Posted: 10 Jan 2019 04:21 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-10 19:21


10 ม.ค. 2562 ผู้สื่อข่าว รายงานว่า เมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 09.00 น.กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.เชียงเพ็ง และเครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย ต.น้ำปลีก ได้จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “วิเคราะห์สถานการณ์โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล” โดยมีหลายเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 150 คน ณ วิทยาลัยชุมชนยโสธร พร้อมอ่านคำประกาศให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานยกเลิกการพิจารณาออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวลอย่างเด็ดขาด


อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน กล่าวว่า ประเทศไทย ก่อนหน้านี้เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับสาม ขณะที่ปีนี้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก เพราะการพัฒนาแบบเปิดโอกาสให้นายทุนเข้ามายึดพื้นที่ ยึดทรัพยากร ยกตัวอย่างที่จ.ระยอง มี GDP สูงสุดในประเทศ แต่คนระยองก็ไม่ได้เป็นคนรวย เป็นเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง และเงาะ เพียงแต่ในพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่าง ปตท. และ TPI เข้าไปใช้ทรัพยากร และสร้างรายได้ ทำให้ตัวเลข GDP ในจังหวัดสูงขึ้นแต่เม็ดเงินไม่ได้เกิดขึ้นแก่คนในระยองโดยตรง

อุบล กล่าวต่อว่า ในปี 2525 เกิดพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.ขอนแก่น แต่ก็ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดออกมาทำวิจัยว่า คนในพื้นที่อุตสาหกรรมมีรายได้มากกว่า หรือร่ำรวยกว่าคนนอกพื้นที่อุตสาหกรรม แต่หอการค้าบางจังหวัดได้ทำรายงานเสนอว่า รายได้จากการปลูกอ้อยมากกว่าการปลูกข้าว แต่ไม่มีงานวิจัยว่าการปลูกอ้อย แทบทุกขั้นตอน ไม่สามารถทำได้โดยแรงงานรายย่อย ทุกขั้นตอนต้องมีการจ้าง มีรถแทรกเตอร์ รายได้ที่มีไม่ได้ตกอยู่ที่เกษตรกรทั้งหมด อ้อยกลายเป็นสินค้าเกษตรพันธะสัญญา แม้จะมีกฏหมายกำกับดูแล แต่เกษตรกรก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

สิริศักดิ์ สะดวก ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ยังไม่ได้ยกเลิกการพิจารณาใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 61 เมกะวัตต์ ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่รัศมี 5 กม. ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะมีประเด็นข้อกังวลว่า พื้นที่ตั้งของโครงการอยู่ใกล้ชุมชน เกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรน้ำในลำเซบาย อีกทั้งชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น และเวลานี้การดำเนินโครงการดังกล่าวก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงต่อกลุ่มที่คัดค้านและสนับสนุน

สิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลผลการศึกษาข้อเท็จจริง ประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากกรณีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล จำนวน 5 หมู่บ้าน ของต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร จำนวน 559 ครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมด 838 ครัวเรือน พบว่า กลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการฯ ไม่มีส่วนร่วมในการร่วมรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานฯ และประชาชนกลุ่มเป้าหมายเกินกว่าร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่

“ผมมองว่าข้อกังวลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กกพ. จะต้องยกเลิกการพิจารณาการออกใบอนุญาตโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ต.น้ำปลีก อย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อแสดงความจริงใจของ กกพ. และรัฐบาล หากไม่ต้องการจะเห็นกระแสคัดค้านโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในภาคอีสานที่จะถูกคัดค้าน และลุกลามออกไปทั่วภาคอีสาน” สิริศักดิ์ กล่าว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งในกระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งเเวดล้อม (EIA) มีลักษณะคล้ายกับการอ่านวิทยานิพนธ์ ที่เป็นการตั้งสมมุติฐาน แล้วตั้งมาตรการมาแก้ไข ไม่ได้มีมองภาพพื้นที่จริง หรือสภาพความเป็นจริง และเมื่อเกิดปัญหาเกิดขึ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ

สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า ในรายงาน EIA ระบุว่าจะมีการส่งเสริมพื้นที่การปลูกอ้อย 200,000 ไร่ เพื่อให้พอต่อการเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต้องการจำนวน 660,000 ตันอ้อย/ปี แต่กลับไม่ได้ระบุพื้นที่ปลูกอ้อยดังกล่าวว่าจะส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ใด และที่สำคัญพื้นที่ ต.น้ำปลีก ต.เชียงเพ็งไม่มีการปลูกอ้อย แต่กลับมีโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้ามาตั้ง

สุภาภรณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากการที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในระดับตัดสินใจตั้งแต่ระดับนโยบาย ไม่สามารถใช้สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของชุมชนได้ ทั้งยังพบปัญหากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนใน EIA ซึ่งเป็นเพียงการทำให้ครบตามกฎหมายแต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แม้จะมีกฎหมายให้สิทธิแต่การเข้าถึงสิทธินั้นยากมาก ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่เข้าใจในกลไกการใช้สิทธิของประชาชนในกระบวนการขั้นตามกฎหมาย และมากไปกว่านั้นยังมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยใช้กฎหมาย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.