ซ้ายไปขวา: ฮาคีม อัล อาไรบี และ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน

Posted: 10 Jan 2019 04:37 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-10 19:37


รมว. ต่างประเทศออสเตรเลียเข้าพบรองนายกฯ และ รมว. ต่างประเทศไทย ใช้โอกาสนี้พูดคุยกรณีนักบอลชาวบาห์เรน และหญิงซาอุฯ ที่ถูกกักตัวในไทย หลังรายแรกลี้ภัยในออสเตรเลียแล้วถูกจับเมื่อมาเที่ยว รายหลังหนีครอบครัวหวังไปแดนจิงโจ้ แต่ถูกกักตัวขณะต่อเครื่องที่สุวรรณภูมิ แสดงความกังวลในสองกรณี กรณีหญิงซาอุฯ จะเข้ากระบวนการพิจารณาต่อไป แอมเนสตี้ฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องปล่อยตัวชาวบาห์เรนก่อนทีมชาติไทยฟาดแข้งกับบาห์เรน

10 ม.ค. 2562 มีความคืบหน้ากรณีฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนผู้ที่ได้รับอนุญาตลี้ภัยในประเทศออสเตรเลียและราฮาฟ โมฮัมเหม็ด แอล-คูนูน หญิงอายุ 18 ปีที่หลบหนีอันตรายจากครอบครัวโดยมีปลายทางที่ออสเตรเลียเช่นกันแต่ทั้งสองถูกกักตัวในประเทศไทยอย่างต่างกรรมต่างวาระ

วันนี้ไทยรัฐรายงานว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้กล่าวว่าทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่แอล-คูนูนแล้ว ทั้งนี้ พ่อและพี่ชายของแอล-คูนูนก็ได้มาถึงไทย และตนก็ได้พูดคุยบ้างแล้ว พบว่าเป็นปัญหาภายในครอบครัวอันเกิดมาจากความน้อยใจกันภายใน ไม่ใช่ปัญหาระหว่างประเทศ ด้านสถานทูตซาอุดิอาระเบียก็รับทราบการดำเนินการหมดแล้ว ส่วนแอล-คูนูนจะได้ไปที่ประเทศไหนนั้นต้องให้ UNHCR เป็นคนตัดสินใจ

ในวันนี้ มารีส เพน รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเข้าพบกับดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. กระทรวงการต่างประเทศไทย และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเพื่อเซ็นบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการร่วมมือด้านดิจิทัล การมาเยือนดังกล่าวเป็นการมาเยือนตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ระหว่างพูดคุย เธอยังได้แสดงความกังวลในกรณีของอัล อาไรบี และแอล-คูนูนด้วย

มารีสกล่าวในช่วงแถลงข่าวว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตออสเตรเลียได้เข้าเยี่ยมอัล อาไรบีหลายครัั้ง เธอยังแสดงความกังวลเรื่องการกักตัวและความเสี่ยงที่อดีตนักฟุตบอลทีมชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยอยู่ในออสเตรเลียจะถูกส่งกลับบาห์เรน โดยออสเตรเลียจะติดต่อกับทางการไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

ในกรณีของแอล-คูนูนนั้น รมว. ต่างประเทศของออสเตรเลียระบุว่า เธอรับรู้ถึงความเป็นไปที่ทางการไทยส่งตัวแอล-คูนูนไปให้กับ UNHCR ซึ่งเธอมองว่าเป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทาง UNHCR ได้รายงานกรณีของหญิงอายุ 18 คนนี้กับทางออสเตรเลียแล้ว ซึ่งต่อไปจะตามมาด้วยกระบวนการการพิจารณาซึ่งมีหลายขั้นตอน เธอยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใด แต่เธอจะไม่เดินทางกลับออสเตรเลียพร้อมคณะของเธอในเย็นวันนี้ เธอยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีที่มีข่าวว่าออสเตรเลียยกเลิกวีซ่าท่องเที่ยวของแอล-คูนูน

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์กรณีอัล อาไรบี โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา ที่ปัจจุบันถูกควบคุมตัวในประเทศไทยมากว่า 40 วันแล้ว


(ทีมฟุตบอลทีมชาติ) บาห์เรนและไทยจะแข่งขันกันในวันนี้ ในเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก 2019 แต่ในขณะที่ทั้งสองประเทศช่วงชิงความเป็นใหญ่ในสนามบอล อาจเกิดอันตรายต่ออนาคตของ "ฮาคีม อัล อาไรบี" นักฟุตบอลอาชีพที่กรุงเมลเบิร์น ซึ่งหลบหนีจากบาห์เรนและได้รับสถานะผู้ลี้ภัยระหว่างอยู่ในออสเตรเลีย

แกรม ทอม ผู้ประสานงานด้านผู้ลี้ภัย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ออสเตรเลียกล่าวดังนี้

“ถึงเวลาที่ผู้นำในประชาคมฟุตบอลต้องยืนหยัดเพื่อฮาคีม แอมเนสตี้ยินดีกับข่าวที่ว่าทางฟีฟ่าได้ประชุมกับชีก ซัลมาน บิน อัล คาลีฟา เพื่อพูดคุยถึงชะตากรรมของฮาคีม ในฐานะประธานเอเอฟซี ซัลมานมีทั้งพันธกรณีด้านศีลธรรมและความเป็นมืออาชีพที่จะต้องช่วยเหลือฮาคิม

"ในฐานะผู้นำในเอเชียและในฐานะคนบาห์เรน ชีก ซัลมานสามารถใช้อิทธิพลกดดันได้ แต่ที่ผ่านมาเขากลับแสดงทีท่านิ่งเฉยอย่างชัดเจน การไม่ยืนหยัดและประณามปฏิบัติการของบาห์เรนและไทย เท่ากับว่าเอเอฟซีไม่ได้ยึดมั่นตามคุณค่าและความดีงามในฐานะ “เกมการแข่งขันอันสวยงาม”

“ประเทศไทยต้องไม่ร่วมมือสนับสนุนระบอบปกครองที่กดขี่ของบาห์เรนและราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ด้วยการทำให้บุคคลเสี่ยงจะถูกทรมาน ถูกคุมขัง หรือเสียชีวิต

“รัฐบาลออสเตรเลียยังคงพยายามประสานงานกับทางการไทยเพื่อนำตัวฮาคิมกลับบ้าน แต่ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมฟุตบอลจะต้องร่วมมือต่อสู้และกดดันประเทศไทย ฮาคีมจะยังไม่ปลอดภัยจนกว่าเขาจะได้กลับไปบ้านที่ออสเตรเลีย ในฐานะผู้ลี้ภัยที่ผ่านการตรวจสอบและมีหนังสือเดินทางถูกต้อง เขาไม่ควรจะถูกควบคุมตัวเลย หากถูกส่งกลับไปบาห์เรน เขาอาจถูกทรมานและอาจเสียชีวิต

ข้อมูลจากแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า อัล อาไรบี เป็นนักฟุตบอลอาชีพที่กรุงเมลเบิร์น ปัจจุบันเขาถูกควบคุมตัวมากว่า 40 วันแล้วในช่วงระหว่างรอการไต่สวนเพื่อส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังบาห์เรน โดยระหว่างเดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางของออสเตรเลีย อัล อาไรบีถูกควบคุมตัวพร้อมกับภรรยาทันทีที่มาถึงกรุงเทพฯ ในวันอังคารที่ 27 พ.ย. 2561 ฮาคีมและภรรยาได้ถูกส่งตัวไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลูในวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค. และในวันที่ 3 ธ.ค. เขาถูกนำตัวไปขึ้นศาลและศาลสั่งให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างถูกนำตัวกลับไปศูนย์กักตัวคนต่างด้าวซอยสวนพลู เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้

แอล-คูนูนเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิวันที่ 5 ม.ค. 2562 ระหว่างการเดินทางจากคูเวตไปออสเตรเลีย ราฮาฟบอกว่า เธอหลบหนีมาจากการปฏิบัติมิชอบ การทุบตี และการขู่ฆ่าจากครอบครัวของตนเอง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ราฮาฟบอกว่า เจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ได้ยึดหนังสือเดินทางของเธอเอาไว้ ส่วนหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยบอกว่า ถูกขัดขวางไม่ให้เดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย และได้มีการติดต่อกับ “สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอาระเบียเพื่อประสานงาน” ในเรื่องนี้

ต่อมาสถานทูตซาอุดิอาระเบียประจำประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธประเด็นที่บอกว่ามีเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ยึดพาสปอร์ตของแอล-คูนูน โดยระบุว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากตามที่ทางการไทยได้ชี้แจงว่าที่แอล-คูนูนถูกกักตัวนั้น เนื่องจากไม่สามารถแสดงเอกสารสำคัญที่สามารถตรวจสอบได้ โดยสถานทูตฯ ขอยืนยันว่าซาอุฯ ไม่ได้ขอให้นำตัวเธอกลับประเทศ สถานทูตฯ ขอเรียนว่ากรณีนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่สถานทูตฯ ยินดีให้ความดูแลและห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.