายไปขวา) ธนพร ศรียากูล นฤมล ทับจุมพล เพชรรัตน์ สินอวย สมพงษ์ สระแก้ว มงคล สุขเจริญคณา ศราวุธ โถวสกุล

ธนพรกล่าวว่า แต่เดิมทิศทางการแก้ไขปัญหาประมง ตั้งแต่ได้รับใบเหลืองจากอียู ปี 2558 มุ่งเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมาย ดูแล คุ้มครองแรงงาน เพราะถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วน เมื่อผ่านไป 2-3 ปี ระบบที่ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมดูแลเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น รัฐบาลขณะนี้จึงส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านแรงงานสัมพันธ์ คือส่งเสริมการรวมตัวกัน ให้มีองค์กร รูปแบบการทำงานร่วมกัน โดยรัฐไม่ยุ่งเกี่ยว รัฐเชื่อมั่นว่าไม่มีใครเข้าใจปัญหาพี่น้องแรงงานได้ดีกว่าองค์กรของพี่น้องแรงงานเอง

นฤมลกล่าวว่า การจัดตั้งเครือข่ายแรงงานประมงทะเลที่มีส่วนร่วมทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคมและแรงงานถือเป็นนิมิตรหมายอันดี การรวมกันวันนี้มีเรื่อง IUU แต่ก็ไม่ใช่ว่ารวมตัวกันเพียงเพราะเรื่องนี้ การรวมตัวกันครั้งนี้มาเพราะว่ามองเห็นแนวทางการทำงานในรูปแบบใหม่ และไม่ใช่หน้าที่ของกลุ่มสหภาพฯ ที่ต้องไปพูดตอบทางอียู แต่การรวมตัวของสหภาพจะเปนหนึ่งปัจจัยที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวต้องเป็นหน้าที่ของภาคีต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นมา ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (PIPO) ทั้งนี้อย่าคิดว่าสหภาพลูกเรือเท่ากับ LPN หรือ เอ็นจีโอ เพราะถ้าทุกอย่างต้องฝากไว้ที่องค์กรพัฒนาเอกชนก็จะไม่ตอบเรื่องโจทย์ความยั่งยืน

นฤมลกล่าวอีกว่า วันนี้ต่างประเทศให้ความสำคัญกับการที่ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ผลิต สมัยก่อนคนอาจจะซื้อสินค้าโดยพิจารณาราคา แต่ตอนนี้ทัศนคติขยับไปเป็นเรื่องความสะอาด ความยั่งยืน คุณภาพชีวิตของแรงงานจากการผลิตสินค้าต่างๆ เลยกลายเป็นข้อเรียกร้องมายังผู้ประกอบการ

เพชรรัตน์กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ การจัดตั้งสหภาพฯ จะช่วยขับเคลื่อนให้มีการรวมตัว รวมกลุ่มให้มีความเข้มแข็ง ทางภาครัฐไม่ต้องการใช้มาตรการปราบปราม ไม่อยากเสียเงินไปจับกุม คุมขัง ดำเนินคดี หาเงินเข้าหลวงเยอะๆ แต่ต้องการส่งเสริมให้แต่ละภาคส่วนรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ วันนี้เจตจำนงดังกล่าวเริ่มต้นที่ลูกเรือไทยและข้ามชาติ จากนั้นจึงขยายไปยังภาคส่วนอื่น ไม่ให้ไทยมีเรื่องการค้ามนุษย์อีกต่อไป ทั้งนี้ภาครัฐไม่ได้เป็นคนทำให้เกิดการรวมตัว แต่เป็นคนสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้รู้สิทธิ แต่ก็ต้องไม่ลืมหน้าที่ที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น การเป็นลูกจ้างที่ดี ปฏิบัติตามระเบียบวินัยการทำงาน

มงคลกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของภาคการประมงอาจมีไม่ดีบ้างในอดีต แต่ในทุกอาชีพก็มีทั้งคนดีและไม่ดี มีทั้งแรงงานที่ดีและไม่ดี การป้องกันปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่ดูที่ผู้ประกอบการ แต่ต้องดูแรงงานกันเองด้วย แรงงานต้องช่วยกันคัดกรองคนที่ไม่ดีออกไปไม่ให้อยู่ในสังคม โดยตนให้คำมั่นและดูแลพี่น้องในการประกอบอาชีพแรงงานเมียนมาร์ในเรือประมงร่วมกับภาครัฐและประชาสังคม ตอนนี้เป็นห่วงเรื่องที่แรงงานข้ามชาติไปเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติด เพราะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหานี้จะเป็นเรื่องที่ทำให้มาตรฐานแรงงานเป็นเรื่องไม่น่าสนใจ ไม่มีแรงจูงใจต่อแรงงานข้ามชาติคนอื่น

วิชาญกล่าวว่า ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ที่อียูให้ใบเหลืองมาที่ไทย สร้างความเปลี่ยนแปลงมากกับการประมงไทย เพราะเวลามีปัญหาส่งผลให้สินค้าขายไม่ได้ทั่วโลก ตอนนี้มองเรื่องสิทธิมนุษยชน พื้นฐานความเป็นมนุษย์ว่าสำคัญมาก เพราะเมื่อมีสิทธิมนุษยชนและเพื้นฐานความเป็นมนุษยแล้ว ความมั่นคงมนุษย์จะตามมา ตอนนี้กรมประมงกำลังทำเรือต้นแบบ เพื่อให้เรือมีโครงสร้างสอดรับกับการใช้ชีวิตของลูกเรือ รวมถึงหาแนวทางการติดตั้งระบบการสื่อสารให้ลูกเรือสามารถติดต่อครอบครัวที่ฝั่งได้ อย่างน้อยก็ให้สามารถส่งข้อความกลับมาได้

สมัครให้ข้อมูลเกี่ยวกับ MMT ว่าเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยแรงงานชาวพม่าเพื่อให้ความรู้แรงงานพม่าคนอื่นๆ เนื่องจากสมุทรสาครมีแรงงานสัญชาติพม่าเยอะ แต่เดิมองค์กรนี้ชื่อ Myanmar Rights รวมกลุ่มกันมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งมีความคิดริเริ่มในการพัฒนา อบรมให้ความรู้และรณรงค์ด้านสิทธิในหมู่แรงงานพม่าในช่วงปี 2559 โดยแรงงานได้ใช้เวลาในวันหยุดมาให้ความรู้ อบรมแรงงานพม่าคนอื่นในหลายเรื่อง หลายคนที่อยู่ในกลุ่มก็เป็นแรงงานที่เคยประสบปัญหาต่างๆ มาก่อน

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.