นำข้อมูลใหม่ให้กกต. ประกอบการพิจารณาการกำหนดวันเลือกตั้ง
Posted: 03 Jan 2019 06:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-03 21:52
วิษณุ ระบุงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีขั้นตอนต่างๆ มากมายไม่ได้มีแค่ 3 วัน จึงนำข้อมูลมาบอก กกต. เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง เผยไม่กล้าชี้ชัดเพราะเป็นอำนาจของ กกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้ง แต่คาดว่า กกต. จะนำเรื่องไปหารือกัน หากเชื่อว่าเลือกตั้ง 24 ก.พ. แล้วเร่งการประกาศผลทัน กกต. ก็ยืนยันว่าเลือกตั้ง 24 ก.พ. ได้
3 ม.ค. 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยระบุว่า วันนี้ได้มาชี้แจงให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบถึงการเตรียมการขั้นตอนต่างๆ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากบัดนี้มีการประกาศพระราชโองการให้มีการจัดพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค. 2562 แล้ว ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ กกต. จะต้องในไปประกอบการพิจารณาในการกำหนดวันเลือกตั้ง เพราะอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. แม้ก่อนหน้านี้จะได้มีการให้ข้อมูลทั้งจากนายกรัฐมนตรี และตนเอง และที่สำคัญคือการชี้แจงข้อมูลในการขั้นตอนการเตรียมการสู่การเลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำ 5 สาย และตัวแทนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 ซึ่งในครั้งนั้นได้ตั้งใจว่าโอกาสแรกสุดที่จะมีการจัดการเลือกตั้งได้คือวันที่ 24 ก.พ. 2562 ซึ่งเวลานั้นประเมินแล้วเห็นว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายมีความพร้อมไม่ว่าจะเป็น รัฐบาล กกต. ผู้สมัครและพรรคการเมือง แต่ในเวลานั้นยังไม่มีการพูดถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้จะรู้ว่าวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นแต่ยังไม่รู้ว่าจะมีในวันใด เมื่อรู้แน่ชัดแล้วจึงได้มานำข้อมูลมาเรียนให้ กกต. นำไปพิจารณา
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้มีแค่ 3 วัน แต่ยังมีพีธิอื่นๆ ทั้งก่อนและหลังวันพระราชพิธี
วิษณุ กล่าวต่อว่า ความรับรู้ของประชาชนทั่วไปมีอยู่เพียงว่า จะมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4-6 พ.ค. แต่ยังไม่ทราบกันทั่วไปคือ การประกอบพระพิธีบรมราชาภิเษกทุกครั้งที่ผ่านมา เช่นในสมัยของรัชกาลที่ 9 ก็จะเห็นว่าช่วงก่อนวันพระราชพิธีจะมีกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับการบรมราชาภิเษกนำหน้ามาก่อนประมาณครึ่งเดือน และหลังจากวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ตะมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมาอีกครึ่งเดือนเช่นกัน ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้อยู่ในประกาศพระบรมราชโองการ แต่เป็นส่วนที่อยู่ในการกำหนดของคณะกรรมการจัดงานซึ่งรัฐบาลจะตั้งในอีกสองวัน อย่างไรก็ตามกิจกรรมที่ต้องมีแน่ๆ คือ ประมาณ 15 วันก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะต้องมีการทำน้ำอภิเษก โดยจะต้องนำมาจากสี่แหล่งคือ ปัญจมหานที (แม่น้ำทั้ง 5 สายในประเทศอินเดีย คงคา ยมุนา มหิ สรภู และอจิรวดี) เบญจสุทธิคงคา (น้ำจากแม่น้ำ 5 สายในประเทศไทย บางประกง เจ้าพระยา ป่าสัก แม่กลอง และเพชรบุรี) น้ำในสระ 4 สระ เมืองสุพรรณบุรี ประกอบกับน้ำจาก 76 จังหวัดในประเทศไทย ซึ่งแต่ละจังหวัดได้กำหนดไว้แล้วว่าจะมาจากที่ใด โดยจะต้องเชิญน้ำเหล่านี้มาเข้าพระพิธีเสกและนำมารวมกันเป็นน้ำอภิเษก เตรียมไว้ถวายให้ทรงสรงในเวลามีพระราชพิธี นอกจากนั้นมีพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏ และยังพิธีพระราชฐานันดรเจ้านายพระองค์อื่นอีก และยังมีพิธีอื่นๆ อีกมากมาย
วิษณุ กล่าวด้วยว่า ระว่างที่มีพระราชพิธีและกิจกรรมต่างๆ กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งวันใดก็ไม่กระทบกับพระราชพิธี แต่จะต้องไม่เกิน 150 วัน หากจะกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. 2562 ก็ไม่กระทบกับพระราชพิธี แต่อาจทำให้ระยะเวลาการหาเสียงหรือการเตรียมการของกกต.สั้นลง ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดกรอบการเลือกั้งภายใน 150 วันนับจากวันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้นั้น ไม่สามารถใช้มาตรา 44 แก้ไขได้
“ลำพังการเลือกตั้งจะมีเมื่อใด ไม่ได้กระทบต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และถึงอย่างไรวันเลือกตั้งก็ต้องมีขึ้นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแน่นอน เพราะอยู่ในช่วง 150 วันนับจากวันที่ 11 ธ.ค. 2561 ถึงวันที่ 9 พ.ค. 2562 ฉะนั้นที่มีเสียงไม่ว่าจะด้วยความปราถนาดีว่า จะเกิดความยุ่งยาก ทับซ้อนกัน ก็ควรเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปให้พ้นวันพระราชพิธี เรื่องนี้ทำไม่ได้... เพราะเกิน 150 วัน เพราะเรื่องนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ก็แก้ไม่ได้ ฉะนั้นถึงอย่างไรวันเลือกตั้งก็จะต้องอยู่ในกรอบ 150 วัน” วิษณุ กล่าว
หาก กกต. ยืนยันว่าเลือกตั้ง 24 ก.พ. แล้วบริหารจัดการเวลาได้ ก็ทำได้ แต่ไม่ควรให้สองกิจกรรมทับซ้อนกัน
วิษณุ กล่าวต่อว่า หากจะมีการใช้กำหนดวันเลือกตั้งเดิม คือ 24 ก.พ. 2562 ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก การหาเสียงก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธี รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงคือ ช่วงเวลาหลังจากการเลือกตั้งเป็นต้นไป ซึ่งยังมีกิจกรรมทางการเมืองหลังจากวันเลือกตั้งอีก อันดับแรกจะต้องมีการประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ซึ่งยังไม่ทราบได้ว่าจะใช้เวลาเท่าใด หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. วันสุดท้ายที่จะประกาศผลเลือกตั้งคือวันที่ 24 เม.ย. ซึ่งอาจจะตรงกับช่วงเวลาเดียวกับพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก หากขยับให้เร็วขึ้นก็จะตรงกับช่วงพระราชพิธีสงกรานต์ และหลังจากเสร็จพระราชพิธีทำน้ำอภิเษก ก็จะมีพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏต่อ ฉะนั้นกิจกรรมทางการเมือง และกิจกรรมพระราชพิธีจะต้องนำมาวางคู่ และเทียบกันเพื่อไม่เกิดการทับซ้อนกัน
วิษณุ กล่าวต่อว่า หลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ยังมีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันหลังการประกาศผลเลือกตั้ง เพื่อให้นำถวายต่อพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า และหลังจากนั้นก็จะต้องมีการกราบบังคมทูลเสร็จทำพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วันหลังจากมีการประกาศผล ซึ่งหากยึดวันประกาศผลเป็นวันที่ 24 เม.ย. 2562 ภายใน 15 วันก็จะตรงกับวันที่ 8 พ.ค. หลังจากนั้นจะเป็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และประธานรัฐสภา และนำถวายให้ทรงแต่งตั้ง เมื่อแต่งตั้งแล้วก็จะมีการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าจะต้องเลือกภายในกี่วัน
เมื่อถามว่า ตามเงื่อนไขเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มี.ค.หรือ 17 มี.ค.นี้ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะขึ้นอยู่กับกกต. สื่อฟังแถลงไม่นานก็สามารถจับประเด็นได้ เมื่อตนได้บอกรายละเอียดกับทางกกต.ไป เชื่อว่า กกต.คงมีคำตอบในใจและไปหารือกัน แต่รัฐบาลก็ได้กำชับกับ กกต. ว่าต้องการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับ กกต. และไม่ทราบว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่
“ผมไม่กล้าชี้ชัดกับ กกต. ผมทำได้แค่เพียงบอกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะ กกต. ท่านจะเป็นคนบริหารเวลาเอง เช่นท่านสามารถประกาศผลเลือกตั้งได้เร็วภายใน 7 วัน 15 วัน หรือ 30 วัน ถ้าท่านทำได้ ท่านก็ยืนยันการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ. ได้” วิษณุ กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เพื่อที่จะไม่ให้กระบวนการต่างๆ เกิดความวุ่นวาย ก็ควรจะมีรัฐบาลใหม่หลังจากงานพระราชพิธีฯ หรือไม่ วิษณุ ตอบว่า ใช่ แต่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น