สหประชาชาติเรียกร้องไทยเลิกใช้มาตรา 61 พ.ร.บ. ออกเสียงประชามติฯ เปิดให้แสดงความเห็นเสรี

เพิ่มเติมข้อมูลเมื่อเวลา 23:00 น.
นายเดวิด คาย ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในประเด็นที่ว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ได้ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและตั้งข้อหาแก่ผู้แสดงความเห็นเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อสาธารณะและโซเชียลมีเดียในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลทหารและ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้การแสดงความเห็นหรือเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นความผิดอาญา

นายคายระบุว่า ตนมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ว่าคำสั่งของรัฐบาลทหารและ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฯ ได้จำกัดการแสดงความเห็น และการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การทำประชามตินั้นควรจะเป็นการถกเถียงอภิปรายกันอย่างเสรีก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของสาธารณะ ยิ่งต้องเปิดให้มีการแสดงความเห็นและอภิปรายกันอย่างกว้างขวางที่สุด
“แทนที่จะทำให้การแสดงความเห็นเป็นความผิดอาญา รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สังคมอยู่ในสภาพที่เอื้อต่อการเปิดอภิปรายสาธารณะ รวมทั้งต้องทำให้แน่ใจว่า การมีส่วนร่วมออกเสียงของประชาชนมีขึ้นโดยผู้ออกเสียงได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน ก่อนการลงประชามติที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆนี้” นายคายกล่าว

ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติยังเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดบังคับใช้ พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฯ มาตรา 61 และยกเลิกการตั้งข้อหาดำเนินคดีผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวในทันที โดยขอให้ไทยยึดถือตามพันธกิจที่ต้องรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

มีรายงานระบุว่า จนถึงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกสอบสวนหรือถูกตั้งข้อหาว่ากระทำผิด พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติฯไปแล้วอย่างน้อย 86 ราย โดยผู้กระทำผิดต้องรับโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี ถูกปรับ และเสียสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งอีก 10 ปี
(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.