Posted: 16 Jan 2019 08:20 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Wed, 2019-01-16 23:20
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล รายงาน
อ่านเอกสารการร่างรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยตลอด 75 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จาก 2475-2550 กับ 6 เรื่องถกเถียงหลัก และ 4 จังหวะแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ
สถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหนท่ามกลางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่
ข้อถกเถียงหลักว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตย
4 จังหวะแห่งความเปลี่ยนแปลงในรอบ 75 ปีระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง
16 ม.ค.2562 ในงานเปิดตัวหนังสือ ‘นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง ข้อถกเถียงว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550’ เขียนโดยสมชาย ปรีชาศิลปกุล ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ ‘ข้อ (ไม่) ถกเถียง ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กล่าวถึงงานขอตนว่า
งานชิ้นนี้ ผมสนใจและเริ่มเขียนหลังยึดอำนาจปี 2557 ช่วงแรกๆ นักวิชาการขยับทำอะไรกันไม่ค่อยได้ ผมก็เลยอ่านรายงานการประชุมขององค์กรที่มีหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475-2550 และลองกลับไปอ่านแบบมีบริบท คืออ่านว่าข้อถกเถียงเรื่องนั้นเกิดในบริบทแบบไหน พออ่านไปแล้วรู้สึกว่าต้องเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็เลยใช้เวลาช่วงหลังปี 2557 นั่งทำงานชิ้นนี้
ผมคิดจากนักเรียนกฎหมาย สิ่งที่เป็นปัญหาประการหนึ่งเวลาอ่านตำรานิติศาสตร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตำรามี 2 แบบใหญ่ๆ คือแบบเชิงพรรณนา อธิบายรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับว่ามีบทบัญญัติอะไรบ้าง คณะรัฐมนตรีมาจากไหน รัฐสภามาจากไหน ตำรารัฐธรรมนูญในทางนิติศาสตร์เป็นแบบนี้เยอะมาก เพราะเขียนขายนักศึกษา
แบบที่ 2 เป็นเชิงบรรทัดฐาน มุ่งอธิบายแนวคิดหรือตัวแบบที่เป็นหลักการพื้นฐาน เช่น ระบบรัฐสภาเป็นอย่างไร ระบอบประชาธิปไตยมีลักษณะพื้นฐานเป็นอย่างไร
รัฐธรรมนูญคือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจ-แล้วสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน
แต่ผมสนใจรัฐธรรมนูญในเชิงพลวัต เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ยังไง คืออ่านรัฐธรรมนูญแล้วเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของมันด้วย ผมจะทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญในเชิงพลวัต ผมคิดว่าสำหรับนักเรียนรัฐศาสตร์ หนังสือเรื่องการเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญของอาจารย์เสน่ห์ จามริก ยังถูกบังคับอ่าน ตอนผมเรียนกับอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ก็เคี่ยวเข็ญให้อ่าน
งานของอาจารย์เสน่ห์บอกว่า รัฐธรรมนูญคือภาพสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจ อธิบายตั้งแต่ตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปี 2520 เป็นการศึกษารัฐธรรมนูญในเชิงการเมือง รัฐธรรมนูญหลัง 2475 มา มันสะท้อนการแข่งขันทางอำนาจระหว่างสองกลุ่มสำคัญ คือนักการเมืองราชการกับนักการเมืองอาชีพ เล่มนี้ทำให้เราเข้าใจรัฐธรรมนูญเชิงพลวัตมากขึ้น
คำถามสำคัญคือสถาบันกษัตริย์อยู่ตรงไหน สถาบันกษัตริย์ลอยไปจากการแย่งชิงอำนาจของ 2 กลุ่มนี้หรือเปล่า งานของอาจารย์เสน่ห์ไม่ได้พูดถึง
ผมคิดว่าถ้าเข้าไปดูการเมืองไทยในแง่รัฐธรรมนูญจะพบว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ และบางครั้งในแง่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้เราตั้งคำถามได้เยอะแยะ เช่น หลังรัฐประหาร คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศฉบับที่ 5/2557 ให้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 หมวดพระมหากษัตริย์ ในแง่นิติศาสตร์ก็เป็นคำถามได้ว่า คุณฉีกรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยกเว้นหมวดนี้ ในทางนิติศาสตร์เป็นไปได้หรือ น่าตั้งคำถามว่าประกาศฉบับนี้สะท้อนให้เห็นถึงพลังอำนาจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ในสมองของคนที่มีบทบาทหรืออำนาจทางการเมืองว่าคิดอย่างไร นี่เป็นจุดตั้งต้นของงานที่ผมเขียน
งานชิ้นนี้ ปมประเด็นพื้นฐานคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นการเปลี่ยนสู่ระบอบใหม่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด แต่พอเปลี่ยนแล้ว สถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่ จึงเป็นภาวะที่มีระบอบใหม่และยังมีสถาบันตามจารีตอยู่ คำถามคือแล้วมันจะผสมกันได้อย่างไร การปรับเปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คงสถาบันตามจารีตอยู่ทำให้การเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง ไม่ใช่เรื่องของ 2 ฝ่ายที่เป็นฝ่ายระบอบใหม่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงฝ่ายที่มีอุดมการณ์หรือความเข้าใจต่อสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนกันก็ยังสามารถแสดงความเห็นได้ ตรงนี้เป็นปมประเด็นพื้นฐานที่ทำให้การจัดวางสถาบันกษัตริย์ในระบอบใหม่มีการถกเถียงมาตลอด
ท่ามกลางการถกเถียงแต่ละครั้ง เราเห็นอุดมการณ์ของคนที่คิดต่อสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน เราเห็นเครือข่ายอย่างหลวมๆ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่ผันผวนในแต่ละช่วงเวลาทำให้แต่ละอุดมการณ์บางชุดหรือเครือข่ายบางชุดมีอำนาจขึ้นมา
งานชิ้นนี้ทำอะไร ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ในรัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับ มีถึงปี 2550 มี 10 ฉบับที่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญโดยมีการร่าง อภิปราย และถกเถียงกัน โดยเฉพาะก่อนที่รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ ส่วนรัฐธรรมนูญที่เหลือไม่ได้ถกเถียง คล้ายๆ รัฐธรรมนูญ 2557 ที่ยึดอำนาจแล้วประกาศใช้เลย แต่ตั้งแต่ 2475-2550 มี 10 ฉบับที่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่าง มีการยกร่าง มีการอภิปราย และมีการถกเถียงกัน ฉบับไหนที่ไม่มีการเถียง ผมก็ไม่รู้จะค้นหาจากไหน ส่วนใหญ่คือรัฐธรรมนูญที่ยึดอำนาจแล้วประกาศใช้เลย สิ่งที่ผมทำคืออ่านรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับนี้ โดยเฉพาะในขั้นตอนก่อนการประกาศใช้
เวลาอ่าน ในแง่หนึ่งผมพยายามอ่านให้สัมพันธ์กับบริบททางการเมืองช่วงนั้นๆ ทำให้สัมพันธ์กับการเมืองในแต่ละช่วงเวลา พยายามชี้ให้เห็นว่าข้อถกเถียงแต่ละเรื่องเกิดขึ้นในสถานการณ์แบบไหน เป็นการศึกษาความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ความคิดของตัวแทนทางสังคมทั้งหมด แต่เป็นความคิดของตัวแทนกลุ่มหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวแทนชนชั้นนำได้ เป็นชนชั้นนำชายขอบที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ชนชั้นนำชั้นบน
สิ่งที่เราเห็นคือความคิดเห็น อุดมการณ์ของคนจัดทำรัฐธรรมนูญว่า คนแต่ละกลุ่มจัดวางสถาบันจารีตไว้ในลักษณะไหน เราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจ ช่วงเวลาประมาณ 75 ปีที่มีการจดบันทึกเอกสารข้อคิดเห็น
การศึกษาแบบนี้มีข้อจำกัดยังไง ข้อจำกัดคือองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญในเมืองไทยไม่มีรูปแบบตายตัว ผันแปรไปตามสถานการณ์ทางการเมือง เช่น ปี 2540 กับ 2550 องค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญไม่เหมือนกันเลย 2540 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากเลือกตั้ง แต่ปี 2550 เปลี่ยนไป ปี 2560 ยิ่งเปลี่ยนไปใหญ่เลย องค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญของไทยไม่มีรูปแบบตายตัว เลยทำให้เห็นความไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญในแต่ละช่วงเวลามีที่มาแตกต่างกัน เราคงไม่สามารถชี้ให้เห็นความต่อเนื่องขององค์กรนี้ได้ ไม่ใช่กลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน แต่ผันแปร บางส่วนเราเห็นความสืบเนื่อง บางส่วนเราเห็นความไม่ปะติดปะต่อของคำอธิบายที่เกิดขึ้น
ข้อจำกัดสำคัญอีกเรื่องคือเวลาศึกษาเอกสารการะประชุม มันมีเพดานแน่ๆ หมายความว่าก่อนเผยแพร่ มันต้องถูกตรวจว่าเอกสารแบบนี้สามารถออกสู่สาธารณะได้หรือเปล่า เอกสารราชการผ่านการตรวจสอบว่าอันนี้ปล่อยได้ ปล่อยให้พูดในที่สาธารณะได้ ข้อจำกัดคือมันถูกกรองมาแล้ว แต่แม้จะถูกกรองมาแล้วผมคิดว่าเรายังสามารถเห็นร่องรอยได้เป็นจำนวนมาก เพราะแต่ละช่วงเวลาเพดานที่อนุญาตให้พูด มันไม่เหมือนกัน บางอย่างที่เปิดมา ผมคิดว่าในปัจจุบันพูดไม่ได้ แต่บางช่วงเวลาในอดีตมันเปิดโอกาสให้พูดได้ เราจะเห็นเพดานว่ามีมากน้อยขนาดไหน
6 ข้อถกเถียงหลักเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
เรื่องที่ผมเขียนในนี้มีประเด็นใหญ่ๆ 6 ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง
- หนึ่ง-อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลาย เป็นข้อถกเถียงใหญ่ เวลาเถียงเรื่องนี้กับตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์เป็นข้อถกเถียงใหญ่นช่วงต้นๆ เมื่อเราคิดถึงว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยแล้ว สถาบันกษัตริย์จะถูกจัดวางอย่างไรท่ามกลางความคิดเห็นของผู้คน
- สอง-อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ สถาบันกษัตริย์จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ ก็มีการอภิปรายกัน จนกระทั่งประมาณหลัง 2516 ก็เลิกเถียงแล้ว เริ่มลงตัว
- สาม-พระราชอำนาจวีโต้ร่างกฎหมาย
- สี่-การสืบราชสมบัติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
- ห้า-จากองคมนตรีสู่สภาที่ปรึกษาในพระองค์จำแลง
- หก-ในฐานะประมุขแห่งกองทัพ
โดยรวมเป็นแบบนี้ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เถียงกันเยอะมาก นี่คือประเด็นหลัก 6 เรื่องที่เถียงกันตั้งแต่ 2475-2550 แต่ภาษาและเนื้อหาในการเถียง เปลี่ยน ไม่คงเส้นคงวา บางเรื่องช่วงแรกๆ เถียงกันหนักหน่วงมาก ช่วงหลังเงียบ
ยกตัวอย่างขอถกเถียงเรื่องอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ แปลว่าอะไร ปี 2492 เป็นปีที่เถียงกันดุเดือดมากที่สุด ภาษาที่ใช้ถ้าคิดจากปัจจุบันค่อนข้างดุเดือด เช่น สถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ มีคนลุกขึ้นอภิปราย หลวงประกอบนิติศาสตร์ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุน พูดว่า ท่านไปดูกฎหมายเดี๋ยวนี้ กฎหมายไทยซึ่งแปลกที่สุดในโลกเหมือนกัน ลูกฟ้องพ่อฟ้องแม่ไม่ได้ กฎหมายไทยบอกไว้อย่างนี้ ท่านจะทำอย่างนี้ได้ต้องไปหาอัยการบอกว่าบิดา มารดาท่านข่มเหง ถ้าไปหาอัยการ อัยการฟ้องให้ท่านก็ได้ ไม่ฟ้องก็ได้ หลวงประกอบฯ ก็อภิปรายต่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นใคร พระมหากษัตริย์เป็นพ่อของคน 18 ล้านคน-ปี 2492 ประชากรไทยมี 18 ล้านคน-จะยอมให้คน 18 ล้านคนเป็นลูกฟ้องพ่อหรืออย่างไร หลวงประกอบนิติศาสตร์พูดแบบนี้แสดงว่า อันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ หมายความว่าห้ามฟ้อง ยังไงประชาชนก็ฟ้องไม่ได้ พระมหากษัตริย์เป็นพ่อของคน 18 ล้านคน
เสรี อิศรางกูร ณ อยุธยา ส.ส.บุรีรัมย์โต้แย้งว่าท่านบอกว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนบิดาของ 18 ล้านคน ถ้าพูดในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็พอเห็นควรอยู่ แต่ถ้าใช้ในสภาระบอบประชาธิปไตยแล้ว ข้าพเจ้าขอคัดค้าน ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยและโดยเฉพาะถ้าเป็นพ่อข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอม
ภาษาแบบนี้ถ้าพูดในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
เป็นการเถียงที่เราจะเห็นอุดมการณ์ของแต่ละฝ่ายในสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งมีทั้งฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายกษัตริย์นิยม ฝ่ายสนับสนุนระบอบใหม่ การประชุมในช่วง 2492 มีข้อถกเถียงหลายเรื่องที่เป็นจังหวะเปลี่ยนแปลงอันหนึ่ง ข้อถกเถียงอย่างนี้มันเถียงไม่ได้อย่างเป็นทางการในที่สาธารณะ
รัฐธรรมนูญ 2534 ช่วงนั้นผมก็เป็นนักศึกษาอยู่ ช่วงนั้นเราคัดค้านสุจินดา คราประยูร คือรัฐธรรมนูญ 2534 เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดหลังการยึดอำนาจ ผู้นำการยึดอำนาจคือพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ บิดาของผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ปี 2534 ที่ผมจำได้คือเราพยายามคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับหมกเม็ดที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่จริงๆ มีเม็ดที่หมกไว้ลึกกว่านั้น แล้วเราไม่ทันมอง รัฐธรรมนูญปี 2534 เปลี่ยนบทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ได้ถูกปัญญาชนในช่วงเวลานั้นอ่านเลย
ตอนนั้นเราไม่คิดถึงเรื่องนี้เลย เพิ่งมาเห็นตอนหลัง การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2534 ก็น่าสนใจ หมายความว่าท่ามกลางการต่อสู้ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายราชการ ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ มีการทำงานของเครือข่ายที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์ทำงานอย่างต่อเนื่อง พอกลับไปอ่านรายงานการประชุม 2534... คือเวลาการร่างรัฐธรรมนูญควรเป็นการถกเถียงกันด้วยความรู้ หลักวิชา ผลปรากฏว่าเถียงกันหนักหน่วงมาก เถียงไปเถียงมาจบลงยังไง
สมภพ โหตระกิตย์ ลุกขึ้นอภิปราย ประธานก็บอกว่าพอเถอะๆ สมภพบอกว่า ‘ท่านประธานครับ ไม่ต้องถึงท่านประธานมากราบ เพราะเป็นพี่ชายของผม นับถือกัน มาตรานี้ผมเองก็ไม่ตั้งใจที่จะขอให้ลงมติยืนยันหรอกครับ เพราะมีซองขาวบอกไว้แล้วว่าให้เชื่อท่านคณะกรรมาธิการทุกประการครับ’
มีซองขาว แล้วซองขาวนี้มีอยู่จริงหรือเปล่า
‘แต่ผมเองก็ยอมแพ้แล้วครับเรื่องถ้อยคำนี้ สู้กรรมาธิการปกครองไม่ได้เพราะท่านมีซองขาวเป็นทัพสนับสนุน’
ประธาน อุกฤษ มงคลนาวิน บอกว่า ท่านกรรมาธิการครับ หรือว่าจะปล่อยไป เป็นอันว่าแสดงความคิดเห็นตามซองขาวไปก่อนนะครับ
กลายเป็นว่าทุกคนรู้หมดว่ามีซองขาวอยู่ นี่คือกระบวนการอภิปราย การจัดทำรัฐธรรมนูญของไทย ซองขาวมาจากไหน ใครเขียน ไม่รู้ แต่มันมีอยู่ มันบอกอะไรได้ ผมคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่โดยเฉพาะหลังยึดอำนาจอย่าคิดว่าจะเป็นไปตามหลักวิชา
โดยสรุป ผมคิดว่าที่เราเห็นคือ 4 จังหวะแห่งความเปลี่ยนแปลงในรอบ 75 ปีระหว่างสถาบันกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย
จังหวะที่ 1 เป็นจังหวะที่ระบอบประชาธิปไตยพยายามปักหลัก ส่วนที่ว่าอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังไม่ค่อยแจ่มชัดเท่าไหร่ ผมเรียกว่าเป็นจังหวะของการรอมชอมและการแตกหัก
จังหวะที่ 2 ช่วง 2490 ผมคิดว่าเป็นจังหวะที่เริ่มมีการโต้กลับของฝ่ายสนับสนุนสถาบันกษัตริย์เริ่มปรากฏตัวเด่นชัดขึ้น
จังหวะที่ 3 เป็นจังหวะที่สถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแผ่ขยายและสถาปนาความชอบธรรมได้มากขึ้น จังหวะนี้เรามักจะคิดถึงช่วง 2516 หลังจากนี้ข้อถกเถียงต่างๆ จะเบาลงและเนื้อหาต่างๆ จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
จังหวะที่ 4 เป็นจังหวะที่สถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญลงหลักปักฐานอย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญปี 2540 กับรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมีที่มาต่างกันสิ้นเชิง รัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับสาระสำคัญต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่มาตรา 8 ถึง 25 ในหมวดพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเหมือนกันทุกตัวอักษร หมายความว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับซึ่งมาจากกลุ่มคนที่แตกต่างกัน แต่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการจัดวางสถาบันกษัตริย์แบบนี้ลงตัวแล้ว
งานชิ้นนี้จบลงที่ปี 2550 ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 ผมเรียกว่าเป็นยุคหลังระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายความว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มันลงตัวในจังหวะที่ 4 แต่พอฉบับปี 2560 มันเปลี่ยน แต่จะเปลี่ยนไปสู่อะไร ผมไม่รู้ และผมเข้าใจว่าหลายคนที่สนใจเรื่องสังคมการเมืองไทยก็เริ่มมีความเห็นว่าเราอยู่ในภาวะฝุ่นตลบ อาจารยวรเจตน์ ภาคีรัตน์บอกว่า เราอยู่ในระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้ อาจารย์เกษียร เตชะพีระบอกว่าเราอยู่ในระบอบการเมืองแบบนิรนาม
ยุคหลังจากนี้ ผมคิดว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจังหวะอีกครั้งหนึ่งที่สำคัญ
รายละเอียดเกี่ยวกับการสั่งซื้อหนังสือ 'นี่คือปณิธานที่หาญมุ่ง' อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
แสดงความคิดเห็น