ภาพซ้าย การแถลงของ BRN ส่วนภาพขวา การคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ

Posted: 04 Jan 2019 07:12 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2019-01-04 22:12


BRN แถลง 15 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ขณะที่ ไทย-มาเลย์ แนะนำตัวทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยันทำตามกรอบ รธน.

4 ม.ค.2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี เหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) ใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 นั้น แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือ JABATAN PENERANGAN - BRN ออกแถลงการณ์ ซึ่ง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้แปลแถลงการณ์ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ วันครบรอบ 15 ปีของการต่อสู้ของชาวปาตานี ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการต่อต้านสยามของชาวปาตานี และเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ที่ยาวนานมาในอดีต

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า 15 ปีที่ผ่านมา สยามกลายเป็นศัตรูสำคัญของประวัติศาสตร์ปาตานี รวมทั้งได้เพิ่มอัตลักษณ์เข้มข้นของคนปาตานี อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาด้านการว่างงาน โอกาสในการทำงานราชการและแม่ค้าพ่อค้าชาวมลายูก็ยังมีน้อยในปัจจุบัน

ขณะที่ BRN เสียสละแบกรับความทุกข์ของคนปาตานีเพื่อรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ ศาสนาและแผ่นดินเกิด โดยที่ BRN ยืนยันว่าจะต่อสู้อย่างเข้มแข็ง ไม่ช่วยและไม่สนับสนุนสยาม พร้อมรับบุว่า ถ้าสยามต้องการสันติภาพจริง เรายอมเจรจาได้ปรองดองได้ ถ้าการเจรจาเป็นเพียงเทคนิค เราต้องต่อต้าน แต่ 15 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกพยายามเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขความขัดแย้งแต่ถูกสยามกีดกัน

ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ยินดีได้เริ่มพูดคุยกับคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยชุดใหม่ในวันครบรอบ 15 ปีเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพรอบใหม่ที่ตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จ ได้ ภายใน 2 ปี
แนะนำตัวทีมพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ยันทำตามกรอบ รธน.

ขณะที่ คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ รางน้ำ กทม. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเทศมาเลเซีย พร้อมคณะเดินทางมาประชุมหารือร่วมกันถึงแนวทางการทำงานในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับแนะนำตัวคณะพูดคุยฯ ชุดใหม่ครั้งแรกอย่างเป็นทางการ


ที่มาภาพจากเฟสบุ๊ค Thapanee Ietsrichai

จากนั้นเวลา 16.00 น. พล.อ.อุดมชัย และ อับดุล ราฮิม นูร์ แถลงร่วมกัน โดยพล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นวันพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรกร่วมกับ อับดุล ราฮิม นูร์ เพื่อแนะนำตัวคณะพูดคุยฯว่ามีใครบ้าง และทำหน้าที่อะไรบ้าง สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันคือทางมาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ไทยตามที่ร้องขอ ซึ่งเรายืนยันว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายในประเทศของไทยจะต้องยึดตามรัฐธรรมนูญเป็นหลัก แม้ว่าจะเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม แต่ต้องไม่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน ทั้งนี้เราได้เตรียมความพร้อมเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับกลุ่มผู้เห็นต่างได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นตามสิทธิและเสรีภาพว่ามีอะไรบ้างที่ไม่สบายใจ โดยเราจะพูดคุยกับทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยเองด้วย เพราะยังมีภาคประชาสังคมและผู้เห็นต่างในประเทศไทย รวมถึงภาครัฐต้องให้เข้าใจในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่เป็นทางออกสันติวิธีที่สุด เรามีความพร้อมพูดคุยกับทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ได้ระบุกับทางผู้อำนวยความสะดวกไปแน่ชัดว่าจะต้องเป็นกลุ่มไหนก่อนหรือหลัง ส่วนกลุ่มมาราปัตตานีจะเป็นกลุ่มแรกหรือไม่นั้น เรายืนยันว่ากลุ่มไหนมีความพร้อมก็มาพูดคุยได้ทันที แต่ถ้ากลุ่มไหนยังไม่พร้อมเราก็ให้เวลา โดยไม่ได้เร่งรัด เพราะการออกจากความขัดแย้งไม่ควรบังคับขู่เข็ญ

"ขอให้ทุกกลุ่มสบายใจและเราจะไม่รวมกลุ่มต่างๆมาพูดคุยร่วมกัน เพราะบางกลุ่มอาจมีความเห็นไม่ตรงกันก็ขอให้เป็นไปตามความประสงค์ของเขาเป็นหลัก โดยเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และเห็นแก่ประโยชน์ของคนกลุ่มใหญ่ รวมทั้งคำนึงถึงลูกหลานของเราในอนาคต ส่วนจะต่อยอดนโยบายของพล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่นั้น ผมยืนยันว่าจะต่อยอดนโยบายเดิมอย่างแน่นอน เพราะนโยบายดังกล่าวได้ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทำอะไรและอย่างไรบ้าง ส่วนกลุ่มฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็นนั้น หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับกับการใช้ความรุนแรง กลุ่มดังกล่าวก็จะตกขอบไป จะมาบังคับบัญชาอะไรในไทยไม่ได้ เรามาพูดคุยเพื่อต้องการให้ทราบว่าเขาเห็นต่างอะไรบ้าง ผมยืนยันว่าไม่อยากให้ทางมาเลเซียใช้มาตรการบังคับให้แต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมพูดคุย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในวันนี้ยังไม่ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงใดๆ เพราะกลัวว่าจะไม่ครอบคลุมกับทุกกลุ่ม และยังไม่ถึงขั้นให้คนนอกหรือประเทศอื่นเข้ามา ขอให้ได้พูดคุยกันก่อนภายใต้การอำนวยความสะดวกของประเทศมาเลเซีย เราไม่ใช่คู่ต่อสู้กันแต่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเราเป็นเพื่อนบ้านที่ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน" พล.อ.อักษรา กล่าว

เมื่อถามว่า การพูดคุยดังกล่าวจะต้องกำหนดให้ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนถึงจะพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมชัย กล่าวว่า หน้าที่รักษาความปลอดภัยมีผู้รับผิดชอบโดยตรงคือพล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ต้องดำเนินการให้พื้นที่มีความปลอดภัย ในส่วนของตนไม่เกี่ยวกับการใช้กำลังทหาร หรือกำหนดพื้นที่ว่าจะต้องมีความปลอดภัย ซึ่งเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยต้องพูดคุยกับแม่ทัพภาคที่4 ส่วนพื้นที่นำร่องที่เคยกำหนดอ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสเป็นพื้นที่ปลอดภัยนั้นที่ผ่านมาเรายังไม่ได้พูดคุยตกลงกัน ซึ่งเป็นเพียงกระแสข่าวที่ออกมาเท่านั้น

ตันซรี ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเวทีการพูดคุยสันติสุข แต่เป็นการแนะนำตัวของแต่ละฝ่ายซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้งวันนี้สื่อไทยถือว่าเป็นวันครบรอบ 15 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรงด้วย ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการพูดคุยฯมากพอแล้วในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานของเราอยากให้เวลาสั้นที่สุด ซึ่งตนก็รู้ว่าปัญหาซับซ้อนเพราะมีหลายสาเหตุ แต่ก็เชื่อมั่นว่า พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะฯ รู้ปัญหาดีที่สุด และส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเราในฐานะผู้อำนวยความสะดวกจะใช้เวลา 2 ปีในการผลักดันขบวนการสันติภาพแก้ไขปัญหาความในสงบฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ลงได้

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.