Posted: 03 Jan 2019 05:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Thu, 2019-01-03 20:24
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เปิด 5 คดีปี 61 ที่สะท้อนถึงปัญหาบางประการของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ที่ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น, อภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ชูป้ายต้านรัฐประหาร คดี ชัยภูมิ ป่าแส, คดีเจ้าหน้าที่เผาบ้านและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย และคดีฆ่าตัดตอนฆาตกรรมอำพรางวัยรุ่นในกาฬสินธุ์ ช่วงสงครามยาเสพติด
3 ม.ค.2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เปิดคดีด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างน้อย 5 คดี ที่ได้ติดตามซึ่งมีประเด็นที่สะท้อนถึงปัญหาบางประการของกระบวนการยุติธรรมไทยได้เป็นอย่างดีในปี 2561 ที่ผ่านมา เริ่มจากเดือนเมษายน 2561 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดี 4 แรงงานชาวเมียนมาร์ที่ตกเป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น คดีนี้มีการตั้งข้อสงสัยว่าจำเลยทั้ง 4 ใช่ผู้กระทำความผิดที่แท้จริงหรือไม่ และในคำพิพากษาของศาลก็ยังไม่กระจ่างเท่าใดนัก เพราะศาลให้น้ำหนักกับคำรับสารภาพของจำเลยเป็นสำคัญ
คดีต่อมาปลายเดือนพฤษภาคม 2561 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาคดีอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ชูป้ายต้านรัฐประหารของ คสช. หน้าหอศิลป์เมื่อปี 2557 โดยศาลยังคงรับรองว่า คสช. มีอำนาจตามระบอบแห่งการรัฐประหาร และประกาศห้ามชุมนุมไม่ขัด ICCPR
เดือนมิถุนายน 2561 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งไต่สวนการชันสูตรพลิกศพหรือไต่สวนการตายกรณีเจ้าหน้าที่ทหารที่ด่านรินหลวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ยิง ชัยภูมิ ป่าแส หลังจากนั้นคำถามถึงภาพจากกล้องวงจรปิดก็ดังขึ้นอีก พร้อมคำตอบกลับของกองทัพว่าข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิดถูกบันทึกทับไปแล้ว
เดือนเดียวกันนั้น 12 มิถุนายน 2561 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีเจ้าหน้าที่เผาบ้านและทรัพย์สินของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน/ใจแผ่นดิน โดยศาลพิพากษารับรองว่าบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถจะให้กลับไปอยู่ที่เดิมได้ เพราะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว อีกทั้ง ศาลยังบอกว่ากระปฏิบัติการเผาบ้านและทำลายทรัพย์สินโดยเจ้าหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิด จึงให้กรมอุทยานฯชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี 6 คน เฉลี่ยรายละประมาณ50,000 บาท แต่หลังจากศาลมีคำพิพากษาไม่นาน เจ้าหน้าที่สังกัดกรมอุทยานฯบางคนก็ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านที่ฟ้องคดีดังกล่าวว่าพวกเขาบุกรุกอุทยานฯ
ปิดท้ายปลายปี 11 ตุลาคม 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาคดีฆาตกรรมอำพราง เกียรติศักดิ์ ถิตย์บุญครอง วัยรุ่นในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามยาเสพติด โดยศาลฏีกาพิพากษายกฟ้องตำรวจ 6 คนที่ตกเป็นจำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวถือว่าพลิกความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ต่างพิพากษาโดยเชื่อข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด แม้จะเห็นต่างในกรณีจำเลยบางคนก็ตาม เมื่อคำพิพากษาออกมาเช่นนี้จึงทำให้เกิดคำถามอย่างมากต่อแนวทางการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยของเท็จจริงของศาลฎีกา การต่อสู้ของญาติผู้ตายตลอดระยะเวลากว่า 14 ปี พวกเขายอมเสี่ยงต่อการถูกคุกคามนานาด้วยหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ดีคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ยังพอมีเวลาที่จะหาคนผิดมาลงโทษ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใส่ใจหรือไม่
อ่านรายละเอียดทั้งหมดที่เว็บไซต์ http://naksit.net/2019/01/report2018/
แสดงความคิดเห็น