Posted: 03 Jan 2019 07:15 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-03 22:15
ชาญณรงค์ บุญหนุน
ได้ข่าวว่า ผู้นำของไทยปัจจุบันท่านอวดตัวว่าปกครองตามหลักการในพระไตรปิฎก ผมจึงอยากโหนกระแสโดยนำงานวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าไว้มานำเสนอสักหน่อยเพื่อเราจะได้ทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้นำของไทยเรานำมาอ้างให้ชัดเจนขึ้น เรื่องที่จะเสนอในที่นี้เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งในงานวิจัยชื่อ “ความมั่งคั่ง วินัย นิพพาน” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “เศรษฐศิลป์ : ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุ ในปรัชญาตะวันออก”[1] โดยนำเนื้อหาบางส่วนมาปรับปรุงเผยแพร่เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจแนวคิดทางปรัชญาของพุทธศาสนาเกี่ยวกับภาวะผู้นำกับการจัดการเศรษฐกิจของรัฐ
เนื่องจากมีสมมติฐานว่า ภาวะผู้นำแสดงออกผ่านความสัมพันธ์ที่ผู้นำกระทำต่อโลกของวัตถุ โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวและทรัพย์สินส่วนรวม เพื่อสนองตอบต่อชีวิตของตนและผู้อื่นอย่างเหมาะสม ยุติธรรม ถูกต้อง ทั้งในบริบทของรัฐ สังคม ครอบครัว บทความนี้จึงจะกล่าวถึง (1) ความสำคัญของโลกแห่งวัตถุ (ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง) ที่มีต่อชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมของมนุษย์ และ (2) ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยวัตถุ ศีลธรรม และภาวะผู้นำ กล่าวให้ชัดคือ จะพูดถึงภาวะผู้นำของผู้ปกครองรัฐผ่านการจัดการวัตถุปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตของพลเมือง ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนา (พระไตรปิฎกและอรรถกถา) ซึ่งจะตีความให้เข้ากับประเด็นการจัดการด้านเศรษฐกิจของผู้นำรัฐบาลที่กำหลังเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ได้หรือไม่ก็ลองพิจารณาดูครับ
เมื่อพิจารณาแนวบรรทัดฐานของผู้นำหรือผู้ปกครองรัฐเกี่ยวกับทรัพย์สินในทัศนะของพุทธศาสนา โดยทั่วไปมักจะพิจารณาจากแนวคิดที่ปรากฏในหลักทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุหรือจักรวรรดิวัตร กล่าวคือมุ่งไปที่หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยตรง ถ้าเป็นเรื่องของพระสงฆ์เมื่อพิจารณาเนื้อหาสิกขาบทในพระวินัยก็จะพบคำตอบที่อาจนำไปใช้ได้ทันที นักวิชาการด้านพุทธศาสนาในโลกตะวันตกเห็นพ้องกันว่า มี 3 มโนทัศน์ที่มีนัยสำคัญต่อการทำความเข้าใจแนวคิดของพุทธศาสนาเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งทางโภคทรัพย์ ได้แก่ มโนทัศน์เรื่อง “กฎแห่งกรรม” และ “ความไม่ยึดมั่น” และ “ทาน” กฎแห่งกรรมเป็นแนวคิดที่ใช้เพื่ออธิบายที่มาของทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ความไม่ยึดมั่นเป็นแนวคิดที่ใช้เพื่ออธิบายท่าทีอันถูกต้องต่อทรัพย์สินและความมั่งคั่ง และมโนทัศน์เรื่อง “ทาน” เป็นรูปธรรมของการใช้จ่ายโภคทรัพย์หรือกระจายความมั่งคั่งตามหลักของความไม่ยึดมั่น แต่ในที่นี้ จะชวนให้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ ผ่านเรื่องเล่าใน “อัคคัญญสูตร”“จักกวัตติสูตร” และ “กูฎทันตสูตร” เป็นหลัก ซึ่งน่าสนใจว่า ในเรื่องเล่าเหล่านี้ มโนทัศน์เรื่องกรรมแบบข้ามภพชาติไม่ได้ถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น ความจน หรือความร่ำรวย ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคมของมนุษย์ สภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และทรัพย์สินล้วนถูกอธิบายด้วยวิธีการเชิงประจักษ์เป็นส่วนมาก เช่น “อัคคัญญสูตร”[2] ได้บอกเล่าบทบาทสำคัญของโลกธรรมชาติและทรัพย์สินที่มีผลกระทบต่อชีวิตของปัจเจกบุคคลจนกระทั่งต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดแนวทางที่คาดหมายว่าจะช่วยทำให้ทุกคนในสังคมมีชีวิตที่ดีได้ หรือรับประกันในระยะยาวว่าปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินส่วนตัวและสิ่งอื่น ๆ จะได้รับการจัดการอย่างเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
“อัคคัญญสูตร” ได้รับการตีความในหลายแง่มุมจากนักวิชาการ ที่กล่าวถึงเสมอในแวดวงรัฐศาสตร์ ปรัชญาสังคมและการเมือง ได้แก่ ประเด็นการเกิดขึ้นของรัฐและผู้ปกครองในยุคบรรพกาล ไม่ว่าพระสูตรนี้สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับรัฐของพุทธศาสนาหรือเป็นเพียงนิทานที่แต่งขึ้นมาเพื่อตอบโต้แนวคิดเรื่องวรรณะก็ตาม แต่พระสูตรนี้ มีสาระสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า “วัตถุ” (ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง ปัจจัยในการดำรงชีวิต) นั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “จริยธรรม-คุณธรรม” ของมนุษย์
เริ่มต้นจากสัตว์ (มนุษย์) ได้ลิ้มรสสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (ง้วนดิน, เครือดิน, กะบิดินหรือสะเก็ดดิน, ข้าวสาลี ตามลำดับ) จึงเรียนรู้ว่ามีสิ่งธรรมชาติบางชนิด คือข้าวสาลี ที่สามารถใช้เป็นอาหารดำรงชีวิตได้ ต่อมา เมื่อพวกเขารู้จักมีเพศสัมพันธ์จึงสร้างบ้านเรือนเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัว “บ้าน-เรือน” ทำให้มีพื้นที่ที่สามารถใช้เก็บข้าวสาลีไว้รับประทานโดยไม่ต้องเสียเวลาไปมาบ่อย ๆ เพศสัมพันธ์ทำให้สมาชิกครอบครัวและชุมชนเพิ่มขึ้น การขยายตัวของครอบครัวและชุมชนย่อมมีผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติ การเก็บสะสมข้าวสาลีไว้ในเรือนทำให้ต้นข้าวตามธรรมชาติงอกไม่ทันและไม่พอจะตอบสนองความต้องการของทุกคนได้ พวกเขาจึงตกลงปันเขตแดนทุ่งข้าวสาลี ทรัพย์สินส่วนตัวจึงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อมีทุ่งสาลีเป็นของตนเองแล้ว ก็ยังมีปัญหาอื่นเนื่องจากทุ่งข้าวสาลีของตนถูกละเมิดโดยบุคคลอื่น น่าสนใจว่า ขณะเมื่อยังไม่มีการแบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรธรรมชาติ สำนึกแห่งการเป็นเจ้าของและการถูกละเมิดทรัพย์สินไม่ได้มีอยู่ การละเมิดทรัพย์สินเกิดขึ้นหลังจากได้ครอบครองทรัพยากรของเอกชน ความหวงแหนนำไปสู่การหวงห้าม การทำร้ายและการฆ่า ความขัดแย้งของปัจเจกบุคคลสร้างความปั่นป่วนไร้ระเบียบแก่ชุมชนและสังคม บาปธรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา “ความโลภ”ในใจไม่อาจห้ามได้ แต่อาจมีมาตรการกำกับไม่ได้ความโลภนั้นไปทำร้ายผู้อื่นได้ พวกเขาจึงหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสงบสุข โดยกำหนดให้มีผู้ทำหน้าที่ระงับความขัดแย้งภายในชุมชน โดยตกลงแต่งตั้งบุคคลผู้หนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่ลงโทษแก่ผู้ควรลงโทษและยกย่องผู้ที่ควรยกย่องพวกเขายอมสละข้าวสาลีคนละทะนานเป็นค่าตอบแทน (ภาษี) เพื่อว่าบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งนั้นจะไม่ต้องมีภาระในประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
“อัคคัญญสูตร”แสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินมีความจำเป็นต่อการตอบสนองต่อชีวิตตามธรรมชาติและชีวิตตามวัฒนธรรม (การหล่อเลี้ยงร่างกาย/อัตภาพและความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีตามที่สังคมคาดหวัง) ความจำเป็นที่จะมีปัจจัยวัตถุเพื่อการดำรงชีวิตพัฒนาไปเป็นความปรารถนาที่จะสะสมไว้เพื่อความสะดวกสบายของชีวิต ทำให้เกิดสำนึกความเป็นเจ้าของและพัฒนาเทคนิควิธีการเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่ทรัพย์สินของตน รัฐยุคแรกเริ่มต้นเกิดขึ้นจากความปรารถนาที่จะปกป้องการละเมิดทรัพย์สินของปัจเจกบุคคล ผู้ปกครองยุคเริ่มแรกจึงถูกกำหนดทำหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดทรัพย์สินกันและกันของชุมชน วีระ สมบูรณ์ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดขึ้นของรัฐและทรัพย์สินเอกชนตามความใน “อัคคัญญสูตร”ว่า การเกิดขึ้นของรัฐนั้นเหมือนกันกับการเกิดทรัพย์สินเอกชน คือเป็น “ข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกในสังคม เป็นแบบแผนที่กำหนดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งในที่นี้ก็คือการละเมิดทรัพย์สินเอกชนและปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาจากการละเมิดนั้น”[3] ดังนั้น ความชอบธรรมของรัฐจึงมีได้เพราะ (1) เป็นข้อตกลงร่วมกัน (มหาชนสมมติ) (2) เป็นผู้ได้รับอำนาจหรือสิทธิอำนาจในการแก้ไขกรณีขัดแย้ง ซึ่งในที่นี้คือการล่วงละเมิดทรัพย์สินเอกชน (3) เป็นผู้ก่อให้เกิดความสงบสุขโดยยุติธรรม [4] กล่าวได้ว่า การครอบครองทรัพย์สินของเอกชนก่อให้เกิดแบบแผนทางการปกครองชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อประกันว่าชีวิตและทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลจะไม่ถูกละเมิดโดยบุคคลอื่น
“อัคคัญญสูตร” ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยวัตถุจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ความจำเป็นโดยธรรมชาติมีผลต่อจิตใจคือทำให้มนุษย์ตระหนักถึงความจำเป็นนั้นแล้วเกิดความปรารถนาที่จะตอบสนองและยึดครอง ปลูกสำนึกความเป็นเจ้าของขึ้นมาตามลำดับ ด้วยความหวงแหนพวกเขาได้รู้จักพัฒนาวิธีกการปกป้องรักษาทรัพย์สินของตนด้วยโดยอาศัยการร่วมมือกันเนื่องจากตระหนักว่าลำพังตนอาจไม่สามารถจะปกป้องทรัพย์สินจากการละเมิดของผู้อื่น จึงได้การตกลงร่วมมือกันภายใต้หลักการบางอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน รัฐจึงเป็นทางออกที่ดีในภาพรวม ชีวิตที่ดีเกี่ยวเนื่องกับการมีสังคมที่ดีซึ่งสังคมจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีระเบียบแบบแผน หรือระบบที่รับการประกันว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งในเรื่องเล่านี้ ได้แก่ การไม่ถูกละเมิดชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ การสร้างสังคมที่ดีนอกจากมีกติการ่วมกันแล้ว ยังต้องมีผู้นำมาทำหน้าที่บังคับให้กฎกติกามีผลในเชิงปฏิบัติ ผู้นำจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งภายใต้โครงสร้างสังคมที่ทุกคนยอมรับหลักเกณฑ์กติการ่วมกัน สังคมมีหลักประกันคือกฎกติกาที่ยุติธรรม ผู้นำคือหลักประกันที่จะทำให้กฎกติกาได้รับการปฏิบัติ แต่ไม่ได้มีอำนาจเหนือกฎกติกาซึ่งชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น
หากเรื่องเล่าใน “อัคคัญญสูตร”คือนิทานที่แสดงนัยของความสัมพันธ์ระหว่างโลกของวัตถุ ศีลธรรม ระเบียบ แบบแผน ผู้นำและการมีชีวิตที่ดีทางสังคม “จักกวัตติสูตร”[5] จะแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้นำต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึด“จารีต”หรือ“แบบแผน” เป็นแนวทางสำคัญในการปกครอง โดยเฉพาะจารีตสำคัญอันเนื่องด้วยการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือกระจายผลประโยชน์ทางวัตถุแก่พลเมืองของรัฐ เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญและปฏิบัติให้ถูกต้อง เพราะทรัพย์สิน/ปัจจัยเลี้ยงชีวิตจำเป็นสำหรับมนุษย์หากถือเป็นเรื่องเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงแก่สังคมโดยรวมได้
โครงเรื่องหลักของ “จักกวัตติสูตร”กล่าวถึงพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ที่เมืองมาตุลา แคว้นมคธ ทรงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วทรงสั่งสอนให้ภิกษุดำรงชีวิตโดย “มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง” ได้แก่ จงอยู่ด้วย (1) การพิจารณาเห็นกายในกาย (2) การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย (3) การพิจารณาเห็นจิตในจิต (4) การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เนื้อหาส่วนนี้ได้ชี้ให้เห็นนัยสำคัญของ “จารีต” หรือ “แบบแผน” ที่สืบทอดต่อกันมา ดังความที่ทรงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงประพฤติธรรมอันเป็นโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน เมื่อเธอทั้งหลายประพฤติธรรมอันเป็นโคจรซึ่งเป็นวิสัยอันสืบเนื่องมาจากบิดาของตน มารจะไม่ได้โอกาส จะไม่ได้อารมณ์ ภิกษุทั้งหลาย บุญนี้ย่อมเจริญขึ้นได้อย่างนี้เพราะการสมาทานกุศลธรรมเป็นเหตุ”[6]
เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของแบบแผนที่ยึดถือสืบเนื่องต่อกันมา พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าทัฬหเนมิผู้ทรงธรรมและบรรดากษัตริย์อีก 8 พระองค์ซึ่งเป็นผู้สืบทอดครรลองธรรมหรือจักรวรรดิวัตรของพระองค์ เรื่องเล่าว่า พระเจ้าทัฬหเนมิ ครอบครองอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล มีพระราชอำนาจเหนือกษัตริย์ทั้งปวง ทรงมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ ต่อมาเมื่อทรงเห็นจักรแก้ว (สัญลักษณ์แห่งอำนาจ) เคลื่อนออกจากที่ทรงตระหนักว่าถึงเวลาต้องสละราชสมบัติ จึงมอบราชสมบัติแก่พระโอรสองค์โตแล้วออกบวชเป็นบรรพชิต (ฤๅษี) พระราชโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว พบว่าจักรแก้วได้อันตรธานหายไปจึงเสด็จไปสอบถามพระราชบิดาผู้เป็นฤๅษี พระราชฤๅษีจึงตรัสสั่งสอนให้พระราชโอรสประพฤติจักรวรรดิวัตรคือ
“ลูกเอ๋ย ถ้าเช่นนั้น ลูกจงอาศัยธรรมเท่านั้น สักการะธรรม เคารพธรรม นับถือธรรม บูชาธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอด มีธรรมเป็นใหญ่ จงจัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองชนภายใน (ครอบครัว) กำลังพล พวกกษัตริย์ผู้ตามเสด็จ พราหมณ์และคหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท สมณพราหมณ์ สัตว์จำพวกเนื้อและนกโดยธรรม การกระทำที่ผิดแบบแผนอย่าได้เป็นไปในแว่นแคว้นของลูก อนึ่ง บุคคลเหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก ไม่มีทรัพย์ ลูกพึงให้ทรัพย์แก่บุคคลเหล่านั้นด้วย อนึ่ง สมณพราหมณ์เหล่าใดในแว่นแคว้นของลูก เว้นขาดจากความมัวเมาและความประมาท ตั้งมั่นอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความเสงี่ยม) ฝึกตน สงบตน ให้ตนดับกิเลสอยู่แต่ผู้เดียว ลูกพึงเข้าไปหาสมณพราหมณ์เหล่านั้นตามกาลอันควรแล้วสอบถาม. . .ครั้นลูกได้ฟังจากสมณพราหมณ์เหล่านั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศล พึงละเว้นสิ่งนั้น สิ่งใดเป็นกุศล พึงยึดถือประพฤติสิ่งนั้นให้มั่น ลูกเอ๋ย จักรวรรดิวัตรอันประเสริฐนั้นเป็นอย่างนี้แล”[7]
ตามความในพระสูตร “จักวรรดิวัตร” นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องมีการสืบทอด ส่งต่อโดยการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เมื่อกษัตริย์ผู้สืบเชื้อสายจักรพรรดิทัฬหเนมิ รับสนองพระดำรัสของพระราชฤๅษีผู้เป็นบิดาและปฏิบัติตามจักรวรรดิวัตรที่ได้รับสั่งสอนมา พระองค์สามารถดำรงรักษาพระราชอำนาจและอาณาจักรอันกว้างใหญ่ไพศาลให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ด้วยดีเช่นเดียวกัน จักรวรรดิวัตรดังกล่าวนี้เป็นแบบแผนการปกครองของจักรพรรดิสืบเนื่องต่อมาจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง จากกษัตริย์องค์ที่หนึ่งจนถึงกษัตริย์องค์ที่ 7 ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี กษัตริย์แต่ละพระองค์ได้รักษาและปฏิบัติตามจักรวรรดิวัตรอย่างต่อเนื่อง บ้านเมืองและสังคมก็รุ่งเรืองสงบสุข ไม่เสื่อมคลาย
แต่เมื่อมาถึงกษัตริย์องค์ที่ 8 บ้านเมืองก็ค่อย ๆ ดำเนินไปสู่การเสื่อมสลาย โดยเริ่มต้นจากการที่พระองค์ไม่ทรงสอบถามถึงจักรวรรดิวัตรจากพระราชบิดา แต่ทรงปกครองตามความเห็นของพระองค์เอง เมื่อทรงปกครองอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน บ้านเมืองก็ไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อน บรรดาประชาราษฎร์กลุ่มต่าง ๆ นับแต่คณะอำมาตย์ ข้าราชบริพาร นายกองช้าง นายกองม้า ไปจนถึงคนรักษาประตูและคนเลี้ยงชีพด้วยปัญญาจึงชุมนุมกัน เรียกร้องให้พระราชาประพฤติจักรวรรดิวัตร โดยเสนอให้พระราชาตรัสถามจากประชาชนได้ว่าจักรวรรดิวัตรนั้นมีอะไรบ้าง
วีระ สมบูรณ์ (2551) ตั้งข้อสังเกตว่าจักรวรรดิวัตรเป็นเสมือน “ธรรมนูญ” หรือระเบียบแบบแผนการปกครอง ซึ่งผู้ปกครองทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม ในแง่ของผู้ปกครอง ธรรมเนียมนี้มีลักษณะ “อนุรักษนิยม” คือเป็นจารีตที่สืบทอดกันมาแต่ “บิดา” ของผู้ปกครอง เมื่อจารีตแห่งการปกครองไม่สืบเนื่องต่อกันมาจึงมีการรวมตัวให้ผู้ปกครองกลับไปยึดถือจารีตอันเป็นธรรมที่ยึดถือต่อกันมา จักรวรรดิวัตรจึงไม่ใช่ธรรมส่วนบุคคล แต่เป็นสถาบันทางการเมือง (ในความหมายอย่างกว้างทางสังคมวิทยา) ที่ผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองต่างยึดถือเป็นหลักเกณฑ์ เมื่อละเมิดหลักเกณฑ์นี้ ประชาชนจึงประชุมเรียกร้องให้ทำตามกฎเกณฑ์นั้น[8] ข้อสังเกตนี้ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามจารีต ธรรมนูญ หรือแบบแผนที่ดีงามอันสังคมยึดถือสืบเนื่องต่อกันมาและผลกระทบต่อชีวิตและสังคมอันเนื่องมาจากการละทิ้งแบบแผนที่สังคมยอมรับร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้นำไม่ได้ดำรงสภาวะการนำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
“จักกวัตติสูตร”บรรยายว่าเมื่อได้รับการร้องทุกข์จากข้าราชบริพาร พระราชาทรงนำจักรวรรดิวัตรมาใช้แต่ไม่ครบสมบูรณ์ ปฏิบัติบกพร่องไปหนึ่งเรื่องคือ“ไม่ได้พระราชทานทรัพย์แก่คนไม่มีทรัพย์ทั้งหลาย”[9] ไม่มีคำอธิบายในพระไตรปิฎกหรืออรรถกถาว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่นำวัตรข้อนี้มาปฏิบัติ เป็นไปได้ว่าพระองค์อาจจะเห็นว่าบ้านเมืองอุดมสมบูรณ์และรุ่งเรืองมากพอที่พระองค์จะไม่ต้องให้ความสำคัญกับนโยบายทางเศรษฐกิจ หรือไม่พระองค์ก็อาจจะใส่ใจวิถีชีวิตพลเมืองน้อยกว่ากษัตริย์องค์อื่น ๆ ซึ่งสังเกตจากสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติในเวลาต่อมา กล่าวคือ เพราะเหตุแห่งการไม่พระราชทานทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์นั้นเอง เมื่อวันเวลาผ่านไปจึงเกิดการลักทรัพย์ เมื่อเจ้าหน้าที่จับขโมยคนหนึ่งมา กษัตริย์ทรงสอบสวนและทราบว่าเขาขโมยเพราะความยากจน กษัตริย์จึงพระราชทานทรัพย์ให้ขโมยคนนั้นเพื่อเขาจะได้นำไปเลี้ยงตนเองและครอบครัว ดูเหมือนกษัตริย์พระองค์นี้ไม่ได้ทรงไตร่ตรองมากพอเกี่ยวกับปัญหาปากท้องของประชาชนเมื่อเทียบกับกรณีกษัตริย์ใน “กูฎทันตสูตร” ที่จะกล่าวถึงข้างหน้า พระองค์ทรงสนใจเฉพาะเรื่องแต่ไม่ได้มองถึงการแก้ปัญหาในภาพรวม พระองค์ไม่ได้ตระหนักชีวิตราษฎรอีกจำนวนมากที่อาจเป็นเช่นเดียวกับเข้าขโมยคนนั้น เพราะการพระราชทานทรัพย์แก่ขโมยหนึ่งคนจึงมีนัยส่วนตัวมาก การพระราชทานทรัพย์แก่ขโมยทำให้มีคนเลียนแบบเนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีที่พวกเขาจะได้รับการพระราชทานทรัพย์จากพระราชา พระสูตรแสดงให้เห็นโดยนัยว่า ประชาชนต้องการได้รับปัจจัยเลี้ยงชีวิต ได้รับการดูแลจากผู้ปกครอง พวกเขารู้ว่าผู้ปกครองจะมองเห็นพวกเขาก็ต่อเมื่อเขาทำตัวให้ปรากฏเป็นที่รับรู้ วิธีของพวกเขาก็คือทำให้ผู้ปกครองรับรู้ด้วยวิธีทำผิดคือการขโมย ซึ่งต่อมาชายคนหนึ่งไปขโมยของคนอื่นถูกคนทั้งหลายช่วยกันจับได้ คุมตัวไปให้พระราชาสอบสวน เขาอ้างความยากจนไม่มีอะไรเลี้ยงชีพ แต่คราวนี้พระราชาทรงเห็นว่า การให้ทรัพย์แก่โจรแก้ปัญหาไม่ได้ พระองค์จึงสั่งประหารขโมยนั้นเสีย
ท้าวเธอจึงทรงพระราชดำริอย่างนี้ว่า “ถ้าเราจักให้ทรัพย์แก่คนที่ถือเอาสิ่งของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้โดยอาการขโมย อทินนาทานนี้จักแพร่หลายขึ้นด้วยประการอย่างนี้ทางที่ดี เราควรให้คุมตัวบุรุษผู้นี้อย่างแข็งขัน แล้วตัดต้นคอ ตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสีย” จากนั้น ท้าวเธอทรงสั่งบังคับราชบุรุษทั้งหลายว่า “แนะพนาย ถ้าเช่นนั้น ท่านจงใช้เชือกเหนียว ๆ มัดบุรุษนี้ไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้ว โกนผมนำตระเวนไปตามถนนและตรอก พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัวนำออกทางประตูด้านทิศใต้ จงคุมตัวอย่างแข็งขัน ทำการประหาร ตัดศีรษะบุรุษนั้นเสียทางด้านทิศใต้ของพระนคร[10]
วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่กลับแย่ลง พวกโจรรวมตัวกันเป็นกลุ่มถืออาวุธปล้นทรัพย์ตามบ้าน นิคม และพระนคร พร้อมทั้งฆ่าเจ้าทรัพย์เสียโดยเลียนแบบวิธีการของทางการ หลังจากนั้น การละเมิดศีลธรรมพื้นฐาน (มุสาวาท) อย่างอื่นก็เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความกลัวต่อการลงทัณฑ์ของทางการ เมื่อคนขโมยทรัพย์ถูกทางการจับได้นำไปไต่สวน พวกเขาจึงเลือกโกหกเพื่อเอาตัวรอด สังคมเสื่อมถอยลงตามลำดับ เหตุการณ์รุนแรงแพร่ไปทั่วทั้งสังคม ลุกลามเป็นความขัดแย้งและความรุนแรงที่อยู่เหนือการควบคุมใด ๆ สำนึกแห่งความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคมที่ระส่ำระสายค่อย ๆ หายไป ความเคารพต่อกันและกันของคนในครอบครัวเสื่อมถอย ไม่มีบรรทัดฐานทางศีลธรรมใดหลงเหลืออยู่ ผู้คนมองเห็นคนอื่นเป็นเสมือนสัตว์ป่า (มิคสัญญี) เป็นศัตรูที่ต้องกำจัด พวกเขาใช้อาวุธเข่นฆ่ากันตลอดเจ็ดวัน
ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณนามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย เมื่ออทินนาทานแพร่หลาย ศัสตราก็แพร่หลาย เมื่อศัสตราแพร่หลาย ปาณาติบาตก็แพร่หลาย เมื่อปาณาติบาตแพร่หลาย มุสาวาท (การพูดเท็จ) ก็แพร่หลาย. . .[11]
. . . เมื่อมุสาวาทแพร่หลาย ปิสุณวาจาก็แพร่หลาย เมื่อปิสุณวาจาแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็แพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารแพร่หลาย ธรรม 2 ประการคือ ผรุสวาจาและสัมผัปปลาปะก็แพร่หลาย เมื่อธรรม 2 ประการแพร่หลาย อภิชฌาและความพยาบาทก็แพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและพยาบาทแพร่หลาย มิจฉาทิฏฐิก็แพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิแพร่หลาย ธรรม 3 ประการคือ อธรรมราคะ วิสมโลภะ และมิจฉาธรรมก็แพร่หลาย เมื่อธรรม 3 ประการแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้คือ ความไม่เกื้อกูลมารดา ความไม่เกื้อกูลบิดา ความไม่เกื้อกูลสมณะ ความไม่เกื้อกูลพราหมณ์ และการไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลก็แพร่หลาย . . .[12]
เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ และเมื่อเกิดแล้วได้ถูกปล่อยไว้เป็นเวลานาน เมื่อไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกทางก็พัฒนาไปสู่เหตุการณ์อื่น ๆ เป็นเหตุและผลที่กระทบกันเป็นลูกโซ่ พระสูตรย้ำเสมอว่า“ด้วยการดังพรรณนามานี้ เมื่อกษัตริย์ไม่พระราชทานทรัพย์แก่คนไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็แพร่หลาย เมื่อความขัดสนแพร่หลาย อทินนาทานก็แพร่หลาย...”จุดตั้งต้นของเหตุการณ์จึงเกี่ยวเนื่องกับความบกพร่องของกษัตริย์ในเรื่องจัดการกับทรัพย์สินหรือความยากจนของพลเมืองนั่นเอง
นักวิชาการตะวันตกคนหนึ่ง คือ Mavis Fenn (1996) ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ความจน” ที่ส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลและโครงสร้างทางสังคมในพระสูตรนี้ โดยแบ่งผลกระทบที่มีต่อสังคมใน 3 ระดับด้วยกัน กล่าวคือ ระดับแรกเป็นเรื่องส่วนบุคคล ระดับที่สองเป็นเรื่องของสังคมวิทยาและโครงสร้างของรัฐ ระดับที่สามเป็นเรื่องของภาวะผู้นำ[13]
ระดับแรก ความยากจนทำให้ปัจเจกบุคคลต้องขโมย โกหกและฆ่าผู้อื่นผลของการกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ทำให้อายุขัยเสื่อมถอยลงเท่านั้น ยังก่อให้ความชั่วแผ่ขยายและรุนแรงขึ้นโดยธรรมชาติอีกด้วย ผลสุดท้ายที่เกิดขึ้นในพระสูตรคือ สำนึกในความเป็นมนุษย์ของปัจเจกบุคคลค่อยๆ หายไป สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายไม่เป็นมิตรมีผลต่อสำนึกของแต่ละคนจนกระทั่งพวกเขากลายเป็นคนโหดร้าย ไม่เป็นมิตรต่อคนอื่นและเกิดสำนึกว่าคนอื่นเป็นดุจสัตว์ร้ายนั้นที่พวกเขาจะต่อต้าน Fenn ตีความว่าผลกระทบระดับสูงสุดของความจนที่มีต่อปัจเจกบุคคล คือความจนกันปัจเจกบุคคลออกไปจากภูมิมนุษย์ซึ่งเป็นภูมิเดียวที่จะบรรลุนิพพานได้[14]
ระดับที่สอง ความยากจนและผลของความจากจนกระจายออกไปทั่วสังคมจนกลายเป็นปัญหาเชิงสังคมคือเมื่อมีคนจนกระจายอยู่ทั่วไปในสังคม แทนที่จะตอบสนองด้วยการช่วยพวกเขามีปัจจัยยังชีพเพียงพอจะเลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดจนบำเพ็ญกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเป็นองค์ประกอบซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขามีชีวิตที่ดีตามที่สังคมหรือชุมชนยอมรับ แต่กษัตริย์ได้กำจัดความจนออกไปโดยโทษประหาร เนื่องจากกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนและระบบคุณค่าทางสังคม การตอบสนองความจนของกษัตริย์ด้วยโทษประหารในพระสูตรสะท้อนจึงแสดงถึงคุณค่าของชุมชนนั้น ๆ มันสะท้อนว่าคนจนได้ถูกปิดกั้นจากชุมชน การกีดกันดังกล่าวทำให้ชุมชนไม่สามารถแม้แต่ทำให้ความรับผิดชอบเบื้องต้นที่พวกเขาจะพึงมีต่อสมาชิกของชุมชนสมบูรณ์ได้ ชุมชนไม่อาจดูแลพวกเขา ครอบครัวหรือกิจการงานของเขา พวกเขาไม่สามารถจะทำทักษิณาทานตามหลักศาสนา เขาจะไม่ได้อานิสงส์แห่งทักษิณาทานใด ๆ ทั้งในชีวิตปัจจุบันและอนาคต Fenn มองว่า การทอดทิ้งของกษัตริย์ในพระสูตรเป็นสัญลักษณ์ของการถูกทอดทิ้งโดยชุมชนมนุษย์ ความจนกลายเป็นความจนเชิงระบบไม่ใช่ว่าสังคมหนึ่ง ๆ ไม่เคยมีความยากจน ความยากจนอาจขึ้นจากความไม่ตั้งใจแต่ความยากจนไม่จำเป็นต้องถูกทำให้กลายเป็นระบบ หน้าที่สำคัญของจักรพรรดิคือกำจัดความยากจนที่เกิดขึ้นเพื่อว่าจะไม่กลายเป็นระบบนั่นเอง
ระดับที่สาม ระดับภาวะผู้นำ(ทางการเมือง) มีความแตกต่างระหว่างการปกครองโดยปัจเจกบุคคลกับการการปกครองตามจารีตแห่งจักรวรรดิ กษัตริย์องค์ที่ 8 ผู้ซึ่งปกครองด้วยความคิดของพระองค์เองนั้น ไม่ได้ทรงเป็นคนชั่วร้ายแต่ไม่เข้าใจการนำที่ถูกต้อง โดยส่วนตัวพระองค์ยังมีคุณธรรม เมื่อพระองค์ถูกเรียกร้องให้ทบทวนแนวบริหารบ้านเมืองก็ทรงปฏิบัติตามทุกอย่างยกเว้นการให้ทรัพย์แก่ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ เมื่อจัดการกับขโมยคนที่หนึ่ง พระองค์ทรงทำเพียงพระราชทานทรัพย์แก่เขาแต่การปฏิบัติเช่นนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้ทรงดำรงจักรวรรดิไว้อย่างถูกต้องหรือป้องกันไม่ให้เกิดความยากจนเชิงระบบได้ Fenn วิเคราะห์ว่าความล้มเหลวของกษัตริย์องค์ที่ 8 ไม่ใช่ความล้มเหลวส่วนพระองค์ผู้ซึ่งไม่ยอมทำตามวิถีทางของพระราชบิดา (ธรรมนูญแห่งรัฐ) โดยแท้จริงแล้วเป็นเรื่องทางสังคมการเมือง
ตามการวิเคราะห์ของ Mavis Fenn การตอบสนองต่อคนยากไร้อย่างเฉพาะเจาะจงบุคคลด้วยการพระราชทานทรัพย์แก่ขโมยนั้นเป็นการให้ที่มีลักษณะส่วนตัวเหมือนการให้ของขวัญจากคน ๆ หนึ่งมากกว่าจะแสดงถึงการต่างตอบสนองกันระหว่างชุมชนที่เขาถูกคาดหวังให้เป็นส่วนหนึ่ง ความล้มเหลวของกษัตริย์และการถอดถอยทางศีลธรรมของพลเมืองแฝงนัยว่า ความยากจนเกี่ยวข้องกับสังคมการเมืองและจริยธรรม โครงสร้างทางสังคมการเมืองมีปฏิสัมพันธ์กับศักยภาพในการปฏิบัติตามหลักศาสนาหรือการมีศีลธรรมของพลเมือง การเมืองที่มั่นคงต้องอาศัยกฎหมายและความมีระเบียบ ความยากจนทำให้กฎหมายและความมีระเบียบดำเนินไปไม่ได้ โครงสร้างทางสังคมการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญในอันที่จะอำนวยหรือเป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล ความยากจนขัดสนที่กลายเป็นระบบจะกลายเป็นอุปสรรคต่อพฤติกรรมทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลและทำลายการประสานกลมเกลียวกันทางสังคม กษัตริย์จะมุ่งแต่กระจายทรัพย์สินวัตถุอย่างเดียวจึงไม่พอ ต้องให้หลักประกันด้วยว่าในบ้านเมืองจะไม่มีความยากจน
Fenn ให้ความเห็นต่อท้ายว่า ใน “จักวัตติสูตร” นี้ เราได้พบแนวคิดที่ตอบสนองต่อความยุติธรรมทางสังคมแบบง่าย ๆ ที่ว่า “ทุกคนควรมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลตัวเองและคนอื่น และช่วยทำให้ชีวิตทางศาสนาดำเนินไปได้” และโครงสร้างทางการเมืองต้องรวมคุณค่าเหล่านี้ไว้ด้วย และเป็นความรับผิดชอบของกษัตริย์ที่จะให้หลักประกันว่าทุกคนต้องมีทรัพยากรเพียงพอต่อการดำรงชีวิต ข้อสรุปของ Fenn ช่วยให้เราเห็นทัศนคติที่ว่า ชีวิตที่มีคุณค่าในทัศนะของพุทธศาสนาจึงไม่ใช่เพียงแค่มีวัตถุปัจจัยที่สามารถใช้ตอบสนองความต้องการทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงความสามารถที่จะต้องสนองความต้องการทางศาสนาอีกด้วย ผู้นำที่ล้มเหลวคือผู้นำที่ไม่ได้นับคุณค่าการดำรงชีวิตตามวิถีสังคมวัฒนธรรมชุมชนไว้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ในทัศนะของพุทธศาสนา การที่รัฐจะมีบทบัญญัติอันถูกต้องเกี่ยวกับทรัพย์สินเอกชนนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความยากจนเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนระบบศีลธรรมพื้นฐานของพลเมือง และทำลายระเบียบสังคม ดังนั้น เพื่อธำรงรักษาระเบียบสังคมและศีลธรรมของพลเมือง รัฐจำเป็นต้องให้หลักประกันแก่พลเมืองในเรื่องการมีทรัพยากรดำรงชีพอย่างเพียงพอหลักประกันไม่ใช่ตัวบุคคลหรือผู้นำ แต่คือหลักการที่ถูกต้องเหมาะสมและยุติธรรมสำหรับทุกคน
เรื่องเล่าใน “กูฏทันตสูตร”[15] ชี้ให้เห็นทัศนะของพุทธศาสนาที่มองว่า การครอบครองโภคทรัพย์ (ความเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารในท้องพระคลัง) แสดงถึงความสามารถทางการปกครองและน่าชื่นชม การครอบครองดินแดนกว้างใหญ่เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะเหนือผู้อื่นของกษัตริย์ ใน “จักวัตติสูตร” มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอานุภาพอันเกิดจากความดีงาม (การรักษาอุโบสถศีล) และการประพฤติตามจักรวรรดิวัตร แต่ความมั่นคั่งของกษัตริย์ (ของรัฐ) อย่างเดียวไม่ได้รับประกันความมั่นคงของประเทศหรือของพระราชอำนาจ ความยากจนของพลเมืองเป็นอุปสรรคต่อศีลธรรมและอาจทำให้อำนาจของผู้ปกครองสั่นคลอนจนถึงเกิดความระส่ำระสายไปทั่วสังคมได้ พุทธศาสนาไม่ขัดข้องที่กษัตริย์หรือผู้นำรัฐจะครอบครองความมั่งคั่งโดยอาศัยการเก็บภาษีจากบรรดาพ่อค้าคหบดีแต่รัฐจะเก็บภาษีได้มิใช่เพราะมีอำนาจที่จะเรียกเก็บ หากต้องมาจากผลสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินโดยรัฐจนช่วยให้พลเมืองมีทรัพย์สินมั่งคั่งจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ สำหรับพุทธศาสนา ความมั่งคั่งของผู้นำหรือรัฐไม่ได้มีความหมายอะไรหากประชาชนยังลำบากยากจน
“กูฏทันตสูตร” ให้แนวคิดทำนองว่าเพราะความยากจนเป็นอุปสรรคต่อศีลธรรมและระเบียบของรัฐ ผู้ปกครองต้องขจัดสภาวะที่อาจนำไปสู่การเสื่อมทรามทางจริยธรรมและความไร้ระเบียบของสังคมดังนั้น ผู้ที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำในการบริหารกิจการรัฐและเป็นผู้นำที่จะได้รับการยอมรับนับถืออย่างแท้จริงนั้น ต้องรู้จักวิธี “ปราบโจร” ป้องกันไม่ให้มีโจรเกิดขึ้นในบ้านเมือง วิธีการปราบโจรตามที่พระสูตรระบุไว้คือการรู้จักพัฒนาความมั่งคั่งหรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัฐตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงระดับบน โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนทุกระดับสาขาอาชีพมีโอกาสได้ประกอบการงานตามหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม ดังความตอนหนึ่งใน “กูฏทันตสูตร” พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงการทำมหายัญของพระเจ้ามหาวิชิตราช ดังนี้
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
“พราหมณ์เรื่องเคยมีมาแล้ว พระเจ้ามหาวิชิตราชทรงเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีพืชพันธุ์ธัญญาหารเต็มท้องพระคลัง ต่อมาท้าวเธอประทับอยู่ตามลำพังทรงคิดคำนึงว่า “เราได้ครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดีเราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน”
ท้าวเธอจึงรับสั่งให้เรียกพราหมณ์ปุโรหิตมารับสั่งว่า “พราหมณ์ วันนี้เราพักอยู่ตามลำพังเกิดความคิดคำนึงขึ้นว่า เราได้ถือครองโภคสมบัติที่เป็นของมนุษย์อย่างมากมาย ได้เอาชนะแล้วครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ทางที่ดี เราพึงบูชามหายัญที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาลนาน พราหมณ์ เราปรารถนาจะบูชายัญ ขอท่านผู้เจริญโปรดแนะนำวิธีบูชายัญที่จะอำนวยประโยชน์สุขแก่เราตลอดกาล”
เมื่อท้าวเธอรับสั่งอย่างนี้ พราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลว่า “บ้านเมืองของพระองค์ยังมีเสี้ยนหนาม มีการเบียดเบียน โจรยังปล้นบ้าน ปล้นนิคม ปล้นเมืองหลวง ดักจี้ในทางเปลี่ยว เมื่อบ้านเมืองยังมีเสี้ยนหนาม พระองค์จะโปรดให้ฟื้นฟูพลีกรรมขึ้นก็จะเชื่อว่าทรงกระทำสิ่งที่ไม่สมควร พระองค์มีพระราชดำริอย่างนี้ว่า “เราจักปราบปรามเสี้ยนหนามคือโจร ด้วยการประหาร จองจำ ปรับไหม ตำหนิโทษ หรือเนรเทศ” อย่างนี้ไม่ใช่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง เพราะว่าโจรที่เหลือจากที่กำจัดไปแล้วมาเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ในภายหลังได้ แต่การกำจัดเสี้ยนหนามคือโจรที่ถูกต้อง ต้องอาศัยวิธีการต่อไปนี้ คือ
1.ขอให้พระองค์พระราชทานพันธุ์พืชและอาหารให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในเกษตรกรรมและการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเมืองของพระองค์ 2.ขอให้พระองค์พระราชทานต้นทุนให้แก่พลเมืองผู้ขะมักเขม้นในพาณิชยกรรมในบ้านเมืองของพระองค์ 3.ขอให้พระองค์พระราชทานอาหารและเงินเดือนแก่ข้าราชการที่ขยันขันแข็งในบ้านเมืองของพระองค์
พลเมืองเหล่านั้นจักขวนขวายในหน้าที่การงานของตน ไม่พากันไปเบียดเบียนบ้านเมืองของพระองค์ และจักมีกองพระราชทรัพย์อย่างยิ่งใหญ่ บ้านเมืองก็จะอยู่ร่มเย็น ไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่มีการเบียดเบียน ประชาชนจะชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขกับครอบครัวอยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูบ้าน”[16]
พระสูตรนี้ให้นัยสำคัญที่ว่า “ทรัพย์สิน” หรือปัจจัยเลี้ยงชีพเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับชีวิตทุกคนมีอิทธิพลต่อความมั่นคงของรัฐ ผู้ปกครองต้องรู้จักวิธีที่จะขจัดความจนภายในรัฐ โดยกระจายความมั่งคั่งแก่ประชาชนพลเมืองด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม “โจร” ที่กล่าวถึงในพระสูตรเกิดขึ้นเพราะ “ความจน” อันเนื่องจากการดำเนินนโยบายไม่ครอบคลุมของรัฐ “โจรเพราะจน”นั้นไม่อาจแก้ไขได้ด้วย“การตัดหัวเสียบประจาน” เพื่อข่มขู่ไม่ให้ผู้คนเอาเยี่ยงอย่าง ทั้งไม่อาจแก้ไขด้วยบังคับทางกายภาพหรือการกีดกันไม่ให้มีส่วนร่วมในสังคมและชุมชนแห่งรัฐการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการเช่นนั้นในที่สุดแล้วก็จะได้รับการต่อต้านและการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจนนำไปสู่ความวุ่นวายของสังคม รัฐไม่พึงแก้ปัญหาความยากจนด้วยวิธีแห่งความรุนแรงแต่แก้ไขด้วยการทำให้คนมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต “ชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขอยู่กับครอบครัว อยู่อย่างไม่ปิดประตูบ้าน”[17]
ประโยคที่บอกว่า “ชื่นชมยินดีต่อกัน มีความสุขอยู่กับครอบครัว อยู่อย่างไม่ปิดประตูบ้าน” ในพระสูตรนี้แสดงถึงเป้าหมายของการปกครองของรัฐหรือผู้นำประเทศอย่างมีนัยสำคัญ รัฐหรือผู้นำรัฐพึงดำเนินนโยบายที่ทำให้พลเมืองของรัฐสามารถ (1) “ชื่นชมยินดีต่อกัน” (2) “มีความสุขอยู่กับครอบครัว” และ (3) “อยู่อย่างไม่ปิดประตูบ้าน” ความชื่นชมยินดีต่อกันมีไม่ได้หากรัฐหรือผู้นำรัฐรวมทั้งชุมชนที่เกี่ยวข้องปิดประตูสำหรับคนยากจน กีดกันหรือทำให้เป็น “ผู้อื่น” โดยภาษาปัจจุบันก็คือไม่ให้สิทธิในการพัฒนาตนเองอย่างเท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่นๆ ในประเทศเดียวกัน “มีความสุขอยู่กับครอบครัว”ภาษาบาลีใช้คำว่า “ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก” (อุเรปุตฺเต นจฺจนเต”) ความรื่นรมย์ภายในครอบครัวเกิดขึ้นได้ยากหากพวกเขาไม่มีปัจจัยเลี้ยงชีพอย่างเพียงพอ ไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีคุณค่าต่อชีวิต และรู้สึกปลอดภัย
การ “เปิด” หรือ “ปิด” ประตูบ้านจึงมีสำคัญอย่างยิ่ง “การเปิดประตูบ้าน” หมายถึง (1) การเปิดรับให้ผู้อื่นเข้ามามีความสัมพันธ์กับเรา (2) การเปิดออกไปเพื่อเราจะได้ไปมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับผู้อื่นนอกบ้านด้วย เราเปิดประตูบ้านก็เพื่อต้อนรับมิตรสหายและผู้มาเยือน หรือหากสังคมมีองค์ประกอบที่น่าไว้วางใจสูงสุด เราอาจเปิดบ้านต้อนรับคนแปลกหน้าที่มาเยือนได้โดยมิต้องหวาดกลัวอันตราย ส่วน “การปิดประตูบ้าน” คือการไม่ต้อนรับ การหวาดระแวง การกลัวต่อความสูญเสีย กลัวต่อการรุกล้ำที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อประตูบ้านปิด การปฏิบัติความสัมพันธ์ตามหลัก “ทิศ 6” จะถูกทำให้สมบูรณ์ได้อย่างไร การปิดประตูบ้านจึงแสดงถึงการไม่สามารถจะมีชีวิตที่ดีโดยสมบูรณ์ตามวิถีแห่งมนุษย์ซึ่งอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางครอบครัวและสังคม แต่จะ“อยู่อย่างไม่ปิดประตูบ้าน” ได้อย่างไรหากไม่รู้สึกถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน หากรัฐ สังคมหรือผู้นำรับประกันได้ว่าชีวิตและทรัพย์สินของพลเมืองจะมีความปลอดภัย พลเมืองย่อมจะมีความชื่นชมยินดีต่อกัน เปิดประตูบ้าน และสามารถ “ยังบุตรให้ฟ้อนอยู่บนอก”ได้
กล่าวโดยสรุป “กูฏทันตสูตร” ให้แนวคิดเกี่ยวกับการกระจายความมั่งคั่งหรือเศรษฐทรัพย์แก่พลเมืองภายในรัฐ 3 ประการคือ (1) การกระจายความมั่งคั่งต้องเป็นไปในทุกระดับของสังคม นั่นคือนโยบายที่ใช้กระจายความมั่งคั่งในหมู่ประชาชนนั้นต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน (2) การกระจายความมั่งคั่งไม่ใช่การแจกจ่ายทรัพย์สินโดยตรงแบบนโยบาย “เช็คช่วยชาติ” หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) แต่เป็นการส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพตามฐานะและหน้าที่อันเหมาะสม รัฐให้เสรีภาพในการประกอบอาชีพและจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นเพื่ออุดหนุนส่งเสริมให้พลเมืองมีกำลังใจในการประกอบอาชีพที่ตนเลือก (3) ส่งเสริมสนับสนุนผู้ที่มีความชอบธรรมและไม่เบียดเบียนสังคม จัดสภาพแวดล้อมที่ป้องกันไม่ให้คนชั่วมีโอกาสฉกฉวยผลประโยชน์อย่างไม่ชอบธรรม การจัดการทั้ง 3 ประการนี้อยู่ภายใต้แนวคิดความยุติธรรมทางสังคมที่ว่า “ทุกคนควรมีทรัพยากรเพียงพอที่จะดูแลตัวเองและคนอื่นและช่วยทำให้ชีวิตทางศาสนาดำเนินไปได้”
มีหลายคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เช่น อาจตั้งคำถามได้ว่าภูมิปัญญาเก่าแก่อย่างพุทธศาสนาจะนำมาเป็นแบบแผนในการปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับทฤษฎีต่าง ๆ ในโลกสมัยใหม่ สมมติว่ารายละเอียดต่าง ๆ ตามคำสอนเป็นสิ่งที่ไม่อาจนำมาปฏิบัติได้จริง แต่แนวคิดของพุทธศาสนาที่ว่า การกระจายปัจจัยวัตถุสำหรับการดำรงชีวิตพลเมืองในรัฐต้องดำเนินไปอย่างเป็นธรรมก็น่าจะเป็นแนวคิดที่ใช้ได้กับสังคมร่วมสมัยอยู่ ดังนั้น คำถามที่เราอาจถามได้ก็คือ การจัดการทางด้านเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ได้ดำเนินการโดยคำนึงถึงความยุติธรรมมากน้อยเพียงใด และสำหรับประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวอ้างว่าปกครองตามพระไตรปิฎกนั้น เป็นเพียงแต่คำพูดเรื่อยเปื่อย ที่ไม่ได้มาจากการทำความเข้าใจในสิ่งที่ตนกล่าวอ้างแต่ประการใดหรือไม่ อย่างไร ก็แล้วแต่ข้อพิจารณาส่วนตนของท่านผู้อ่านก็แล้วกันนะครับ
อ้างอิง
[1] ศริญญา อรุณขจรศักดิ์, สุวรรณา สถาอานันท์, ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ และชาญณรงค์ บุญหนุน. เศรษฐศิลป์ : ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุในปรัชญาตะวันออก. นครปฐม : โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยากรเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2560.
[2] ที.ปา.11/111-140
[3] วีระ สมบูรณ์, รัฐธรรมในอดีต. (พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเพ่นบุ๊คส์, 2551), หน้า 34.
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 35.
[5] ที.ปา.11/80-110
[6] ที.ปา.11/80
[7] ที.ปา 11/84
[8] วีระ สมบูรณ์, รัฐธรรมในอดีต. หน้า 46-47.
[9] ที.ปา. 11/90-91.
[10] ที.ปา.11/92.
[11] ที.ปา.11/95
[12] ที.ปา.11/102
[13] Mavis Fenn, “Two Notions of Poverty in the Pali Canon.” Journal of Buddhist Ethics 3(1996): pp.105-107.
[14] Mavis Fenn, Ibid. p.108.
[15] ที.สี.9/323-258
[16] ที.สี.9/336-338
[17] เรื่องเดียวกัน, อ้างแล้ว.
หมายเหตุ
พระไตรปิฎกที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในบทความนี้ ได้แก่ พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พุทธศักราช 2539.
เครดิตภาพ คม ชัด ลึก http://www.komchadluek.net/news/politic/357535
แสดงความคิดเห็น