ค่าเฉลี่ย IQ เด็กไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานโลก

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงผลสำรวจสถานการณ์ความฉลาดทางปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของเด็กไทยชั้นประถม 1 ในปี 2559 เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) โดยเป็นผลจากการสุ่มสำรวจเด็ก ป.1 ทั่วประเทศ รวม 23,641 คน พบว่าเด็กมีคะแนนระดับสติปัญญาหรือไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 98.2 หรือสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 94 ซึ่งสำรวจได้เมื่อปี 2554 แต่ยังถือว่ามีเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานโลก คือ 100

ขณะที่ผลสำรวจเมื่อปี 2553 พบเด็กอายุ 3-5 ปี มีพัฒนาการต่ำกว่ามาตรฐานร้อยละ 30 หรือประมาณ 700,000 กว่าคน ส่วนรายงานของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปี 2557 พบเด็กชั้นประถม 4-6 ร้อยละ 10-15 อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น และแม้ในการสำรวจครั้งนี้จะพบว่าเด็กไทยในระดับป. 1 มีไอคิวดีขึ้น แต่เด็กจำนวนไม่น้อยยังต้องการการพัฒนา เพราะเด็กที่มีระดับไอคิวต่ำมากๆ มีแนวโน้มจะมีความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวต่ำ ขณะที่อีคิวเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรทั้งในเชิงโครงสร้างและคุณภาพ เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงจากเมื่อยี่สิบปีก่อนที่ปีละเกือบ 900,000 กว่าคน และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ หากคุณภาพของเด็กไทยลดลงด้วยก็จะยิ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ เนื่องจากเด็กเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศในอนาคต

ปัจจัยสำคัญที่ต้องส่งเสริมและดำเนินการช่วยเหลืออย่างครอบคลุม เพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กต้องเริ่มตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ไปจนถึงวัยเรียน เช่น การเฝ้าระวังภาวการณ์ขาดสารไอโอดีนและการเฝ้าระวังภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ โดยหน่วยงานสาธารณสุขทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการดูแลและช่วยเหลือผู้มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาไอคิว–อีคิวของเด็ก ได้แก่ การอยู่ในพื้นที่ชนบท การมีรายได้ไม่เพียงพอในครอบครัว ตลอดจนสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่พ่อแม่ต้องเข้ามาทำงานในเมืองและปล่อยให้ผู้สูงอายุต้องเลี้ยงดูเด็กแทน ขณะที่ในบางครอบครัวมีการปล่อยปละละเลยเด็ก

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการดำเนินงานป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพไอคิวและอีคิวของเด็กไทยควรมี 3 ระดับ ได้แก่ การส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ โดยให้ความสำคัญต่อเด็กที่มีภาวะเสี่ยงให้ได้รับการช่วยเหลือแก้ไขได้เร็วที่สุด, ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องทั้งในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และการติดตามดูแลเด็กต่อเนื่องในวัยเรียนด้วยการคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งครูจะเป็นผู้ให้การดูแลเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วย

(ภาพประกอบจากคลังภาพ)

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.