ค้นพบยาปฏิชีวนะแบบใหม่จาก “สงครามเชื้อโรค” ในจมูกมนุษย์
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทูบิงเง็นของเยอรมนี ตีพิมพ์รายงานการค้นพบยาปฏิชีวนะขนานใหม่ชื่อว่า “ลุกดูนิน” (Lugdunin) ซึ่งจะสามารถต่อต้านเชื้อโรคดื้อยารุนแรงหรือซูเปอร์บั๊กได้ โดยการค้นพบยาปฏิชีวนะชนิดใหม่นี้มาจากการศึกษากระบวนการแข่งขันกันดำรงชีพระหว่างเชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ในจมูกของมนุษย์
นักวิจัยพบว่า สภาพการณ์ที่เชื้อแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ แก่งแย่งพื้นที่และอาหารกันเพื่อดำรงชีวิตอยู่ในร่างกายมนุษย์ ทำให้บางครั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งจะสามารถผลิตสารปฏิชีวนะออกมากำจัดแบคทีเรียอีกชนิดที่เป็นคู่แข่งได้ โดยภายในโพรงจมูกของมนุษย์ทั่วไป ร้อยละ 30 จะมีเชื้อ Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นเชื้อในกลุ่ม MRSA ที่ดื้อยารุนแรงอยู่ แต่กลับไม่พบเชื้อชนิดนี้ในกลุ่มคนที่มีเชื้อ Staphylococcus lugdunensis เนื่องจากเชื้อชนิดนี้เป็นคู่แข่งของเชื้อที่ดื้อยานั่นเอง
มีการวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรมของเชื้อ Staphylococcus lugdunensis จนพบยีนที่ช่วยผลิตสารปฏิชีวนะต่อต้านเชื้อแบคทีเรียคู่แข่ง รวมทั้งมีการดัดแปลงพันธุกรรมจนได้เชื้อ Staphylococcus lugdunensis ที่มีความสามารถผลิตสารปฏิชีวนะได้ดีเป็นพิเศษด้วย ซึ่งเมื่อทดลองใช้เชื้อดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวกับหนูที่ติดเชื้อดื้อยารุนแรง (MRSA) พบว่าสามารถฆ่าเชื้อดื้อยาได้ดี อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดสอบและพัฒนาอีกหลายปี กว่าที่ยานี้จะนำมาใช้กับมนุษย์ได้
ก่อนหน้านี้ ยาปฏิชีวนะขนานใหม่หลายชนิดที่กำลังมีการพัฒนาอยู่ ล้วนเป็นยาที่ค้นพบในช่วงทศวรรษที่ 1980 และมีที่มาจากแบคทีเรียที่อาศัยในดินทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยของมหาวิทยาลัยทูบิงเง็นบอกว่า ร่างกายของมนุษย์เป็นแหล่งความรู้เพื่อการผลิตยาปฏิชีวนะขนานใหม่ชั้นดี ที่ยังไม่ได้มีการศึกษากันมากนัก
แสดงความคิดเห็น