โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช -หนองคาย ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่แพ้โครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้ว จนเป็นสาเหตุสำคัญที่คณะนายทหารเอามาเป็นข้ออ้างในการทำปฏิวัติรัฐประหาร
ข่าวการลงนามซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผ่านมา เช่น เรือดำน้ำ รถถัง รถหุ้มเกราะล้อยาง รวมแล้ว 4-5 หมื่นล้านก็ผ่านไป ขณะที่สื่อให้ความสำคัญกับข่าวการจับกุมชายวัย 62 ในคดีระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และข่าวไฟไหม้คอนโดเกรนเฟลที่ชานกรุงลอนดอนมากกว่าข่าวการซื้ออาวุธโครงการต่อไปที่รัฐบาลจะมอบให้จีนเป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้าง ก็คือโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช-หนองคาย ยอมทำสัญญากับจีนก่อน 3.5 กิโลเมตร เพื่อกันคนอื่นที่จะเข้ามาแข่งขัน

ภาพที่ออกมาในขณะนี้ก็คือรัฐบาลไทยถูกรัฐบาลจีนกดดันอย่างหนักเพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จนหลายคนคิดว่าเป็นโครงการยุทธศาสตร์ทางด้านการเมืองและการทหารของจีน จีนจึงกดดันอย่างหนัก ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็ไม่ได้ตอบว่าอย่างไร อะไรเป็นสาเหตุให้รัฐบาลไทยยอมให้จีนกดดันด้วยคำพูดที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา

ข้าราชการเขารู้ดีว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไรบ้างเพื่อการมีธรรมาภิบาล เพื่อความโปร่งใส และไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นทางการได้ จนรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจต้องออกมาแสดงความกดดันเอง ซึ่งทำให้ข้าราชการเสียอำนาจต่อรองไปค่อนข้างมาก

ปกติโครงการต่างๆ ย่อมมีโอกาสรั่วไหลได้ง่าย ยิ่งเป็นรัฐบาลทหารที่มีอำนาจเด็ดขาดที่ไม่มีการตรวจสอบ ก็ยิ่งมีโอกาสรั่วไหล รัฐบาลทหารที่ผ่านๆ มา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลยุคพัฒนาในปี พ.ศ.2500 หรือ ยุค 2506-2516 จนผู้นำรัฐบาลทหารทั้ง 2 ยุคต้องถูกตามยึดทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าทรัพย์จำนวนมากเหล่านั้นมาได้อย่างไร จนมีการฟ้องร้องชิงมรดกกันในหมู่ทายาทผ้าขาวม้าแดงและพรรคพวกต่อมาอีกภายหลังการเกิดกรณี 14 ตุลา 2516

ทั้งๆ ที่ในขณะที่อยู่ในตำแหน่งก็ได้รับการสรรเสริญเยินยอว่าเป็นรัฐบาลนักพัฒนาบ้าง เป็นรัฐบาลนายพลคนซื่อบ้าง แต่พอพ้นตำแหน่งหลุดจากอำนาจก็ถูกสอบสวนยึดทรัพย์กันเป็นแถว

การที่นายกรัฐมนตรีต้องใช้มาตรา 44 เพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นโครงการเหนือกฎหมาย ที่ป้องกัน การทุจริตการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติเพื่อความโปร่งใสการอ้างว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น ถ้าหากการทำโครงการนี้แบบให้จีนไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ถูกเสนอโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงจะถูกประชาชนและสื่อมวลชนเล่นงานว่าขายชาติอย่างที่คุณ “ใบตองแห้ง” ว่าไว้ แต่นี่เพราะเป็นรัฐบาลทหารที่ปกครองด้วยปากกระบอกปืน จึงไม่มีใครกล้าปริปาก เพราะสังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่กลัวผู้มีอำนาจ

พรรคการเมืองเช่นพรรคประชาธิปัตย์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถนัดเชี่ยวชาญในการค้านก็เงียบ เอาตัวรอด พรรคเพื่อไทยซึ่งรัฐบาลนี้ถือว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ก็ยิ่งแล้วใหญ่ พรรคการเมืองในยามนี้จึงไม่ยอมทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” ให้ประชาชนได้เลย

เมื่อรัฐบาลใช้มาตรา 44 ให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการเหนือกฎหมาย เราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะได้ของที่ดีที่สุด ด้วยเงื่อนไขดีที่สุด ในราคาที่เป็นธรรมที่สุด เมื่อเขาสร้างเสร็จเราจ่ายเงินเรียบร้อยแล้วคนของเราจะทำแทนเขาได้หรือไม่…

การชดเชยการขาดทุนของโครงการ จะชดเชยอย่างไร ก็ไม่พ้นต้องชดเชยโดยงบประมาณแผ่นดิน และเมื่อมีการขาดดุลงบประมาณก็คงไม่พ้นการขึ้นภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีเงินได้ และในที่สุดก็ต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหากเราไม่ประหยัด การพิจารณาโครงการต้องทำด้วยเหตุผลและหลักวิชา ถ้าหากบ้านเมืองต้องการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟความเร็วสูง แล้วในอนาคตจะทำสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อรถไฟความเร็วสูงอีกหรือไม่ ทางรัฐบาลลาวกับรัฐบาลจีนจะร่วมจ่ายค่าสะพานหรือไม่ หรือไทยเป็นผู้จ่ายให้รถไฟจีนวิ่งแต่ฝ่ายเดียว ยังไม่มีใครรู้

หากรถไฟจีนที่ว่าจะวิ่งไปข้ามสะพานข้ามแม่น้ำโขงไปเชื่อมกับรถไฟลาวจีนที่เวียงจันทน์ ก็ควรจะนำเงื่อนไขที่จีนให้กับลาวมาศึกษาว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เงื่อนไขที่จีนไปร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตามันดุง ประเทศอินโดนีเซียเป็นอย่างไร

โครงการที่ควรจะให้ความสนใจและเร่งรัดอย่างเช่นโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่เคยฮือฮาเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 กลับหายเงียบไปเพราะไม่มีใครผลักดัน

หากโครงการรถไฟจีนเกิดขึ้นโดยมาตรา 44 โดยคำสั่งของคนคนเดียว ที่ประกาศ “รับผิดชอบแต่ผู้เดียว” แล้วก็เกิดปัญหาทางการเงินก็ดี ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ดี ปัญหาทางการเมืองระดับโลกก็ดี ถึงตอนนั้นรัฐบาลนี้ก็ไม่อยู่เสียแล้ว ปล่อยให้เป็นปัญหาผูกพันกับรัฐบาลต่อไป

ถ้าเกิดความเสียหายยังนึกไม่ออกว่าจะรับผิดชอบอย่างไร…

การผลักดันโครงการโดยใช้อำนาจปฏิวัติรัฐประหาร ในฐานะองค์อธิปัตย์ แม้ว่าจะสะดวกง่ายในการดำเนินการ ก็ควรจะใช้เฉพาะเรื่องที่จบสำเร็จเด็ดขาดไปเป็นเรื่องๆ แต่โครงการที่ผูกพันประเทศชาติและประชาชนไปในอนาคตอีกนานแบบนี้ควรจะให้เป็นไปตามขบวนการในกรอบของกฎหมายดีกว่า

เราควรเชื่อในระบบ ไม่ใช่เชื่อในตัวบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมาจากไหน จะมาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจ เมื่อทหารยึดอำนาจมาเป็นรัฐบาลแล้ว ทหารก็ไม่ใช่ทหารอีกต่อไป แต่กลายเป็นนักการเมืองไปแล้ว เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้รับความยินยอมของประชาชน แต่เป็นนักการเมืองที่แต่งตั้งตนขึ้นมา จึงไม่ควรจะเป็นผู้มีความชอบธรรมในการตัดสินใจใช้ภาษีอากรของประชาชนในโครงการใหญ่ๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินมากๆ โดยปราศจากการตรวจสอบซักถามจากประชาชน ถ้าจะมีโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ใช้เงินจำนวนมากก็ควรเปิดประมูลระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ทุกประเทศสามารถเข้าร่วมในการประมูลได้ เพื่อจะให้ข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าเราได้ของดีที่สุด ทันสมัยที่สุด ในราคาที่เป็นธรรม

รวมทั้งมีเงื่อนไขอย่างอื่น เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทยมากที่สุด ไม่ใช่เป็นโครงการ “กล่องดำ” หรือ “black box” ไม่ต้องมายุ่ง เสร็จแล้วยื่นกุญแจให้ รับเงินไป…

ประเทศไทยขณะนี้มีเงินจากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันมาตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี 2540 จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ สำหรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ควรจะระดมทุนจากตลาดภายในประเทศ ขายพันธบัตรให้กับคนไทย แม้จะต้องชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์ก็ตามก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ

ในสมัยที่เรามีรัฐบาลทหารหลังจากรัฐบาลจอมพล ป.ถูกโค่นล้มไป ข้าราชการผู้ใหญ่สมัยนั้นพยายามให้กู้เงินจากธนาคารโลก เพราะการใช้เงินกู้จากธนาคารโลกต้องเปิดประมูลระหว่างประเทศเป็นการทั่วไปสำหรับโครงการพัฒนา มิฉะนั้นรัฐบาลทหารก็จะชี้นิ้วให้โครงการกับประเทศนั้นประเทศนี้โดยไม่มีการเปิดประมูล หลังจากเกิดกรณีโครงการ เดอเกรมองต์ ของฝรั่งเศสอันอื้อฉาวในสมัยนั้น เพราะเจ้าของโครงการเป็นญาติผู้ใหญ่ของหัวหน้าคณะปฏิวัติในสมัยเมื่อ 60 ปีก่อน

ถ้าหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการพื้นฐานที่ควรทำ ก็ควรทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ มูลค่าของโครงการ ค่าโดยสาร รวมทั้งภาระการขาดทุนที่ผู้เสียภาษีต้องแบกรับ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้มีการประมูล

นอกจากมีเหตุผลอื่น…

วีรพงษ์ รามากูร


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.