Posted: 11 Mar 2018 10:42 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลและแอมเนสตี้ฯ ออกจกหมายเปิดผนึก รมว.ยุติธรรม ย้ำ 8 ข้อกังวล ประเด็น ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันทรมาน อุ้มหาย ที่ไทยแก้ไขเพิ่มเติม ชี้ น่าผิดหวัง ต่ำกว่ามาตรฐานสากล ขาดหลักประกันทางกฎหมายที่ทำให้การซ้อมทรมาน อุ้มหาย เป็นเรื่องต้องห้ามในไทย

12 มี.ค. 2561 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้นำส่งจดหมายเปิดผนึกเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายแก่ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อย้ำเตือนและผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ โดยไม่ล่าช้า เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ

รายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว :


12 มีนาคม 2561

เรียน พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง

ข้อแก้ไขเพิ่มเติมต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ...

บทนำ


คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอนำส่งจดหมายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ... (ร่างพระราชบัญญัติฯ) นี้ถึงท่าน โดยจดหมายฉบับนี้มีเนื้อหาเป็นการเพิ่มเติมจากข้อเสนอแนะก่อนหน้านี้ที่ทั้งสององค์กรเสนอต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งประกอบด้วยความเห็นและข้อเสนอแนะขององค์กรที่มีต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ตามเนื้อหาในขณะนั้น (โปรดดูเอกสารแนบ)

จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อย้ำเตือนและผลักดันให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ โดยไม่ล่าช้า เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - UNCAT) และยังได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) และเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังได้มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลไทยภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคี ICPPED อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังไม่ได้ดำเนินการภาคยานุวัติให้แล้วเสร็จ และไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการส่งมอบภาคยานุวัติสารให้กับเลขาธิการสหประชาชาติตามข้อกำหนด

ตามที่องค์กรของเราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า กระทรวงยุติธรรมมีความเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ลงวันวันที่ 6 มีนาคม 2561 และได้เริ่มจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แล้วนั้น หากมีการให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ตามเนื้อหาในปัจจุบัน เรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่าเนื้อหาของกฎหมายภายในประเทศจะไม่สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ตามหลักที่ได้วางไว้ในข้อ 27 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา (Vienna Convention on the Law of Treaties) นั้น ประเทศไทยไม่สามารถอ้างกฎหมายภายในประเทศเป็นเหตุในการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อสนธิสัญญาต่าง ๆ รวมทั้ง ICCPR UNCAT และ ICPPED อย่างน้อยเมื่อได้ทำการภาคยานุวัติแล้วได้ ประเทศไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาเหล่านี้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ด้วยเหตุดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ตามข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้โดยไม่ล่าช้า

อนึ่ง การแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการตัดเนื้อหาที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายที่จำเป็นต่อการทำให้การทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นการกระทำที่ต้องห้ามเด็ดขาดในประเทศไทย

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ร่วมวันที่ 9 มีนาคม 2560 แถลงการณ์ร่วมวันที่ 26 มิถุนายน 2560 และจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ซึ่งเผยแพร่ร่วมกับองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศและระดับประเทศหลายหน่วยงาน องค์กรของเราได้แสดงความกังวลหลายครั้งต่อข้อบกพร่องอื่น ๆ ของร่างพระราชบัญญัติฯ แต่ร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดไม่ได้ถูกแก้ไขตามข้อกังวลเหล่านี้เลย ทั้งยังน่าผิดหวังอย่างยิ่งที่มียังมีการประกันที่ต่ำกว่าข้อกำหนดตามสนธิสัญญาต่าง ๆ ทั้งที่ข้อกำหนดเหล่านั้นจะต้องถูกนำมาบัญญัติไว้ในกฎหมายภายในประเทศ

ข้อกังวลหลักของพวกเราภายหลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับล่าสุดประกอบด้วย

1. หลักการไม่สามารถผ่อนปรนได้ (Non-derogability) – มาตรา 11 (ในร่างเดิม) ถูกตัดออกไปจากร่างพระราชบัญญัติฯ นับเป็นการตัดหลักประกันที่ห้ามการกระทำที่เป็นการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาด ซึ่งระบุให้หลักดังกล่าวไม่สามารถผ่อนปรนได้แม้ขณะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น มาตรา 11 จึงควรถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติฯอีกครั้ง

2. หลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย (non refoulement) – มาตรา 12 (ในร่างเดิม) ถูกตัดออกไปจากร่างพระราชบัญญัติฯ ถือเป็นการตัดหลักการพื้นฐานตามกฎหมายระหว่างประเทศ (หลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย) ที่มีข้อห้ามการส่งบุคคลกลับไปยังสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงว่าบุคคลนั้นจะถูกทรมาน ได้รับการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ดังนั้น มาตรา 12 จึงควรถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติฯอีกครั้ง

3. ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา (Command responsibility) – การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 32 (ในร่างเดิม) ซึ่งปรากฏในร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นการตัดเนื้อหาที่ยืนยันความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในกรณีที่ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำการทรมาน ทั้งยังกำหนดกรอบความรับผิดของผู้บังคับบัญชาให้แคบลงแค่กรณีที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำให้บุคคลสูญหายและเฉพาะกับผู้บังคับบัญชาที่ “มีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย” ดังนั้น มาตรา 32 (ในร่างเดิม) จึงควรถูกบรรจุในร่างพระราชบัญญัติ ฯ อีกครั้ง ทั้งยังควรเพิ่มเติมเนื้อหาเพื่อประกันว่าผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดในกรณีที่ “ทราบหรือควรทราบว่ามีการกระทำหรือจะกระทำการอันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติฯ นี้ และไม่ดำเนินมาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิดดังกล่าว”

4. การนำคำให้การที่ได้มาจากการทรมานมาใช้ – เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่กำหนดข้อห้ามเฉพาะต่อการรับฟังคำให้การและข้อมูลใด ๆ ที่ได้มาจากการทรมานหรือการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี มาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี จึงควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อห้ามอย่างชัดแจ้งมิให้มีการใช้พยานหลักฐานเช่นนั้น

5. หลักประกันเพื่อการป้องกัน – ร่างพระราชบัญญัติฯ ไม่มีข้อบทที่เป็นการประกันเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำให้บุคคลสูญหาย การทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ได้แก่ การให้ทนายความและญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ การกำหนดให้ต้องชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและสถานที่ควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องต่อญาติและทนายความ การกำหนดให้ต้องมีทนายความระหว่างการสอบปากคำ และให้มีการบันทึกวีดิโอและ/หรือบันทึกเสียงระหว่างการสอบปากคำทุกครั้ง หลักประกันเหล่านี้ควรต้องถูกบรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ และควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติฯ

6. บทนิยาม – องค์ประกอบสำคัญในบทนิยามการกระทำให้บุคคลสูญหายและการทรมานในร่างพระราชบัญญัติฯ ตามที่กำหนดในอนุสัญญา UNCAT และ ICPPED ขาดหายไป ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ จึงควรถูกแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อกำหนดเหล่านี้

7. ความรับผิดทางอาญานอกเหนือจากผู้กระทำการโดยตรง – ร่างพระราชบัญญัติฯ ขาดความชัดเจนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขยายความรับผิดทางอาญานอกเหนือไปจากผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายและการทรมานโดยตรง ดังนั้นจึงควรมีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนว่าความรับผิดเช่นนี้ครอบคลุมนอกเหนือไปจากผู้กระทำการโดยตรงเพียงใด และกำหนดโทษอย่างเหมาะสมกับผู้ร่วมกระทำความผิดในรูปแบบต่าง ๆ

8. การประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี – ร่างพระราชบัญญัติฯ มิได้กำหนดให้การกระทำที่เป็นการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติฯ จึงควรได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมให้การประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี มีความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับการทรมาน ตามข้อ 4 และ 7 ของ ICCPR และถือเป็นสิทธิที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้แม้ในเวลาใดก็ตาม

เราขอเน้นย้ำถึงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยภาคยานุวัติเข้าเป็นภาคี ICPPED และพิธีสารเลือกรับต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OP-CAT)

เรารู้สึกเสียใจอย่างยิ่งต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯ ครั้งล่าสุด และการที่ข้อบกพร่องของพระราชบัญญัติฯ นี้ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งถือเป็นการก้าวถอยหลังของรัฐบาลไทยในการดำเนินการเพื่อทำให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาตามที่ตกปากรับคำไว้ ซึ่งเป็นการกระทำเราเคยให้ความชื่นชมและยังคงยินดีต่อความพยายามดังกล่าว

หากการดำเนินการนี้เป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ย่อมถือเป็นการดำเนินการครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อป้องกันการละเมิดอันร้ายแรง และการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย

ทั้งนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขการลดทอนเนื้อหาครั้งนี้ และดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สอดคล้องอย่างสมบูรณ์ตามข้อกำหนดของ ICCPR UNCAT และ ICPPED

องค์กรของเรายังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพระราช บัญญัติฯ และยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ข้อเสนอแนะหรือตอบคำถามใด ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาของจดหมายฉบับนี้

เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่งถ้าท่านจะให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในประเด็นนี้

ขอแสดงความนับถือ

Ian Seiderman

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบาย

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ)


Ashfaq Khalfan

ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนโยบาย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล



สำเนาถึง:

นายดอน ปรมัตถ์วินัย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศ

443 ถนนศรีอยุธยา

ราชเทวี

กรุงเทพฯ 10400



ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ

ปลัดกระทรวงยุติธรรม

กระทรวงยุติธรรม

เลขที่ 120 หมู่ 3

อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่

กรุงเทพฯ 10210



นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

กระทรวงยุติธรรม

เลขที่ 120 หมู่ 3

อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่

กรุงเทพฯ 10210

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.