Posted: 03 Jan 2019 06:49 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-03 21:49


นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในบทความเรื่อง “ระบอบประยุทธ์-การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น” ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ และคุณวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร (ฟ้าเดียวกัน, 2, 2561) ทั้งสองท่านกล่าวว่า การยึดอำนาจของกองทัพครั้งหลังสุดนี้ คสช.มีนโยบายมาแต่ต้นแล้วที่จะ “สยบ” ภาคประชาสังคมให้แน่นิ่ง แต่ก็ไม่ใช้มาตรการที่บังคับเป็นการทั่วไป เท่ากับการจับกุมคุมขัง, คุกคามครอบครัว, ยัดคดี, เรียกตัวปรับทัศนคติ ฯลฯ แก่บุคคลที่อาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นวงกว้างเพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ภาคสังคมค่อนข้างสยบให้แก่อำนาจของ คสช. โดยเฉพาะในปีแรกๆ และเป็นผลให้คณะทหารชุดนี้สามารถครองอำนาจได้สืบเนื่องยาวนานกว่าคณะรัฐประหารอื่น ทั้งๆ ที่ประเทศไทยได้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาทางเศรษฐกิจไปไกลแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยในทศวรรษ 2500

แต่ไม่เฉพาะเพียงเศรษฐกิจไทยที่ก้าวไปไกลมากแล้วเท่านั้น ในทางสังคมประเทศไทยก็เคลื่อนไปสู่สังคมสมัยใหม่ไกลแล้วเหมือนกัน ไม่ว่าจะดูด้านการศึกษา, การเข้าถึงสื่อทั้งของรัฐและของเอกชน, อาชีพการงานที่ส่วนใหญ่หลุดออกจากภาคเกษตร, การขยายตัวของเขตเมือง และการจัดองค์กรทางสังคมนอกการควบคุมของรัฐในหมู่ประชาชนแม้ในระดับล่าง

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมสงสัยว่า การสยบภาคประชาสังคม (และสังคม) ด้วยวิธีที่ คสช.ได้ทำนั้น เพียงพอที่จะสยบไว้อย่างถาวรละหรือ พูดกันตรงไปตรงมา การสยบภาคสังคมในประเทศเผด็จการทหารของละตินอเมริกา แม้จะใช้วิธีคล้ายกันแต่ก็ต้องดำเนินงานควบคู่กันไปกับการใช้ความรุนแรงกว่านี้อีกมาก เช่น การเรียกไปปรับทัศนคตินั้น อาจถูกอุ้มหายไปเลย และมีคนเรือนหมื่นในบางประเทศที่ถูกบังคับให้สูญหายไร้ร่องรอยจนปัจจุบัน ความรุนแรงเช่นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในอันที่จะทำให้กองทัพประสบความสำเร็จในการสยบสังคม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ คสช.จะใช้วิธีรุนแรงกว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาทุกครั้ง แต่ก็ไม่ถึงขนาดอาร์เจนตินา, บราซิล, โคลอมเบีย ฯลฯ ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยเหตุที่มีความต่างทางวัฒนธรรมระหว่างสังคมไทยและสังคมละตินอเมริกา หรือเป็นความต่างด้านสถานการณ์ก็ได้ เช่น เป็นช่วงที่สังคมไทยเองเกิดความแตกร้าวกันอย่างหนักถึงระดับรากฐานทางความคิดและค่านิยมทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผมมีความสงสัยสองประเด็นที่เกี่ยวกับการสยบภาคสังคมของ คสช.

หนึ่งก็คือ การสยบด้วยมาตรการที่ คสช.เลือกใช้นี้ สยบภาคสังคมได้อย่าง “สิ้นเชิง” หรือไม่ และสอง หากทำไม่ได้ มวลชนที่ขาดการจัดองค์กร จะสามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีลักษณะคงทนถาวรได้หรือไม่

ในด้านการสยบความเคลื่อนไหวของภาคสังคม แม้ว่า คสช.สามารถยุติการประท้วงต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ลงได้ในที่สุด แต่ผมไม่อยากให้เราลืมวีรกรรมของคนจำนวนมาก หลากหลายอาชีพ, เพศ, วัย และสถานภาพ ที่ได้ออกมาทำอะไรในทางสาธารณะเพื่อปฏิเสธอำนาจเถื่อนของคณะรัฐประหาร อีกทั้งกิจกรรมเช่นนี้ยังกระจายไปในหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ และดำเนินไปอย่างไม่หยุดเป็นเวลากว่าหนึ่งหรือสองปี

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับการรัฐประหารมาก่อน แม้ว่าการรัฐประหารในปี 2549 ได้ก่อให้เกิดวีรชนอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ก็ตาม แต่การประท้วงต่อต้านคณะทหารที่ยึดอำนาจก็ไม่กว้างขวางและยาวนานอย่างครั้งนี้ อีกทั้งไม่ใช่การเคลื่อนไหวขององค์กรที่มีการจัดตั้ง (แม้อย่างหลวมๆ) เช่นเสื้อแดง

ผลพวงของการปราบปรามด้วยการจับกุมหรือตั้งข้อหาร้ายแรงต่างๆ แก่บุคคลที่ทำการเคลื่อนไหว ยังทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเชิงระบบซึ่งมีความสำคัญตามมาอีกหลายอย่าง อันเป็นการสร้างกลไกต่อต้านรัฐประหารที่น่าจะกลับมาทำงานได้อีกทุกครั้งที่เกิดการยึดอำนาจอีก เช่น เกิดขบวนการทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตามมาด้วยการรณรงค์หาเงินประกันตัว และระดมพยานเพื่อให้การในศาลทหารและพลเรือน หรือบทบาทของสื่อออนไลน์หลายหัวด้วยกัน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่สื่อทั่วไปไม่เผยแพร่ เพราะทรยศต่อหน้าที่ของตนหรือเพราะถูกกดดันจากเผด็จการทหารก็ตาม หัวสื่อเหล่านี้อาจหายไปในอนาคต แต่ช่องทางการให้ข้อมูลข่าวสารที่เที่ยงตรงในยามที่สื่อขาดเสรีภาพและความรับผิดชอบได้ถูกสถาปนาอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว

ยังมีการเคลื่อนไหวของประชาชนภายใต้ข้ออ้างทางเศรษฐกิจอีกหลายกลุ่ม เช่น ชาวสวนยาง, สวนมะพร้าว, สวนผลไม้, ชาวประมง, ชาวนา, ผู้ประกอบการบนทางเท้า, ผู้ประกอบการร้านอาหารและการท่องเที่ยว ฯลฯ แม้ไม่ใช่การต่อต้านการรัฐประหารโดยตรง แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนอยู่นอกการควบคุมของ คสช.

แม้แต่เอ็นจีโอซึ่งหลายกลุ่มด้วยกันเคยสนับสนุนให้กองทัพยึดอำนาจมาก่อน ในที่สุดเมื่อ “ลูกค้า” ของตนเดือดร้อน ก็ต้องเข้ามาจัดตั้งการประท้วงคัดค้าน แม้จำกัดอยู่แต่เพียงการคัดค้านนโยบายก็ตาม

ภาคสังคมและประชาสังคมมิได้สยบราบคาบอย่างที่ คสช.มุ่งหวัง แต่การประท้วงต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ก็ยังมีอยู่ แม้การยึดอำนาจได้ผ่านไปเกิน 4 ปีแล้ว ความเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบของภาคสังคมอย่างไม่หยุดหย่อน แสดงให้เห็นว่า ความชอบธรรมซึ่งมีอยู่น้อยนิดที่ได้จากม็อบนกหวีดก็ได้ร่อยหรอลงไปมากแล้ว ในที่สุดจึงจำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง อันเป็นสถาบันที่รัฐธรรมนูญได้ทำละลายอำนาจตัดสินใจทางการเมืองไปแล้ว

แม้มีสภาวะพิกลพิการ แต่ผมเข้าใจว่าประชาชนส่วนใหญ่พอใจให้มีการเลือกตั้ง เพราะต่างก็หวังว่าเป็นหนทางเดียวที่จะหยุดยุค คสช.ลงได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อกันอีก แม้โอกาสเป็นไปได้ไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว

ในส่วนคำถามข้อที่สองว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ขาดการจัดองค์กร จะนำไปสู่อะไร

การจัดองค์กรทางสังคม (ที่อยู่นอกการควบคุมของรัฐ) ในประเทศไทยไม่สู้จะเข้มแข็งนัก เช่น แม้มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในสหภาพใดๆ หรือที่อยู่ในสหภาพก็แทบไม่ได้เคลื่อนไหวอะไร และด้วยเหตุดังนั้นประชาชนจึงไม่มีองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งของตนเอง แม้แต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่องค์กรทางการเมืองที่มีฐานมวลชน

พรรค ทรท.และทายาทอาจเป็นพรรคแรกที่ดูเหมือนมีฐานมวลชน แต่ก็เป็นการจัดตั้งที่มีเป้าหมายค่อนข้างแคบ คือชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น ที่ต้องสูญเสีย “อดีต ส.ส.” จำนวนมากไปให้แก่พรรคอื่นในช่วงนี้ก็สะท้อนให้เห็นความไม่แข็งแกร่งของการจัดองค์กร ยิ่งถ้า “อดีต ส.ส.” เหล่านั้นมีฐานมวลชนขนาดเล็กที่เป็นของตนเอง ก็ยิ่งแสดงให้เห็นความอ่อนแอในองค์กรมากขึ้น

องค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งในประเทศไทยจึงมีอยู่เฉพาะที่เป็นองค์กรของรัฐ ประกอบด้วยกองทัพ, ตุลาการ, องค์กรทางศาสนา, ราชการพลเรือนบางหน่วย และองค์กรตามจารีตเท่านั้น

การเคลื่อนไหวในภาคสังคมที่ขาดการจัดตั้งเช่นนี้ อาจก่อให้เกิดการลุกฮือขึ้นช่วงชิงความสำเร็จในเป้าหมายเฉพาะหน้าได้ ไม่ว่าจะผ่านการเลือกตั้งหรือผ่านการเมืองในท้องถนน แต่ก็มักไม่สามารถนำไปสู่เป้าหมายอื่นที่มีลักษณะถาวรคงทน เช่น ชัยชนะในการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือกันหลายฝ่าย ทำให้กลับมาแตกแยกกันใหม่อีกเมื่อได้จัดตั้งรัฐบาล จึงไม่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญได้ (กรณีมาเลเซีย)

ในกรณีที่บางองค์กรภาคสังคมสามารถช่วงชิงการนำในระหว่างการเคลื่อนไหวใหญ่ได้ เช่น กลุ่มภราดรภาพมุสลิมในอียิปต์ แต่เมื่อประสบชัยชนะแล้ว ก็ต้องเผชิญกับองค์กรทางการเมืองที่เข้มแข็งของรัฐ โดยเฉพาะกองทัพ ซึ่งอาศัยความแตกแยกในภาคสังคมนั้นเองกลับมายึดอำนาจไปอย่างเด็ดขาดอีก

คงต้องมีเงื่อนไขอีกบางอย่างที่จะทำให้การเคลื่อนไหวภาคสังคม ซึ่งในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า (spontaneous) สามารถนำไปสู่ผลอะไรสักอย่างที่มีความยั่งยืนได้ เช่น หลายประเทศในละตินอเมริกาปัจจุบัน คงยากที่จะหวนคืนกลับไปสู่เผด็จการทหารอีกแล้ว แม้ว่าประชาธิปไตยที่ได้มายังเต็มไปด้วยข้อบกพร่องต่างๆ จนบางประเทศผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งกลับกลายเป็นเผด็จการเสียเอง แต่นั่นก็ไม่ใช่เผด็จการทหาร

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับละตินอเมริกาพอจะระบุเงื่อนไขเหล่านั้นได้

แต่นี่คือสิ่งที่คนไทยควรคิด เราคงสามารถหยุด คสช.ลงได้ผ่านการเลือกตั้งหรือผ่านวิธีอื่นก็ตาม แต่จะหยุด “ระบอบประยุทธ์” ลงได้อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_159706


[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.